จุฬาฯ เปิดเทอมต้อนรับนิสิตทั้งป้องกันโควิด-19 ครบวงจร

 

เมื่อวันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม 2563 เป็นวันเปิดเทอมวันแรกของนิสิตจุฬาฯ ปีการศึกษา 2563 จัดเตรียมมาตรการด้านสาธารณสุขอย่าง ครบวงจรเพื่อดูแลประชาคมจุฬาฯ ทุกคน โดยแบ่งเป็นการป้องกัน การดูแล และการรักษาสุขภาพ

 

ผศ.ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดี ด้านการพัฒนานิสิต ได้กล่าวต้อนรับนิสิตฯ ว่า ตามที่ ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ ได้กำหนดวิสัยทัศน์จุฬาฯ มุ่งเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมเพื่อสังคม (Innovations for Society) ดังนั้น เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 จุฬาฯ ก็ระดมหลากหลายองค์ความรู้เพื่อพัฒนานวัตกรรมดูแลประชาคมและคนในสังคม เช่น สเปรย์ฉีดเพิ่มประสิทธิภาพหน้ากากอนามัย หน้ากากป้องกันใบหน้า (Face Shield) ออกแบบให้เบาเป็นพิเศษ หุ่นยนต์หลอดยูวี และเครื่องพ่นละอองไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เพื่อฆ่าเชื้อเป็นต้น และในช่วงเปิดเรียนได้ดำเนินมาตรการด้านสุขลักษณะของสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวก โดยจัดเตรียมห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ ห้องประชุม ห้องทำกิจกรรม ห้องสมุด ห้องดนตรี ห้องน้ำ ลานกิจกรรม สนามกีฬา ลิฟต์ บันได โรงอาหาร หอพัก ให้มีระบบระบายอากาศถ่ายเทได้สะดวก ทำความสะอาดพื้นที่ต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ ทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องมือในห้องปฏิบัติการ ห้องเรียน อุปกรณ์ภายในตัวอาคาร เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได สวิทช์ไฟและปุ่มกดลิฟต์ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค และลดความแออัดของการอยู่รวมกันในทุกๆ สถานที่ ทุกจุดอย่างเต็มที่ อีกทั้งสื่อสารประชาสัมพันธ์เรื่องหลักการปลอดภัยสำหรับนิสิตเพื่อให้เกิดความปลอดภัย และสุขภาพดีด้วยหลักการ 5 ส. ได้แก่ 1สังเกตตนเอง 2 - สแกน QR Code ไทยชนะเพื่อ check in – check out เมื่อเข้า-ออกอาคาร 3 - สอบวัด อุณหภูมิ4 - สวม หน้ากากอนามัยและล้างมืออย่างสม่ำเสมอ และ 5 - สร้าง ระยะห่างระหว่างกัน ทั้งหมดนี้ได้สื่อสารผ่านทุกๆ ช่องทางการสื่อสารของจุฬาฯ

 

ผศ.ดร.ชัยพร กล่าวเสริมว่า “การเรียนการสอนในภาคเรียนที่ 1/2563 นิสิตจะไม่มีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาพื้นฐานที่เข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้อย่างเท่าเทียม เพราะจุฬาฯ มีมาตรการช่วยเหลือนิสิตที่ขาดแคลนด้านเทคโนโลยี และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19  ได้แก่ การมอบทุนการศึกษาแก่นิสิตที่ขาดแคลน อาทิ ซิมโทรศัพท์ 5,000 ซิม  ส่วนการเรียนการสอน การสอบประเมินผล และการฝึกงานในภาคเรียนที่ 1/2563 จะเป็นแบบผสมผสาน (Blended Learning) ที่สามารถยืดหยุ่น สามารถเรียนได้ทั้งในห้องปฏิบัติการ และออนไลน์” 

ด้าน นายรัฐกร ใจเย็น นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ ตัวแทนของนิสิตได้กล่าวถึงเรื่องของการเรียนการสอน และการใช้พื้นที่ส่วนกลางของมหาวิทยาลัยว่า จุฬาฯจะมีอยู่ 3 รูปแบบได้แก่ ออนไลน์ ออฟไลน์ และแบบผสมผสาน การปรับตัวในตอนนี้ถือว่านิสิตค่อนข้างคุ้นชินแล้ว และรูปแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสมที่สุดในขณะนี้เพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด -19 ระลอกสอง สำหรับการกิจกรรมต่างๆ และการใช้พื้นที่ส่วนกลางของมหาวิทยาลัยทำกิจกรรมนั้น ทางมหาวิทยาลัยไม่ได้มีการห้าม แต่ขอให้เป็นไปตามเงื่อนไขของประกาศของมหาวิทยาลัย เช่น การสวมใส่หน้ากากอนามัย ต้องมีการเตรียมไว้ในกรณีทำขาดหรือสูญหาย การเว้นระยะห่าง และจัดเตรียมเจลแอลกอฮอล์ให้เพียงพอ ล้วนเป็นมาตรการที่ค่อนข้างจะเข้มงวดซึ่งควรปฏิบัติตาม

 

“ด้วยสถานการณ์ที่ยังค่อนข้างน่าเป็นห่วง และบังคับให้เราไม่สามารถมาเจอหน้ากันได้ ยกตัวอย่าง โครงการรับน้องก้าวใหม่ ที่เป็นเอกลักษณ์ของจุฬาฯ ที่มีบ้านรับน้องแต่ละบ้าน น้องๆ ลงทะเบียนเพื่อเข้าสังกัดบ้าน มีการทำกิจกรรมต่างๆ อันนี้ก็จะต้องเลื่อนออกไป ซึ่งเราคาดว่าจะสามารถจัดกิจกรรมตามปกติได้ ราวๆ เดือนมกราคมปีหน้า” นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ กล่าว

 

 

ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ

 

ชาติสยาม หม่อมแก้ว 087-578-9685

 

สุรเดช พันธุ์ลี 086-177-9955