วันเฉลิมพระชนมพรรษา“สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง”ขอถวายพระพรชัยมงคลให้ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

      12สิงหาคม 2563 วันมหามงคลของปวงชนชาวไทยเวียนมาบรรจบอีกวาระหนึ่งด้วยเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงงานด้วยความมุมานะเพียรพยายามและอดทน ทรงตรากตรำพระวรกายเคียงคู่พระองค์ท่าน เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข และสร้างรอยยิ้มให้แก่อาณาประชาราษฎร์มาอย่างยาวนานตลอดระยะเวลากว่า 70 ปี

 

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเล็งเห็นว่า ทุกข์ของราษฎรนั้นรอไม่ได้ แม้จะต้องเสด็จพระราชดำเนินขึ้นเขา ลุยน้ำ บุกป่า ฝ่าดง ในระยะทางที่ไกลเท่าใด อันตรายรอบด้าน ก็มิทรงเกรงกลัว  มิทรงย่อท้อต่ออุปสรรคและความยากลำบาก  ด้วยมีพระราชประสงค์เพื่อทรงรับทราบปัญหาความเดือดร้อนของราษฎร แล้วทรงนำมาจัดทำเป็นโครงการจนเป็นที่มาของแนวพระราชดำริในหลากหลายโครงการ ตกผลึกสู่การนำไปปฏิบัติเพื่อให้ครอบคลุมในทุกด้าน ทั้งสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและศิลปวัฒนธรรมด้วยทรงตั้งพระราชหฤทัยแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตรในการสร้างประโยชน์สุขแก่ราษฎรทุกหมู่เหล่า โดยมีแนวคิดปรัญญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นฐานราก

สำหรับหลักการทรงงานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงยึดถือแนวพระราชดำริจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้านการทรงงานพัฒนาบนหลักการ ได้แก่ ทรงให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาในระดับพื้นฐานของประเทศ คือ ชนบทกล่าวคือแหล่งผลิตอาหารและเกษตรกรรม  เพื่อให้คนส่วนใหญ่ของประเทศมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้าน จิตใจเพื่อนำไปสู่ความสุข สันติ และเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

ทรงให้ความสำคัญกับ โอกาสของราษฎร ที่จะได้รับการพัฒนาหรือมีส่วนร่วมในการพัฒนา โดยไม่แบ่งเชื้อชาติ

ทรงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยมีคนเป็นศูนย์กลาง

 ทรงให้ความสำคัญกับการส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ และโครงการของรัฐบาล ซึ่งยังประโยชน์สุขแก่ราษฎร

พระราชกรณียกิจที่สำคัญในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงดำเนินการอันเกิดผลการพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรครอบคลุมในทุกด้านเพื่อช่วยปวงราษฎร์ให้อยู่ดีกินดี อาทิ การส่งเสริมคุณภาพชีวิตด้านการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกื้อกูลกันอย่างมั่นคงและยั่งยืน ที่สำคัญทรงนำภูมิปัญญาไทยสมบัติศิลป์ของแผ่นดินอันเกิดจากศรัทธาแรงกล้าของพสกนิกรถ่ายทอดสู่สายตา อารยประเทศให้เป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก

ทรงสร้างโรงเรียนเจ้าแม่หลวงอุปถัมภ์ 1 เพื่อให้ชาวไทยภูเขาใน ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีโอกาสทางการศึกษา ทรงจัดตั้งโครงการ หมู่บ้านรวมไทยขึ้นในพื้นที่บริเวณปางอุ๋ง จังหวัดแม่ฮ่องสอน  เพื่อเปลี่ยนพื้นที่ป่าฝิ่นให้กลายเป็น  พื้นที่ปลอดภัยและฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  จัดตั้งโครงการ ป่ารักน้ำแห่งแรก ณ บ้านถ้ำติ้ว อำเภอสอยดาว จังหวัดสกลนคร เพื่อให้ราษฎรในท้องถิ่นเห็นความสำคัญของการปลูกต้นไม้  ที่สำคัญทรงกำเนิดโครงการศิลปาชีพสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถฯ ทรงริเริ่มโครงการหัตถกรรมเพื่อช่วยเหลือราษฎรเป็นครั้งแรกที่หมู่บ้านเขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และทรงจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (SACICT)  เพื่อส่งเสริมและขยายผลงานศิลปาชีพในระยะยาวให้กว้างขวางและเพิ่มพูนประโยชน์มากยิ่งขึ้น เป็นต้น 

