ถอดรหัสศักยภาพคนพิการทางการมองเห็น..สู่โอกาสการจ้างงาน

เรื่องโดย: ปัญจวรา บุญสร้างสม Team content www.thaihealth.or.th


Inclusive Workplace ลดช่องว่าง สร้างโอกาส

ารยอมรับและปฏิบัติจากสังคมอย่างเท่าเทียม มีสิทธิและเสรีภาพเฉกเช่นที่มนุษย์คนหนึ่งพึงมีเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ และมีความหวังว่าจะได้รับ คนพิการก็เช่นกัน  พวกเขาต้องการ ความเข้าใจมากกว่า ความเห็นใจต้องการให้คนอื่นยอมรับในศักยภาพของตน ต้องการอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี มีรายได้จากน้ำพักน้ำแรงของของตนเอง ไม่อยากเป็นภาระของผู้อื่น หรือเป็นวัตถุที่มีชีวิตรอการสงเคราะห์ช่วยเหลือ ดังนั้นการได้รับโอกาสในการประกอบอาชีพ จึงเป็นเหมือนกุญแจดอกสำคัญที่จะทำให้ชีวิตคนพิการมีสุขภาวะที่ดีขึ้น

ประเทศไทยมีคนพิการ 2,038,929 คน 94% จบการศึกษาเพียงระดับชั้นประถม หรือต่ำกว่าเป็นเหตุให้คนพิการในวัยทำงาน กว่า 450,000 คน ยังเข้าไม่ถึงโอกาสงานและอาชีพได้มากเท่าที่ควรจะเป็น

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีคนพิการร้อยละ 3.08 ของประชากรทั้งหมด ในจำนวนนี้มีคนพิการที่เรียนจบชั้นอุดมศึกษาร้อยละ 1.04  เกินครึ่งเป็นคนพิการทางการมองเห็น ซึ่งได้รับการจ้างงานน้อยกว่าคนพิการประเภทอื่น ๆ 

สสส.จึงสนับสนุนโครงการสำรวจลักษณะงาน ทักษะที่จำเป็นในการทำงาน และการช่วยเหลือที่สมเหตุสมผลต่อผู้พิการทางการเห็น โดยมีวัตถุประสงค์สำรวจอาชีพและทักษะที่เหมาะกับคนพิการทางการมองเห็น ในอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ ยุค AI ซึ่งทักษะที่จำเป็น ได้แก่ 1.ทักษะที่ต้องใช้ความรู้ (Hard Skill)  เช่น การใช้สื่ออินเทอร์เน็ต ทักษะภาษาต่างประเทศ ฯ 2. ทักษะทางสังคม (Soft Skill)  เช่น ยอมรับตนเองในระดับดีมาก มีสุขภาพจิตอยู่ในเกณฑ์ดี และ 3. ทักษะสนับสนุน (Support skill) เช่น ปรับตัวเข้ากับองค์กรได้ดี เข้าถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้รวดเร็ว

นอกจากนี้ สสส.ยังสนับสนุนเรื่องการส่งเสริมโอกาสการมีงานทำโดยสนับสนุนการเตรียมความพร้อมของคนพิการและสถานประกอบการ การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการผ่านการมีส่วนร่วมในชุมชน รวมทั้งส่งเสริมกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพและการมีส่วนร่วมในสังคม ทั้งกิจกรรมวิ่งด้วยกัน  ดูหนังด้วยกัน เป็นต้น

โครงการส่งเสริมการจ้างงานกระแสหลักให้บัณฑิตพิการทำงานในองค์กรหรือสถานประกอบการ (INCLUSIVE  WORKPLACE หรือ IW) ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นโครงการที่ช่วยตอบโจทย์ความท้าทายการจ้างงานคนพิการในระดับอาชีวศึกษาและปริญญาตรีที่มีเพียง 2% ของคนพิการทั้งหมดให้เข้าถึงโอกาสงานจากการสัมภาษณ์และเตรียม ความพร้อมทำงาน โดยทำหน้าที่ออกแบบ พัฒนากระบวนการส่งเสริมและสนับสนุนให้เยาวชนพิการได้เตรียมความพร้อมก่อนเข้าทำงานจริง ซึ่งมีการทำงาน 2 ส่วน คือ 1.พัฒนากระบวนการประสานและส่งเสริมการจ้างงาน และ 2.ขยายโอกาสการเข้าถึงการศึกษาและเสริมความพร้อมในการทำงาน

