เด็กนักเรียน ผูกโบว์ขาว ร้องเพลงชาติ เป่านกหวีด บุกไล่รมว.ศธ. สะท้อนความล้มเหลวการศึกษาไทย

เสวนากับบรรณาธิการ 22-29 สิงหาคม 2563

วิชเทพ ฦาชาฤทธิ์ บรรณาธิการ

เด็กนักเรียน ผูกโบว์ขาว ร้องเพลงชาติ เป่านกหวีด บุกไล่ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ. สะท้อนความล้มเหลวการศึกษาไทยอันมีหลายปัจจัยองค์ประกอบ

เด็กไทยกลุ่มหนึ่งไปไกลเกินคิดชนิดยากที่จะกู่ให้กลับคืนสู่สภาพเดิมๆ อย่างที่เคยเป็นมาอีกต่อไป เมื่อทุกสื่อนำเสนอเรื่องราวการชุมนุมของกลุ่มนักเรียนชู 3 นิ้ว ผูกโบว์ขาว ร้องเพลงชาติ เป่านกหวีด บุกกระทรวงศึกษาธิการ ไล่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ. ออกจากตำแหน่ง แสดงจุดยืนเพื่อเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ

ภาพที่นักเรียนหลายแห่งออกมาชูป้ายประท้วงผู้บริหารสถานศึกษาหรือผู้เป็นครูขาดจิตสำนึกวิญญาณแห่งความเป็นครู บางทีถึงขั้นประท้วงขับไล่ อันเนื่องจากมีพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย และเด็กมิอาจพึ่งพาใครได้ ปฏิกิริยาตรงนี้ ดูเหมือนว่ากระทรวงศึกษาธิการหรือหน่วยงานต้นสังกัดออกมาขานรับที่เชื่องช้าเกินไป หลายกรณีแห่งความร้ายแรงกลายเป็นการเตะถ่วงโดยอ้างระบบระเบียบทางราชการเข้าถู เห็นได้จากสูตรสำเร็จ คือ ย้ายไปปฏิบัติงานที่อื่น หากไม่มีการติดตาม ไม่ช้านานทุกอย่างทุกเรื่องก็เข้าสู่วงจรเงียบสงัด

กระทั่งมาถึงข่าวและภาพ เด็กมัธยมประท้วงปิดปากยืนนิ่งๆหน้าเสาธง เด็กยืนถือกระดาษเปล่าประท้วงอย่างสงบ เด็กชูสามนิ้วขณะร้องเพลงชาติในวันที่มีการจัดกิจกรรมแสดงจุดยืนเพื่อเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ที่กระทรวงศึกษาธิการ ยังมีแกนนำนักเรียนได้ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นไปปราศรัยโจมตีการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการ ถึงการบริหารล้มเหลว กฎกระทรวงฯละเมิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กฎต่าง ๆที่โรงเรียนออกกลับละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพในร่างกายของตนเองอีกด้วย  ดังนั้น ศธ.ควรออกมาขอโทษและเยียวยานักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกกดขี่ทางร่างกายและจิตใจ อีกด้วย

สอดรับกับเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ สังคมยังได้เห็นและรับรู้ถึงสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนเลยว่าจะเกิดขึ้นกับวงการศึกษามาก่อน นั่นคือ ภาพข้าราชการครูคนหนึ่งทรุดตัวลงกับสนามหญ้าแล้วกราบขอโทษพร้อมขอบคุณนักเรียนที่ช่วยให้ชีวิตมีงานทำ  

แม้จะมีการเสียงกล่าวถึงการก่อม้อบในทำนองไม่ใช่ความคิดเด็ก คงมีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอันมีนายทุนทั้งกลุ่มการเมืองขั้วตรงข้ามรัฐบาลคงคิดร้ายต่อบ้านเมืองคอยกำกับจัดตั้งอยู่เบื้องหลัง หากมองกันด้วยข้อเท็จจริง ล้วนเป็นธรรมดาของการขับเคี่ยวทางการเมืองแล้ว ก็น่าพอจะรับกันได้ถึงความเป็นไปได้ในการที่ต่างฝ่ายพยายามสร้างกลยุทธสร้างจุดแข็งของตนและเจาะจุดอ่อนของอีกฝ่ายออกมาให้เห็น โดยใช้สื่อออนไลน์หลายช่องทาง ไม่ว่าทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ค และอื่นๆ มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

