มุมมองความไร้ธรรมมาภิบาลใน ศธ.

มุมมองความไร้ธรรมมาภิบาลใน ศธ. 

อุบัติการณ์ที่ไม่คาดคิดหลายอย่างเกิดขึ้นภายในกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ทำกันในช่วงบ้านเมืองเข้าสู่ภาวะเงียบกว่ายามปกติด้วยถูกคุกคามด้วยโรคระบาด แต่ภายใน ศธ.กลับมีความเคลื่อนไหวที่ส่อถึงความไร้ธรรมาภิบาล สุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายกลับเพิ่มสูงขึ้นในทุกระดับอย่างน่าเป็นห่วง น่าติดตาม ภายใต้การรุกคืบของกลุ่มการเมืองและข้าราชการบางกลุ่มที่พยายามเร่งร้อนใช้อำนาจหน้าที่เข้าจัดการกับระบบราชการทั้งมวล อันเป็นอุปสรรคต่อความต้องการแห่งตนและกลุ่ม  บริวารใกล้ชิด บนความอ่อนไหวไร้เอกภาพและด้อยประสิทธิภาพของคนในองค์กร ที่มิอาจโต้แย้งทัดทานถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดผลตามมาในอนาคต

 
 

เรื่องแรก ที่หยิบยกมาให้เห็น คือ การคิดอ่านจะจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ ต่าง ๆ ตลอดการใช้งบฯอบรมครูให้สามารถนำไปใช้การเรียนการสอนออนไลน์ การจัดเตรียมเนื้อหาลงสู่แฟลตฟอร์มต่าง ๆ ในช่วงชดเชยขยายเวลาเปิดเทอม จากเดือนพฤษภาคมถึง 1  กรกฎาคมที่จะถึงนี้ ที่กลุ่มธุรกิจการศึกษาเอกชนมีพร้อมรองรับให้เลือกสรรอยู่แล้วมากมาย ทุกระดับชั้น ทุกวิชา

ว่าไปแล้ว น่าจะเป็นเรื่องดี ควรจะได้เดินหน้าลุยได้เลย เพราะเป็นการเตรียมกระบวนการรับมือกับสิ่งที่โลกใหม่ของการศึกษาไทยศึกษาโลก จะต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้นชนิดมาเร็วและแรงยิ่งกว่าสึนามิด้วยซ้ำ

แต่จากบทเรียนที่ผ่านมา การนำสื่อเทคโนโลยีเข้ามาสู่การเรียนการสอน ในแทบทุกยุคสมัยล้วนตั้งบนความคิดและนโยบายของนักการเมืองที่เข้ามาดูแลศธ.ผ่านข้าราชการประจำระดับสูง ที่จบลงแบบด้อยคุณภาพแต่สูงด้วยราคา มากผลประโยชน์ส่วนตนสวนทางกับคุณค่าและประโยชน์อันควรที่ครูและเด็ก นักเรียนไทยทั่วประเทศ หวังว่าจะได้ใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารระหว่างกันอย่างเต็มที่

 แม้ว่า การจัดซื้อแท็บแล็ต อุปกรณ์เพื่อเด็กล็อตใหญ่ล่าสุด ถูกดับฝันไปแล้ว เนื่องจากการเฝ้าระวังของกลุ่มครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวนมิน้อยทั่วประเทศ ส่งเสียงค้านอื้ออึง แต่กระนั้นก็ยังมิอาจวางใจได้กับการนำเข้า ที่จำเป็นต้องจัดซื้อจัดหาเข้ามาเพื่อเติมเต็มให้กับระบบการเชื่อมต่อให้สมบูรณ์

...นั่นคือ ปฏิบัติการหนึ่งที่เป็นอุบัติการณ์  เกิดขึ้นภายในกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

เรื่องที่สอง กับอุบัติการณ์สำคัญที่อื้ออึงไปด้วยคำถาม เมื่อปลัดกระทรวงฯ แต่งตั้งบุตรชายไปเป็นผู้อำนวยการสำนักพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ตั้งอยู่ในบริเวณวัดไร่ขิง มีผู้รู้บอกว่า เป็นการทำลายระบบราชการและทำลายธรรมาภิบาลตามหลักกฎหมายที่สุ่มเสี่ยงขัดกับ กม.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และรัฐธรรมนูญไปโดยสิ้นเชิง

