ระบบการศึกษาปฐมวัย : ปฐมบทแห่งการเริ่มต้นของชีวิตสู่การสร้างชาติ อีกหนึ่งบทเรียนที่โหดร้าย บนช่วงเวลาสำคัญแห่งการเรียนรู้

 

เสวนากับบรรณาธิการ 29 ตุลาคม 2563

ระบบการศึกษาปฐมวัย

: ปฐมบทแห่งการเริ่มต้นของชีวิตสู่การสร้างชาติ

อีกหนึ่งบทเรียนที่โหดร้าย บนช่วงเวลาสำคัญแห่งการเรียนรู้

วิชเทพ ฦาชาฤทธิ์ : บรรณาธิการ

ยิ่งดู ยิ่งเห็น ยิ่งทวีความปวดร้าว กรณีครูโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี สถานศึกษาชื่อดังใน จ.นนทบุรี ถูกกลุ่มผู้ปกครองรวมตัวไปทวงความยุติธรรมกับทางโรงเรียน หลังจากเห็นคลิปลูกหลานของตนเองซึ่งเป็นเด็กนักเรียนชั้นอนุบาล 1 ในห้องเรียน กำลังถูกครูประจำชั้นทำร้ายร่างกายและจิตใจ ทั้งกระชากผมด้วยความรุนแรง ทั้งตบ ทั้งดึงหู ใช้ไม้กวาดตีเด็ก จับหัวเด็กโขกกดหัวไว้ที่โต๊ะหลายครั้งผลักจนล้มคว่ำลงไปกองกับพื้น

ทุกการกระทำ ล้วนเป็นไปในลักษณะวิบัติขัดจรรยาบรรณ ตกต่ำสุดความเป็นครูและสถานศึกษาแห่งนั้น ในที่สุดเด็ก ๆ พากันหวาดกลัวไม่อยากไปเรียนหนังสือ ร้องขอผู้ปกครองด้วยอาการงอแง สีหน้าแสดงความหวาดกลัว แววตาไร้ความสุข สท้อนภาพใหญ่กระทรวงศึกษาธิการ ไร้มาตรฐานและมาตรการตรวจสอบ ติดตาม ขาดยุทธศาสตร์ทำงานเชิงรุก นักการเมืองมัวแต่เดินทางกดปุ่มเปิดงานให้นโยบาย ไม่รู้จริงถึงปัญหาใกล้ตัว

 

เมื่อผู้ปกครองบุกโรงเรียนขอเปิดภาพวงจรปิดในห้องเรียน เรื่องจึงถูกเผยแพร่ออกไป ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ร้อนแรงทั้งในโลกโซเชียลและสื่อต่าง ๆอย่างรวดเร็วแพร่หลาย รวดเร็ว สังคมเห็นคลิปแล้วเกิดความสะเทือนใจต่อพฤติกรรมที่ไม่น่าเชื่อว่า จะเป็นการกระทำของครูประจำชั้นกระทำต่อเด็กวัยเฉลี่ยเพียง 3 ขวบ ในห้องเรียน

ทั้งนี้เนื่องจาก เด็กเล็กในช่วงปฐมวัย เป็นวัยบริสุทธิ์ ย่อมเกิดความตระหนกตกใจกลัว ดังภาพที่ปรากฎเป็นสิ่งยืนยันได้ถึงความโหดเหี้ยมเกินวิสัยครู จึงนำไปสู่การประณามถามหาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่กระบวนการผลิตครู การรับเข้ามาทำงานในสถานศึกษา การควบคุมตรวจสอบมาตรฐานจากองค์กรวิชาชีพอย่างคุรุสภา และกระทรวงศึกษาธิการ จะจัดการเรื่องที่เกิดขึ้นนี้อย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก

 

เชื่อว่า กรณีอย่างนี้คงไม่ใช่เกิดขึ้นเพียงแห่งเดียวอย่างที่เห็น คงมีอีกหลายแห่งเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกัน เพียงแต่ถูกกลบมิดด้วยเหตุผลหลายอย่างที่มีทั้งความหวาดกลัว ทั้งตกอยู่ท่ามกลางภาวะการยอมจำนนต่อระบบการศึกษาที่แข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอา เพื่อได้ไปยืนหัวแถวด้วยการยอมจ่ายในราคาแพง

 