นี่เป็นส่วนน้อยจากหลากหลายโครงการของพระองค์ท่านที่ทรงพระราชดำริขึ้น เพื่อประชาชนชาวไทยทุกคน จนพระองค์ได้รับการถวายพระราชสมัญญา อัคราภิรักษศิลปินที่หมายความได้ว่า ศิลปินที่ยิ่งใหญ่ ผู้ปกปักรักษางานศิลปะทรงพระปรีชาสามารถรอบรู้เป็นเลิศในศาสตร์และศิลป์ของงานศิลปะโบราณทุกสาขาอย่างลึกซึ้ง ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่และทรงเห็นถึงคุณค่า รวมถึงทรงให้ความสำคัญในมรดกภูมิปัญญาของช่างโบราณไทย ทรงทุ่มเทประกอบพระราชกรณียกิจ เพื่อฟื้นฟู ทำนุบำรุง อนุรักษ์สืบสานงานศิลปะทุกสาขาที่สืบทอดมาจากบรรพชน สร้างคุณค่าและความภาคภูมิใจแก่ชาวไทย

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเป็นต้นแบบที่ดีในการทรงยึดนั่นหลักธรรมแห่งศาสนานำปฏิบัติพระองค์ อย่างที่ประจักษ์แก่สายตาอาณาราษฎรคือทรงมีความเพียรไม่ทรงย่อท้อ ทรงมานะอดทนอย่างไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยพระวรกาย ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของพสกนิกร เพื่อความสุขสงบเจริญงอกงามของประเทศชาติผ่านโครงการในพระราชดำริที่พระราชทานไว้มากมายกลายเป็นแม่ของแผ่นดินของปวงชนชาวไทยทุกคน

 

ตลอดระยะเวลากว่า 70 ปีแล้ว  สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินนาถ พระรบรมราชชนนีพันปีหลวงได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ พระราชกรณียกิจในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีกว้างขวางครอบคลุมสาขาต่าง ๆ ทั้งด้านการศึกษา การศาสนา ศิลปวัฒนธรรม การแพทย์และสาธารณสุข การต่างประเทศ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และอื่น ๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชภารกิจในการส่งเสริมคุณภาพชีวิต อาชีพ และความเป็นอยู่ของผู้ยากไร้ และประชาชนในชนบทห่างไกล โดยเสด็จพระราชดำเนินติดตามพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตรไปทั่วทุกหนแห่งในแผ่นดินไทยนี้ เพื่อทรงทอดพระเนตรความเป็นอยู่และเพื่อทรงหาแนวทางบรรเทาทุกข์ให้ผ่อนคลายหมดไปจากวิถีชีวิตของราษฎร

          โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงมีกระจายไปทั่วประเทศ ช่วยพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ชาวบ้านดีขึ้น หนึ่งในนั้นก็คือ โครงการส่งเสริมศิลปาชีพ ซึ่งในภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ก่อตั้ง เป็นรูปมูลนิธิ พระราชทานนามว่า "มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษในพระบรมราชินูปถัมภ์" เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 และเมื่อ พ.ศ. 2528 ได้เปลี่ยนชื่อ เป็น มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ อันเป็นการส่งเสริมอาชีพและขณะเดียวกันยังอนุรักษ์และส่งเสริมงานศิลปะพื้นบ้านไทยที่มีความงดงามด้านการสื่อให้เห็นการดำเนินวิถีชีวิตบนพื้นฐานหลักคุณธรรมจริยธรรมความดีงามหลายสาขา ก่อให้เกิดการเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรและราษฎรผู้มีรายได้น้อย อีกทั้งยังช่วยอนุรักษ์สืบสานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนไทย และพัฒนาคุณภาพของฝีมือให้ดียิ่งขึ้น จนสามารถผลิตให้เป็นสินค้าให้เป็นที่ต้องการของตลาด รวมทั้งสร้างสรรค์งานฝีมือชิ้นเยี่ยมไว้เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติอีกด้วย เช่น การปั้น การทอ การจักสาน เป็นต้น

ปัจจุบันมีศูนย์ศิลปาชีพขยายไปในหลากหลายพื้นที่ เช่น ศูนย์กลางศิลปาชีพ ณ สวนจิตรลดา ศูนย์ศิลปาชีพพิเศษ บางไทร อยุธยา ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม สกลนคร ศูนย์ศิลปาชีพพิเศษ บ้านจาร สกลนคร ศูนย์ศิลปาชีพพิเศษบ้านทรายทอง สกลนคร ศูนย์ศิลปาชีพบ้านหัวยเดื่อ แม่ฮ่องสอน ศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน ศูนย์ศิลปาชีพบ้านแม่ต๋ำ เชียงใหม่ ศูนย์ศิลปาชีพเครื่องปั้นดินเผา ลำปาง ศูนย์ศิลปาชีพบ้านวัดจันทร์ เชียงใหม่

