เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ ไม่มีทางถึงหูครูตั้นแน่นอน

 

เสวนากับบรรณาธิการ 10-17 กันยายน 2563

เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ ไม่มีทางถึงหูครูตั้นแน่นอน

วิชเทพ ฦาชาฤทธิ์ : บรรณาธิการ

หลังการโยกย้ายแต่งตั้งระดับ 11 กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตามมติ ค.ร.ม.ที่ เมื่อ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา เป็นไปตามที่ ศธ.เสนอ ราบรื่นไร้คลื่นลมรบกวน เหมาะสมลงตัวดังใจปรารถนาของระดับบิ๊กการเมืองในฐานะผู้มีอำนาจและระดับบิ๊กสูงสุดของข้าราชการ ศธ. ที่วาดหวังให้เกิดเอกภาพในการทำงานแบบบูรณาการไม่มีสะดุด

เห็นจากแต่งตั้งนายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นปลัดกระทรวง ศธ.,นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) โยกเป็นเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.),นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ) เป็นเลขาธิการ(กพฐ.) และนายสุเทพ แก่งสันเทียะ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เป็นเลขาธิการคณะกรรมการ (กอศ.)

ตามมาด้วยเหตุผลสั้นๆ เพื่อสับเปลี่ยนหมุนเวียนและทดแทนตำแหน่งที่ผู้ครองตำแหน่งอยู่เดิมจะเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563

ดูไปแล้วคงเป็นเรื่องปกติธรรมดาๆ ในวงราชการข้าราชการระดับสูงตำแหน่งประเภทบริหาร ทั่วไปจะมีการโยกย้าย สับเปลี่ยนในทุกสิ้นปีงบประมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ปฏิบัติหน้าที่เดียวติดต่อกันเป็นเวลาครบสี่ปี ให้ผู้บังคับบัญชาสับเปลี่ยนหน้าที่ ย้าย หรือโอนไปปฏิบัติหน้าที่อื่นได้  

เว้นแต่มีความจำเป็น เพื่อประโยชน์ของทางราชการจะขออนุมัติ ครม.ให้คงอยู่ปฏิบัติหน้าที่เดิมต่อไปอีกแต่ไม่เกินสองปีก็ได้

อย่างไรก็ตาม ยังมีเสียงตั้งข้อสังเกตถึงการโยกย้ายแต่งตั้งส่วนใหญ่ในกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งระยะหลังๆ มักมีความผิดปกติเจือปนในความเป็นปกติ โดยเฉพาะการอยู่ในตำแหน่งสูงนั้นๆ มักไม่ครบวาระ 4 ปี หรือมักจะได้บุคคลที่คุณสมบัติยังไม่ถึงให้เข้ามาดำรงตำแหน่ง โดยมีการจัดระดับรองๆ แบบรับจ๊อบฝึกงานอยู่ในค่ายไปก่อนสักช่วงเวลาหนึ่ง เมื่อสบช่องโอกาสก็ตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเขียนกฎใหม่ เกณฑ์ใหม่ ใช้อำนาจดันทุรังเสียบยอดเร่งปุ๋ยเร่งเคมีให้เติบโตใช้งานได้ทันใจทันกาลทันเวลา ข้ามหัวอาวุโสก็มีให้เห็นตำตาตำใจกันมิใช่น้อย

จึงมีเสียงบอกเล่าจากอดีตผู้บริหารระดับสูงใน ศธ.เองนี่แหละ ระบายถึงความอึดอัดคับข้องใจในทำนองนี้ว่า ส่วนใหญ่ที่ถูกโยกย้าย ดูกันจริงๆ แล้ว มิใช่เป็นความผิดหรือบกพร่องในการบริหารงานจนราชการเสียหายร้ายแรงเลยแม้แต่คนเดียว

แต่ที่ถูกโยกย้าย นั่นเป็นเพราะไม่ยอมตอบสนองในการสั่งหรือขอให้กระทำในสิ่งที่เรียกว่า เป็นการเสี่ยงต่อทุจริตในหน้าที่แทบทั้งสิ้น เหตุนั้นๆ จึงเป็นที่มาของผลที่ไม่ต้องรอชาติหน้าอย่างที่เห็นกันแทบทุกองค์กรรัฐ