ความจริงแล้ว เรื่องของครูทำร้ายเด็กปฐมวัยหรือเด็กในชั้นอนุบาลในลักษณะเช่นนี้ ควรถือว่า เป็นความร้ายแรงที่ไม่ควรให้อภัย สมควรลงโทษครูขั้นสูงสุดและเจ้าของกิจการผู้ได้รับใบอนุญาตกาเป็นครูใหญ่หรือผู้อำนวยการสถานศึกษา ในฐานะผู้รับผิดชอบร่วมที่มิอาจปกป้องเด็กในความดูแลของตนเองได้ ตามคำสัญญาในโฆษณาไว้

 

ยิ่งเป็นเด็กในช่วงปฐมวัย ย่อมเป็นที่รับรู้และทั่วโลกเห็นความสำคัญ ไม่เพียงเฉพาะนักการศึกษาปฐมวัยทั่วโลก หรือทฤษฎีในตำราใด ๆ ต่างให้ความสำคัญตรงกันว่า เด็กปฐมวัยเป็นมากที่สุด และที่ดีที่สุดของชีวิตมนุษย์  ในการวางรากฐานบ่มเพาะความดีงามที่จะมีผลตามมาในอนาคต

 แล้วเรามาลองดูกันสักนิดไหมว่า ค่าใช้จ่ายในการนำลูกหลานที่รักดังแก้วตาดวงใจ ไปอยู่กับสถานศึกษาระดับปฐมวัยหรืออนุบาลเอกชนนั้น ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองจำยอมต้องจ่ายด้วยราคาที่แพง ซึ่งยังคิดไม่ออกเหมือนกันว่า เอาอะไรมาแพง หรือทำไมถึงแพงระยับ ถึงขนาดนั้น 

 

...บางแห่งค่าแรกเข้า 3,000 บาท ค่าเทอม ๆ ละ 27,900 บาท/เทอม  / บางแห่ง ค่าแรกเข้าบวกกับค่าเทอมแรก รวมกัน 63,500 บาท ค่าเทอมสอง 48,500 บาท / บางแห่งค่าแรกเข้า 60,000 บาท ค่าเทอมละ 32,000 บาท/เทอม / บางแห่งไม่มีค่าแรกเข้า แต่เสียค่าเทอมแรก 60,000 บาท ค่าเทอมสอง 40,000 -50,000 บาท  / บางแห่งไม่มีค่าแรกเข้า มีแต่ค่าเทอม 66,000 -70,900 บาท/เทอม 

 

จากการสำรวจข้อมูลค่าใช้จ่าย ค่าเทอมในกลุ่มโรงเรียนอนุบาลเอกชนสุดปังส์ สามารถสืบค้นได้จากเว็บไซต์ของโรงเรียนแต่ละแห่งได้ ทำให้เห็นตัวเลขอีกชุดหนึ่ง ที่ยังไม่เคยมี รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงศึกษาธิการ หรือ นักวิชาการศึกษา คนใด ตั้งคำถามว่า มันโหดหรือแพงเกินไปสำหรับการจัดการศึกษาให้เด็กปฐมวัย ที่จะต้องจ่ายหรือไม่

 

“ ...ยกตัวอย่าง บางแห่ง ค่าแรกเข้า 6.5 หมื่นบาทและค่าเทอม 1.3 แสนบาท/ปี ไม่รวมค่าเครื่องแบบ / บางแห่ง ค่าแรกเข้า 9,000 บาท หลักสูตรแบบบูรณาการค่าเทอม 6 หมื่นบาท หากเป็นหลักสูตรอิงลิชโปรแกรม ค่าเทอมละ 9 หมื่นบาท / บางแห่ง ค่าเทอมบวกค่าแรกเข้าอีก 7 หมื่นบาท ที่ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ซึ่งบางโรงเรียนรวมอยู่ในค่าเทอมแล้ว บางโรงเรียนต้องจ่ายเพิ่มเติมอีกมิใช่น้อย

 

นี่ยังไม่รวม โรงเรียนอนุบาลชื่อดังเป็นที่นิยมในกทม.อีกหลายแห่ง มีค่าใช่จ่าย สูงถึง 320,000 บาท/เทอม, บางแห่ง 157,000 บาท/เทอม, บางแห่ง 93,600 บาท/เทอม และ 92,800 บาท/เทอม ตามลำดับ...”

