“มหกรรมวิชาการงานวันเกษตรตะโก ครั้งที่ 5” สืบสานพระบรมราโชบายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

“ มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรม มีงานทำ มีอาชีพ เป็นพลเมืองดี มีระเบียบวินัย

พระบรมราโชบายด้านการศึกษาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ช่วงวันที่ 10-11-12 กย.63 ผมไปอยู่ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร(วษท.ชุมพร) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ตั้งอยู่ตำบลทุ่งตะโก อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพรซึ่งผอ.วิทยาลัยว่าที่ร้อยตรีนิพนธ์ ภู่พลับ พร้อมผู้บริหารชวนไปดูงาน มหกรรมวิชาการวันงานเกษตรตะโก ครั้งที่ 5ประจำปี 2563 ซึ่งงานนี้มีไปถึงวันที่ 20 กย.เป็นงานที่จัดขึ้นในรูปแบบ 2 มิติคือในเชิงวิชาการที่เกี่ยวโยงกับการจัดการเรียนการสอนอาชีวะเกษตร ตังแต่การประชุมถ่ายทอดองค์ความรู้ทางทฤษฎีในการทำการเกษตร ตั้งแต่ปลูกพืชผัก ไม้ผล การประมง การปศุสัตว์ การเตรียมแหล่งน้ำ การเตรียมดิน การสร้างผลผลิตชีวภาพบำรุงดิน บำรุงพืช  โดยไม่มีสารเคมีในระดับอันตรายเข้ามาเกี่ยวข้องอันหมายถึงเน้นอินทรีย์เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ไปจนถึงการขยายผลผลิตโดยนำเอาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาตามวิถีความเจริญทางเทคโนโลยีทุกด้านโดยมีหลักยึดในการก้าวย่างไปความสำเร็จที่พอดีพอเพียงไม่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยเกินขอบเขตอันได้แก่วิถีหลักเกษตรทฤษฎีใหม่บนหลักปรัชญาแห่งเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมราชบพิตรสนองสืบสานพระบรมราโชบายด้านการศึกษาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งวิชาการนี้ถูกถ่ายทอดแก่ผู้ร่วมงานในห้องประชุมหรือการเดินชมพื้นที่ซึ่งมีทั้งแปลงพืช แปลงไม้ผล แหล่งน้ำที่ทำประมงไปด้วยแล้วก็แหล่งปศุสัตว์

อีกมิติหนึ่งเป็นพื้นที่คล้ายงานวัดมีโซนจำหน่ายผลผลิตทั้งอาหารการกิน ผลผลิตทางการเกษตร เครื่องหนัง เสื้อผ้า ผลผลิตแปรรูปจากสมุนไพรท้องถิ่นต่างๆ ความบันเทิงเช่นชิงช้าสวรรค์ ยามคำสนุกสนานไปกับคอนเสิร์ต ทั้งนักเรียนนักศึกษารวมถึงเกษตรกรชาวบ้านในท้องถิ่นจะมีรายได้มีประสบการณ์จากงานนี้ด้วย