และเป็นเรื่องธรรมดาอีกเช่นกัน ในการทำกิจกรรมแสดงออกทางการเมืองเชิงสัญลักษณ์ในสถาบันอุดมศึกษาของนิสิตนักศึกษา ว่าไปแล้วเป็นเรื่องที่ไม่ผิดปกติหรือน่าประหลาดใจประการใด มักจะมีให้เห็นอยู่เสมอในทุกครั้งทุกรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง หรือการปฏิวัติรัฐประหาร ซึ่งในช่วงใหม่ๆ มักจะสงบนิ่งให้โอกาสทำงานไปสักระยะหนึ่ง

แต่เมื่อใดพบว่า รัฐบาลมีพฤติกรรมบริหารชาติบ้านเมืองไปสู่ทางที่ผิดปกติ ผูกขาดอำนาจอย่างไม่เป็นธรรม การดำเนินการทางการเมืองที่ขาดความโปร่งใส ทุกองค์กรยังเต็มไปด้วยเสียงเรียกร้องถามหาคุณธรรมและจริยธรรมจากสังคม ระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่ล้มเหลว การใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนยังไม่ได้รับการคุ้มครอง   

หากจะมองในมุมของนักเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ออกมาร่วมขบวนการชุมนุมถึงขั้นบุกกระทรวงศึกษาธิการ ไล่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ. ออกจากตำแหน่ง คงหนีไม่พ้นที่จะเป็นข่าวที่นับวันจะขยายวงกว้างออกไปอย่างแน่นอน

แม้ว่าจะมีเสียงวิงวอนร้องขอให้ ครู อาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษา รวมถึงบรรดาผู้ปกครอง พ่อแม่ ช่วยชี้แจงพูดคุยกับเด็กเพื่อทำเข้าใจแล้วก็ตาม คงต้องเผชิญกับความกระอักกระอ่วนใจอยู่มิใช่น้อยกับการหาเหตุผลมาทำให้เด็กเชื่อและคล้อยตามได้ง่ายๆ  

แม้ว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือรัฐบาล จะสั่งหรือสั่งเป็นนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ทุกหน่วยงานนำค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ ไปสู่การปลูกฝังและปฏิบัติก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน กตัญญูต่อพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ครู ใฝ่หาความรู้ทั้งทางตรงและทางอ้อม รักษาวัฒนธรรมไทยอย่างดีงาม มีศีลธรรม หวังดีต่อผู้อื่น เข้าใจ เรียนรู้การเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย เคารพผู้ใหญ่  มีสติ รู้คิด รู้ทำ รู้จักดำรงตนโดยใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ความเข้มแข็งในจิตใจ ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำ และ คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าผลประโยชน์ตัวเอง.

การประท้วงก่อม้อบของเด็กครั้งนี้ ได้สะท้อนให้เห็นความล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าของกระทรวงศึกษาธิการ ในการนำค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการสู่การปลูกฝังจิตสำนึกเด็ก ๆ ให้เป็นไปตามคุณลักษณะอย่างที่ต้องการได้ และการจะทำนโยบายนี้ให้เกิดความสำเร็จได้มิใช่การให้ท่องจำเป็นนกแก้วนกขุนทอง ควรมีแบบอย่างทีดีในสถานศึกษา จากสถาบันครอบครัว หากพ่อแม่ยังพูดโกหก ผู้บริหาร นักการเมืองยังโกง ข้าราชการและบุคลากรพนักงานลูกจ้างไร้ความรับผิดชอบ ในหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ แล้วจะสอนเรื่องความซื่อสัตย์ให้แก่เด็กได้อย่างไร

