วท.แม่สอดสืบสานแนวพระราชดำริรร.พระดาบส เปิดสอน โครงการอาชีวะสร้างช่างฝีมือ

       วันสิ้นเดือนสิงหาคมวันที่ฝนตกหนักทั้งในกทม.และอีกหลายจังหวัด เฉพาะอย่างยิ่งที่ภาคเหนืออย่างอำเภอแม่สอดที่จังหวะได้ไปเจอฝนเข้าที่นั่น  อยู่ต่อถึงวันที่ 1  กันยายน 2563 ฝนหยุดแล้วผู้อำนวยการกลุ่มประชาสัมพันธ์สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)คุณสุนันทา พลโภชน์ชวนไปเยือนวิทยาลัยเทคนิคแม่สอด(วท.แม่สอด) อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ให้ไปดูโครงการจัดการเรียนการสอนสนองพระราชปณิธานสร้างประโยชน์สุขแก่ปวงประชาในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตรผ่านโรงเรียนพระดาบส  อีกทั้งเป็นการสนองพระบรมราโชบายพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยสืบสาน รักษาและต่อยอดพระราชปณิธาน โดยดำเนิน“โครงการอาชีวะ สร้างช่างฝีมือ (ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส)”  ซึ่งสอศ.ได้กำหนดให้วิทยาลัยในสังกัด 12 แห่งดำเนินการเปิดการจัดการเรียนการสอนให้เยาวชนในท้องถิ่นมีโอกาสได้เรียนอาชีพตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงเลือกทางช่างที่ต้องการฝึกให้ชำนาญเรียนรวมทั้งสิ้น 1 ปี สามารถนำไปประกอบอาชีพสร้างงานสร้างรายได้ สร้างฐานะครอบครัวพัฒนาคุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ตามพระราชปณิธาน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้นวิทยาลัยเทคนิคแม่สอดเป็น 1 ใน 12 วิทยาลัย เข้าร่วมโครงการ

วิทยาลัยทั้ง 12 แห่ง ได้แก่ 1. วิทยาลัยเทคนิคแม่สอด 2. วิทยาลัยการอาชีพเสนา 3. วิทยาลัยเทคนิคโพธาราม 4. วิทยาลัยการอาชีพเวียงสา 5. วิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรง 6. วิทยาลัยสารพัดช่างเพชรบุรี 7. วิทยาลัยสารพัดช่างอุตรดิตถ์ 8. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพิจิตร 9. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว 10. วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกปัตตานี 11. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรี และ 12. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี  โดยเปิดสอนรุ่นแรกในปี 2561 จนถึงปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 3  เน้นย้ำเป้าหมายให้ผู้ขาดโอกาสทางการศึกษามีโอกาสศึกษาด้านวิชาชีพเพื่อนำไปประกอบอาชีพหลังจบตามโครงการ 1 ปี เพื่อได้วิชาเป็นเครื่องมือการยกระดับคุณภาพชีวิต

        

         นายเดโชวัต ทักคุ้ม ผู้อำนวยการวิทยาลัยแม่สอด(ผอ.วท.แม่สอด)  เปิดเผยว่า "โครงการอาชีวะ สร้างช่างฝีมือ" เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการพระดาบส ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รวมถึงเป็นการสนองพระบรมราโชบายพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงสืบสาน รักษา  ต่อยอดพระราชดำริ  ซึ่งโครงการพระดาบส ได้ดำเนินการตามพระราชดำริ มาเป็นระยะเวลา 42 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลาในการดำเนินการ ได้มีประชาชนที่มีคุณสมบัติตรงตามโครงการ ได้เข้ารับการพัฒนาทักษะอาชีพจำนวนมาก แต่โครงการสามารถรับผู้เรียนได้ปีละไม่เกิน 150 คน ทำให้มีผู้สมัครอีกมากที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ผู้บริหารโครงการจึงได้ประสานงานกับ สอศ. ให้คัดเลือกสถานศึกษา ในสังกัดร่วมสืบสานพระราชปณิธานดำเนินโครงการตามแนวโครงการหลัก โดยให้ชื่อว่า "โครงการอาชีวะ สร้างช่างฝีมือ" เพื่อพัฒนาอาชีพให้กับประชาชนผู้ขาดโอกาสในการศึกษา หรือฝึกทักษะอาชีพด้านอื่นๆ นอกจากอาชีพที่ดำเนินการในครัวเรือน

ผู้อำนวยการวท.แม่สอดกล่าวว่าหลักการดำเนินการของโครงการอาชีวะ สร้างช่างฝีมือ ต้องการฝึกประสบการณ์อาชีพที่สามารถนำไปประกอบอาชีพทันทีหลังสำเร็จการศึกษาจากโครงการฯ ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องมีวุฒิการศึกษา แต่ขอให้อ่านและเขียนภาษาไทยได้ คำนวณเลขอย่างง่ายได้ เช่นรู้หลักการและวิธีในการบวก ลบ คูณ หาร และตลอดระยะเวลาในการศึกษา 1 ปี จะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

