รมว.อว.ดึง 7 มหาวิทยาลัยอีสาน ใช้งานวิจัยยกระดับเศรษฐกิจรายตำบล

รมว.อว.เดินหน้าโครงการ ตำบล มหาวิทยาลัย ดึง 7 มหาวิทยาลัยเครือข่ายอีสาน ใช้งานวิจัยยกระดับเศรษฐกิจรายตำบล หวังช่วยประชาชนมีงานทำอื้อ

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในการประชุมหารือเชิงนโยบายด้านการอุดมศึกษา ณ ห้องประชุม Board Room ชั้น ๓ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 

โดยมีรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับ ร่วมด้วยนายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ 6 มหาวิทยาลัยเครือข่าย ประกอบด้วย ผู้บริหารมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย และวิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ชาญชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาผลงานด้านวิชาการ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งและยังยืนแก่ภาคสังคม ธุรกิจ อุตสาหกรรม วิสาหกิจทุกระดับ และการส่งเสริมวิทยาการและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาประเทศไปสู่อุตสาหกรรมยุค ๔.๐

จากแนวคิดดังกล่าว มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้จัดนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้คัดเลือกมานำเสนอในวันนี้ จำนวน 15 นิทรรศการ ประกอบด้วย นิทรรศการนวัตกรรมทางการแพทย์ (ชุดตรวจทางการแพทย์ชุดตรวจธาราสซีเมีย) นิทรรศการนวัตกรรมด้านเกษตรและอาหาร (ไก่KKU1+นมA2, ปุ๋ยและผลิตภัณฑ์จากไส้เดือนดิน และอาหารเพื่อสุขภาพ) นิทรรศการด้าน Smart city นิทรรศการด้านการศึึกษา (Smart learning, โครงการคณิตศาสตร์ขั้นสูง) นิทรรศการโครงการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (โครงการกัญชาสำหรับใช้ในทางการแพทย์โครงการป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังโครงการแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี)

นิทรรศการด้าน BCG (แบตเตอรี่ ไฮโดรเจน มีเทน และไบโอพลาสติก) นิทรรศการดำเนินงานและบริการของอุทยานวิทยาศาสตร์,ตลอดจนนิทรรศการพื้นที่ต้นแบบของการบูรณาการจากองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นแบบครบวงจร อาทิ Smart Farm โครงการแก้จน จิ้งหรีด และบ้านโต้นโมเดล ซึ่งนอกจากผลงานวิจัยเหล่านี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นยังได้ผลิตผลงานวิจัยอีกมายมายที่มุ่งหมายในการแก้ปัญหาของพื้นที่ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน และสร้างให้ไทยสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล

ด้าน ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก รัฐมนตรีว่าการ อว. กล่าวถึงโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (ตำบล มหาวิทยาลัย) ว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หน่วยงานในกระทรวงหลายกระทรวง อยากจะให้ อว.ช่วยเก็บข้อมูลบางด้าน เพราะเห็นสมรรถนะและ ศักยภาพในโครงการดังกล่าวว่า นอกจากจะทำเรื่องการพัฒนาแล้วยังสามารถเก็บข้อมูล

และเชื่อว่า อว.สามารถทำระบบ big data และวิเคราะห์ได้ดีพอสมควร ซึ่งในที่ประชุม ครม.ได้สนับสนุนให้ขยายจำนวนตำบลเพิ่มขึ้นอีก 4,900 ตำบล ซึ่งจะครบ 7,900 ตำบล โดยประมาณจากโครงการนี้จะทำให้มีผู้ที่ได้ทำงานมากกว่า 120,000 คน

ขณะนี้ อว.มีอุทยานวิทยาศาสตร์กระจายอยู่ในภูมิภาค จึงได้พิจารณามหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมเป็นแม่ข่ายและเป็นที่ตั้งของอุทยานวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ ยังได้รวบรวมมหาวิทยาลัย ภาคธุรกิจ ภาคเอกชน ภาคท้องถิ่น ในพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อทำให้วิทยาศาสตร์ วิจัย นวัตกรรมกับ การปฏิบัติมาเชื่อมต่อกันได้  

จากการดำเนินงานที่ผ่านมาได้ผลเป็นอย่างดี การชมนิทรรศการความคืบหน้าในวันนี้ ดีใจที่ผลงานวิจัยหลายๆ อย่างสามารถขายได้ เป็นนิมิตหมายที่ดี คิดว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นโดดเด่นในหลายๆ ด้าน โดยด้านหนึ่งที่ประทับใจมากคือด้านเกษตร การแพทย์ และการนำเทคโนโลยีโทรคมนาคมต่างๆ ที่เจริญก้าวหน้ามากมาใช้ในการทำแผนที่ IOT  

อย่างไรก็ตาม ทาง อว.ไม่ได้เป็นผู้กำหนดว่าแต่ละมหาวิทยาลัยต้องวิจัยด้านใด เพราะว่าแต่ละแห่งจะแสดงออกมาเองว่าตนเองเก่งและชำนาญโดดเด่นเรื่องอะไร แต่โดยทั่วไปความเก่งของคนไทย ของสถาบันวิจัย ของมหาวิทยาลัย จะครอบคลุมด้าน BCG เศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์ วิทยาการที่เกี่ยวกับชีววิทยาการแพทย์ อาหาร สาธารณสุข วิทยาศาสตร์การแพทย์ เครื่องสำอาง รวมไปถึงการแก้ปัญหาทำอย่างไรให้คนอยู่ดีกินดีขึ้น

"ฉะนั้น ผมคิดว่าตอนนี้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของประเทศไทยกำลังไล่กวดประเทศอื่นๆ ที่เคยนำหน้าเราไป ใกล้ชิดมากขึ้น ก้าวไปสู่ภาคปฏิบัติได้มากขึ้น และรัฐบาลก็สนับสนุนในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มากขึ้น” รัฐมนตรีว่าการ อว.กล่าว

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)