เสียงสะท้อนจากครูมืออาชีพ “เด็กไทยไม่ใช่ซูเปอร์แมน”

 

  

 

“เสวนากับบรรณาธิการ” เรื่องนี้ ได้ประมวลนำเสนอเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียล สะท้อนความคิดเห็นหลากหลายแง่มุมของบรรดาคุณครู ถึงความล้มเหลวของหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ออกแบบโดยนักวิชาการในรั้วกระทรวงศึกษาธิการ

เพื่อหวังให้ผู้มีอำนาจในรัฐบาลได้ตระหนักคิดแก้ไข ปฏิรูปการศึกษาไทยเพื่อการเติบโตของเด็กและเยาวชนไทยให้ถูกทิศทางเสียที ไม่ใช่มัวหลงวนเวียนแต่เรื่องการวางอำนาจผ่านโครงสร้างบริหารต่างๆ ใน ศธ.

เสียงสะท้อนของบรรดาครูในโลกโซเชียลของกลุ่มครูมืออาชีพดังกล่าว เริ่มต้นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ที่เรื่องของ "การอ่านออก-เขียนได้ ที่นับวันดูจะเป็นปัญหามากขึ้นทุกที จนกระทั่งไม่มีใครทำอะไรถูก ทุกคนสับสนกันไปหมด ทั้งคนออกแบบหนังสือเรียนภาษาไทย ออกแบบวิธีการสอน ออกแบบหลักสูตร และการจัดการชั้นเรียน

กระทั่งทำให้คนทั่วไปมีความรู้สึกและตั้งคำถามว่า ครูและกระทรวงศึกษาธิการหมดปัญญาและฝีมือในการทำงานแล้วหรือ? เป็นที่พึ่งไม่ได้แล้วหรือ? เพราะดูไม่มีหลักคิด มีแต่ความพิศดารบรรเจิดที่เละเทะ ไร้มรรคผล ซึ่งนำไปสู่การเสียโอกาสของเด็กๆ และประเทศชาติอย่างรุนแรง

เด็กอ่านหนังสือไม่ออกเกลื่อนเมือง ไม่ได้บอกเลยหรือว่ามันผิดพลาดตรงไหน ทั้งตัวหลักสูตรที่ค้ากำไรเกินควร เล็งผลเลิศหรูว่าเด็กไทยจะมีความรู้ทุกด้าน เป็นยอดมนุษย์ โดยอัดข้อมูลสารพัดวิชาใส่หัวเด็กทั้งที่ยังอ่านหนังสือไม่ออก ชั้น ป.๑-ป.๒ เขียนหนังสือยังไม่เป็น ซึ่งเป็นการทำร้ายเด็กๆ อย่างรุนแรง สร้างความทุกข์ ปลูกฝังทัศนคติว่าการเรียนและหนังสือนั้นนำมาซึ่งความทุกข์ แล้วก็ล้มเหลวกันทั้งประเทศ

สุดท้ายเมื่อแก้ไขอะไรไม่ได้ก็ทำการประเมินแบบปลอมๆ ปล่อยให้เด็กๆ นับล้านๆ คนออกจากโรงเรียนไปโดยไม่ได้แม้กระทั่งทักษะการอ่าน-เขียนพื้นฐาน

แล้ววันนี้ความจริงเรื่องเด็กๆ อ่านหนังสือไม่ออกก็กลายเป็นช้างตายตัวใหญ่ นอนอืดและพองตัวขึ้นทุกวัน พร้อมระเบิดได้ทุกเมื่อ กระทรวงศึกษาธิการจะเอาอะไรมาปิดก็ทำไม่ได้แล้ว

ในขณะที่นักบริหารการศึกษาใน ศธ.จำนวนมากต่างชี้แจงแก้ต่างว่า เด็กอ่านไม่ออกมีจำนวนไม่มาก ส่วนใหญ่อ่านไม่คล่องเท่านั้น ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดเผยความจริงอย่างชัดเจน เพราะทุกคนทั้งอาชีพครูและอาชีพอื่นๆ รู้กันทั่วไปว่า อ่านไม่คล่อง ก็เขียนไม่ได้ เพราะทักษะการเขียนนั้นซับซ้อนกว่าการอ่านหลายเท่า

