เกาให้ถูกที่คัน! เสียงเพรียกถึง "ครูตั้น" สังคายนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน

 

เกาให้ถูกที่คัน! เสียงเพรียกถึง "ครูตั้น" สังคายนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน

คอลัมน์ “เสวนากับบรรณาธิการ” ในค่ายสำนักข่าว EdunewsSiam วันนี้ ต้องการจุดประกายให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ระดมความคิดเห็นและสะท้อนทิศทางการปฏิรูปการศึกษา ในแง่มุมของหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้ผู้มีอำนาจในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้รับรู้ถึงสภาพปัญหาอุปสรรคที่ทำให้เยาวชนไทยไปไม่ถึงดวงดาวสักที

อันเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงศึกษาธิการแทบทุกยุคสมัยต่างมีนโยบายให้รื้อปรับปรุงแก้ไขหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ทุกครั้งก็ล้วนประสบผลความล้มเหลวตามมา ซึ่งเห็นได้จากที่เสนาบดีคนใหม่ที่เข้ามาจะให้นโยบายแบบเดิมๆ เช่นนี้ไปเรื่อยๆ

มาถึงยุครัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนปัจจุบัน นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ก็แสดงออกถึงความต้องการปรับแก้หลักสูตรการศึกษาพื้นฐานให้ดีขึ้นเช่นกัน โดยมีความพยายามแรกเริ่มในการตั้งทีมงานยกร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่งเป็นคำฟังสวยหรูจากประเทศตะวันตก 

แต่ยังไม่ทันที่คนในแวดวงการศึกษาจะได้เห็นรูปร่างหน้าตา เจ้ากระทรวงศึกษาก็ประกาศล้มเลิกไม่นำมาใช้แล้ว และปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่หันมาใช้บริการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ประสานมิตร ทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเขย่าปรุงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ที่ใช้จัดการศึกษาอยู่ในปัจจุบันเสียใหม่

นายณัฏฐพลกล่าวถึงความตั้งใจว่า “ผมต้องการให้ปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ โดยจะไม่เรียกว่าหลักสูตรฐานสมรรถนะแบบเดิมที่มีการดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนจะใช้ชื่อหลักสูตรแบบไหนนั้น ในเร็วๆ นี้ คณะทำงานปรับปรุงหลักสูตรจะสรุปรายละเอียดออกมาเป็นมติอย่างเป็นทางการอีกครั้ง โดยตั้งใจว่าหลักสูตรใหม่นี้จะทันใช้ในปีการศึกษา 2565”

รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เผยสาระเบื้องต้นว่า รูปแบบใหม่ของหลักสูตรการแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะเริ่มตั้งแต่หลักสูตรการศึกษาระดับปฐมวัย ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา จะแยกสัดส่วนออกมาแต่ละกลุ่มสาระวิชาให้มีความเหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงชั้น โดยจะมีความเชื่อมโยงระหว่างหลักสูตรใหม่และหลักสูตรเก่า และผสมผสานการเรียนรู้ของโลกในศตวรรษที่ 21 

หลักสูตรใหม่นี้จะมุ่งเป้าหมายของการผลิตผู้เรียนตามความต้องการของประเทศในอนาคต เช่น การเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ จะพัฒนาเด็กเล็กให้รู้พื้นฐานใดบ้างไปจนถึงเด็กโต และหากเด็กไม่ชอบการเรียนวิทยาศาสตร์ ก็จะมีกระบวนการพัฒนาและบริหารจัดการรองรับอย่างไรบ้าง ขณะเดียวกันถ้าเด็กมีทักษะพิเศษเก่งวิทยาศาสตร์ ก็จะต่อยอดและส่งต่อผู้เรียนด้วยรูปแบบใด เป็นต้น  

“หลักสูตรใหม่จะทำให้เด็กมีทักษะคิดวิเคราะห์เป็น ผู้เรียนมีทางเลือกในการเรียนรู้อย่างหลากหลาย เพื่อสามารถเลือกอนาคตได้ด้วยตัวเองว่า อยากจะทำอาชีพอะไร เป็นการตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานด้วย หลักสูตรใหม่นี้จึงเป็นการนำหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานมาอัพเดทใหม่ และเสริมด้วยเทคโนโลยีในอนาคต” นายณัฏฐพล ย้ำถึงความตั้งใจ

อย่างไรก็ตาม ในความตั้งใจดีของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ดังกล่าว ต้องไม่ละเลยการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นและเสียงสะท้อนของผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะบรรดาครูและนักเรียน เพื่อให้การอัพเดทหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานออกมาเป็นไปตามที่พึงประสงค์ของทุกฝ่าย และสามารถนำสู่การปฏิบัติยังผลสำเร็จได้อย่างแท้จริง ไม่ตกอยู่ในวังวนนโยบายการแก้ไขปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของรัฐมนตรีคนต่อๆ มาอีก

จะว่าไปแล้ว เสียงสะท้อนของบรรดาครูและนักเรียนในห้วงเวลาที่ผ่านมา ชัดเจนในปัญหาข้อเรียกร้องที่สะท้อนข้ามรั้วไปถึงผู้มีอำนาจใน ศธ.ทุกกรม กอง โดยเฉพาะประเด็นปัญหาครูไม่มีความสุขในการสอน และนักเรียนเองก็ไม่มีความสุขในการเรียน อันเนื่องมาจากสาเหตุหลักสูตร

คนในแวดวงการศึกษาจำนวนไม่น้อยที่สะท้อนตัวอย่างมุมมองปัญหาว่า หลักสูตรแต่ละรายวิชามีการกำหนดมาตรฐานและตัวชี้วัดยิบย่อยจำนวนมากเกินความจำเป็น จนทำให้ครูไม่มีเวลา ไม่มีทางเลือกทันสมัยที่จะจัดการเรียนการสอนให้กับเด็ก นอกเสียจากการหยิบฉวยตำรามาเป็นเครื่องมือสอนเป็นหลัก บรรยายให้เด็กฟัง ให้เด็กอ่าน แล้วก็สอบเก็บคะแนน

“จึงห่างไกลจากเป้าหมายการบ่มเพาะให้เด็กไทยคิดวิเคราะห์เป็น แก้ปัญหาได้ มีจินตนาการสร้างสรรค์นวัตกรรม” ตามที่สังคมและรัฐมนตรีณัฏฐพลมุ่งหมาย

ยังไม่นับรวมกรณีปัญหาที่ครูต้องแบกรับภาระงานธุรการ งานประชุม สัมมนา ทำกิจกรรม โครงการต่างๆ ทั้งของโรงเรียน หน่วยงานในสังกัดและนอกสังกัด รวมไปถึงงานส่วนตัวทำเอกสารผลงานที่ต้องเสนอขอวิทยฐานะอีกมโหฬาร ซึ่งล้วนทำให้ครูไม่มีความสุข และเบียดบังเวลาเอาใจใส่ดูแลนักเรียนให้น้อยลงไปอีก

ขณะเดียวกัน นักเรียนเองก็ไม่มีความสุขในการเรียนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานในทุกวันนี้ ที่นอกจากจะมีรายวิชาแตกแยกย่อยใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ในแต่ละชั้นเรียนมากมาย รวมแล้วประมาณ 20 รายวิชาที่เด็กต้องเรียนในแต่ละสัปดาห์ ไม่ว่าจะเรียนอยู่ชั้น ป.1 หรือ ม.6 ราวกับจะต้องการเตะสกัดเด็กไทยส่วนใหญ่ให้เบื่อหน่ายไม่อยากเรียนกันไปเอง?

 

ในแต่ละรายวิชาที่เด็กแต่ละชั้นต้องเรียน ยังมีเนื้อหาอัดแน่นจำนวนมากเกินกว่าสมองเด็กจะรับไหว เช่น หนังสือเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ชั้น ป.1 (ไม่รวมแบบฝึกหัด) สองเทอม 2 เล่ม มีจำนวนหน้ากระดาษรวมกันมากถึง 400 หน้า หารเฉลี่ย 200 วันทำการเรียน ตกวันละ 2 หน้า แค่วิชาเดียว และแค่เด็กชั้น ป.1 ที่ยังอ่านเขียนไม่คล่อง

เกือบทุกรายวิชา เนื้อหาที่อัดแน่นยังเป็นเนื้อหาส่วนเกินจำนวนไม่น้อยที่ไม่เหมาะสมกับช่วงวัย แทบไม่มีประโยชน์อะไรที่จะบรรจุไว้ เพราะเป็นลักษณะของความจำระยะสั้นเท่านั้นเอง ไม่กี่วันเด็กก็ลืม เช่น เด็กแค่ชั้น ป.6 ให้มาท่องจำเรื่องของภาษีต่างๆ ว่า ประเทศไทยเรามีภาษีอะไรบ้าง , เด็กชั้น ม.1 ต้องเรียนเรื่องของบรรดาธนาคารและบัญชีเงินฝากทั้งหลาย

 

