จับตาซี 10 ศธ.เข้า ครม. อาจเปิดช่องลูกเทวดันเสียบ

จับตาซี 10 ศธ.เข้า ครม.

อาจเปิดช่องลูกเทวดัน

ตุลย์ ณ ราชดำเนิน : คิดนอกกรอบ

 

วันนี้ คนในแวดวงการศึกษาไม่เพียงแค่ครูหรือบุคลากรทางการศึกษาเท่านั้น ที่กำลังให้ความสนใจกับเรื่องราวอันเป็นควันหลงหลังเสร็จศึกชิงเก้าอี้เลขาฯคุรุสภาและ สกสค. แม้สุดท้ายจะจบลงที่ นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ ได้รับการชูมือให้เป็นเลขาธิการคุรุสภา และนายธนพร สมศรี ขึ้นเป็นเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. ซึ่งน่าจะเป็นไปด้วยดีแบบไม่มีปัญหา

แต่ปรากฎถึงสิ่งตามมา กลับมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถามหาธรรมาภิบาลจากรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงศึกษาธิการ ผู้ต้องรับผิดชอบถึงปรากฏการณ์ประหลาดที่เกิดขึ้นในการประชุมเลือกบุคคลในตำแหน่งสำคัญดังกล่าว ในทำนองมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ได้รับการคัดเลือกในหลายประเด็นความ ซึ่งคงยากที่จะออกมาแจงให้สังคมเข้าใจในพฤติกรรมที่หมิ่นเหม่ต่อภาพลักษณ์ในเชิงใช้อำนาจบวกกับระบบอุปถัมภ์ใน ศธ. ที่ถูกค่อนแคะจับตากับหลายต่อหลายเรื่องราวที่ผ่านมาแบบซ้ำซาก จนรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดาๆ จนด้านชาไปแล้วก็ได้

 แม้การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง ระดับ (ซี) 10-11 ตามที่ ศธ.เสนอ ครม.และมีมติเห็นชอบไปแล้วก่อนหน้านี้ ว่ากันว่าจำนวนไม่น้อยเป็นกลุ่มที่ทำงานเข้าตาสายกุมอำนาจ ขรก.ใน ศธ. และสายการเมืองที่ทำเหมือนปล่อยวางเช่นเดียวกัน

เหตุนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการก้าวสู่ตำแหน่งเฉพาะกลุ่ม เพราะต่างเป็นชื่อที่คุ้นหูในช่วง 1-2 ปีมานี้ ที่ได้รับการเสนอแต่งตั้งให้รับบทบาทหน้าที่และขยับตำแหน่งดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง

ไม่ว่าจะเป็น นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ กอศ. ที่เติบโตมาจากตำแหน่งรองศึกษาธิการภาค , นายธนู ขวัญเดช รองปลัด ศธ. เติบโตมาจากรองศึกษาธิการภาคนายวีระ แข็งกสิการ รองปลัด ศธ. เติบโตมาจากรองศึกษาธิการภาค , นายวรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการ กศน. เติบโตมาจากรองศึกษาธิการภาค

ตามด้วยนายสุทิน แก้วพนา รองปลัด ศธ. เติบโตมาจากตำแหน่งผู้ช่วยปลัด ศธ. , นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ รองเลขาธิการ กอศ. เติบโตมาจากรองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) , นายยศพล เวณุโกเศศ รองเลขาธิการ กอศ. เติบโตมาจากรองเลขาธิการ ก.ค.ศ. และ ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เติบโตมาจากตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงศึกษาธิการ มีนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เป็นประธาน ยังได้มีมติเห็นชอบเลือกข้าราชการพลเรือนให้เป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ.ศธ. จำนวน 5 คน

ซึ่งยังคงมีรายชื่อทั้งนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ขณะเป็นรองเลขาธิการ กอศ., นายวีระ แข็งกสิการ ขณะเป็นผู้ตรวจราชการ ศธ. และ นายวรัท พฤกษากุลนันท์ ขณะเป็นผู้ตรวจราชการ ศธ. ส่วนอีกสองคนคือ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ขณะยังเป็นเลขาธิการ ก.ค.ศ. และนายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการ กพฐ.