นอกจากนั้น หากอ่านไม่คล่องแล้วจะไปเรียนวิชาต่างๆ ได้อย่างไร จะอ่านอะไรเข้าใจได้ และถ้าจะต้องสะกดคำตลอดเวลาแล้วจะมีใครอยากอ่านหนังสืออีกเพราะต้องทำในสิ่งที่ยากขนาดนั้น ทรมานขนาดนั้น

ที่สำคัญกว่านั้นคือ ยังไม่มีใครคิดที่จะถอดสารพัดวิชาล้ำหน้าทักษะเด็กประถมต้นออกจากหลักสูตร เพื่อให้เวลาสร้างทักษะพื้นฐานอ่านเขียนให้เต็มที่ก่อน เคยตั้งคำถามมานานแล้วว่า

เหตุใดจึงไม่กลับไปมุ่งเน้นสอน อ่าน-เขียน เรียนเลข พื้นฐานในชั้นประถมต้นอย่างจริงจังเช่นที่เคยทำมา และประสบความสำเร็จไม่น้อยหน้าใครในโลก...แต่ไม่มีใครตอบ และกลับได้เห็นความพยายามแก้ใขหลักสูตร เปลี่ยนวิธีการสอนแบบหลุดโลก ไร้ตรรกะหรือความหมายใดๆ กันต่อไป อย่างต่อเนื่องจนถึงวันนี้"

ประเด็นตั้งต้นวิพากษ์วิจารณ์ข้างต้นนี้ ได้รับเสียงตอบรับจากสมาชิกครู พร้อมขยายประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ไว้อย่างน่าสนใจหลากหลายแง่มุม ซึ่งผู้มีอำนาจใน ศธ.ควรตระหนัก เพื่อการเรียนอย่างมีความสุขและเติบโตของเด็กและเยาวชนไทย

“เห็นด้วยครับ นักการศึกษาไทยที่คิดเองว่าเนื้อหาวิชาสำคัญ โดยไม่ดูว่าเด็กจะอ่านออกเขียนได้หรือไม่ เพราะยึดตัวเองเป็นหลัก ผิดหลักการศึกษาอย่างยิ่ง ในอดีตเราเน้นที่อ่านออกเขียนได้ก่อน แล้วการหาความรู้ในเรื่องอื่นๆ ก็ไม่เป็นปัญหา เมื่ออ่านออก ความเข้าใจก็ตามมา ถ้าอ่านไม่ออก ก็ไม่รู้ว่าข้อความนั้นมันคืออะไร จะไปเข้าใจได้ยังไง

เด็กเล็ก ป.1. ป.2 ต้องให้ความสำคัญกับการอ่านคล่อง เขียนคล่อง คิดคำนวณเบื้องต้นให้ได้ก่อน อย่างอื่นก็ค่อยๆ เพิ่มความเข้มข้นขึ้นในระดับต่อๆ มา มันจึงจะเป็นการศึกษาที่ถูกทาง ป.1 ป.2. ถ้าเน้นที่การเรียนภาษา ให้พูด อ่าน เขียนได้ก่อน การจะสร้างคนให้เป็นผู้รู้ ไม่ว่าในสาขาใดก็ไม่เป็นปัญหาแล้วครับ ทำได้ทุกภาษาด้วย”

