“คนรุ่นใหม่หัวใจไร้ควัน” ม.หัวเฉียวฯ..ต้นแบบ!มหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่

เรื่องโดย: ฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th

มหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ที่เยาวชน ซึ่งจะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของชาติ มารวมตัวอยู่กันเป็นจำนวนมาก ถ้าเราสามารถสร้างความตระหนักรู้ถึงพิษภัยของบุหรี่ จะส่งผลดีมหาศาลในอนาคต

เยาวชนไทยมีแนวโน้มสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น อายุเริ่มสูบน้อยลง โดยกลุ่มอายุ 19 - 24 ปี มีอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นจากปี 2558 จากร้อยละ 20.2 เพิ่มเป็นร้อยละ 20.4 ในปี 2560 โดยปัจจัยที่ทำให้นักสูบอายุน้อยลง มาจากอุตสาหกรรมยาสูบใช้สื่อออนไลน์ ทำการตลาดเพื่อเพิ่มยอดขาย

เป็นข้อมูลจาก นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์คณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส.

นพ.คำนวณ เล่าต่อว่า ข้อมูลข้างต้นยังสอดคล้องกับผลสำรวจการศึกษาการตลาดในธุรกิจยาสูบ ที่พบเยาวชนสูบบุหรี่ถึงร้อยละ 45 บางรายสูบบุหรี่ตั้งแต่อยู่ชั้นประถมศึกษา โดยอุตสาหกรรมยาสูบมักทำการตลาดส่งเสริมการขาย และโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ เพราะเป็นช่องทางที่เข้าถึงเยาวชนได้ง่าย

ดังนั้น สสส.จึงจัดโครงการมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ ทำให้ในรั้วมหาวิทยาลัยมีโครงการดีๆ เกิดขึ้น อย่างที่ ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ กลายเป็นมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ต้นแบบ ที่เน้นกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ ผ่านแกนนำนักศึกษาและให้บริการคลินิกฟ้าใส เพื่อช่วยให้บุคลากร เจ้าหน้าที่และนักศึกษา ที่ต้องการเลิกบุหรี่สามารถเลิกได้สำเร็จ

ด้าน รศ.ดร.อุไรพรรณ เจนวาณิชยานนท์อธิการบดี ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เล่าว่า ให้ความสำคัญกับเรื่องของบุหรี่มาก เพราะบุหรี่มักเป็นปัญหาพื้นฐานของเด็กวัยรุ่นวัยเรียน ที่ผ่านมาพยายามสอดแทรกเรื่องภัยบุหรี่ เข้าไปในการเรียนการสอน ขณะที่กลุ่มนักศึกษาเข้าใหม่ ถ้าพบว่าติดบุหรี่มาก่อน เราจะโน้มน้าวให้เขาเลิกบุหรี่ผ่านบริการคลินิกฟ้าใส ที่ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัย

เรากำหนดให้ทุกอาคารเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ ตั้งแต่เข้าร่วมโครงการมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ กับ สสส. นักศึกษาให้ความร่วมมือปฏิบัติตามกฎระเบียบมากถึงร้อยละ 90 โดยพบปริมาณก้นบุหรี่ในห้องน้ำลดลงมาก มีรุ่นพี่รุ่นน้องชวนกันเลิกบุหรี่มากขึ้นรศ.ดร.อุไรพรรณ ระบุ

ขณะที่ อ.ฉลอง แขวงอินทร์รองอธิการบดี ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เล่าให้ฟังว่า วิธีการจัดการของมหาวิทยาลัยจะมีทั้งศาสตร์และศิลป์ โดยจะเน้นคุ้มครองสิทธิของคนที่ไม่สูบบุหรี่ ดังนี้

1. เป็นตัวอย่างที่ดี   โดยต้องเริ่มที่บุคลากรก่อน เช่น อาจารย์ เจ้าหน้าที่ รปภ.และคนสวน ต้องเลิกสูบบุหรี่ เพราะถ้ายังเห็นสูบกันอยู่ นักศึกษาจะไม่ให้ความร่วมมือ

2. กำหนดพื้นที่ห้ามสูบและสูบชัดเจน   ตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้นักศึกษามีทางออก เพราะไม่เช่นนั้นเหมือนเป็นการผลักไส ให้เขาออกไปสูบข้างนอกมหาวิทยาลัย อาจเกิดปัญหาอื่นตามมา

3. มีคลินิกฟ้าใสให้คำปรึกษา สำหรับนักศึกษาที่อยากจะเลิก หรืออยากจะสอบถามข้อมูลต่างๆ เรามีนักจิตวิทยาที่จะคอยให้คำแนะนำ

4. ลงโทษคนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎ เช่น สูบบุหรี่นอกจุดสูบ ก็จะถูกตัดคะแนนความประพฤติ และให้มาทำกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ เพื่อจะได้คะแนนความประพฤตินั้นคืน อย่างไรก็ตามเป้าหมายของเรา ไม่ได้อยู่ที่การคืนคะแนนความประพฤติ แต่อยากให้เขาได้เรื่องของจิตสำนึก รู้จักรับผิดชอบต่อส่วนรวม

5. ปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ พร้อมรณรงค์ให้ความรู้ ปรับทัศนคติต่อบุหรี่ผ่านละครเวที มีกิจกรรมวอล์กแรลลี่ พาเดินชมจุดต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย ซึ่งโซนสูบบุหรี่ก็เป็นหนึ่งฐานที่ต้องมาเยี่ยมชม รวมถึงคลินิกฟ้าใสที่ต้องไปเยี่ยมชมเช่นกัน

6. สนับสนุนกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ ผ่านแกนนำนักศึกษา โดยดึงแกนนำนักศึกษาช่วยกันสอดส่องดูแล ให้คำปรึกษา แนะนำการเลิกบุหรี่โดยไม่มีการบังคับ เกิดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติจากรุ่นสู่รุ่น

ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรตินับเป็นต้นแบบความสำเร็จ ที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมของบุคลากรและนักศึกษา ช่วยกันลดละเลิกบุหรี่ สสส. ขอร่วมรณรงค์ให้ทุกมหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ เพื่อลดปัญหานักสูบหน้าใหม่