         

       หลายทศวรรษที่ผ่านมา สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชปณิธานแน่วแน่ส่งเสริมศิลปาชีพแล้ว ยังทรงตั้งพระราชหฤทัยอนุรักษ์ทรัพยากรมีค่าของชาติไว้ด้วย ดังพระราชดำรัสที่พระราชทาน ณ บ้านถ้ำติ้ว อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร 20 ธันวาคม พ.ศ. 2525ความตอนหนึ่งว่า "... พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ ... พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า ..."

          และนี่เอง คือที่มาของโครงการตามพระราชดำริมากมายที่ทรงจัดตั้งขึ้นเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้กลับคืนมา ไม่ว่าจะเป็นโครงการเกี่ยวกับผืนป่า หรือสัตว์ป่า ซึ่งต้องอาศัยเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

          ทรงเล็งเห็นความสำคัญในการที่จะต้องสร้างความสมดุลของธรรมชาติให้เกิดขึ้นเพราะเป็นทางที่จะสร้างความเจริญงอกงามอุดมสมบูรณ์ยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ นั่นคือทรงได้สร้างความรู้ให้แก่ราษฎรถึงประโยชน์ของการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่ให้ประชาชนรู้จักหวงแหนในทรัพยากรธรรมชาติ รู้จักใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เหมาะสมให้รู้จักการปลูกป่าทดแทนจากที่ขาดหายไป เป็นต้น

โครงการพระราชดำริสวนป่าหาดทรายใหญ่

           โครงการพระราชดำริสวนป่าหาดทรายใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตติดต่อระหว่างอำเภอหัวหิน และอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หลายสิบปีก่อนแผ่นดินแห่งนี้เคยอุดมสมบูรณ์ด้วยพรรณไม้และสัตว์ป่านานาชนิดแต่ได้ถูกทำลายลงไปจนหมดสิ้นเหลืออยู่เพียงพื้นดินที่แห้งแล้งและต้นไม้บนภูเขาเท่านั้น ต่อมาเมื่อปี 2512 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้เสด็จพระราชดำเนิน ณ พื้นที่แห่งนี้ ได้ทอดพระเนตรเห็นความแห้งแล้ง จึงได้มีพระราชดำริที่จะทำการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ให้เป็นผืนดินที่สามารถใช้ประโยชน์ได้อีกครั้งและเพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า แม้พื้นดินจะแห้งแล้งเพียงใดก็สามารถที่จะพัฒนากลับให้ดีได้ด้วยความตั้งใจอดทนที่จะทำการฟื้นธรรมชาติที่เสื่อมสลายไปให้กลับคืนมา

          ปีพุทธศักราช 2526 ได้ทรงแปรสภาพเป็นโครงการอนุรักษ์ธรรมชาติสัตว์ป่า และต้นน้ำลำธารตามแนวพระราชดำริ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยมีชื่อว่า โครงการพระราชดำริสวนป่าหาดทรายใหญ่  

โครงการป่ารักน้ำ

          จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2525 ที่บ้านติ้ว อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร ทรงเริ่มโดยการคัดเลือกราษฎรที่ยากจนที่สุด 13 ครอบครัวมาเป็นตัวอย่าง จัดที่ดินให้ราษฎรปลูกพืชหมุนเวียนและปลูกไม้โตเร็วที่ใช้ทำฟืนครอบครัวละ 3 - 5 ไร่ โดยราษฎรดังกล่าวได้รับพระราชทานเงินเดือนประจำครอบครัวละ 1,500 บาท นอกจากนี้ยังได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ฉางข้าว เรือนเพาะชำ และแหล่งน้ำ มีพระราชประสงค์ให้จัดสร้างบ้านป่ารักน้ำขึ้น เป็น "บ้านน้อยใน ป่าใหญ่" หรือ "หมู่บ้านป่ารักน้ำ"  ทรงชักจูงให้ชาวบ้านปลูกป่าเอง ให้รู้สึกมีความรักป่า และรู้จักใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ซึ่งเป็นการพัฒนาแบบยั่งยืน  พร้อมทั้ง พระราชทานชื่อโครงการนี้ว่า โครงการป่ารักน้ำ  ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวน ๕ โครงการ ได้แก่ ที่ บ้านถ้ำติ้ว ตำบลส่องดาว อำเภอส่องดาว  บ้านป่ารักน้ำ ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน บ้านกุดนาขาม ตำบลเจริญศิลป์ อำเภอเจริญศิลป์ บ้านจาร ตำบลม่วง อำเภอบ้านม่วง บ้านทรายทอง ตำบลปทุมวาปี อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร

โครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง) จ. แม่ฮ่องสอน

          ในอดีตพื้นที่บริเวณปางอุ๋ง เป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม มีชาวเขาเข้ามาปลูกฝิ่นและใช้เป็นเส้นทางขนส่งยาเสพย์ติด รวมถึงลักลอบตัดไม้อย่างต่อเนื่อง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงจึงทรงพระราชดำริให้พัฒนาพื้นที่ ทั้งปลูกป่า สร้างอ่างเก็บน้ำ และจัดตั้งหมู่บ้านรวมไทยขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงชายแดน ปัจจุบันที่ดังกล่าวกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง

มีผู้ขนานนามว่า"สวิตเซอร์แลนด์เมืองไทย"

 

ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี อ. ปราณบุรี จ. ประจวบคีรีขันธ์

          ในปี 2539 ป่าชายเลนบริเวณปากน้ำปราณเสื่อมโทรมหนักจากการทำนากุ้ง สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมะราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้กรมป่าไม้เลิกต่อสัญญาใบอนุญาตการใช้พื้นที่ อีกทั้งมีหน่วยงานชุมชนและบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เข้ามาร่วมกันสร้างศูนย์แห่งนี้ขึ้น และปลูกป่าเพื่อพลิกฟื้นพื้นที่นี้ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันเปิดศูนย์เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเรียนรู้วิถีชีวิตป่าชายเลน ทั้งพันธุ์ไม้และสัตว์ป่าสัตว์น้ำชายเลน เช่น ปูแสม ปลาตีน นกชายเลนเป็นต้น

โครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงและฟาร์มตัวอย่าง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ. นราธิวาส

          ผลจากความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้ ทำให้ประชาชนในพื้นที่จำนวนไม่น้อยสูญเสียผู้นำครอบครัว สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงจึงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่ดิน และจัดทำโครงการนี้ขึ้น เพื่อพัฒนา "หมู่บ้านแม่หม้าย" แห่งนี้ ให้กลายเป็น "หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง" ทำให้ชาวบ้านมีอาชีพ สามารถเลี้ยงตนเองได้ ซึ่งช่วยให้ความสุขที่หายไปกลับคืนมา ปัจจุบันโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงและฟาร์มตัวอย่างฯ มีจำนวน 54 แห่งกระจายไปทั่วประเทศ

 

โครงการธนาคารอาหารชุมชนตามพระราชดำริ

          เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2543 สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงมีพระราชดำริให้จัดทำโครงการธนาคารอาหารชุมชน (Food bank) “หนึ่งในพระราชดำริ จากป่าสู่คนเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเนื่องจากทรงมีความห่วงใยราษฎรและสภาพแวดล้อมของโลก จึงมีพระราชประสงค์ให้ทำการเกษตรกรรมในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน แบบหลากหลาย ทั้งพืชและสัตว์ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานราชการต่างๆและชุมชน เป็นการพัฒนาอย่างสอดคล้องในหลักการที่จะให้ คนได้อาศัยอยู่ร่วมกับ ป่ามีการสร้างระบบนิเวศของการเชื่อมโยงห่วงโซ่อาหาร และใช้ประโยชน์จากป่าอย่างเกื้อกูลกัน ซึ่งเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นกับคนไทยทั้งประเทศ  มิใช่แค่ให้คนที่อาศัยอยู่ในป่าและคนที่อาศัยอยู่ในเมืองมีความสุข มีป่าไว้เป็นแหล่งอาหารและแหล่งน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต แต่ยังสามารถช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกประการหนึ่งด้วย

          ไม่เพียงแค่โครงการพระราชดำริต่างๆที่ทรงพระราชทานไว้ทั่วประเทศจะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของราษฎรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงยังทรงห่วงใยราษฎรผู้ประสบภัยทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น อุทกภัย วาตภัย ในพื้นต่างๆ  เช่น ที่จังหวัดอ่างทอง ทรงมีพระราชประสงค์ให้สร้างศูนย์อพยพและพักพิงเป็นอาคารถาวร บริเวณ หมู่ 8 ต.โพสะ อ.เมืองอ่างทอง เพื่อให้ผู้ประสบอุทกภัยมีที่อยู่อาศัยระหว่างถูกน้ำท่วมบ้านพัง และเป็นที่พักช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติอื่นๆ รวมทั้งเป็นสถานที่ฟื้นฟูอาชีพให้ผู้ประสบภัยมีรายได้เสมือนศูนย์ศิลปาชีพ ในขณะที่ยังไม่มีรายได้จากการเกษตรและอื่นๆ ด้วย ทรงมอบหมายให้ผู้แทนพระองค์ นำชุดธารน้ำใจสภากาชาดไทยพระราชทานช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนจากน้ำท่วม ยัวความปราบปลื้มและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีแก่เหล่าราษฎรทุกหมู่เหล่าเป็นอย่างยิ่ง

          สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงยึดมั่นในพระราชปณิธานที่ว่า " ทุกข์สุขของทวยราษฎร์ คือทุกข์สุขของพระองค์เอง " จึงเสด็จพระราชดำเนินไปในทุกถิ่นฐานที่ประชาชนได้รับทุกข์เข็ญโดยมิได้ทรงคำนึงถึงความยากลำบากถึงภยันตราย จนสามารถกล่าวได้ว่า " ไม่มีที่แห่งหนใดบนผืนแผ่นดินนี้ที่พระองค์มิได้เสด็จฯไปพระราชทานพระเมตตา "ด้วยเหตุนี้ราษฎรจึงเทิดทูนพระองค์ว่าทรงเป็น " แม่ของแผ่นดิน " ผู้ทรงเป็นรัตนนารีที่มีพระราชจริยวัตรงามเลิศ จากพระราชกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญด้วยพระวิริยะอุตสาหะอย่างต่อเนื่องยาวนาน ได้สะท้อนให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้นที่ทรงรักประชาชนและรักประเทศชาติมาตลอดจนปัจจุบัน

         

       พระมหากรุณาธิคุณมิได้แผ่ปกเกล้าปกกระหม่อมเฉพาะปวงชนชาวไทย ยังทรงแผ่ไพศาลไปถึงประชาชน ของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ชาวกัมพูชาอพยพลี้ภัยเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในแผ่นดินไทย แถบจังหวัดตราด จันทบุรี และปราจีนบุรี มีพระราชศรัทธาและพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะทรงบำบัดทุกข์บำรุงสุขผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยาก โดยมิได้ทรงเลือกเชื้อชาติ ศาสนา หรือเผ่าพันธุ์ พระปรีชาสามารถ และพระวิริยะอุตสาหะที่ทรงทุ่มเทอุทิศกำลังพระวรกาย พระสติปัญญา พระราชทรัพย์ ผ่านพระราชกรณียกิจต่าง ๆเพื่อเกื่อกูลประโยชน์สุขของพสกนิกรนั้น หยั่งลึกลงเป็นรากฐานแห่งความจงรักภักดี เป็นผลให้เกิดความมั่งคง และนำศานติสุขมาสู่ปวงชนชาวไทย

          นับ เป็นบุญของชาติและประชาชนชาวไทย ที่มีสมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ เพียบพร้อมเป็นขัตติยรัตนนารีโดยแท้ พระองค์มิได้ทรงมีพระสิริโฉมเป็นเลิศเท่านั้น หากแต่ยังทรงพระปรีชาเชี่ยวชาญ ในกิจการต่างๆ ซึ่งปรากฏผลเป็นที่ประจักษ์แก่ปวงาษฎรมาโดยตลอด ทรงยึดมั่นในพระบวรพระพุทธศาสนา ดำรงพระคุณธรรม พระปัญญาคุณ และพระเมตตากรุณาคุณ พระมหากรุณาธิคุณยิ่งใหญ่ไพศาลซึ่งทรงดำรงไว้มั่นคงตลอดมา เป็นปัจจัยส่งเสริม ให้พระเกียรติคุณขจายขจรไปทั้งประเทศและนานาประเทศทั่วโลก

ในโอกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษาวันอันเป็นมหามงคลสิริมงคลยิ่งของปวงชนชาวไทยเวียนมาบรรจบครบอีกวาระหนึ่ง ขอพระราชทานพระราชานุญาตถวายพระพรชัยมงคลอัญเชิญคุณพระรัตนไตร สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลบันดาลดลให้ทรงพระเกษมสำราญ มีพระพลานามัยแข็งแรง สถิตเป็นมิ่งขวัญร่มโพธิ์ทองของปวงข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายตราบนานเท่านาน

ขอถวายพระพรชัยมงคลให้ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ

ข้าพระพุทธเจ้าสำนักข่าวการศึกษาedunewssiam.com