 

นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนอนุบาลเอกชนสองภาษา หรือ โรงเรียนอนุบาลนานาชาติ ที่ผู้ปกครองยินดีกัดฟันควักกระเป๋าจ่ายแพงกว่าที่ว่านี้หลายเท่าตัว หากเทียบกับโรงเรียนอนุบาลของรัฐ ซึ่งให้การศึกษาได้เท่ากันในค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่า เนื่องมาจากการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากรัฐ แต่ประชาชนส่วนใหญ่มักจะไม่ได้รับโอกาส เพราะเหตุใด เป็นที่รับรู้กันอยู่

 

ดังนั้น คุณภาพการศึกษาที่ดีจากโรงเรียนอนุบาลเอกชนดังกล่าว ย่อมเกิดจากความคาดหวังจากผู้ปกครองว่า ลูกหลานของตนจะได้รับพื้นฐานที่ดีมีความสามารถมากพอที่จะสอบเข้าชั้นประถมปีที่ 1 หรือในระดับที่สูงขึ้น ๆ ในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงได้

จากแนวคิดนี้นี่เอง น่าจะทำให้มีโรงเรียนอนุบาลเอกชนหลายแห่ง เก็บค่าเล่าเรียนสูงลิบ ซึ่งส่วนใหญ่มักจัดตั้งขึ้นหรือบริหารจัดการจากทีมงานที่เคยอยู่ในกลุ่มโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัย หรือจบมาจากต่างประเทศที่มีชื่อเสียงมาก่อนแทบทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนั้น การที่มีคลิปแห่งความเจ็บปวดของเด็กจากการกระทำของครูในห้องเรียนได้เห็นแพร่หลายออกมา อาจจะก่อให้เกิดความไม่อาจวางใจต่อสถานศึกษาที่รับเด็ก ๆเข้าไปดูแลตามลำพังได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะอวดอ้างถึงคุณภาพจะดีขนาดใดก็ตาม

 

กับกรณีนักเรียนชั้นอนุบาล 1 จำนวนมากถูกครูประจำชั้นโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ ทำร้ายร่างกาย โดยมีเพื่อนครู อีก 3-4 คน อยู่ในเหตุการณ์ยืนมองเฉยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นจึงเป็นประเด็นขึ้นมาว่า เป็นครูจริงหรือไม่ หากเป็นครูจริง แต่เห็นเหตุการณ์แล้วนิ่งเฉย ไม่ทำอะไร ก็เท่ากับยอมรับกับสิ่งที่ครูพี่เลี้ยงทำเช่นกัน

 

ตอกย้ำด้วย นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ให้ข้อมูลเพิ่มว่า การกระทำของครู เข้าข่ายความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ผู้ใดทำร้ายร่างกายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนครูประจำชั้นคนอื่นที่ปรากฏในคลิป อาจจะถูกดำเนินคดีฐานเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการทำร้ายร่างกายได้เช่นกัน หากสอบสวนพบว่ารู้เห็น หรือได้ยิน แต่ไม่ให้การช่วยเหลือ ห้ามปราม

 

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตตามมาว่า น่าแปลกใจ ทำไมครูอนุบาลของโรงเรียนแทบทั้งแผนก เข้าไปคอมเมนต์ให้กำลังใจครูประจำชั้นอนุบาล 1 ที่ทำร้ายเด็กในชั้นของตนเอง แม้ทางโรงเรียนให้ออกไปแล้วก็ตาม ก็ชอบที่จะขอให้ กระทรวงศึกษาธิการ เช็กประวัติ ตรวจสอบครูทุกคนที่เห็นดีเห็นงามด้วยกับพฤติกรรมของครูคนนั้น

 

หรือแม้กระทั่งข้อสังเกตที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.) ออกมายอมรับว่า ระยะหลังโรงเรียนแห่งนี้ที่มีอยู่หลายสาขา มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาจำนวนมาก และส่วนใหญ่ มีทั้งการเก็บค่าเล่าเรียนที่แพงมาก บางสาขาแม้มีการรับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวไปแล้ว แต่ค่าเทอมก็ไม่ลด ทำไมถึงไม่จัดการ

 

ข้อสังเกตประการต่อมา ลามไปสู่ประเด็นขอให้ตรวจสอบโรงเรียนเอกชนที่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายในราคาสูง ที่บรรยายสรรพคุณความดีงามความเอาใจใส่เด็กให้ผู้ปกครองเชื่อมั่น ตามด้วยการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของโรงเรียน แต่สิ่งที่ปฏิบัติกับนักเรียนมักได้รับกลับตรงกันข้าม

ศธ.จะมีมาตรการอย่างไรที่จะดำเนินการเด็ดขาดอย่างไรบ้างกับเจ้าของ ผู้จัดการ หรือ ผู้อำนวยการ ที่ปล่อยให้มีครูไร้จรรยาบรรณ สร้างบาดแผลให้กับร่างกายและบาดลึกในจิตใจของเด็กอย่างรุนแรง เพื่อคุ้มครองเด็กและป้องกันเรื่องในทำนองนี้มิให้ขึ้นอีกในสถานศึกษา มิใช่แค่ไล่ครูออก ผู้บริหารหรือผู้จัดการออกไปเท่านั้น เพื่อจบเรื่องไว ๆ

