รมว.ศธ.ลงพื้นที่ครม.สัญจรภาคตะวันออก ติดตามด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนเขตพื้นที่ EEC

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2563 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) เป็นประธานการประชุมติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2563 กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง) ด้านการผลิตและพัฒนากำลังคน ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมี นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(เลขาธิการกอศ.) ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ รองเลขาธิการ นายวิวัฒน์ มหาผลศิริกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ผู้ประกอบการภาคเอกชน คณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC HDC) ร่วมประชุม ณ อาคารอเนกประสงค์ วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี

นายณัฐพล กล่าวว่า แนวทางในการลงทุนในทุกภาคส่วนของประเทศมุ่งมาที่ EEC ในการเตรียมความพร้อมหลักจะเป็นการพัฒนาด้านบุคลากรเพื่อสร้างให้เด็กมีความสามารถตอบสนองของ EEC คิดว่าจำนวนตัวเลขที่ต้องการยังไม่เพียงพอสำหรับพื้นที่ EEC น่าจะมากกว่า 500,000 คน เพราะคิดว่าพื้นที่ EEC ยังขยายได้อีกอย่างกว้างขวาง เพียงแต่ ในการลงทุนที่วางแผนในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ในเรื่องของการศึกษาอาจจะไม่ได้สร้างความยืดหยุ่นพอที่ทำให้สามารถตอบโจทย์ในด้านการพัฒนาบุคลากรได้ และยังได้วางนโยบายให้เห็นชัดเจนว่ามีหลายภาคส่วนมาร่วม และอยากจุดประกายให้ทุกคนเห็นความสำคัญในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจกำลังรุมเร้าจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเดียวไม่ได้ ต้องวางแผนไว้สำหรับอนาคต เพราะการสร้างบุคลากรที่เข้มแข็งต้องใช้ระยะเวลาการสร้างทักษะความเข้าใจผสมผสานโดยการสอนร่วมกับเอกชนต้องใช้เวลาในการปรับตัว อุปกรณ์ต่างๆต้องพร้อม ก็ต้องใช้เวลาในการจัดซื้อ โดยมีงบประมาณแล้วต้องแบ่งช่วงเวลา ถ้าหากเป้าหมายเราชัดเจนในแต่ละวิทยาลัย รวมถึงมหาวิทยาลัยด้วย และยังรวมไปถึงการเตรียมเด็กมัธยมขึ้นมา ซึ่งนั่นถือเป็นการวางแผนพัฒนา EEC อย่างมีความมั่นคง

รมว.ศธ กล่าวเพิ่มเติมว่า "การเรียนการสอนที่ตอบสนองพื้นที่EECหนึ่งคือหลักสูตรระบบราง มีหลายวิทยาลัยเปิดสอน อยากโฟกัสที่วิทยาลัยที่มีศักยภาพในการที่มีความร่วมมือกับต่างประเทศ รวมถึงมีศักยภาพในการพัฒนาอย่างจริงจัง ซึ่งมีหลายวิทยาลัยที่สอนระบบรางแต่อุปกรณ์ยังไม่พร้อมและอุปกรณ์ก็ยังไม่สามารถจัดสรรให้ทุกวิทยาลัยได้ อาจจะเริ่มต้นที่ 1 แต่ต้องมีความพร้อมของอุปกรณ์ที่ทันสมัย ที่ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ ตลอดระยะเวลา 3-4 ปี และลงมือปฏิบัติได้จริงได้ออกไปเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพจริงๆ ในการจะซ่อมแซมหรือบูรณาการระบบรางที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระบบไฟฟ้าเป็นระบบที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ส่วนในเรื่องการจัดสรรงบประมาณ ในอนาคตต้องดูความพร้อมเฉพาะทาง ต้องเน้นนโยบายเป็นหลัก ไม่สามารถกระจายงบประมาณให้เท่ากันหมด ในขณะเดียวกันคุณภาพไม่ได้ แต่เชื่อมั่นว่ามีการวางแผนชัดเจนตรงเป้าหมายทุกวิทยาลัยจะได้งบประมาณที่เหมาะสมกับการรับนักเรียนในวิชาชีพต่างๆ แน่นอน สำหรับเรื่องหลักสูตรที่มีความไม่เหมาะสม ก็พร้อมจะปรับทั่วทั้งประเทศอยู่แล้ว ต้องใช้ความเข้าใจความร่วมมือของครู อาจารย์ด้วย เพราะถ้าปรับไปก็สอนได้ไม่ตรงเป้าที่วางไว้ ต้องใช้แนวทางในการพัฒนาคุณครูหรืออาจารย์ให้ตรงกับเป้าหมาย"

ด้านนายวิวัฒน์ มหาผลศิริกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า "รู้สึกยินดีและดีใจ ที่รัฐมนตรี ได้เลือกวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี เป็นสถานที่จัดประชุมเพื่อติดตามและประเมินความพร้อมของสถานศึกษาในการจัดการเรียนการสอน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและการสอนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด รวมถึงติดตามการดำเนินงานของผู้บริหารระดับสูง ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 เพื่อพัฒนาบุคลากรและติดตามงาน นโยบายของรัฐบาล ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC HDC นอกจากนี้ ได้ติดตามการเรียนการสอนโดยคำนึงถึงความปลอดภัย และประเมินความพร้อม ของสถานศึกษาเพื่อให้มีการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้มอบหมายให้วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี พัฒนการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศในกลุ่มสาขาวิชาเทคนิคควบคุมและซ่อมบำรุงระบบขนส่งทางรางให้เป็น Excellent Center เพื่อพัฒนาทางด้านวิชาการและศักยภาพของบุคลากรและรองรับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งตอบรับความต้องการพัฒนาของประเทศได้อย่างดี"

ในช่วงบ่ายวันเดียวกันนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ  รมว.ศธ. ได้เดินทางไปวิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี จังหวัดระยองเพื่อเยี่ยมชมและเปิดห้องสมุด Digtal Living Library ณ ห้องปทุมราช วิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี พร้อมกล่าวว่า "ในฐานะที่เป็นผู้ดูแลการศึกษาของประเทศไทย ต้องขอชื่นขมในความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้บริหารวิทยลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี ที่ได้ยกระดับคุณภาพการศึกษาของอาชีวศึกษา ซึ่งได้ดำเนินการเป็นอาชีวศึกษาเฉพาะทาง เรียกว่า Excellent Model School ตามโครงการสานพลังประชารัฐ ในด้านการพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษา อีกยังป็นวิทยาลัยชั้นนำ 1 ใน 5 ของประเทศด้วยผลสำเร็จจากการได้รับรางวัลมาตรฐานการศึกษาเอเซียแปซิฟิค (APACC) ในระดับเหรียญทอง และเป็นวิทยาลัยช่างอุตสาหกรรแห่งแรกของประเทศไทย (1" Technical and Vocational Education and Training Career Center : TVET) ขอแสดงความยินดีที่ได้รับรางวัลอันภาคภูมิใจนี้ ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงผลสำเร็จของความพยายามขอทุกทนที่ให้การสนับสนุน พัฒนาการจัดการศึกษาให้มุ่งไปสู่เป้าหมายของอาชีวศึกษา สามารถผลิตกำลังคนทางด้านอาชีวศึกษาอย่างมีคุณภาพออกสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีคุณภาพและตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ ถือเป็นการพัฒนากำลังคนได้อย่างมีประสิทธิภาพสามารถป้อนสู่ตลาด EEC และเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาจังหวัดระยองและประเทศชาติ"