รายงานติดตามผล 'ยูเนสโก‘ การศึกษาที่ครอบคลุมทั่วโลก แต่ไร้คำตอบจาก ศธ. "น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง"

เสวนากับบรรณาธิการ > คอลัมน์ คิดนอกกรอบ : EdunewsSiam

ตุลย์ ณ ราชดำเนิน

รายงานการติดตามผลยูเนสโก 'การศึกษาที่ครอบคลุม' ทั่วโลก : ศึกษาไทย น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง

เมื่อประมาณกลางเดือนกันยายน 2563 มีสรุปรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก (Global Education Monitoring Report) ประจำปี 2563 จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เปิดข้อมูลสถานการณ์ด้านการศึกษาของประเทศสมาชิก พร้อมกับเรียกร้องนานาประเทศ ให้ความสำคัญกับผู้ตกหล่นจากการศึกษาและขอให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันสร้างการศึกษาโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อันเป็นเป้าหมายที่ 4 ในการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ต้องบรรลุภายในปี 2030

รายงานฉบับนี้ เป็นรายงานฉบับที่ 4 นับจากเริ่มจัดทำรายงานการติดตามผลการศึกษาระดับโลกเมื่อปี 2560 เพื่อเป็นกลไกติดตามผลของเป้าหมายรวมทั้งการศึกษาในเป้าหมายอื่น ๆ อาทิ การสร้างความเข้าใจเรื่องการศึกษาแบบครอบคลุมเพิ่มขึ้น โดยมุ่งเป้าหมายการสนับสนุนการเรียนไปยังผู้ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง ด้วยการใช้ความชำนาญและทรัพยากรร่วมกันในแต่ละประเทศสมาชิก

เป้าหมายดังกล่าวยังรวมไปถึงการร่วมหารือกับชุมชนและผู้ปกครองอย่างจริงจังเพื่อนำไปสู่ การออกแบบและให้ทุกคนมีความมั่นใจว่าเป็นระบบการศึกษาแบบครอบคลุม ที่มีการเตรียมพร้อม เกิดพลัง สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ทำงานด้านการศึกษา ทำให้ผู้เรียนทุกคนบรรลุศักยภาพได้ อีกทั้งจัดพื้นที่ให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการติดตามติดตาม ร้องถามเพิ่มเติมส่วนที่ขาด  และจัดให้มีการแบ่งปันประสบการณ์​ผ่านเครือข่ายครู การประชุมระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลก  

รายงานดังกล่าวยังระบุถึงความพยายามสร้างความเข้าใจและให้ความเชื่อมั่นต่อแนวคิด เรื่อง ‘การศึกษาที่ครอบคลุม’ ที่เน้นการพัฒนาบุคคลตามความถนัด บนแนวทางที่หลากหลาย ด้วยการเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมมือ เพื่อช่วยให้บรรดาผู้ตกหล่นทางการศึกษา สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้โดยไม่มีข้อจำกัด  

ผู้ตกหล่นที่ว่านี้ ครอบคลุมไปถึงทางเพศ ภาษา วัฒนธรรม ความพิการ เด็กที่ตกหล่นอยู่นอกระบบการศึกษา ต้องไม่ควรมีการเลือกปฏิบัติหรือสร้างเงื่อนไขใด ๆ ในการเข้าถึงการเรียนรู้หรือปัญหาอุปสรรคต่อเด็ก ซึ่งทำให้ไม่สามารถกลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษาได้

นี่ คือ สิ่งที่เรียกว่า หัวใจสำคัญของการสร้างการศึกษาที่ครอบคลุม

ในโอกาสนี้ Mr.Shigeru Aoyagi  ผู้อำนวยการยูเนสโก กรุงเทพฯ กล่าวถึงความหวังนี้ว่า  ความก้าวหน้าในการสร้างความร่วมมือเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา  คือ การจัดประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา: ปวงชนเพื่อการศึกษา ซึ่ง กสศ. กระทรวงศึกษาธิการ องค์การยูเนสโก องค์การยูนิเซฟ และ save the children ได้ร่วมกันจัดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

แต่น่าเสียดายว่า รายงานการติดตามผลการศึกษาระดับโลก (Global Education Monitoring Report)” บนเวทีประเทศไทย ณ โรงแรมดัง แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯวันนั้น เป็นเพียงภาพการประชาสัมพันธ์พบปะกันที่ดูประหนึ่งระดับนานาชาติ ที่มีผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ และ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาฯ สหประชาชาติ เป็นหลัก ตามด้วยสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, ผู้จัดการศูนย์เดอะฮับสายเด็ก, กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา, ผอ.กองส่งเสริมและพัฒนาการจัดการศึกษาท้องถิ่น กรมส่งเสริมการการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมเป็นองค์ประกอบ

ก็แปลกใจบ้างที่ไม่เห็น สภาการศึกษา ปรากฏในข่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงชั่วโมงแห่งการเสวนาจากหน่วยงานหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับภารกิจด้านการศึกษา เรื่อง ‘โอกาส ความท้าทาย และความสำคัญของการจัดการศึกษาแบบครอบคลุมในประเทศไทยก็ต้องยอมรับว่าโอกาสที่ได้รับรู้ถึงผลงานของแต่ละองค์กรที่ทำกันนั้นมีมากมาย ก่อให้เกิดประโยชน์มิใช่น้อยแม้จะยังไม่ตรงหมุดหมายที่อยากเห็น