ช่วงเช้าวันที่ 11 กิจกรรมของงานที่เป็นวิชาการคือการบรรยายของรองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรนาย ธีระ อนันตเสรีวิทยาท่านเน้นย้ำชัดถึงประโยชน์ของการจัดงานทางวิชาการบวกงานวัดของวิทยาลัยวษท.ชุมพรตั้งแต่กระตุ้นให้คนรู้จักเมืองชุมพรยิ่งขึ้นว่ามีของดีงามมากมายตั้งแต่แหล่งท่องเที่ยวทั้งทะเลชายหาดไปถึงธรรมชาติป่าเขาหรือง่ายๆมีความงดงามทางธรรมชาติที่น่าสัมผัสตั้งแต่ทะเลถึงภูเขา คนเมืองชุมพรมีหัวจิตหัวใจงดงามที่ได้รับการปลูกฝังหล่อหลอมคุณธรรมจริยธรรมทางศาสนาโดยเฉพาะพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานไว้หลายแห่งคุณธรรมที่พระราชทานคือหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระราชปณิธานสืบสาน รักษาและต่อยอดเพื่อประโยชน์สุขของราษฎรที่ยั่งยืนต่อไป ที่โดดเด่นเลื่องชื่อเฉกเช่นอีกหลายจังหวัดในภาคใต้ของไทยคือผลไม้เมืองชุมพร ทุเรียนชุมพรมีเอกลักษณ์เด่นเฉพาะตัวที่ต่างไปจากทุเรียนจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะทุเรียนสวนของวิทยาลัยเกษตรฯชุมพรที่ปลูกไว้เป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษารวมถึงเกษตรกรที่สนใจหลักวิชาการไปพัฒนาในสวนของตนเอง ซึ่งมีจำนวนพอสร้างรายได้นำมาบำรุงพัฒนาการศึกษาของวิทยาลัยต่อไปด้วย ที่น่าสังเกตเป็นเอกลักษณ์ทุเรียนสวนของวิทยาลัยออกล่ากว่าสวนชาวบ้านทั่วไปในชุมพร รับประทานได้ระหว่างเดือนสิงหาคมไปถึงสิ้นเดือนกันยายนแล้วเนื้อหานุ่มไม่หวานจัด

รองผู้ว่าฯย้ำถึงการที่ทั่วโลกประสบภาวะวิกฤติโรคไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในแต่ละประเทศอย่างรุนแรง ประเทศไทยเองก็หนีไม่พ้นก็กระทบ แต่มาถึงวันนี้เราเจอปัญหาไม่มากนักโดยเฉพาะเรื่องอาหารการกินเพราะผลผลิตด้านการเกษตรของเรายังสามารถสร้างผลผลิตทางการเกษตรได้ดี ฉะนั้นการที่ลูกหลานหรือชาวบ้านที่สนใจศึกษาทางเกษตรจึงเป็นประโยชน์แก่ตัวเอง ครอบครัวและชาติบ้านเมือง สามารถรองรับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจได้ แต่ก็แปลกที่บ้านเราเรียนเกษตรน้อยลง แต่วษท.ชุมพรก็มีเยาวชนมาเรียนพอสมควร เป็นยังสมาร์ท ฟาร์มเมอร์จำนวนไม่น้อยทีเดียวแล้วนำเอาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีไปดำเนินการประยุกต์ควบคู่กับหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ฯคือความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล การให้ความสำคัญกับปัจจัยหลักคือแหล่งน้ำ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มคุณภาพเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะทุเรียน

ต่อจากท่านรองผู้ว่าฯก็เป็นการบรรยายทางวิชาการ “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอน ศาสตรพระราชา...ตามรอยพ่อ”โดยนายธีพัต ธีรเมธาวิทย์ วิทยากรระดับ 9 กองกิจการเพื่อสังคม ฝ่ายบริหารด้านการใช้ไฟฟ้า และกิจการเพื่อสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่ง ประเทศไทย(กฟผ.)ให้ผู้เข้าร่วมฟังที่มีทั้งนักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์20 ชุมพร นักเรียนพร้อมครูจากโรงเรียนอื่นๆเช่นรร.วัดดอนเมือง อำเภอเมืองชุมพรเป็นต้น

ผอ.นิพนธ์พัฒนาแปลงเกษตรต่างๆร่วมกับผู้บริหาร นักเรียนนักศึกษาโดยมีนักวิชาการทั้งจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต กระทรวงเกษตรฯมาให้องค์ความรู้และวิธีปฏิบัติและหลักปฏิบัติสำคัญที่เป็นเครื่องนำทางคือเกษตรทฤฎีใหม่ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯเกษตรชีววิถีปลูกฝังนักเรียนนักศึกษาให้ก้าวย่างไปตามวิถีนี้ที่มีองค์ความรู้ที่ต้องนำมาประยุคใช้คือศึกษาหลักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาคุณภาพและปริมาณผลผลิตผ่านการมีปัจจัยสำคัญแห่งชีวิตคือแหล่งน้ำ ควบคุมการใช้น้ำอย่างประหยัด ควบคุมอุณหภูมิเหมาะสม