แม้แต่การเรียนการสอนประวัติศาสตร์เพื่อสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่เรียกร้องกันมานานให้กระทรวงศึกษาจัดเป็นความสำคัญระดับต้น ๆ ที่ควรแยกออกมาจากรายวิชาและเตรียมครูสอนโดยเฉพาะ เพื่อจะทำให้เด็กในชาติได้ศึกษาประวัติศาสตร์อย่างมีเหตุผล มีวิจารณญาณมากยิ่งขึ้น เพื่อให้นักเรียนซึมซับความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์  มีความหวงแหนเห็นคุณค่าในต้นทุนวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของคนไทย ที่สั่งสมมาเป็นหลายร้อยปี รวมถึงจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ มีความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษและผู้มีพระคุณ และความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

แรกนั้นได้เห็นการขานรับอย่างแข็งขันจาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กระทรวงศึกษาธิการ ตลอดผู้บริหาร ได้ออกมารับว่าจะไปดำเนินการอย่างจริงจัง คุยเฟื่องถึงการจัดทำเอกสารเป็นแนวทางสำหรับเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา และครูผู้สอนในการนำโนบายดังกล่าวสู่การปฏิบัติในระดับห้องเรียนด้านแนวการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์

ล่าสุด ข่าวว่าได้อบรมวิทยากรแกนนำไปแล้วถึง 36,000 คน ถามว่า แล้วหายไปอยู่กันตรงส่วนไหนกันหมด เสียงบ เสียเวลา ไปเท่าไรกับการดำเนินการในส่วนนี้เท่าไร คุ้มค่าราคาคุยไหม

ก็ไม่เข้าใจเช่นกันว่า ม็อบเด็กนักเรียนก็ยังส่งสะท้อนถึงความล้มเหลวอย่างแหลกเหลว สร้างความผิดหวังต่อการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ที่ควรเป็นการศึกษาที่สอดรับกับค่านิยม 12 ประการดังกล่าว แต่ปรากฏชัดจากตัวชี้วัดของม็อบเด็กนักเรียนครั้งนี้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม จะไปกล่าวโทษหรือคาดหวังความรู้จากครูหรือสถาบันการศึกษาอย่างเดียวคงไม่ได้ ทุกอย่างย่อมขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัยหลายอย่างเป็นองค์ประกอบสำคัญซี่งมีทั้งอย่างหนาและอย่างบาง  

โดยเฉพาะปัจจัยหลักย่างหนาที่เห็นได้ชัด จากพฤติกรรมของบรรดานักการเมือง ผู้หลักผู้ใหญ่ระดับสูงในองค์กรหลักหรือในกระทรวงต่างๆ ล้วนเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงพฤติกรรมที่สวนทางกับค่านิยม 12 ประการ อาทิ เรื่องการผูกขาดอำนาจอย่างไม่เป็นธรรม เล่นพวกพ้อง การแต่งตั้งโยกย้าย การดำเนินการในการใช้งบประมาณส่วนใหญ่ขาดความโปร่งใส ความพยายามอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายหาผลประโยชน์ทุกช่องทาง การบริหารไร้ธรรมมาภิบาล ไร้คุณธรรม จริยธรรม

ไม่เว้นแม้หลายคดีกรณีการกระทำในเรื่องผิดเรื่องชั่วช้าให้เป็นเรื่องของความดีความงามได้อย่างสง่างาม การใช้อำนาจรัฐ อำนาจในหน้าที่ที่มีความน่าสงสัย แต่ประชาชนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่อาจเข้าไปตรวจสอบได้ จนมีคำกล่าวกันในทำนองประชดประชันว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” เท่ากับเป็นการฟ้องถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนยังไม่ได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมอย่างเต็มที่ด้วยความเสมอภาคและยุติธรรม

