ผู้บริหารศธ.กับบทเรียนในการ“คืนความเป็นธรรม” เป็นความยุติธรรม ใช่หรือไม่

 

เสวนากับบรรณาธิการ 14 สิงหาคม 2563

วิชเทพ ฦาชาฤทธิ์ : บรรณาธิการ

ผู้บริหารศธ.กับบทเรียนในการ“คืนความเป็นธรรม” เป็นความยุติธรรม ใช่หรือไม่

หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจการปกครอง เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นับเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย และจะด้วยเหตุผลประการใดก็แล้วแต่ หนึ่งในบรรดาข้ออ้างอันเป็นมูลเหตุสำคัญทุกครั้งในคำแถลงการณ์ คือ การลงน้ำหนักไปที่ การทุจริตคอร์รัปชั่นและการบริหารประเทศชาติบ้านเมืองผิดพลาด ของรัฐบาลในชุดนั้น ๆ ปรากฏไว้เสมอ

ล่าสุด มีข้อสังเกตในการเข้ายึดอำนาจการปกครอง ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ดังกล่าวครั้งนี้ ยังพ่วงด้วยประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองที่มุ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อกันในหมู่ประชาชน เห็นได้จากการแบ่งสีแบ่งขั้วแบ่งเหล่า พ่วงเข้ามาเป็นเงื่อนไขอันดับต้น ๆอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังของประชาชนส่วนใหญ่ไม่ว่าจะตกอยู่ในช่วงสถานการณ์ใด ประการแรก คือ คาดหวังให้รัฐบาลที่เข้ามา รีบปราบปรามและจัดการกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ เป็นอันดับแรก ไม่ว่าขนาดไหนก็ตามให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทยเสียที

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบอบประชาธิปไตย รัฐมนตรีและสมาชิกพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด คอร์รัปชั่น สังคมถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง น่ารวมไปถึงเหล่าบรรดาข้าราชการยังมีการเบียดบังทรัพย์ของทางราชการเป็นของตน

อีกทั้งทุกวันนี้ ยังมีพฤติกรรมการเรียกรับเงินหรือการคดโกงในตำแหน่ง เพื่อรับผลประโยชน์ต่าง ๆในการแต่งตั้งโยกย้ายไปในพื้นที่ที่ต้องการ หรือการเลื่อนตำแหน่งโดยการให้ค่าตอบแทนที่เรียกว่า "การซื้อตำแหน่ง" ไม่ว่าจะเป็นผู้เกี่ยวข้องในทางสายโลหิต คือ พี่น้อง บิดามารดา คู่สมรส บุตร  เพื่อใช้ในการช่วยเหลือ หรือสนับสนุนเพื่อประโยชน์ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ล้วนเข้าข่ายกระทำการทุจริตคอร์รัปชั่น เช่นเดียวกัน

หากว่าไปแล้ว สังคมไทยทุกวันนี้ การคอร์รัปชั่นยังคงปรากฎอยู่ทุกเหลือบมุม ไม่ว่าจะมองไปทางใดในประเทศยังคงเป็นปัญหาใหญ่คู่สังคมไทยไปอีกนานเท่านาน ทำให้ทุกคนต้องทนอยู่ท่ามกลางการคอร์รัปชั่น ไม่ว่าจะชอบหรือมิชอบก็ตาม ซึ่งปัญหาการทุจริต หรือ การคอร์รัปชั่น การฉ้อราษฎ์บังหลวง ยังเห็นประจักษ์ในความล้มเหลว

เนื่องจากยังเห็นได้จากพฤติกรรมของเหล่านักการเมืองและข้าราชการระดับสูง ยังพยายามเบียดบังเพื่อเอื้อประโยชน์ในการซื้อจัดจ้าง ต่อการดำเนินการในโครงการต่าง ๆ ให้ตกแก่ผู้อื่นโดยทุจริต ซึ่งผู้อื่นในที่นี้มักจะเป็นบรรดาเหล่าญาติพี่น้องร่วมสายโลหิต ศิษย์ข้างเคียง คนส่งเสบียงหลังบ้าน เพื่อนฝูง และบริวารใกล้ชิดแทบทั้งสิ้น