...จึงกลายเป็นเรื่องที่อาจส่งผลให้คำสั่งแต่งตั้งนั้น ๆ เป็นโมฆะได้ รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องอาจได้รับโทษด้วย หากมีผู้ไปฟ้องร้องต่อศาลอาญา

เรื่องที่สาม อีกตัวอย่างหนึ่งกับกระแสทวงคืนธรรมาภิบาลใน ศธ.ส่งความระอุอย่างเซ็งแซด จากการประชุมในสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โต้เถียงเดือดเมื่อมีการอ้างชื่อคนในตึกใหญ่ ก่อนคลอดโผโยกย้าย ผอ.-รอง ผอ.อาชีวะ ที่เกี่ยวกับคำสั่ง เรื่องแต่งตั้งโยกย้ายผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน ราย และรองผู้อำนวยการสถานศึกษา อีกจำนวน 208 ราย รวมทั้งสิ้น 211 ราย ที่ นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการ กอศ. ลงนามไป เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา

...ว่ากันว่า การพิจารณาเสนอแต่งตั้งโยกย้ายในหลายตำแหน่งส่อไม่เหมาะสมและไม่โปร่งใส ขัดหลักธรรมาภิบาล และขัดหลักเกณฑ์ปฏิบัติในการบริหารงานบุคคลของ สอศ.ที่ผ่านมาหรือไม่?

เรื่องที่สี่ อีกตัวอย่างหนึ่งกับเสียงร้องเรียนจากข้าราชการในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จำนวนหนึ่ง ขอให้สะท้อนถึงรัฐมนตรีว่าการ ศธ. เพื่อสั่งการตรวจสอบความโปร่งใสในกระบวนการพิจารณาคัดเลือกผู้เหมาะสมดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา (ระดับ 9) ที่มีการแอบอ้างชื่อผู้บริหารระดับสูงตึกใหญ่ ศธ. คน ในทำนองให้พิจารณาลงคะแนนให้กับผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกบางคนเป็นกรณีพิเศษ จากผู้เข้ารับการคัดเลือกทั้งสิ้นประมาณ 11 คน

แต่ แค่ก้าวพ้นห้องประชุม พลันมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มข้าราชการ ศธ.ทำนองฉงนฉงายระคนความประหลาดใจว่า ระยะหลัง ในรอบปีมานี้ ข้าราชการในสังกัดสำนักงาน กศน.มักจะได้รับโอกาสการพิจารณาแต่งตั้งตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้นในหลาย ๆ ตำแหน่งเห็นได้จากบรรทัดต่อไปนี้

...รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนผู้ช่วยเลขาธิการ สกศ.ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งยังได้ขยับขึ้นในหน่วยงานตนเอง อย่างตำแหน่งรองเลขาธิการ กศน. ตำแหน่ง ที่ผ่านมา เป็นต้น

เรื่องที่ห้า อีกหนึ่งตัวอย่าง จากกรณี นายวราวิช  กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ ออกมาบอกว่า โครงสร้าง ศธ. ปรับปรุงเสร็จสิ้นแล้ว โดยในส่วนโครงสร้างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีมติให้จัดตั้งหน่วยงานอาชีวศึกษาระดับภูมิภาคขึ้น เขต กระจายตามภูมิภาคต่างๆ

 

...ส่งผลให้ เครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย  ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ เรียกร้องถึงนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ. นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ. และนายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการ กอศ. ยกเลิกมติที่ให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งอาชีวศึกษาระดับภูมิภาคดังกล่าวโดยทันที

 

ด้วยเหตุผล การจัดตั้งสำนักงานอาชีวศึกษาในภูมิภาคขึ้นมาอีก เขต ขัดเจตนารมณ์ พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551ที่ต้องการให้มีการกระจายอำนาจลงสู่ ผอ.สถานศึกษา ผอ.สถาบันการอาชีวศึกษา ทั้งการบริหารทั่วไป การบริหารงานบุคคล การบริหารงบประมาณ และการบริหารงานวิชาการ

 

...แต่ทำไมโครงสร้างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ปรับปรุงใหม่ ยังกลับให้อำนาจบังคับบัญชา ให้คุณ ให้โทษ รวมถึงการบรรจุแต่งตั้ง  แบ่งอำนาจ แถมยังขึ้นตรงต่อเลขาธิการ กอศ.เช่นเดิม ?

