ควันหลงใน ศธ.! หลังศึกชิงเก้าอี้เลขาฯคุรุสภา-สกสค. ตามด้วยบำเหน็จตอบแทนทั่วถึง สะเทือน ป.ป.ช.

 

เสวนากับบรรณาธิการ 

วิชเทพ ฦาชาฤทธิ์

ควันหลงใน ศธ. หลังชิงตำแหน่งเลขาฯคุรุสภาและสกสค. ตามด้วยบำเหน็จตอบแทนสะเทือน ป.ป.ช.ที่มอบคุณธรรมและความโปร่งใส 90.54 คะแนน 

 

...แน่นอนว่า ควันหลงในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยังคงเป็นม่านควันที่โชยแผ่ปกคลุมทั้งหนาทั้งบางกระจายไปทั่ว หลังการชิงตำแหน่งเลขาธิการคุรุสภา และ สกสค. แม้บทสรุปสุดท้ายจะจบลงที่ นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ ได้เป็นเลขาธิการคุรุสภา และ นายธนพร สมศรี ขึ้นเป็นเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. ท่ามกลางเสียงซุบซิบต่างๆ นานามากมาย ที่มองว่าการสรรหามีการล็อกสเป็คและตัวผู้เข้ารับตำแหน่งไว้แล้วหรือไม่? และจริงหรือไม่? ที่ว่ามีการปูนบำเหน็จรางวัลกันอย่างทั่วถึง…   

ตอกย้ำด้วยอดีตรองเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ซึ่งเคยเป็นทั้งอดีตรองเลขาธิการคุรุสภา และอดีตปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา มายาวนานหลายปี ที่ชื่อ นายสมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ เตรียมจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เรียกร้องธรรมาภิบาลและความโปร่งใสในกระบวนการสรรหาและคัดเลือก 2 ตำแหน่ง ดังกล่าว

ซึ่งปรากฏว่า มีเพื่อนครูจำนวนมากติดต่อไปยัง นายสมศักดิ์ เพื่อให้กำลังใจ และสนับสนุนให้ดำเนินการเรื่องนี้จนถึงที่สุด โดยบางคนเรียกร้องให้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบด้วย เพื่อสร้างบรรทัดฐานและธรรมาภิบาลให้กับ ศธ.

ก่อนหน้านี้ นายพิษณุ ตุลสุข อดีตรองปลัด ศธ.และอดีตปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในผู้สมัครรับการสรรหาชิงเก้าอี้เลขาธิกร สกสค. ได้ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ยื่นหนังสือถึง นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ขอดูเอกสารและสืบในทางลับ หากเห็นว่าไม่เป็นธรรมก็จะดำเนินการฟ้องศาลเช่นกัน

แม้กระทั่ง นายองค์กร อมรสิรินันท์ อดีตเลขาธิการคุรุสภา เคยระบุถึงการสรรหาครั้งนี้น่าจะมีการล็อกเก้าอี้ทั้ง ตำแหน่ง จึงเป็นสิ่งที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ต้องออกมาพิสูจน์ว่า ใช้อำนาจชอบธรรมตามที่กล่าวหาว่าจริงหรือไม่? หากมีการขอตรวจสอบข้อมูลตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร พ.ศ.2562 จะต้องมีการเปิดเผย

รวมไปถึง นายบุญสอน สามัคคี ประธานชมรมครูผู้กล้า กล่าวว่า งานนี้ เสมา คงต้องออกมาแจกแจง และพิสูจน์ให้ได้ว่า การสรรหาเลขาธิการคุรุสภา และเลขาธิการ สกสค.เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไร้การล็อกตัวเลขาธิการคุรุสภา และเลขาธิการ สกสค. ซึ่งข้อครหาดังกล่าวนี้บางคนเรียกร้องให้ตนดำเนินการเรื่องนี้จนถึงที่สุด โดยยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบด้วย เพื่อสร้างบรรทัดฐานและธรรมาภิบาลให้กับ ศธ.

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการตั้งข้อสังเกตจากบรรดาข้าราชการใน ศธ. และให้น้ำหนักไปถึงปรากฎการณ์หลังจากปิดรับสมัครผู้เข้ารับการสรรหาทั้ง 2 ตำแหน่งนี้ในวันที่ 17 สิงหาคม 2563 มีการนัดสัมภาษณ์ผู้สมัครวันที่ 31 สิงหาคม 2563 และจัดประชุมคณะกรรมการคุรุสภา และคณะกรรมการ สกสค.เพื่อคัดเลือกรายชื่อที่กรรมการสรรหาเสนอในเช้าวันที่ 1 กันยายน 2563 และมีการทำสัญญาว่าจ้างทันที หลังการลาออกจากราชการในตำแหน่งเลขาธิการ กศน.ของ นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ ก่อนหน้าไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งได้รับการอนุมัติจากนายประเสริฐ บุญเรือง ปลัด ศธ.