“ศธ.คิดแบบคนถักแหให้ครูไปหว่าน ได้ตัวไหนเอาตัวนั้น ไอ้ที่ลอดแหไปก็ไม่ตามละ เหนื่อยมาทั้งวันแล้ว พอกินแล้ว วันหลังค่อยเริ่มใหม่ เป็นอย่างนี้นานแล้ว ทั้งๆ ที่ ศธ.ก็รู้ว่าเด็กมีวุฒิภาวะและวัยต่างกัน กำหนดสวยหรู #ขั้นพื้นฐาน ป.1-ม.6 เรียน 8 กลุ่มสาระ กับกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเหมือนกัน จบช่วงชั้น วัดผลด้วยข้อสอบเดียวกัน เด็กๆ ทำไม่ได้กลายเป็นถูกคัดกรองให้เป็นเด็กบกพร่องทางการเรียนรู้ เฮ้อ..น่าเวทนาการศึกษาไทย”

“บางโรงเรียนเด็ก ม.1 เขียน ก-ฮ, A-Z ยังไม่ได้” , “นักเรียนอ่านไม่ออกเยอะคะ ทั้งที่ คศ.3 เต็มโรงเรียน” , “อ่านไม่ออก แต่จะเอาแต่คะแนนโอเน็ต เคยได้ยินไหม?? ติวเพื่อคะแนน” , “เรียนหลายวิชา...บ้ากิจกรรม...ทำผลงานเพื่อ ผอ. ล่อความดีความชอบ..จบด้วยประการชะนี้” , “ประเทศที่ ป.1 เรียน 8 กลุ่มสาระเท่ากับ ม.6 เศร้าประเทศไทย” ,

“จบ ป.6 มาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้มีเยอะเลยครับ ครูมัธยมเจอบ่อยมาก” , “หลายวิชาเนื้อหายากเกินวัยของเด็กไทย ยังอ่านไม่ออก แต่ยัดเยียดภาษาอังกฤษสัปดาห์ละ 5 ชม. ประชุม ประกวด ประเมิน ก็ลดๆ มั่ง” , “ป.1 เด็ก 6 ขวบ ถามว่าเด็กพร้อมหรือไม่ เรียนกันไม่รู้กี่สาระ ความพร้อมมากน้อยแค่ไหนสำหรับเด็ก ป.1

“เด็กป.1 มีเรียนภาษาไทย คณิต อังกฤษ ทุกวันๆ ละ ชม. แต่ต้องเพิ่มภาษาไทยใน ชม.ซ่อมเสริมเพื่อสอนรายบุคคล ส่วนวิชาคณิตศาสตร์ของ สสวท.ที่ปรับปรุงใหม่ เนื้อหามากขึ้นและยากเกินไปสำหรับเด็ก และบางชั้นไม่จัดเนื้อหาจากง่ายไปยาก และยังมีวิทยาการคำนวณเพิ่มมาในกลุ่มสาระวิทย์อีก ยิ่งเพิ่มความยากขึ้นอีก เหนื่อยใจกับหลักสูตรปรับปรุงนี้ค่ะ”

“ในฐานะคนเป็นครู...เศร้าใจกับระบบค่ะ” , “เหนื่อยใจวิทยาการคำนวณ ป.1-6” , “ยิ่งโรงเรียนขนาดเล็กสอนควบชั้นเรียน..เสนอให้บรรจุครูให้ครบชั้นก็ไม่ แต่กลับเขียนแก้ พ.ร.บ.ให้ตอบสนองกับความต้องการนำงบประมาณไปตั้ง สนง.ศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับเด็กเลย..สิ้นเปลืองงบประมาณ” , “เด็กรับได้ตามวัย เพราะไม่ใช่อัจฉริยะ ได้มาเรียนทุกวันบุญมหาศาลแล้ว”

เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเสียงสะท้อนความคิดเห็นหลากหลายแง่มุมของบรรดาคุณครู ถึงความล้มเหลวของหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ออกแบบมาโดยนักวิชาการในรั้วกระทรวงศึกษาธิการ

ซึ่งผู้มีอำนาจในรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการปัจจุบัน ควรรับฟังและตระหนักคิดแก้ไข ปฏิรูปการศึกษาไทยเพื่อเด็กและเยาวชนไทยจริงๆ เสียที

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)