หากยินยอม หาทางช่วยให้เห็นผล เส้นทางราชการย่อมรุ่งโรจน์สดใส หากมิยินยอมย่อมรู้ผลที่จะตามมาอีกไม่นานเกิน นี่คือเรื่องจริงที่เห็นได้แทบทุกครั้งในการโยกย้าย แต่งตั้ง ระดับกลางถึงระดับสูง ไม่ใช่เพียงกระทรวงศึกษาธิการ

หากจะลองตรวจสอบกับการโยกย้ายแต่งตั้งในกระทรวงศึกษาธิการปัจจุบัน มักจะพบเสมอว่า ทันทีที่เปลี่ยนรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงคนใหม่ หรือคนเก่าจะสิ้นบุญ มักจะมีกระแสข่าวในเชิงทำลายขวัญข้าราชการให้กระเจิงถดถอยได้เสมอ

กล่าวพิเคราะห์กรณีโยกย้ายแต่งตั้งระดับสูงใน ศธ.ครั้งนี้ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้วที่ว่าค่อนข้างราบรื่นเหมาะสมลงตัว และเป็นเรื่องที่ดีที่ยังไม่มีคนนอกไหลเข้ามาอย่างเป็นข่าวก่อนหน้านี้ แถมยังแฮบปี้ได้คนในอย่างน้อยก็คุ้นเคยกันในการร่วมงานเป็นเลขาธิการในองค์กร จึงคาดหวังได้ถึงการเกิดความเป็นเอกภาพ น่าจะเดินหน้ากอดคอทำงานกันต่อไปแบบไม่สะดุด  

แต่กระนั้น ก็ยังมีการตั้งข้อสังเกตถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังจากบรรดาข้าราชการที่ตั้งวงคุย ซึ่งเชื่อกันว่า รื่องเหล่านี้คงไม่มีทางถึงหู "ครูตั้น" แน่นอน เมื่อพูดถึงที่มาที่ไปของแต่ละท่านแต่ละตำแหน่งอีกมุมหนึ่ง

การที่ นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา เข้ามาดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการนั้น ทุกคนจึงมีแต่ดีใจ เหมือนบ้านทรายทองได้เห็นชายใหญ่กลับบ้าน เมื่อย้อนดูประวัติทั้งส่วนตัวหรือการทำงาน ไม่มีอะไรที่จะต้องติดใจสงสัยคาใจในทุกพฤติกรรมของชีวิตการรับราชการที่มีความเรียบง่าย

เคยอยู่กรมการฝึกหัดครู สถาบันราชภัฏ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา และสุดท้าย คือ เลขาธิการสภาการศึกษา

และหลายท่านคงจำกันดีถึงเหตุการณ์โครงการเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา หรือยูนิเน็ต ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่ทำให้ นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา และว่าที่เลขาธิการ สกศ.ขณะนั้น โดนหางเลขตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย และทุกสรุปรายงานผลทุกข้อทุกด้าน ไม่พบอะไรที่มีความผิดปกติแต่ประการใด   

อย่างไรก็ตาม แม้ไม่พบความผิดปกติ แต่ก็ยังส่งผลให้นายสุภัทร์ จำปาทอง (ชายใหญ่) ถูกโยกย้ายให้ไปเป็นเลขาธิการ สกศ. ที่ตั้งแท่นรองรับด้วยถ้อยคำของเสนาบดีเจ้ากระทรวงยุคนั้นบอกด้วยใบหน้ายิ้มแย้มยินดีว่า ไม่มีความผิด เพราะการสอบสวนต่างๆ เกิดขึ้นในช่วงเวลาและจังหวะคล้องจองกันพอดี ไม่ได้ย้ายเพราะนายสุภัทรทำผิดแน่นอน และการย้ายครั้งนี้ คิดดีแล้ว เรื่องคนต้องคิดนานๆ

“...ย้ายเพราะเห็นว่า สภาการศึกษา (สกศ.) เป็นหน่วยงานสำคัญ ที่ต้องการคนมีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับมาทำงานสำคัญ เช่น การปฏิรูปการศึกษา ที่ต้องทำร่วมกับคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ได้อย่างดี ...”

