สอศ.จัดโครงการครูเป็นโค้ชด้านธุรกิจการเกษตรปั้นผู้เรียนเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่

       ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(รองเลขาธิการกอศ.) เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาทักษะครูผู้สอนเพื่อเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจแก่ผู้เรียนสู่การเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยได้ให้ความสำคัญกับการสร้างองค์ความรู้ด้านการประกอบธุรกิจให้แก่ครู และผู้เรียนอาชีวศึกษาเน้นภาคธุรกิจเกษตรกรรมสร้างเกษตรเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่เน้นพัฒนาด้านการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ เพื่อเป็นรากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจ โครงการการพัฒนาครูผู้สอนอาชีวศึกษาที่จัดขึ้นนี้ จะช่วยพัฒนาทักษะ และความรู้ด้านการประกอบธุรกิจที่เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยใหม่พร้อมรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นกรณีเกิดโรคไวรัสโควิด-19ให้แก่ผู้เข้าอบรมทุกคน ทำให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปถ่ายทอด และเป็นที่ปรึกษาให้กับนักเรียน นักศึกษาด้านการเกษตร ตลอดจนพัฒนาการเรียนการสอนให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน เป็นการเพิ่มศักยภาพด้านธุรกิจแก่ผู้เรียนอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมงอีกทางหนึ่ง โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 สิงหาคม 2563 ณ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี

         

       ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ กล่าวอีกว่า การดำเนินโครงการในครั้งนี้ จัดขึ้นโดยการร่วมมือกันของ 3 หน่วยงานคือ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITDองค์การมหาชน) สำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ (สอศ.) และสำนักความร่วมมือ (สอศ.) โดยเลือกกลุ่มครูผู้สอนสาขาการเป็นผู้ประกอบการใหม่ของศูนย์บ่มเพาะจากสถานศึกษาที่เป็นกลุ่มเป้าหมายด้านการเกษตรและประมง      จำนวน 50 คน เข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการและแนวทางเกี่ยวกับกลยุทธ์การเขียนโครงการ การสร้างแบรนด์ และการฝึกปฏิบัติทั้งในเรื่องช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่การเป็นผู้ประกอบการ การค้นหาความเป็นผู้ประกอบการในตนเอง (Young Entrepreneurship Discovering) การออกแบบการเรียนรู้ (Learning Unit Design) ทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 (21st Century Skill: Creative, Critical, Collaboration, Communication) รวมถึงทักษะการเป็นโค้ชและการให้คำปรึกษา (Coaching and Mentoring) โดยจะมีการมอบเกียรติบัตรให้แก่ครูผู้ที่เข้ารับการอบรมในวันที่ 28 สิงหาคม 2563       ณ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี

         

      “สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้จัดการเรียนการสอนด้านการเกษตรและประมงเพื่อพัฒนานักเรียน นักศึกษา ให้เป็นเกษตรกรที่มีคุณภาพ มีทักษะวิชาชีพที่ทันสมัย เป็นหลักในเรื่องแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยให้กับประเทศ การอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านธุรกิจให้กับผู้เรียนจึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการไปพร้อมๆ กับองค์ความรู้ด้านวิชาการ     ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นเกษตรกรวิถีใหม่ที่เป็นได้ทั้งผู้ผลิตและผู้จำหน่ายที่มีศักยภาพ”รองเลขาธิการกอศ.กล่าว

         

      ด้านนายณรงค์ชัย เจริญรุจิทรัพย์ผอ.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุราษฎร์ธานี(วษท.สุราษฎร์ธานี)ผู้ประสานงานโครงการความร่วมมือในการพัฒนาผู้เรียนเกษตรสู่ผู้ประกอบการระหว่างสอศ.และITD กล่าวเสริมว่าโครงการนี้ดำเนินการมุ่งปั้นครูที่สอนด้านการเกษตรด้วยองค์ความรู้กระบวนการด้านธุรกิจตั้งแต่ศึกษาวิธีการทำแผนธุรกิจการเข้าถึงแหล่งทุน การก้าวไปสู่การเป็นผู้ประกอบการหรือผู้บริหารธุรกิจเกษตรเพื่อนำองค์ความรู้ถ่ายทอดสู่นักเรียนนักศึกษาด้านเกษตรกรรมเมื่อจบแล้วสามารถเป็นเจ้าของสถานประกอบการได้ เป็นผู้ทำเกษตรแปลงใหญ่หรือทำฟาร์มปศุสัตว์ ทำประมงขนาดใหญ่ได้ทั้งโดยเป็นเจ้าของเองหรือรับจ้างเป็นผู้บริหารแบบครบวงจรเช่นรับจ้างเป็นผู้จัดการฟาร์ม ซึ่งเป้าหมายของโครงการนี้เป็นไปได้ว่าจะบรรจุเป็นหลักสูตรตามลำดับตั้งแต่ปวช.ไปจนถึงอย่างน้อยปวส.เช่นระดับปวช.เกษตรก็เริ่มศึกษาเรียนรู้ปฏิบัติทำโครงการเพื่อพัฒนาแปลงเกษตรให้มีคุณภาพได้ผลผลิตปลอดภัยที่สามารถนำสู่ผู้บริโภคไปจนถึงแปรรูป ปวส.ก็ทำแผนธุรกิจ เรียนรู้การเข้าถึงแหล่งเงิน การทำแบรนด์เป็นต้น