 

ถามไปถึง ศธ.ว่า มีการตรวจสอบวัสดุ อุปกรณ์ เทคโนโลยีสื่อการเรียนการสอนสถานภาพครู การรับครู และ ผู้ช่วยครู ครูพี่เลี้ยง สถิติจำนวนครูประถมวัยในโรงเรียนเอกชนแต่ละแห่งอันเป็นปัจจุบัน มีตัวตนปฏิบัติงานสอนจริง มีใบประกอบวิชาชีพหรือไม่ อัตราเงินค่าจ้าง สอดคล้องกับอัตราค่าตอบแทน ตามวุฒิอันเป็นรายจ่ายในแต่ละเดือนหรือไม่  ตลอด เนื่องจากในการบริหารจัดการหลายโรงเรียนมีลักษณะค้ากำไรทางการศึกษาสุดโต่งเกินไป

 

ไม่เว้นแม้กระทั่ง การตั้งคำถามถึงคุณภาพครูปฐมวัย ครูอนุบาล ถึงเวลาแล้วหรือยัง ควรกำหนดวุฒิเฉพาะทางอย่างน้อย ต้องจบ ปริญญาตรี หรือปริญญาโท และค่าตอบแทน ที่ต้องเข้ามาดูแลตามสัดส่วนของเด็กในโรงเรียน เหมาะสมกับราคาที่เก็บจากผู้ปกครองหรือไม่

 

มิใช่ปล่อยให้การศึกษาปฐมวัย ซึ่งเป็นวัยเริ่มต้นแห่งการเรียนรู้ เป็นวัยที่มีช่วงเวลาสำคัญที่สุดในการวางรากฐานที่ดีงามให้ชีวิตในอนาคต เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่สมองมีพัฒนาการรับการเรียนรู้อย่างสมบูรณ์ มาเสียเวลาและโอกาสจากสถานศึกษาที่ไม่จัดหาครูที่มีคุณภาพเข้ามาเติมเต็มและกลายเป็นปัญหาที่เป็นความยุ่งยากจะเยียวยาแก้ไขได้ในเร็ววัน และแปรเป็นความทุกข์ของผู้ปกครองที่ต้องแบกรับกับสิ่งที่ครูและผู้บริหารโรงเรียนได้ทำผิดพลาดอย่างร้ายแรง

ความละเอียดอ่อนต่อการศึกษาปฐมวัย หรือเด็กชั้นอนุบาล มิใช่เอาบุคคลที่ใช้เวลาอบรมระยะสั้นเพียง 6 เดือน หรือ 1 ปี ก็เข้ามาดูแล แล้วจ่ายค่าตอบแทนในราคาถูก ๆ ก็ได้อย่างเช่นทุกวันนี้ อย่างนั้นก็ได้ใช่ไหม...

 

ดังนั้นการปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาปฐมวัยของประเทศจึงเป็นความสำคัญที่ต้องลงมือปฏิวัติตั้งแต่บัดนี้  อย่าให้เป็นแค่วาทะกรรมบนโต๊ะประชุม หรือในเวทีเสวนาของนักวิชาการ แล้วออกมาแถลงข่าว เพื่ออวดอ้างกับนานาชาติว่าเราได้ใส่ใจ ติดตาม ดูแลและพัฒนาแล้วเท่านั้น

 

สิ่งสำคัญสำหรับการจัดการศึกษาของประเทศไทย คือ การเตรียมความพร้อมที่จะทุ่มทุนผลิตหรือสร้างครูปฐมวัยหรือครูอนุบาล ที่เต็มคุณภาพอย่างจริงจัง ตามความคาดหวังต้องการเห็น เพื่อสร้างเด็กไทยให้ได้รับในสิ่งที่ดีงามตั้งแต่การเริ่มต้นชีวิตนอกบ้าน รวมถึงเม็ดเงินในราคาสูงที่ผู้ปกครองยินดีจ่าย  ไม่เพียงเพื่ออนาคตลูกหลานของเขาเอง ยังรวมถึงการคืนทุนให้กับชาติบ้านเมืองที่คุ้มค่าอีกด้วย. 

 

EdunewsSiam > เสวนากับบรรณาธิการ 

vichtep@hotmail.com