 

อีกทั้ง ปัจจุบัน พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551 ที่ยังใช้อยู่นี้ ได้กำหนดให้มีการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่สถานศึกษาอาชีวศึกษา 428 แห่งและสถาบันการอาชีวศึกษา อีก 23 แห่ง ในลักษณะมีเอกภาพด้านนโยบายและมีความหลากหลายในทางปฏิบัติ ซึ่งสภาสถาบันการอาชีวศึกษาดังกล่าว ล้วนมีผลงานเป็นที่ยอมรับ แม้จะหมดวาระไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด แต่ก็ยังทำงานอยู่อย่างเข้มแข็งเหมือนเดิม

 

...ก็แปลกใจว่า ทำไมถึงต้องมีการจัดตั้งอาชีวศึกษาในภูมิภาค  ตามข้อเสนอของนายณรงค์  แผ้วพลสง  เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ขึ้นมาทับซ้อนอีกทำไม

 

“...อาจเป็นความผิดพลาดอันเนื่องจากกลัวความจริงที่ซุกซ่อนอยู่ในความคิดบางอย่างเกรงจะถูกต่อต้าน หรือกลัวว่าความเป็นผู้นำในระดับนโยบายจะถูกระดับล่างที่มีปัญญาบริสุทธิ เต็มไปด้วยจิตคุณธรรมอันสูงส่งจะเข้าบั่นทอนความน่าเชื่อถือ หรือทั้งกลัวทั้งเกรงว่า งานสำคัญที่ถูกมอบหมายมาจากเจ้านายบนตึกใหญ่ไม่อาจเดินสู่ความสำเร็จได้ กลายเป็นเรื่องน่าอับอายขายหน้า หากไม่รีบปิดจ้อบก่อนจบโควิด-19 ทุกอย่างก็ยิ่งจบยาก...”

 

ดังนั้น ข้อสังเกตของเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย  ถึงการที่ไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากสังคมผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดบุคลากรในสังกัดสอศ.อย่างกว้างขวาง และการไร้คณะทำงานเพื่อศึกษาถึงผลดีผลเสียต่อผู้เรียนหรือการบริหารที่จะเกิดกับการตั้งอาชีวศึกษาในภูมิภาค 

 

...จึงเป็นเหตุเป็นผลที่ควรนำไปพิจารณาใคร่ครวญอย่างยิ่ง

 

ที่สำคัญไม่แพ้กันในสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ยังไม่สิ้นจบเพียงเท่านั้น ยังมีเรื่องของการบริหารงานโดยจัดตั้งหน่วยงานภายใน และ แต่งตั้งผู้บริหารโดยไม่มีตำแหน่งรองรับ ขึ้นมาในสอศ. โดยอ้างสูตรสำเร็จในภาระงานที่มากอันเกิดจากการรวมอำนาจมาไว้ที่ส่วนกลาง ทำให้ประสิทธิภาพงานถดถอย  และการดึงผู้บริหารจากวิทยาลัยให้ไปทำงานส่วนกลางจำนวนหนึ่ง ไม่เพียงมีผลกระทบต่อการบริหารสถานศึกษาวิทยาลัยอาชีวะ ในสังกัดทั้งประเทศ

 

...ยังเป็นข้อคิดชวนถามชวนให้มองว่า เป็นการปฏิบัติโดยชอบตามกฎหมายหรือไม่ 

 

และเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศ จำเป็นตัองลุกขึ้นมาย้ำไปที่รมว.ศึกษาธิการ ทปษ.รมว. ศธ. และขอให้เลขาธิการ กอศ.หยุดความคิดที่จะตั้งสำนักงานอาชีวศึกษาในภูมิภาค และบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล  โปรดปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันการอาชีวศึกษาและวิทยาลัยในสังกัด ได้พัฒนาเป็นที่ความหวังของประชาชนต่อไป

 

 ....ทุกเรื่องที่ยกมาให้เห็นนี้ เป็นเพียงกรณีตัวอย่างในอีกหลายเรื่องราวที่สังคมและคนกระทรวงศึกษาธิการ ยังอดทนรอความชัดเจนจากผู้เกี่ยวข้องโดยตรง มากกว่าการนิ่งเฉยรอเวลาเข้าสู่โหมด...ลืม...