จากนั้นในเช้าวันที่ 2 กันยายน 2563 รวดเร็วปานกามนิตหนุ่ม นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ ก็เข้าทำงานในฐานะเลขาธิการคุรุสภา ในขณะที่ นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัด ศธ. ก็ได้รับแต่งตั้งมาเป็นรองเลขาฯ สกสค.หลังเกษียณฯ

สอดรับกับเสียงซุบซิบช่วงก่อนหน้านั้นว่า ก่อนวันสัมภาษณ์ผู้สมัครในวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา ได้ขนข้าวของออกจากห้องทำงานและเขียนใบลาออกจากปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา ราวกับจะรู้ล่วงหน้าหรือไม่? ว่า นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ จะเข้ามาทำงานในวันที่ 2 กันยายน 2563 ซึ่งหลังจากนั้น ว่าที่ร้อยตรีธนุ ก็ได้ขยับจากเก้าอี้ผู้ตรวจราชการ ศธ. ไปเป็นรองเลขาธิการ กพฐ. 

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นเลขาธิการ กศน. และปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค. ได้เซ็นอนุมัติการลาออกของ 2 รองเลขาธิการ สกสค. คือ นายธนพร สมศรี และ นายกฤตชัย อรุณรัตน์ เพื่อเตรียมเข้ารับการสัมภาษณ์กับกรรมการสรรหาฯ โดยให้เหตุผลดูดีว่า ไม่เอาเปรียบผู้สมัครรายอื่น ซึ่งต่อมาคณะกรรมการสรรหาก็ได้คัดเลือก 2 คนนี้ เสนอที่ประชุมคณะกรรมการ สกสค.พิจารณาเลือกเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ คณะกรรมการสรรหาเลขาธิการ สกสค. มี 3 คน ในขณะนั้น ประกอบด้วย นางรักขณา ตัณฑวุฑโฒ รองปลัด ศธ. เป็นประธาน , นายวรัท พฤกษาทวีกุล ผู้ตรวจราชการ ศธ. และ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นกรรมการ

ส่วน คณะกรรมการสรรหาเลขาธิการคุรุสภา มี 3 คน ในขณะนั้น ประกอบด้วย นางปัทมา วีระวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธาน , นายธนู ขวัญเดช ศึกษาธิการภาค 10 และ นายอรรถพล สังขวาสี ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นกรรมการ

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจถึงข้อสังเกตในการขยับปรับเปลี่ยนตำแหน่งราชการในรั้ววังจันทรเกษม ที่มีบุคคลจำนวนหนึ่งเข้าไปมีส่วนเกี่ยวพันกับกระบวนการสรรหาและคัดเลือกตำแหน่งเลขาธิการ สกสค.และคุรุสภาในครั้งนี้ ณ วันนี้ดูมีออร่าเฉิดฉายเปล่งปลั่งไปตามๆ กัน

ขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมเจือจานไปถึงคนที่เกษียณฯไปเมื่อสิ้น 30 ก.ย.63 น่าจะพลอยมีหน้าที่การงานสำคัญเข้ามารองรับแบบสมค่าราคาแห่งการทำงานรับใช้ราชการด้วยความวิริยะ อุตสาหะ ซื่อสัตย์สุจริต อย่างเหน็ดเหนื่อยด้วยกันมาตลอด 

โดยเฉพาะ 2 รายแรกนี้ ที่ว่ากันว่ามีผลงานโดดเด่นเข้าตา ได้แก่ นายธนู ขวัญเดช กรรมการสรรหาเลขาธิการคุรุสภา ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นศึกษาธิการภาค 10 ได้ขยับเป็นรองปลัด ศธ. ทั้งๆ เพิ่งจะได้รับเสนอชื่อและ ครม.อนุมัติเมื่อ 12 พ.ค.63 จากตำแหน่งรองศึกษาธิการภาค 2 มาเป็นศึกษาธิการภาค 10


คนต่อมา คือ นายวรัท พฤกษาทวีกุล กรรมการสรรหาเลขาธิการ สกสค.ได้ขยับจากผู้ตรวจราชการ ศธ. ขึ้นเป็นเลขาธิการ กศน. เรียกได้ว่าเติบโตเร็วมาก เพราะเมื่อปี 2562 เพิ่งเป็นรองศึกษาธิการภาค 6 และปี 2563 ปีเดียวกันนี้ ได้ขยับมาเป็นผู้ตรวจราชการ ศธ.