รวมทั้ง ที่ประชุม อ.ก.พ.ศธ.ในวันเดียวกันนั้น ยังมีการสรรหาและคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ.ศธ. อีกจำนวน 3 คน โดย 2 ใน 3 คนนี้ มีชื่อเสียงคุ้นหูเช่นเดียวกัน คือ นายกฤติชัย อรุณรัตน์ ให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารและการจัดการ และ นายวรวิทย์ สุระโคตร ให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย

โดยนายกฤติชัย เป็น ขรก.เกษียณฯในตำแหน่งเลขาธิการ กศน. รุ่นสิ้น 30 กันยายน 2561 ปัจจุบันก็ยังได้รับความไว้วางใจให้เป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค.สมัยที่สองด้วย

เช่นเดียวกันกับนายวรวิทย์ สุระโคตร เป็น ขรก.เกษียณฯเมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2562 ในตำแหน่งนิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มการเจ้าหน้าที่ สำนักงาน กศน. ซึ่งเพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ชำนัญพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. และในเวลาไล่เลี่ยกันนั้นก็ยังได้รับแต่งตั้งจากนายวรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการ กศน. ให้เป็นที่ปรึกษาสำนักงาน กศน.ด้านบริหารงานบุคคลและกฎหมาย เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา

เป็นคำสั่งเดียวกันกับที่แต่งตั้งนางรักขณา ตัณฑวุฑโฒ อดีตรองปลัด ศธ. ให้เป็นที่ปรึกษาสำนักงาน กศน.ด้านเทคโนโลยีและการศึกษานอกระบบ และแต่งตั้งอดีตปลัด ศธ. นายประเสริฐ บุญเรือง เป็นประธานที่ปรึกษาสำนักงาน กศน.

ทั้งนี้ทั้งนั้น ความจริงอาจจะไม่ได้เป็นไปตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ก็ได้ หลายๆ คนอาจเข้าสู่ตำแหน่งด้วยความสามารถ ความเชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะตัว ไม่ใช่มีเพียงความรู้เท่านั้น

อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว จึงมิแปลกที่ผู้คนในแวดวงกระทรวงศึกษาธิการจะต่างจับตานายณัฏฐพล รมว.ศธ. ที่จะเคาะรายชื่อเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหาร ศธ.ระดับ 10 ล็อตที่เหลืออีกร่วม 10 ตำแหน่ง 

พร้อมทำนายทายทักว่า ครั้งนี้น่าจะไม่พ้นไปจากกลุ่มข้าราชการประเภทเชี่ยวชาญและอำนวยการระดับสูง ที่เพิ่งขยับเป็นประเภทบริหารระดับต้น เมื่อช่วงต้นปีและปลายปี 2563 รวมกว่า 10 คน ในทำนองเดียวกันกับรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประเภทบริหารระดับ 10-11 ที่เสนอเข้า ครม.เห็นชอบไปแล้วก่อนหน้านี้

ในขณะที่นายณัฏฐพล กล่าวยืนยันหนักแน่นว่า เป็นการแต่งตั้งบุคลากรให้ตรงต่อความต้องการและความขาดแคลนของแต่ละองค์กรหลักอย่างแท้จริง

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม การเสนอชื่อเข้าที่ประชุม ครม.คราวนี้ ก็อาจจะหนีไม่พ้นเป็นกลุ่มที่ทำงานเข้าตาสายกุมอำนาจ ขรก.ใน ศธ. และสายการเมืองเช่นดิม

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อย่ากระพริบตาคนในตำแหน่งรองเลขาธิการ กศน. 1-2 คน อาจจะมีสิทธิได้ขยับขึ้นตำแหน่งผู้บริหารระดับ 10 ในรอบนี้ค่อนข้างสูง เนื่องจากแว่วมาหนาหูว่า หากมีการขยับคนใน กศน.ได้ดังว่า เส้นทางที่จะส่งให้ลูกเทวดันได้ขึ้นมาเสียบย่อมเป็นจริงมากขึ้น เท็จจริงอย่างไรต้องติดตามกัน...??

EunewsSiam : เสวนากับบรรณาธิการ คิดนอกกรอบ ตุลาคม 2563