ทุเรียนเป็นไม้ผลทางเศรษฐกิจหลักสำคัญของจังหวังชุมพรอย่างหนึ่งเช่นกับอีกหลายจังหวัด วันนี้ผอ.นิพนธ์จึงทำโครงการรวบรวมสายพันธุ์ทุเรียนในท้องที่จังหวัดชุมพร จังหวัดอื่นๆทั่วทั้งประเทศมารวมไว้ที่วิทยาลัยเกษตรฯชุมพร และรวมถึงทุเรียนสายพันธุ์จากทั่วโลกด้วย วันนี้นำมาลงแปลงไว้ประมาณ 5 ไร่รวบรวมได้ราว 40 สายพันธุ์ ในแปลงขณะรอโตก็ปลูกกาแฟและมะละกอสลับ อนาคตก็จะก้าวไปสู่การพัฒนาสายพันธุ์ด้วยการผสมข้ามสายพันธุ์เพื่อได้ทุเรียนสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมาอันคาดหวังว่าจะเป็นประโยชน์ทางการศึกษา ทางเศรษฐกิจของเกษตรกรและของประเทศชาติสืบไปอย่างเช่นทุเรียนหนามดำของมาเลย์เซียก็คือก้านยาวผสมกับหมอนทองนั่นเอง ผอ.นิพนธ์บอกว่าที่ผ่านมาเฉพาะทุเรียนหมอนทองแค่ของจังหวัดชุมพรส่งออก 8 หมื่นบาท/ปีแค่ประเทศจีนก็ยังต้องการมาก ที่ยังเปิดช่องอีกเยอะก็ทั้งยุโรป อเมริกาน่าจะกำลังอยู่ในช่วงการขยายตลาด

ว่าที่ร้อยตรี นิพนธ์ ภู่พลับ ผอ.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร (วษท.) บอกว่า วิทยาลัยฯ เป็นสถาบันการศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีการจัดการเรียนการสอนใน 2 ระดับ คือ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เป็นแหล่งความรู้ด้านเกษตรกรรมของจังหวัดชุมพร มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 โดยให้ความรู้ด้านการเกษตรที่หลากหลาย มีการถ่ายทอดความรู้ สู่ชุมชน ในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจระดับฐานราก อันจะนำไปสู่การพัฒนาตนเองแบบยั่งยืน เพื่อการพัฒนาการเกษตรให้ก้าวไปสู่ยุคใหม่ เป็นเกษตรปลอดภัยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เกษตรสีเขียว เกษตรอินทรีย์ เกษตรเพื่อชีวิต จึงได้ร่วมกันจัดงาน มหกรรมวิชาการวันงานเกษตรตะโก ครั้งที่ 5” ประจำปี 2563 เพื่อประชาสัมพันธ์วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร ในด้านการจัดการเรียนการสอน และกิจกรรมต่างๆ ของนักเรียน นักศึกษา องค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยาม ารเกษตร เพื่อส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้กับนักเรียน นักศึกษา ประชาชนโดยทั่วไป เพื่อเป็นแหล่งจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร และกระตุ้นเศรษฐกิจ ในพื้นที่ของอำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร และเพื่อส่งเสริมสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวทางการเกษตรของจังหวัดชุมพร

