เคล็ดลับ5ข้อ สอบเข้าป.1โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยดัง
ช่วง 1-2 เดือนนี้ บรรดาพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ตลอดจนถึงปู่ ย่า ตา ยาย และญาติพี่น้องใกล้ชิดนับหมื่นๆ คน ต่างออกอาการเครียดไม่มากก็น้อยคอยลุ้นว่าบุตรหลานจะสามารถผ่านการทดสอบความพร้อมเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนดังมีคุณภาพโดยเฉพาะเหล่าโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงต่างๆอย่างโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
 
นอกจากคุณภาพของโรงเรียนสาธิตฯเหล่านี้ที่เป็นแรงจูงใจแล้วยังหมายถึงอนาคตที่ดีของบุตรหลาน หากสามารถสอบเข้าไปเรียนได้เพราะมีโอกาสสูงที่จะได้เรียนต่อเนื่องไปจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และสอบเข้ามหาวิทยาลัยและสาขาวิชาที่ดีได้ไม่ยากจึงทําให้อัตราการสมัครสอบแข่งขันกันในสัดส่วนของเด็กทั่วไปที่ไม่ใช่โควต้าบุตรหลานของทรัพยากรบุคคลภายใน 
มีจํานวนสูงลิ่ว เช่นที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีสัดส่วนการคัดเลือกเข้าเรียนสําหรับเด็กทั่วไป ประจําปีการศึกษา 2558 เพียง 100 คน ในขณะที่ทุกปีมีเด็กทั่วไปมาสมัครสอบ 3,000-4,000 คน ซึ่งปีการศึกษาใหม่นี้ได้กําหนดวันคัดเลือกทดสอบความพร้อมของเด็กในวันอังคารที่ 17 มีนาคม 2558 โดยใช้ผลการทําแบบทดสอบความพร้อมได้ของเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแบบทดสอบความพร้อมด้านภาษา คณิตศาสตร์ และเชาว์ปัญญาส่วนการคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ประจําปีการศึกษา 2558 ของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีสัดส่วนโควต้าการรับเด็กทั่วไปอยู่จํานวน 130 คน ขณะที่จํานวนเด็กๆ ที่มาสมัครสอบก็มีมากหลายพันคน และปีนี้โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรฯได้กําหนดวันทดสอบความพร้อมของเด็กในวันอังคารที่ 17 มีนาคม 2558 เช่นกัน ดังนั้น ในระยะนี้เราจะเห็นกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าเริ่มทยอยตั้งโต๊ะขายชีทเก็งข้อสอบให้พ่อ แม่ผู้ปกครองได้มาซื้อหากลับไปติวบุตรหลานกันที่บ้านเพิ่มเติมจากที่ส่งไปติวยังสํานักติวต่างๆ แล้วเป็นส่วนใหญ่ 

การเตรียมตัวสอบเข้าโรงเรียนสาธิตถามว่าการติวความพร้อมด้านวิชาการให้กับเด็กๆ ดังกล่าวมานี้
เพียงพอแล้วหรือยังสําหรับการฝ่าด่านหินเข้าไปเรียนในโรงเรียนที่มีอัตราส่วนการแข่งขันสูงมากอย่างโรงเรียนสาธิตฯมหาวิทยาลัยดังๆ “สํานักข่าวการศึกษา สยามเอ็ดดูนิวส์” ช่วยไขคําตอบด้วยการสัมภาษณ์พิเศษ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจําคณะครุศาสตร์และผู้อํานวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเด็กและเยาวชนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งท่านได้แนะนําเคล็ดลับดีๆ ให้กับพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ดังต่อไปนี้
 
“การสอบเข้าโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงหลายๆแห่ง เป็นเรื่องสําคัญที่พ่อ แม่ผู้ปกครองต่างให้ความสนใจเตรียมความพร้อมให้กับบุตรหลานอย่างมาก เพราะการแข่งขันมีสูงมาก ก่อนอื่นพ่อ แม่ ผู้ปกครองต้องเข้าใจก่อนว่าโรงเรียนที่มีคุณภาพเหล่านี้ต้องการเด็กที่มีความพร้อมจริงๆ เข้าไปเรียนนอกจากจะพร้อมด้านวิชาการ โดยเฉพาะความพร้อมด้านภาษา คณิตศาสตร์ และเชาว์ปัญญาแล้ว เด็กยังต้องพร้อมด้านภาวะอารมณ์ด้วยซึ่งเป็นสิ่งสําคัญมากๆ”
 