ดังนั้น การใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ การให้ตอบแทนในรูปแบบสิ่งของหรือในรูปแบบอื่น ๆ ตั้งแต่การเรียกรับสินบาทคาดเงินสินบน รับค่านายหน้าหรือการตอบแทนในรูปแบบต่างๆในการอนุมัติคำร้องเพื่อดำเนินกิจการต่างๆ ล้วนตกอยู่ในข่ายการคอร์รัปชั่นทั้งสิ้น

แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช. มีความตั้งใจสูงส่งในการปราบคอร์รัปชั่น ได้ใช้อำนาจตามความใน ม.44  ฉบับต่างๆ ซึ่งมีทั้งปลด โยกย้ายลดตำแหน่ง ระงับการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งของบรรดาข้าราชการไปแล้วกว่า 34 ฉบับ เพื่อประสิทธิภาพความเหมาะสมในการทำงาน และเพื่อเปิดทางให้ตรวจสอบการทุจริต และนำไปสู่การพิจารณาโทษในหลายกรณีก็ตาม แต่การแก้ปัญหาของ คสช.มาถึงรัฐบาลปัจจุบันเอง แทบไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่สังคมให้ความมั่นใจได้

ที่ผ่านมาส่วนมากในคำสั่งจะผูกโยงกับการยกอ้างถึงการถูกร้องเรียนหรือถูกกล่าวหาว่า ในการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการแสวงหาผลประโยชน์อันมิชอบด้วยกฎหมาย จากการปฏิบัติหน้าที่จนเกิดความเสียหายแก่ทางราชการ จึงให้ข้าราชการเหล่านั้นที่มีทั้งข้าราชการประจำ และฝ่ายการเมืองพ้นจากตำแหน่งไปก่อน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันหรืออาจต้องใช้เวลามากกว่านั้น

แต่ปัญหาขณะนี้ กลายเป็นว่าในจำนวนดังกล่าวนั้นมีหลายคนแม้ว่าจะได้กระทำผิดตามข้อร้องเรียนและเป็นไปตามข้อเท็จจริง จึงถูกดำเนินการทั้งวินัย อาญา ซึ่งหลายรายยังไม่ตัดสิทธิ์ที่จะอุทธรณ์ก็มี  แม้ข้าราชการฝ่ายประจำอีกหลายคนเมื่อมีการสอบสวนแล้วปรากฏว่าเป็นผู้ถูกกลั่นแกล้งจากผู้บังคับบัญชาระดับที่เหนือกว่า จากนักการเมืองใช้อำนาจในฐานะเข้าไปกำกับดูแล สั่งให้ข้าราชการฝ่ายประจำปฏิบัติดำเนินกิจการต่าง ๆโดยมิชอบ ที่มิยินยอมปฏิบัติตามก็มีมิใช่น้อย

และในที่สุดแล้วหลายคนที่ถูกโยกย้าย หรือระงับการปฏิบัติหน้าที่ ก็ได้แต่ชะเง้อรอคอยการคืนสู่ความเป็นธรรม เนื่องจากยังไม่มีความคืบหน้า การดำเนินกระบวนพิจารณายังเป็นไปแบบเต่าคลาน จึงไม่ได้กลับคืนสู่ที่เดิม จึงถูกมองว่าเป็นเรื่องการรังแก ใช้อำนาจ เป็นมโนทุจริต ของคสช.เอง ที่มีนักการเมืองระดับเสนาบดี มีมโนทุจริต จิตใจมีความอยากได้ และจ้องแต่จะเอาสิ่งของผู้อื่น

เมื่อไม่ได้ดังใจจึงคิดร้ายต่อผู้อื่น และความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม ที่เห็นไม่ตรงตามความจริงที่เป็นอยู่