บัณฑิตพิการฝึกงาน (IW INTERNSHIP) คือ บัณฑิตพิการได้รับการฝึกทักษะการทำงานและพัฒนาศักยภาพเพื่อสร้างความพร้อมในการทำงานจริง โดย IW INTERNSHIP ทุกคนเป็นบัณฑิตพิการที่มีความพร้อม ตั้งใจทำงาน พัฒนาตนเอง มุ่งมั่นในการเรียนรู้ มีการวางแผนพัฒนาอาชีพรายบุคคล และติดตามการดำเนินการตามแผนพัฒนาของตนเองตามแต่ละประเภทความพิการโดยมีกรอบการพัฒนาทักษะการทำงาน 8 ด้าน

ทักษะอันพึงประสงค์ของเยาวชนพิการ

1.มั่นใจ / แสดงออกอย่างเหมาะสม –  เสนอความคิด แสดงออกในเวลาที่เหมาะสม, มีความมั่นคงทางอารมณ์

2.ใฝ่เรียนรู้ / พร้อมแก้ปัญหา แสวงหาความรู้เพิ่มเติม, เผชิญปัญหา ค้นหาทางออกที่ดี แจ้งให้รับรู้สถานการณ์

3.อดทน มุ่งมั่น เพียรพยายามเพื่อให้งานสำเร็จตามเป้าหมาย, ทุ่มเท ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค

4.มนุษย์สัมพันธ์ดี / มีจิตอาสา มีความสัมพันธ์ทางสังคม และความเข้าใจอันดีต่อกัน, ขวนขวาย เต็มใจ ทำประโยชน์ต่อผู้อื่น ต่อสังคม ไม่นิ่งดูดาย

5. รับผิดชอบ / ตรงต่อเวลา ปฏิบัติตามบทบาท หน้าที่ของตน, ให้ความสำคัญต่อเวลา เชื่อถือได้

6.มีสุขภาวะดี ลด ละ เลิกสิ่งเสพติดของมึนเมา, ออกกำลังกายสม่ำเสมอ, มีความพึงพอใจในอาชีพของตน

7.เป็นผู้นำเรื่องคนพิการ มีความรู้เรื่องคนพิการ ความพิการ, เข้าใจสิทธิ์ บทบาท และพัฒนาตนเอง, ส่งเสริม สนับสนุนนำการเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อการอยู่ร่วมกันในสังคม

8. ทำงานเป็นทีม มีเป้าหมาย และรับผิดชอบร่วมกัน, เข้าใจบทบาท หน้าที่ ทำงานเต็มกำลัง, ยืดหยุ่น  มีสัมพันธภาพที่ดี

นายอภิชาติ  การุณกรสกุล ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำขนาดใหญ่ของผู้พิการทางการมองเห็น คือ การไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ที่อยู่ในรูปของหนังสือได้ เราใช้เวลาอย่างน้อย 80 ชั่วโมงในการผลิตหนังสือเสียงหนึ่งเล่ม แต่ปรากฏการณ์ใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น คือ การใช้ปัญญาประดิษฐ์มาอ่านหนังสือแล้วแปลงเป็นเสียงแทน ซึ่งจะใช้เวลาเพียงเล่มละ 5 นาทีเท่านั้น หากพัฒนาสิ่งนี้ได้เป็นผลสำเร็จ ความรู้ก็จะไม่เป็นความเหลื่อมล้ำอีกต่อไป

สสส.ขอเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ช่วยสะท้อน และส่งเสียงของผู้พิการออกไปให้สังคมได้รับรู้ เพื่อช่วยลดปัญหาและอุปสรรคในด้านการใช้ชีวิตของผู้พิการ ทำให้สังคมเข้าใจ มองเห็น ยอมรับในศักยภาพของพวกเขา รวมทั้งให้ความช่วยเหลือพวกเขาอย่างได้อย่างเหมาะสม

ผู้สนใจและต้องการข้อมูลโครงการ IW เพิ่มเติม สามารถติดตามข้อมูลได้ที่มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม http://ssss.network/3qelv  หรือ เพจคนพิการต้องมีงานทำ http://ssss.network/u57h9