“กิจกรรมภายในงานมีการสัมมนาทางวิชาการ การจัดนิทรรศการด้านการเกษตร การจัดนิทรรศการศาสตร์พระราชา ตามรอยพ่อ วิถีพอเพียง โดยดำเนินการในรูปแบบของโครงการชีววิถี ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการและงบประมาณจากการ ไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จนประสบความสำเร็จได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศติดต่อกัน 2 ปี คือปี 2561 และปี 2562 ซึ่งวิทยาลัยฯ ได้เผยแพร่ความรู้ให้กับนักเรียนนักศึกษา ชุมชน และโรงเรียนเครือข่าย โดยมีนายธีพัต ธีรเมธาวิทย์ วิทยากรระดับ 9 กองกิจการเพื่อสังคม ฝ่ายบริหารด้านการใช้ไฟฟ้า และกิจการเพื่อสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่ง ประเทศไทย(กฟผ.) เป็นวิทยากร โดยเน้นให้ผู้เข้าร่วมงานได้เข้าใจยิ่งขึ้นว่า "ศาสตร์ของพระราชา" เป็นทั้ง คำสอน คำแนะนำและวิธีการปฏิบัติ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระราชทานให้แก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่านำไปเป็นแนวทางการพัฒนาตนเองและครอบครัว ให้มีภูมิคุ้มกันที่มั่นคง ในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข มุ่งให้ดำรงตนเป็นคนดี ยึดมั่น ในคุณธรรม จริยธรรม สุจริต มีวินัย และมีความสามัคคีปรองดองกันซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่10ทรงตั้งพระราชปณิธานสืบสานรักษาและต่อยอด ด้วยทรงมุ่งมั่นให้ราษฎรพัฒนาคุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างยั่งยืน เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศชาติบ้านเมืองให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป และได้พระราชทานพระบรมราโชบายด้านการศึกษาซึ่งวิทยาลัยได้น้อมนำมาปฏิบัติโดยปลูกฝังหล่อหลอมนักเรียนนักศึกษาเพื่อเป็นต้นแบบแก่คนทั่วไป โดยเฉพาะสภาวการณ์ ปัจจุบันที่มีการระบาดของโรคไวรัสโควิด 19 ก่อให้เกิดความถดถอย ทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงขึ้นนี้ ทุกคนคงเข้าใจได้ชัดเจนใน แนวพระราชดำริ "เศรษฐกิจพอเพียง" กล่าวคือ มีความพอประมาณความมีเหตุผลสามารถยอมรับกฎกติกาของสังคมได้ ภูมิคุ้มกัน เป็นเกราะป้องกันได้จึงนับเป็นเครื่องมือเพื่อการเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ทำให้พวกเราชาวไทยได้รับผลกระทบไม่หนักหนา สาหัสจนเกินไป”

ผอ.วษท.ชุมพรกล่าวย้ำอีกว่าในงานมีการจัดนิทรรศการทุเรียนโลกอันเป็นโครงการของวิทยาลัยที่มุ่งมั่นที่จะสืบสานรักษาขยายพันธุ์เพื่อประโยชน์แก่เกษตรกร โดยจะสร้างพื้นที่จังหวัดชุมพรเป็นศูนย์รวมพันธุ์ทุเรียนทั่วโลก ทุเรียนเป็นไม้ผลเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่สำคัญของจังหวัดชุมพร ซึ่งพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูกเป็นพันธุ์ที่ตลาดต้องการ ได้แก่ หมอนทอง ชะนี ก้านยาว และกระดุม ด้วยเหตุนี้ เพื่อไม่ให้ทุเรียนพื้นบ้านต้องสูญหายไป จึงจำเป็นต้องอนุรักษ์สายพันธุ์ทุเรียนพื้นบ้านให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  วิทยาลัยฯ จึงได้จัดทำนิทรรศการทุเรียนโลก เพื่อรวบรวมทุเรียนสายพันธุ์ต่างๆที่นิยมบริโภค  รวมทั้งพันธุ์ทุเรียนจากต่างประเทศที่นิยมบริโภคในหมู่นักบริโภคปัจจุบัน และเพื่อจัดเป็นสถานที่เรียนรู้ให้กับเกษตรกรและประชาชนผู้สนใจ และบริการสายพันธุ์ทุเรียน ตลอดจนวิจัยและพัฒนาให้เกิดทุเรียนพันธุ์ใหม่ขึ้นในอนาคตและภายในงานยังมี นิทรรศการกาแฟ นิทรรศการหมูหลุม การจัดแปลงสาธิตโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนการจำหน่ายผลผลิต ผลิตภัณฑ์ของชุมชน และกิจกรรมด้านความบันเทิงต่าง ๆ เชิญชวนประชาชนถ้ามีโอกาสแวะเที่ยวชมงาน มหกรรมวิชาการงานวันเกษตรตะโก ครั้งที่ 5” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-20 กันยายน 2563

 

ทรงสร้างสุขทั้งแผ่นดิน

เสกสรร  สิทธาคม

Seksan2493@yahoo.com

Edunewssiam.com