กล่าวจำเพาะ บรรดาข้าราชการระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ที่โดนคำสั่งในลักษณะโอนย้าย ระงับการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง เพื่อประสิทธิภาพความเหมาะสมในการทำงาน และเป็นการเปิดทางให้ตรวจสอบการทุจริต อันประกอบด้วยบุคคลสำคัญดังต่อไปนี้ 

นายรังสรรค์ มณีเล็ก ให้ระงับการปฎิบัติราชการในตำแหน่ง รองเลขาธิการ กพฐ. เป็นการชั่วคราว ให้ไปปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี ตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี แต่เจ้าตัวทำหนังสือถึงเลขาธิการ กพฐ. 2 ฉบับแล้ว เพื่อเร่งรัดให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนว่า ตนทำผิดเรื่องอะไร ให้มีความชัดเจน เพราะจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่รู้ว่าตัวเอง ถูกระงับการปฏิบัติหน้าที่ด้วยข้อหาอะไร

ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน อดีตเลขาธิการ กพฐ. และนายไกร เกษทัน อดีต ผอ.สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ สพฐ. โดนพิจารณาโทษทางวินัย  กรณีทุจริตสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีมีความจำเป็น หรือมีเหตุพิเศษ ว 12 หลังจากที่มีการเลื่อนพิจารณาเรื่องดังกล่าวเมื่อปลายเดือน ธ.ค. 2558 เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ

ผิดกับ นายอภิชาติ จีระวุฒิ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ศธ.อยู่ดี ๆ กลับถูกย้ายฟ้าผ่าให้ไปเป็นที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเจ้าตัวทุกวันนี้ยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำความผิดอันใดอันเป็นเหตุไม่ว่าจะพิจารณาจากมุมไหนชีวิตรับราชการก็ไม่เคยคิดในเรื่องฉ้อราษฎรบังหลวง แต่มีคนประมวลความถึงการถูกย้ายและได้ข้อสรุปเพียง 2 ประเด็น คือ สงสัยเป็นคนของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และไม่สนองนโยบายขอคนโตคนใดคนหนึ่งในคสช.แน่นอน ล่าสุด ตนเองก็ไม่เคยติดใจเอาความกับเรื่องที่ผ่านมาและเชื่อในกฎแห่งกรรม ปัจจุบันได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา 

ดร.กมล รอดคล้าย อดีตเลขาธิการสภาการศึกษา คณะรัฐมนตรีมีมติขอรับโอนให้ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กรณีการติดตั้งระบบกล้องวงจรปิด หรือซีซีทีวี ในโครงการเซฟ โซน สคูล 12 เขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่อยู่ระหว่างสืบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งเจ้าตัวกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ยอมรับในมติ ครม. และยังไม่ขอพูดอะไรในตอนนี้ และต่อมา ครม.มีมติเห็นชอบรับโอนให้ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษ ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี

ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ อดีตเลขาธิการสภาการศึกษา และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษ สำนักนายกรัฐมนตรี มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า น่าจะมีสาเหตุจากปัญหาการก่อสร้างโครงการสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา หรือ อควาเรียมหอยสังข์ ที่วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ อ.เมือง จ.สงขลา สังกัด สอศ.ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2550-2554 วงเงิน 835 ล้านบาท แต่ผ่านมา 10 ปียังไม่แล้วเสร็จใช้งบประมาณราว 1,400 ล้านบาท ระบุว่า นายชัยพฤกษ์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.)ปี 2555-2559 มีการแก้ไขรูปแบบรายการ 4 ครั้ง

หมายเหตุ : กรณีการก่อสร้างโครงการสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา หรืออควาเรียมหอยสังข์ (โครงการก่อสร้าง อควาเรียมหอยสังข์ ที่วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์) อ.เมือง จ.สงขลา สังกัด สอศ. เริ่มดำเนินการปลายปี 2550 -2561 มีเลขาธิการ กอศ.ดูแล 5 คน เริ่มจาก นายวีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ (เสียชีวิตแล้ว) นายพรหมสวัสดิ์ ทิพย์คงคา เกษียณอายุราชการ น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ถูกปลดออกจากราชการ นายชัยพฤกษ์ อดีตเลขาธิการ กอศ.ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2555-2559 และนายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการ กอศ.คนปัจจุบัน