“วิทยาลัยฯ ได้มีการจัดการเรียนการสอน โครงการอาชีวะ สร้างช่างฝีมือ (ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส) ผู้เรียนจะต้องเรียนพื้นฐานทักษะฝีมือช่างที่เรียนตามสถานีฝึกต่างๆ เป็นเวลา 1 ปี โดย 6 เดือนแรก ฝึกในด้านช่างต่างๆ เรียน 10 ทักษะ ได้แก่ ทักษะงานไม้ ทักษะงานตะไบ ทักษะงานเขียนแบบเบื้องต้น ทักษะงานอิเล็กทรอนิกส์ ทักษะงานไฟฟ้า ทักษะงานช่างยนต์ ทักษะงานปูน ทักษะงานตีเหล็ก ทักษะงานช่างเชื่อม และทักษะงานนิวเมติกส์ และ ด้านทักษะชีวิต อีก 2 ทักษะ ได้แก่ ทักษะชีวิตวันเสาร์ และทักษะเกษตรพอเพียง และ อีก 3 เดือนจะเรียนเฉพาะสาขาช่าง ที่นักศึกษาสนใจ ส่วนอีก 3 เดือนต้องเข้าฝึกประสบการณ์กับสถานประกอบการ โดยหลังจากผู้เรียน ดำเนินกิจกรรมครบหลักสูตรของโครงการฯ แล้ว ผู้เรียนจะได้รับ ใบรับรองการผ่านหลักสูตร "อาชีวะสร้างช่างฝีมือ" จาก สอศ. ใบรับรองการผ่านหลักสูตรของศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน จังหวัดตาก และถ้าสอบผ่านการประเมินมาตรฐานฝีมือแรงงาน จะได้รับใบรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานของ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน โดยในปีการศึกษา 2563 มีนักศึกษาทั้งหมด 27 คน”

นายเดโชวัต ทักคุ้มผอ.วท.แม่สอดฝากถึงประชาชนคนไทยด้วยว่าท่ามกลางการเกิดการแพร่ระบาดโรคไวรัสโควิด-9 ที่หลายประเทศทั่วโลกยังคงวิกฤติอยู่และในส่วนของประเทศไทยนั้นได้รับการป้องกันจำกัดการแพร่ระบาดได้ในระดับดี จนมีการผ่อนคลายให้สถานศึกษาเปิดการเรียนการสอนอย่างเฝ้าระวัง คณะผู้บริหาร บุคลากรของวิทยาลัยจะไม่ประมาทและยึดปฏิบัติตามกฎกติกาตามที่สบค.กำหนดโดยยึดเดินตามมาตรการที่สาธารณสุขและรัฐบาลกำหนดอย่างเคร่งครัด ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านมีข่าวระบาดรุนแรงอยู่พอสมควร วิทยาลัยตั้งอยู่ในพื้นที่ตะเข็บชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านคือเมียนม่าที่มีข่าวการแพร่ระบาดดังกล่าวแต่จังหวัดตากรวมถึงวิทยาลัยที่มีนักเรียนนักศึกษาวันนี้กว่า 2,000 คนได้เปิดการเรียนการสอนปรกติ ก็จะรักษาระเบียบกติกาตามที่รัฐบาลวางแนวทางไว้อย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้โรคไวรัส-19กลับมาระบาดอีก แต่แม้จะเกิดอะไรขึ้นถึงขั้นล็อกดาวน์ วิทยาลัยก็เตรียมพร้อมจัดการเรียนการสอนรองรับคือการจัดสอนแบบแบ่งกลุ่มแบบออนไลน์ดังที่เคยทำมาได้ทันที

         

       จากการพูดคุยกับทั้งผู้อำนวยการ ผู้บริหาร ครูบางท่าน กระทั้งนักศึกษาได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการบริหารจัดการในภาพรวมได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ การสนองพระบรมราโชบายด้านการศึกษาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นหลักการขับเคลื่อนคือการปลูกฝังสำนึกความรักความเมตตาเอื้ออาทร ให้ทุกคนรวมหัวใจยึดมั่นในความรับผิดชอบตามหน้าที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีจิตเสียสละอาสา ช่วยเหลือกันและกัน รู้จักให้ ช่วยกันดูแลรักษาความสะอาด การมีระเบียบวินัยใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เช่นการใช้พื้นที่ในการร่วมกันทำแปลงเกษตรปลูกพืชผักเพื่อประกอบอาหารโดยใช้เวลาว่างช่วยกันทำแบ่งหน้าที่กัน ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการที่เป็นนักศึกษาที่เรียนฟรีและกินนอนประจำในเวลา 1 ปี หลายคนได้ทักาะอาชีพพิเศษด้านเกษตรกลับบ้านไปด้วย

โครงการจัดการเรียนการสอน “อาชีวะสร้างช่างฝีมือ(ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส)ในแต่ละปีมีการจัดแข่งขันทักษะฝีมือ ระดับชาติ  ที่ผ่านมาวิทยาลัยเทคนิคแม่สอด ได้รับรางวัลจากการแข่งขันทักษะฝีมือ "อาชีวะ สร้างช่างฝีมือ" ระดับชาติ ครั้งที่ 2 รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทักษะงานไม้ รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้ 2 รางวัล คือ ทักษะงานตะไบและงานตีเหล็ก