สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ เสด็จฯเปิดประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 3

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯเป็นองค์ประธานเปิดการประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 3 ทรงให้กำลังใจครู "ทุ่มเท-เสียสละ"

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 ที่โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯเป็นองค์ประธานเปิดการประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 3 และทรงรับฟังการอภิปรายพิเศษจากครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีทั้ง 11 ประเทศ

ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า "การเป็นครูนั้นไม่ง่าย การเป็นครูดีเด่นยิ่งไม่ง่าย เพราะการเป็นครูที่ยอดเยี่ยมต้องใช้ความทุ่มเท เสียสละ ข้าพเจ้าก็เป็นครู มีความตั้งใจอยากเป็นครูตั้งแต่เด็ก และเป็นครูมา 30 ปีแล้ว จึงเข้าใจว่าการเป็นครูที่ดีเด่นมีความยากอย่างไร การเป็นครูมีความรับผิดชอบหลายอย่าง เพราะนอกจากการศึกษาแล้วยังต้องเตรียมเด็กไปสู่อนาคต"

"พวกเราในฐานะครูจะต้องให้ความรู้ บ่มเพาะ ให้ความรักและเคารพกับเด็กของเรา เพื่อให้เขาเชื่อมั่นในตัวเอง และเป็นคนที่ดีเท่าที่เขาจะเป็นได้ จากประสบการณ์ที่ได้ทำในเรื่องพัฒนาการศึกษามากว่า 40 ปี จึงเข้าใจในบทบาทของครูที่มีความสำคัญมากต่อชีวิตของเด็ก ครูมีบทบาทหลายอย่าง โดยเฉพาะครูในท้องถิ่นทุรกันดาร เป็นทั้งพ่อ แม่ หมอ พยาบาล คนสวน ช่างไม้ ช่างไฟ แม้แต่ผู้ให้คำแนะนำกับชุมชน บางครั้งก็เป็นผู้ไกล่เกลี่ยในชุมชน"

"ข้าพเจ้าจึงให้การสนับสนุนครูอย่างเต็มที่ เพื่อให้ครูได้ทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้ครูได้ช่วยเด็กและชุมชน ซึ่งการประชุมวิชาการครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีจะเป็นตัวอย่างให้กับครูท่านอื่น โดยการแบ่งปันเทคนิคการสอน และเป็นโอกาสที่ข้าพเจ้าจะได้ฟังเรื่องราวของท่านถึงการขยายผลการทำงานของครู เพื่อเป็นกำลังใจให้กับนักเรียน และครูท่านอื่น” 

ทั้งนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ความตอนหนึ่งว่า "ในระหว่างที่โรงเรียนปิดเนื่องจากโควิด-19 ถึงแม้โรงเรียนจะปิด แต่การศึกษานั้นปิดไม่ได้ ครูทั้งหลายได้เล่าถึงการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบออนไลน์"

"แต่มีครอบครัวอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่มีทีวี ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต ครูของแต่ละโรงเรียนจึงมีการจัดหาเทคโนโลยีเพื่อให้เด็กได้เรียน หรือเดินทางไปแจกจ่ายตำรา แบบฝึกหัด โดยใช้รถจักรยานยนต์ รถกระบะ ซึ่งเป็นการเดินทางที่ยากลำบากเพื่อส่งตำราเรียนให้กับเด็ก ให้การบ้าน ตรวจการบ้านเด็กๆ ซึ่งท่านก็เป็นตัวอย่าง และข้าพเจ้าก็ขอขอบใจ" 

ภายในงานมีตัวอย่างประสบการณ์การสอนของครูที่หลากหลายที่มาแบ่งปันสุดยอดเทคนิคการสอนที่น่าสนใจ อาทิ ตัวอย่างเรียนรู้การสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ผ่านเทคนิคการสอนในห้องเรียนวิทยาศาสตร์ โดยครูวิรัก ลอย (กัมพูชา) ได้ออกแบบเทคนิคการจัดสอนแบบ IBL ระดมสมอง การจัดสเต็มศึกษา การทดลองทางวิทยาศาสตร์ และสื่อประดิษฐ์

ครูเล ทัน เลียม (เวียดนาม) การจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนชนเผ่า เพื่อสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ผ่านกระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบวิจัยและสร้างนวัตกรรมที่สามารถใช้ในชีวิตและชุมชน ยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กเวียดนามในพื้นที่ชายแดน

ครูรูดี ฮาร์ยาดี (อินโดนีเซีย) การจัดการสอนมัธยมแบบประสมสร้างยุววิศวกรรมคอมพิวเตอร์ด้วยนวัตกรรม “PEPPERMINT” Model โดยผ่านกระบวนการจัดการเรียนการสอนบนฐาน E-learning/Media based learning และกิจกรรมหลากหลายที่เน้นให้ผู้เรียนในสร้างสรรค์ชิ้นงาน 

นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบการจัดการเรียนรู้ให้เป็นห้องเรียนแห่งความสุข เพื่อกระตุ้นให้เด็กรักเรียน ตัวอย่างการจัดการสอนของครูลูร์เดส รันเจล กอนซัลเวซ (ติมอร์-เลสเต) จัดการเรียนรู้สำหรับเด็กประถมศึกษาบนพื้นที่สูง โดยใช้สื่อและบริบทแวดล้อมเป็นเครื่องมือ เพื่อสร้างทักษะคิดคำนวณและทักษะสำคัญของการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม active learning 

รูปแบบการจัดการสอนผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ กรณีการสอนของครูสิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน และนวัตกรรมการสอนเด็กที่ตกหล่นทางการศึกษาของครูฟิลิปปินส์ โดยใช้นวัตกรรม “push cart knowledge รถเข็นความรู้ที่ออกไปจัดกิจกรรมสำหรับเด็กตกหล่น/หลุดระบบ เพื่อสร้างทักษะพื้นฐาน “อ่านออกเขียนได้ คิดคำนวณเป็น”

และตัวอย่างห้องเรียน “เพื่อนเด็ก” ของครูสุเทพ เท่งประกิจ (ประเทศไทย) ออกแบบการศึกษาเพื่อการมีงานทำจากพื้นที่ชายแดนใต้ หลักสูตรศึกษาท้องถิ่นเพื่อสร้าง "ทักษะสำคัญ ทำงานเป็น เห็นอนาคต" บูรณาการแหล่งเรียนรู้และทรัพยากรชุมชน สานพลังพ่อแม่และชุมชน เพื่อสร้างการเรียนรู้ตอบโจทย์ชีวิตจริงเด็กทุกช่วงวัยและชุมชน 

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)