ที่จริงแล้ว เบื้องหลังของการโยกย้ายจริงๆ นั้น ว่ากันว่าเป็นฝีมือของกลุ่มนักการเมืองจัณฑาลที่เสียผลประโยชน์ในการประมูลโครงการเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา หรือยูนิเน็ต การย้ายครั้งนั้นเท่ากับเป็นการตัดไฟต้นลม เนื่องจากมีรายงานตัวจริงอีกฉบับหนึ่งและมีพยานยืนยัน พร้อมระบุตัวไอ้ใม่งที่พยายามบิดเบือนรายงานข้อเท็จจริง หากเปิดออกมาแล้วคงตายทั้งแก๊งค์ ตลอดเครือข่ายญาติพี่น้อง

สบช่องกับก่อนหน้านี้ มีการสั่งโยก นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการ สกศ.ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หลังมีข้อสรุปเกี่ยวกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างอควาเรียมหอยสังข์ ที่มีคนจัณฑาลกลุ่มแก๊งค์ผู้มีอิทธิพลชุดเดียวกันใช้กำลังภายในแปลงสาร นำเสนอเห็นควรให้ดำเนินการซ่อมปรับปรุงอควาเรียมหอยสังข์ ต่อด้วยวงเงินงบประมาณอีกจำนวน 545 ล้านบาท แม้จะมีการทักท้วงอย่างแข็งขันว่า ไม่เกิดประโยชน์ ไม่คุ้มค่าในการลงทุนก็ตาม แต่ทุกอย่างยังคงเดินหน้าต่อเนื่องมาถึง ณ วันนี้

หรือจะเป็นเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผู้ซึ่งจะเป็นเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) อีกไม่กี่วันข้างหน้า คงไม่ลืมบทเรียนเมื่อยังเป็น ผอ.วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการโนนดินแดง เคยไปแสดงบทบาทเป็นผู้ที่ไม่สนองนโยบายในการจัดซื้อครุภัณฑ์ตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 หรือ SP2

จึงถูกย้ายฟ้าผ่าแบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนใน สอศ.ให้ไปเป็น ผอ.วก.นางรอง ซึ่งเป็นวิทยาลัยขนาดเล็กกว่า และกลายเป็นคนที่ไม่มีความก้าวหน้า และเป็นการย้ายไม่เคยปรากฎในทำนองนี้มาก่อนเลยใน สอศ.

ดังนั้น การหวนกลับมาเป็นใหญ่เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) คราวนี้ โครงการใหญ่ที่จุดติดแล้วในหลายโครงการที่มีการลงทุนแบบพัฒนานวัตกรรม สื่อเทคโนโลยี มักตามมาด้วยเม็ดเงินมหาศาล ต่อไปจึงเป็นเครื่องเตือนใจเตือนสติโดยหาสุภาษิตคำคม มาติดไว้หน้าห้องให้เตะเตะใจไว้มากๆ

ประวัติศาสตร์ชีวิต จะได้ไม่ถูกลากลงไปยังจุดที่เคยเจ็บปวด แม้ไม่มีใครสร้างอนุสาวรีย์ให้ก็ตาม  

ในที่สุดแล้ว ผู้ที่สบายใจและมีความสุขที่สุดในการโยกย้ายครั้งนี้ น่าจะเป็นคนชื่อ นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ท่ามกลางเสียงแสดงความยินดีที่ได้หลุดพ้นจากงานเดิมๆ วงจรเดิมๆ ที่เคยรับผิดชอบจำเจบนการทำหน้าที่กับงานที่แบกไว้ด้วยความเสี่ยงมากมายทุกโครงการที่ขยับ ไหนจะมากด้วยจำนวนครู ผู้บริหาร สถานศึกษา และนักเรียนทั่วประเทศ ที่ต้องดูแลในทุกมิติ 

เขาแอบเม้าท์กันว่า การถูกโยกย้ายครั้งนี้อาจมาจากการยับยั้งขอใช้งบประมาณอีก 64 ล้านบาท ที่มีการขอจัดซื้อซอฟแวร์ของระบบกล้องซีซีทีวีเพิ่มเติมในโครงการsafe zone school เขตการศึกษา 6 สามชายแดนใต้ จ.สงขลา วงเงิน 577 ล้านบาท ให้ครบตามสัญญา ทั้งๆ ที่ยังหาตัวการใหญ่และผู้กระทำความผิดคิดทุจริตฉ้อฉลต่อแผ่นดินยังไม่ได้ 