นอกจากนี้ มีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด? ที่เกือบทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ตั้งแต่ชั้น ป.1-ม.6 จะต้องแยกย่อยรายวิชาออกมามากมาย และทุกรายวิชายังต้องมีหนังสือเรียนออกมากำกับ ซึ่งเด็กๆ ต้องท่องจำเนื้อหาในหนังสือเรียนทุกวิชาเพื่อสอบเอาคะแนนนานถึง 12 ปี ตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนชั้น ป.1 จนถึงชั้น ม.6 

 

จะเป็นไปได้หรือไม่? ที่แต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้จะมีการบูรณาการเนื้อหารายวิชาต่างๆ ให้ครูได้สอนที่เป็นสาระสำคัญจริงๆ แทนการแตกย่อยออกมาเป็นวิชานั้นวิชานี้มากมาย

 

และจะเป็นไปได้หรือไม่? ที่เนื้อหาในบางรายวิชาไม่ต้องมีหนังสือเรียนออกมาให้เด็กต้องมาท่องจำเพื่อสอบเอาคะแนนกันอีก แต่ให้ครูสอนและเด็กเรียนรู้ในลักษณะของกิจกรรม เช่น พาเด็กเข้าวัดฟังพระเทศนาธรรม ร่วมกิจกรรมทางศาสนา เพื่อให้เด็กได้ซึมซับจากของจริง

 

หรือกรณีของเด็กชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่ตามหลักสูตรให้เลือกเรียนตามแผนการเรียนสู่อาชีพในอนาคต ซึ่งรัฐมนตรีณัฏฐพลตั้งใจจะให้ “เด็กๆ สามารถเลือกอนาคตได้ด้วยตัวเองว่า อยากจะทำอาชีพอะไร เป็นการตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน”

 

แต่ท่านรัฐมนตรีทราบหรือไม่ว่า สภาพการณ์ในโรงเรียนทุกวันนี้ เด็กต้องถูกยัดเยียดเรียนรายวิชาต่างๆ แทบจะเหมือนๆ กันในทุกแผนการเรียน แม้จะเลือกเรียนแผนกภาษาต่างประเทศ แต่ก็ต้องเรียนรายวิชาต่างๆ ใน 8 กลุ่มสาระ เฉลี่ยเวลาเรียนรายคาบเกือบจะเท่าๆ กัน

 

มิหนำซ้ำ แม้แต่ชั่วโมงแนะแนว ในหลายโรงเรียนยังกลายเป็นวิชาที่มีการจัดทดสอบให้เด็กผ่านหรือไม่ผ่านอีกด้วย ยิ่งเบียดบังเวลาของเด็กๆ ที่จะใฝ่หาความรู้เพื่อมุ่งสู่การเรียนต่อในสายอาชีพที่ต้องการ

 

จึงยิ่งห่างไกลนักกับความตั้งใจของรัฐมนตรีณัฏฐพล ที่ต้องการจะทำให้การเรียนการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน

 

ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมความเบื่อหน่ายของเด็กๆ นักเรียน เรื่อง “การบ้าน” ที่แม้ผู้มีอำนาจใน สพฐ. หรือแม้แต่นายกฯ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเคยมีนโยบายให้สั่งโรงเรียน “ลดการบ้าน” แต่เด็กๆ ทุกวันนี้จำนวนไม่น้อยก็ยังสะท้อนออกมาให้ได้ยินทำนองว่า “แต่ละวันครูแต่ละคนสอนแค่วิชาเดียว แต่เวลาให้การบ้าน ทำไมครูเกือบทุกคนมาให้การบ้านนักเรียนคนเดียวพร้อมกัน เฮ้อ...”

 

เหล่านี้เป็นแค่ตัวอย่างต้นตอปัญหาที่ทำให้ครูจำนวนไม่น้อยทำการสอนลูกศิษย์อย่างไม่มีความสุขเท่าที่ควร และเด็กๆ ก็เรียนไปตามหน้าที่อย่างเบื่อหน่ายเช่นกัน

 

ดังนั้น จึงมีเสียงเรียกร้องไปถึง "ครูตั้น" นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ต้องให้ความสำคัญและเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะบรรดาครูและนักเรียนในภาพรวม เพื่อวางทิศทางและรายละเอียดการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน อย่าปล่อยให้คนตกยุค หลงศตวรรษรุ่นเก่าๆ ความคิดเก่าๆ หน้าเดิมๆ มากำหนดแต่ฝ่ายเดียวอีกต่อไป หากจริงใจต้องการให้บรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งใจไว้

 

อย่าปล่อยให้เข้าอีหรอบเดิมๆ ที่มักได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการแก้ไขปรับปรุงอยู่บนหอคอยงาช้าง จนนำมาสู่วังวันของการแก้ไขครั้งแล้วครั้งเล่า เพียงเพราะเกาไม่ถูกที่คัน…!!

 

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)