เมื่อจบงานแล้ว คงต้องพูดกันตรง ๆว่า ยังมองไม่เห็นหัวใจในแนวคิดการสร้างการศึกษาที่ครอบคลุม ที่จะนำไปสู่ความเป็นจริงได้โดยง่าย ตราบใดที่การศึกษายังอยู่ในวังวนของบรรดานักการเมืองที่อ่านออก ฉลาดด้วยปัญญาที่มองเห็นไม่เกินห้องทำงานของตนเองและบรรดาที่ปรึกษาตลอดเพื่อนข้าราชการระดับสูง

อย่างไรก็ตามในที่นี้ขอยกจำเพาะปาฐกถาพิเศษ ของ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกกระทรวงศึกษา เมื่อวันที่  14 ก.ย. 2563 กล่าวจับความโดยสรุปได้ว่า จากการรับฟังรายงานผลการศึกษาจากยูเนสโกแล้ว ทำให้ได้เห็นถึงการทำงานที่ผ่านมาของเราซึ่งก็ตรงกับข้อเสนอของยูเนสโกหลายข้อ จะเหลือเพียงการผลักดันให้เกิดขึ้นจริงเท่านั้น โดยเฉพาะเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คิดว่าเราเดินมาตรงกับการแก้ปัญหาของทุกประเทศ แต่ยังขาดพลังว่าเราจะสามารถทำได้รวดเร็วและยั่งยืนมากขนาดไหน

ซึ่งวันนี้ ยูเนสโก ก็มีข้อเสนอแนะ แต่การแก้ปัญหาของเรานั้น ปัญหามีมากเกินไป เราจึงไม่สามารถจัดอันดับได้....”

อีกความช่วงหนึ่งที่จับความได้ว่า ...จากข้อสรุปรายงานของยูเนสโก ตรงกับปัญหาการศึกษาของไทยทุกข้อ เพราะยูเนสโกศึกษาจากขบวนการศึกษาของไทย เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำทุกข้อเสนอแนะ ไม่เช่นนั้นเราจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่ได้ ถ้าเราไม่รับแก้ เด็กก็จะมาเรียกร้องกดดันเรามากขึ้น...แต่ผมมั่นใจว่าหลายเรื่องเราได้ทำแล้ว และผมก็จะนำผลการรายงานนี้ไปผสมผสานกับแผนงานที่ศธ.วางเอาไว้ซึ่งไม่ได้แตกต่างกันมาก เพียงแต่อยู่ที่วิธีการที่จะวิ่งเข้าสู่การแก้ปัญหาเท่านั้น...”

จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่า ทั้งหมดนี้ มีตรงไหนที่บ่งบอกด้วยความหนักแน่นว่า กระทรวงศึกษาธิการไทยยุคนี้ มีผลงานในการสร้างการศึกษาที่ครอบคลุมตามรายงานของยูเนสโกระบุ ถ้ามีจริงและได้ทำแล้ว ก็น่าจะคุยอวดกันได้   

ยิ่งมาคุยถึงการใช้งบฯในเวทีเดียวกัน อีกตอนหนึ่งที่สรุปความได้รวม ๆได้ว่า “...จะต้องใช้ให้คุ้มค่า ถูกจุด ศธ.มีหน้าที่ที่จะต้องจัดสรรงบว่า คุ้มค่า คือ อะไร ในบริบทของเรา ถูกจุด คือ ที่ไหน ซึ่งผมก็ยกตัวอย่างเรื่องการใช้งบฯเกี่ยวกับการศึกษาพิเศษ จึงเป็นเรื่องที่ศธ.ต้องให้ความสำคัญมากกว่านี้

ส่วนเรื่องการพัฒนาครู อย่างน้อยร้อยละ 25 ต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เราก็ต้องมาดูว่าจะพัฒนาอย่างไร ซึ่งตามแผนศธ.จะนำระบบดิจิทัลมาช่วยพัฒนาวัดผล และนำไปขยายผลเรื่องวิทยฐานะครู

ซึ่งก็เป็นการนำข้อมูลจากองค์กรนานาชาติมายืนยันว่า สิ่งที่เรากำลังเดินไปนี้เป็นแนวทางที่จำเป็นต้องเดิน เพราะศธ.มีเป้าหมายว่า ในปี 2030 หรืออีก 10 ปีจากนี้ไป ไทยต้องลดช่องว่างทางการศึกษาและก็นำไปสู่การลดช่องว่างของรายได้ในอนาคตด้วย...”

งานจบแล้ว เสียดายกระทรวงศึกษา มีโอกาสที่จะแสดงถึงผลงานที่พยายามจะทำเพื่อ All means all เรื่องการศึกษาเป็น “กิจของทุกคน” กลายเป็นว่า บ่นเรื่องงานรูทีนเจ้าปัญหาภายในบ้านของตนเอง  

EdunewsSiam : เสวนากับบรรณาธิการ > คิดนอกกรอบ : ตุลย์ ณ ราชดำเนิน 24/09/2020