ล่าสุด นางรักขณา ตัณฑวุฑโฒ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ประธานกรรมการสรรหาเลขาธิการ สกสค. ผู้ได้รับมอบหมายจาก นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัด ศธ.ขณะนั้น ให้ไปประชุมคณะกรรมการคุรุสภาในวันคัดเลือกให้ นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เป็นเลขาธิการคุรุสภา ก็เพิ่งได้รับลงนามแต่งตั้งจาก นายวรัท พฤกษาทวีกุล ให้เป็นที่ปรึกษาสำนักงาน กศน.ด้านเทคโนโลยีและการศึกษานอกระบบ เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมาทันที หลังจากเจ้าตัวเกษียณฯจากตำแหน่งรองปลัด ศธ. โดยมีอดีตปลัด ศธ. นายประเสริฐ บุญเรือง ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานที่ปรึกษาสำนักงาน กศน.ด้วยเช่นกัน 

และในวันเดียวกันนั้นเอง นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ยังได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้ง นายประเสริฐ บุญเรือง อดีตปลัด ศธ. เป็น ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ด้านการบริหารงานบุคคล และ นายณรงค์ แผ้วพลสง อดีตเลขาธิการ กอศ. เป็น ที่ปรึกษา สอศ. ด้านการขับเคลื่อนการจัดการอาชีวศึกษายกกำลังสอง ซึ่ง ทั้งสองคนมีสิทธิเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ โดยไม่รับค่าตอบแทนรายเดือน

ก่อนหน้านั้น นายธนพร สมศรี เลขาธิการ สกสค. ได้แต่งตั้งรองเลขาฯ สกสค. 4 ตำแหน่ง อันมี นายประเสริฐ บุญเรือง อดีตปลัด ศธ. นายณรงค์ แผ้วพลสง อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายกฤตชัย อรุณรัตน์ อดีตเลขาธิการ กศน. และอดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. และ นายมังกร โรจน์ประภากร อดีตผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

ตามด้วยตำแหน่งที่ปรึกษาเลขาฯ สกสค. คือ นายพิพัฒน์ พุ่มยี่สุ่น อดีต ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต 1 นายประกอบ กุลบุตร อดีต ผอ.สำนักงาน กศน.อุบลราชธานี และ มล.สุรีกร สุริยง 

ยังต้องติดตามต่อว่า ข้าราชการ ศธ.ที่เคยเกี่ยวข้องกับกระบวนการสรรหาและคัดเลือกตำแหน่งเลขาธิการ สกสค.และคุรุสภาในครั้งนี้ จะมีชื่อโผล่ในหน่วยงานไหนอีกหรือไม่ 

เช่นที่หนึ่งในผู้สมัครรับการสรรหาฯ ซึ่งกำลังถามหาความโปร่งใสในกระบวนการสรรหา ได้ชี้เป้าให้คอยจับตาการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญใน สกสค. ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ว่ากันว่า ได้รับเงินค่าจ้างค่าตอบแทนเดือนละเกือบ 1 แสนบาทต่อคน ในขณะที่ตำแหน่งเลขาธิการ สกสค.ได้รับรวมราวเดือนละ 250,000 บาท รองเลขาธิการ สกสค.ได้คนละประมาณ 200,000 บาท และตำแหน่งที่ปรึกษาเลขาฯ สกสค. รับเดือนละเกือบ 1 แสนบาทเช่นกัน 

นี่ยังไม่นับรวมตำแหน่งในฝากฝั่งสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ซึ่งมีทั้งตำแหน่งรองเลขาธิการที่ใกล้จะมีการสรรหา และตำแหน่งที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งว่ากันว่าได้รับเงินตอบแทนต่อเดือนไม่น้อยหน้าไปกว่าฝากฝั่ง สกสค.เท่าใดนัก

แม้ว่าล่าสุด สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) จะได้รับคะแนนประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดําเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ติดตามเก็บผลงาน อาทิ การปฏิบัติหน้าที่ การใช้อำนาจ การแก้ไขปัญหาการทุจริต การเปิดเผยข้อมูล การป้องกันการทุจริต และอื่นๆ ประจำปีงบประมาณ 2563 ด้วยคะแนนประเมิน 90.54 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 2.58 คะแนน ที่ได้ 87.96 คะแนนก็ตาม 

แต่เมื่อพิจารณาถึงเรื่องต่างๆ ในรอบปีที่ผ่านมาในยุคของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการปัจจุบัน ดูเหมือนว่าสวนทางกับปรากฎการณ์อันเป็นข้อเท็จจริง ที่มีการร้องเรียน ตั้งคำถามและเรียกหาคุณธรรมและความโปร่งใสในการดําเนินงานที่ไร้ธรรมาภิบาลและไร้คำตอบตลอดมา...

 

EdunewsSiam > เสวนากับบรรณาธิการ > 3/10/2563