นายมงคลชัย สมอุดร ให้พ้นจากตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมง (นักวิชาการศึกษาระดับทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง นักวิชาการทรงคุณวุฒิพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักวิชาการศึกษาระดับทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2561 เป็นต้นไป ทั้งนี้ นายมงคลชัย เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ ปี 2546-2552 ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างอควาเรียมในช่วง 2 ปีแรก (ปี 2551-2552)

และนายบุญส่ง จำปาโพธิ์ ข้าราชการพลเรือน พ้นจากตำแหน่ง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (นักบริหารระดับสูง)สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2561 เป็นต้นไป

สุดท้ายแล้ว  ที่สุดวันนี้ก็ยังไม่สามารถเอาผิดใครได้ ท่ามกลางการวิพากษ์ ลึก ๆ คือ ย้ายเพื่อเอาคนของตัวเองมานั่ง คนเหล่านี้ใช้ชีวิตต่างกันออกไป บางคนอยู่จนเกษียณอายุราชการ บางกลุ่มคืนความเป็นธรรม ถ้าพวกเดียวกันก็คืนเร็ว

แต่มีบางกลุ่มไม่ยอมแพ้โชคชะตา ลาออกไปทำงานการเมือง เช่น ดร.กมล รอดคล้าย ไปเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงศึกษาธิการ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ไปเป็นเลขาธิการพรรคประชาชาติ พล.โท พงศกร รอดชมภู เป็นรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และบางคนยังอยู่เเบบไร้อนาคต เช่น ประสัน เทพรักษ์ ทูตไทยประจำอังกฤษสมัยทักษิณ

บางคนก็คืนตำแหน่ง แบบใช้คำว่า คืนความเป็นธรรม ให้ใน 3 เดือนสุดท้าย เช่น ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) โดยให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งในอัตรา 21,000 บาท คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ เมื่อ วันที่ 4 สิงหาคม 2563ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ

และ ดร.มงคลชัย สมอุดร ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง เพื่อทดแทนตำแหน่งนักวิชาการทรงคุณวุฒิพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักวิชาการศึกษาระดับทรงคุณวุฒิ) ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการสำนัก ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ เมื่อ วันที่ 4 สิงหาคม 2563 ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตกันว่า แม้บางรายผลสอบสวนจะออกมาแล้วว่าไม่ผิด การคืนตำแหน่งยังไม่เกิดขึ้น หรือบางรายกว่าจะได้คืนตำแหน่งหรือได้คืนความเป็นธรรมในตำแหน่งที่ใกล้เคียง ก็ต้องใช้เวลาล่วงเลยเป็นปี บางรายได้คืนตำแหน่งแล้วยังต้องไปเปลี่ยนชื่อตัวเองเพื่อไม่ให้มีตำหนิหรือจุดด่างพร้อย

อาจเข้าตำราที่ว่า ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็ คือ ความไม่ยุติธรรม ดังนั้น หากการคืนความเป็นธรรมนั้นมาไม่ทันเวลาหรือช้าเกิน ย่อมไม่ต่างอะไรกับการไม่ได้รับคืนความเป็นธรรมนั่นเอง  

มีนักวิชาการด้านกฎมายกล่าวไว้ว่า ความเป็นธรรมในทางกฎหมาย ควรที่จะต้องเป็นหนึ่งเดียวกับความเป็นธรรมในสังคม แต่ในความเป็นจริงที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งสองส่วนกลับกลายเป็นคนละเรื่องกันแทบจะโดยสิ้นเชิง และนับวันความแตกต่างก็นับจะมีมากขึ้นและมีความหมายที่ไปกันคนละทิศละทาง  

นี่คือ สิ่งที่เรียกกันว่าเป็นการ “คืนความเป็นธรรม” ที่ดูแล้วเป็นความยุติธรรมยิ่งแล้ว ใช่หรือไม่