“ผมไปดูวันที่พ่อแม่ผู้ปกครองพาบุตรหลานมาสอบความพร้อมคัดเลือกเข้าเรียนที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ เป็นวันที่โกลาหลมากทั้งเด็กและผู้ปกครองเสียงร้องกระจองอแงทั่วโรงเรียนไปหมด ตามประสาเด็กอายุแค่ 5 ปี 6 เดือน ถึง 6 ปี 6 เดือน ที่ต้องแยกกับพ่อ แม่ไปเข้าห้องสอบ ในขณะที่เด็กหลายคนตื่นเต้นกับสถานที่และบรรยากาศการสอบแข่งขันถึงกับอาเจียนออกมาก็มี หรือเด็กบางคนโดยเฉพาะเด็กผู้ชายเข้าไปเล่นในห้องสอบก็มี”
 
“เด็กเหล่านี้แน่นอนว่า สติจะหลุดไปเลย ไม่มีสมาธิและไม่พร้อมที่จะฟังครูคุมสอบอ่านแบบทดสอบให้เด็กกากบาทตอบในแต่ละข้อ ซึ่งก็แน่นอนเช่นกันว่าเด็กกลุ่มนี้จะไม่ผ่านการทดสอบความพร้อมอย่างแน่นอน แม้ว่าพ่อ แม่ผู้ปกครองจะลงทุนพาไปติวในสํานักกวดวิชาดังและแพงแค่ไหนก็ตาม”
 
“ผมมีข้อแนะนําให้พ่อ แม่ผู้ปกครองแก้ปัญหาเรื่องภาวะอารมณ์ไม่พร้อมเข้าห้องสอบของบุตร 5 ข้อด้วยกัน"
 
1.ก่อนถึงวันสอบ ช่วง 2-3 สัปดาห์ให้พาบุตรหลานมาสัมผัสบรรยากาศ 
มาพบเห็นครูในโรงเรียนสาธิตฯที่จะมาสอบ เพื่อสร้างความคุ้นเคยไม่ตื่นสนามสอบ
2.ถ้าเป็นไปได้ให้พาบุตรหลานลองไปสอบแข่งขันตามงานวิชาการต่างๆหรือโรงเรียนทั่วไปอื่นๆ ที่เปิดสอบก่อนเพื่อให้บุตรหลานเคยชินกับการแยกตัวกับพ่อ แม่ ผู้ปกครองจะได้ไม่ร้องไห้จนเสียสมาธิอีก และจะได้คุ้นเคยกับบรยากาศในห้องสอบ 
 
3.ตลอดช่วงก่อนสอบ 3-4 เดือน ให้พ่อ แม่ผู้ปกครองจําลองสถานการณ์ห้องสอบที่บ้านเพื่อให้เด็กยิ่งคุ้นชินกับบรรยากาศการทําข้อสอบและสร้างความพร้อมด้านวิชาการให้กับเด็ก”
 
4.ในวันสอบ ให้พ่อ หรือแม่ หรือผู้ปกครองคนใดที่สนิทสนมกับเด็กพูดแล้วเด็กเชื่อฟัง บอกเตือนเขาว่าเมื่อเข้าห้องสอบแล้วให้ตั้งใจฟังคําสั่งของครูคุมสอบที่จะอ่านแบบทดสอบให้กากบาทตอบในแต่ละข้อ อย่าเข้าไปเล่นไปคุย 
 
5.ให้ทําความเข้าใจกับบุตรหลานว่า ที่พ่อ แม่หรือผู้ปกครองต้องการให้สอบเข้าโรงเรียนสาธิตแห่งนั้นให้ได้เพราะต้องการให้เขามีอนาคตที่ดีได้เรียนต่อเนื่องในโรงเรียนที่มีคุณภาพไปจนจบชั้น ม.6 และมีโอกาสสูงในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ และคณะวิชาดีๆได้แต่อย่าไปกดดันเขาเด็ดขาด เพราะจะทําให้เด็กยิ่งเครียด”
 
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กล่าวทิ้งท้ายกับสํานักข่าวการศึกษาสยามเอ็ดดูนิวส์ ให้ฝากย้ําบรรดาพ่อ แม่ ผู้ปกครองว่า ถ้าทําได้ตามข้อแนะนําทั้ง 5 ข้อดังกล่าวแล้วโอกาสที่บุตรหลานของท่านจะสอบเข้าโรงเรียนสาธิตฯได้ ก็มีไม่น้อยกว่า50%แล้ว