หลากหลายกรณีตัวอย่างทุกวันนี้ที่ปรากฏทางสื่อมากมายล้วนน่าสมเพทอเนจอนาถใจ ที่ยกอ้างมาให้เห็นเพียงสังเขปดังกล่าว ที่ทำให้เกิดแรงผลักไสไล่ส่งผู้ปกครองบ้านเมืองที่เขามิอาจพึ่งพิงตามที่เขาคาดหวังได้ ล้วนเกิดจากการบ่มเพาะพฤติกรรมของเหล่าผู้บริหารปกครองบ้านเมือง ที่ทำให้เด็กๆ ได้เห็นและซึมซับรับรู้ทุกวันเวลา  

ดังนั้นเท่ากับเดินสวนทางกับค่านิยม 12 ประการ ที่รัฐบาลหรือกระทรวงหลักอย่างกระทรวงศึกษาธิการ พยายามยัดเยียดใส่สมองเด็ก แทบไม่เห็นเป็นภาพที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทยอย่างที่ผู้ใหญ่บอกให้ท่องและสอนไว้ แต่อย่างใด และรังแต่จะสร้างความคับข้องใจ สงสัยพฤติกรรมที่รบกวนจิตใจเด็กและเยาวชนตลอดเวลา ในทำนองทำดีแล้วทำไมไม่ได้ดี ผิดกับคนทำชั่วกลับได้ดีมีความเจริญก้าวหน้ามีถมไป

ทางออกเรื่องนี้ หากผู้ใหญ่ในบ้านเมืองยังปล่อยให้คนชั่วช้ายังมีที่นั่งที่ยืน มีอำนาจในการบริหาร ไม่ว่าจะอยู่ในสภาฯหรือในหน่วยงานองค์กรหลักของรัฐต่อไปอีก บ้านเมืองย่อมเข้าสู่ความไม่สงบแน่นอน

น่าจะมีทางออกทางเดียว คือ ยุบสภา แล้วเลือกตั้งใหม่ ซึ่งไม่ใช่เป็นการยอมจำนนหรือเป็นชัยชนะของฝ่ายใด  ดังนั้นการยุบสภาแล้วให้ประชาชนใช้สิทธิใช้เสียงทั้งประเทศตัดสินใจกันอีกครั้ง น่าจะทางออกที่ได้จังหวะและเวลา หลังได้ตกผลึกเห็นพฤติกรรมจากผลงานการต่างกรรมต่างวาระในการทำหน้าที่ของนักการเมืองทั้งหลายในสภาที่ผ่านมา

ขอตบท้ายด้วยบทประพันธ์ เพลง "เมืองกังวล" ที่น่าจะเข้ากับสถานะการบ้านเมืองเวลานี้ ของ ถนอม อัครเศรณี ผู้ตอบปัญหาหัวใจทางหน้าหนังสือพิมพ์ชื่อดัง นามปากกาว่า “ศิราณี” มาเป็นเครื่องเตือนสติกัน ดังเนื้อร้องที่หลายคนอาจจะได้ยินได้ฟังในรูปของบทเพลงมาแล้ว  ซึ่งมีหลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 แต่จริงๆ แล้ว บทประพันธ์นี้ คุณถนอม อัครเศรณี เป็นผู้แต่ง

 

เพลง "เมืองกังวล"

เมืองใดไม่มีทหารหาญ  เมืองนั้นไม่นานเป็นข้า

เมืองใดไร้จอมพารา    เมืองนั้นไม่ช้าอับจน

เมืองใดไม่มีพณิชเลิศ   เมืองนั้นย่อมเกิดขัดสน

เมืองใดไร้ศิลป์โสภณ   เมืองนั้นไม่พ้นเสื่อมทราม

เมืองใดไม่มีกวีแก้ว     เมืองนั้นไม่แคล้วคนหยาม

เมืองใดไร้นารีงาม     เมืองนั้นสิ้นความภูมิใจ

เมืองใดไม่มีดนตรีเลิศ  เมืองนั้นไม่เพริศพิสมัย

เมืองใดไร้ธรรมอำไพ  เมืองนั้นบรรลัยแน่เอย ฯ