อีกทั้งมูลความผิดของ 90 ข้าราชการครูเกี่ยวข้องทุจริต จัดซื้อจัดจ้างสนามฟุตซอล รร.สังกัด สพฐ.ซึ่งล่าสุด ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดมาแล้ว คงต้องดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่ตนเองจะต้องจัดการกับผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเด็ดขาด เรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเกี่ยวกับวินัยและการออกจากราชการ ซึ่งทำให้รู้สึกลำบากใจที่จะต้องลงนามเพื่อลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชาในลักษณะที่รู้แก่ใจว่า ความจริงอยู่ตรงไหน

นอกจากนี้ ยังพบการแทรกชื่อบุคคลซึ่งไม่ใช่ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมเป็นกรรมการกศจ.ชุดใหม่ ทำให้ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) จำนวน 15 ราย ประกาศลาออก รวมทั้งผอ.สพท.ทั่วประเทศ จะไม่รับตำแหน่งใดๆ ทั้งสิ้น 

ขณะที่ เสนาบดี ศธ.บอกว่าการโยกนายอำนาจนั้น พิจารณาจากความสามารถตามความถนัดของแต่ละคน รวมถึงความเข้มข้นในการผลักดันนโยบาย เพราะทุกหน่วยงานใน ศธ.มีความสำคัญเท่ากันหมด เพื่อที่จะเดินหน้าให้เห็นผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาให้ได้

สุดท้ายการเข้ามาของ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและ บุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เป็นเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) หากมองในช่วงจังหวะการเข้ามานับว่าถูกคน ถูกที่ และถูกเวลา

ทั้งความสามารถในการดูแลงานบุคคลทั้งที่เกี่ยวข้องกับวิทยฐานะ โครงสร้างกรอบอัตรากำลัง รวมถึงหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสรรหาผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และรองผู้อำนวยการโรงเรียน ถือว่าเป็นผู้เข้าไปช่วยเสริมการทำงานบุคคลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้เข้มแข็ง และชัดมากยิ่งขึ้น  

แม้จะเห็นใจกับการทำศึกหนักของ นายอัมพร พินะสา ที่จะต้องมาสานต่อเรื่องที่สำนักงานนโยบายและแผน สพฐ.ทำหนังสือขออนุมัติหลักการโครงการพัฒนาและส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 โดยใช้งบประมาณจัดซื้อตัวต่อหุ่นยนต์และครุภัณฑ์ประกอบกว่า 400 ล้านบาท และจัดซื้อครุภัณฑ์ให้โรงเรียนขยายโอกาส 401 แห่ง โรงเรียนประถมศึกษา 53 แห่ง โรงเรียนขนาดเล็ก 236 แห่ง และโรงเรียนตามโครงการพัฒนาสถานศึกษาขั้นพื้นฐานรองรับเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี 79 แห่ง วงเงินงบ 453,989,390 บาท ทั้งนี้ สพฐ.มีหนังสือเวียนที่ 04005/1338 ลงวันที่ 1 กันยายน 2563 ให้ สพป.ไปเร่งดำเนินการแล้ว

ชื่อกันว่า นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) คนใหม่ ที่เชี่ยวชาญ คงรับมือได้แบบไร้กังวลไม่มีมลพิษใดๆ ในทุกประเด็นปัญหา

กระนั้นก็ดี ก็ยังมีข่าวติดท้ายฝากมาให้วิตกจริตกันว่า ล่าสุดมีข่าวลือหนาหูถึงการตกลงกันแล้วแบบลับๆ แบบสัญญาลูกผู้ชาย ไฟเขียวให้ลูกปลัดคนหนึ่งเข้ามาเป็นรองเลขาธิการ กศน. รวมถึงจะได้ "อึ้งกิมกี่" นิ่งงันพูดไม่ออก กับรายชื่อโยกย้ายเข้ามาครองตำแหน่ง ผอ.โรงเรียนดัง โรงเรียนขนาดใหญ่ ทั้งประถม-มัธยมฯ ในกรุงเทพฯและจังหวัดใหญ่ๆ ในอีกไม่นานเกิน

ลือแบบนี้ไม่น่าจะเป็นจริงได้?? และงาน ศธ.นี้สุดท้ายผู้ที่ได้ไปเต็มๆ คือ พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเรื่องทั้งหมดนี้เชื่อว่า คงไม่มีทางถึงหู "ครูตั้น" แน่นอน