“หยิกแก้มหยอก” กับ “สิงห์ ราชดำเนิน” 28 ตุลาคม 63

 

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯเปิดการประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ และทรงฟังการอภิปรายพิเศษจากครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ทั้ง 11 ประเทศ   

 

หยิกแก้มหยอก  

“สิงห์ ราชดำเนิน”

“หยิกแก้มหยอก” กับ “สิงห์ ราชดำเนิน” ผ่านเว็บไซด์ข่าวการศึกษา “EdunewsSiam” วันที่ 28 ตุลาคม 63 

...เมื่อ 22 ตุลาคม 2563 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเปิดการประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 3 ณ โรงแรมสยามเคมปินสกี้ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยความร่วมมือของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการ ต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สถานทูตไทยประเทศในอาเซียนและติมอร์-เลสเต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง...● โอกาสนี้ ทรงฟังอภิปรายพิเศษ โดย ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2562 ในหัวข้อหลากเทคนิค ดึงความร่วมมือจากชุมชนทลายกำแพงข้อจำกัดการเรียนรู้ หัวข้อการจัดการศึกษาเพื่อผู้เรียนที่หลากหลายจากประสบการณ์สุดยอดครูการศึกษาพิเศษ และ หัวข้อห้องเรียนแห่งความสุขหลากเทคนิคการสอนให้เด็กรักเรียน...● ทั้งนี้ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีจัดขึ้นทุก 2 ปี ครั้งล่าสุดจัดขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ.2562 เพื่อพระราชทานแก่ครูที่มีคุณสมบัติดีเด่น เป็นผู้ทุ่มเทและอุทิศตนเพื่อศิษย์ เป็นครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตของศิษย์ และการเป็นผู้มีคุณูปการต่อวงการการศึกษาระดับนานาชาติในประเทศอาเซียนและติมอร์-เลสเต รวม 11 ประเทศ ประเทศละ 1 รางวัล...

ฟังแล้วในช่วงอภิปรายวันที่สองของงาน กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ภาพชัดครูแต่ละคนแต่ละที่ พยายามบอกเล่าปัญหาและทางแก้ปัญหายุคโควิด-19 ระบาด ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะอยู่กับโควิดไปอีกนานแค่ไหน หลังโรงเรียนถูกปิดเด็กเรียนน้อยลง เป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ เพราะ การไปโรงเรียนไม่ใช่แค่อ่านออกเขียนได้ แต่มีพัฒนาการทางสังคม สมอง ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนเล่น ยิ่งเด็กกลุ่มเปราะบาง เด็กยากจนจะยิ่งกระทบอย่างมาก ... ส่งสัญญาณจาก ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านพัฒนามนุษย์ กลุ่มงานการศึกษา ประจำธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย ไปถึงเจ้ากระทรวงศึกษาฯ ในอนาคตข้างหน้าหากเกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง หวังว่าหน่วยงานภาครัฐจะหาแนวทางรับมือที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อไม่ให้เด็กต้องสูญเสียโอกาส ในการเรียนมากไปกว่านี้... ตอกย้ำส่งท้ายของ อุดม วงษ์สิงห์ ผอ.สำนักพัฒนาคุณภาพครูนักศึกษาและสถานศึกษา กสศ. มองไปในอนาคตเราต้องเตรียมพร้อมเผชิญกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เราจะรับมือกับมันได้ เทคโนโลยี ระบบออนไลน์ ออนแอร์ ออนไซต์ ต้องทำควบคู่กันไป ฮื่อ...ในรั้ววังจันทรเกษมคนเก่งดีมีฝีมือก็มีให้เห็นอยู่ แต่ทุกอย่างมันอยู่ที่เจ้ากระทรวงเขาจะสั่ง ทำได้อย่างเดียวคือส่งประกายตาแสดงความชื่นชม กับ เงียบกริ้บ...

...ดูตัวอย่าง แค่ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เอ่ยปากต้องการปรับแก้หลักสูตรฐานสมรรถนะการศึกษาพื้นฐาน โดยจะหันไปพึ่งบริการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ประสานมิตร ทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเขย่าปรุงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ที่ใช้จัดการศึกษาอยู่ในปัจจุบันเสียใหม่ ก็ยังไม่มีใครยกมือถามว่า หลักสูตรที่ใช้อยู่ในปัจจุบันตอนนี้ เคยผ่านการประเมินตามระบบมาแล้วหรือยัง...● มีแค่ สานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ ฝากถามไปถึง ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ. พร้อมทั้งเสนอให้ไปศึกษารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 258 จ (4) และยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างทรัพย์มนุษย์ที่เน้นการปฏิรูปการเรียนรู้ พัฒนาและส่งเสริมพหุปัญญา การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาและนโยบายเร่งด่วนเรื่องการเตรียมคนสู่ศตวรรษที่ 21 ตามนโยบายด้านการศึกษา ที่รองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม ได้ให้นโยบายไว้...ศึกษาเสียก่อนดีกว่าม่ะ... แต่นี่กระไร นายหัว ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ.ประกาศเปรี้ยง หลักสูตรการแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่นี้ จะเริ่มกันตั้งแต่ระดับปฐมวัย ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา จะทันใช้ในปีการศึกษา 2565...ราวกับเวลาแค่ปีเดียวเหมือนอะลาดินขัดตะเกียงวิเศษได้ยักษ์ออกมาเสกเป่าเนรมิตดังใจนึก ระวังหลักสูตรใหม่จะเสียทั้งเวลาและงบประชุมทำการ จะกลายเป็นหลัก...อย่างอื่นไปเด้อ... 

ขนาดมืออาชีพอย่าง วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ยังไม่อาจหาญคิดทำการผู้เดียว ให้ข้อคิดการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนการสอน การพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไขระยะยาว ขนาดดำเนินการไปแล้วหลายส่วน ยังต้องให้ประชาชนเป็นเจ้าของเขาเห็นชอบ ไม่ใช่ ศธ. เป็นเจ้าของ โอ้ย...เจ็บๆๆ... อึดอัดใจรึเปล่าไม่รู้ จับหางเสียง อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กระบวนการทำหลักสูตรใหม่มีหลายขั้นตอน ตั้งแต่กำหนดกรอบความคิด การนำหลักสูตรไปทดลองใช้ การประเมินหลักสูตร จนตกผลึกมีความสมบูรณ์พร้อม จึงจะประกาศใช้หลักสูตรได้...“ สิงห์ ราชดำเนิน” ได้แต่เห็นใจ เมื่อนายใหญ่ใจร้อน เพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ตรวจสอบเสียงจากหลายฝ่ายแล้ว ถ้าไม่ฟังประชน ขืนลุยถั่วไปตามลำพัง ยุคนี้นกหวีดไม่มีราคาแล้ว...● มาถึง โครงการอบรมปฏิบัติการการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณสำหรับครู Coding for Teacher : C4T ามที่ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศธ. ตั้งใจผลักดันให้เด็กไทยมีทักษะการเรียนรู้ เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริงได้ในสังคมโลกยุคปัจจุบัน สสวท. แต่งตั้งให้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 21 (หนองคาย-บึงกาฬ) เป็นศูนย์จัดฯ แม้ไอเดียดี แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะไปกันได้แค่ไหน สักกี่เปอร์เซนต์...● เมื่อผลการสำรวจพบว่า ครูทุกระดับชั้นส่วนใหญ่สอนวิชาวิทยาการคำนวณไม่ครบทุกเนื้อหา ไม่เข้าใจจุดมุ่งหมายของหลักสูตรและตัวชี้วัด รวมทั้งยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิชาวิทยาการคำนวณ ทำให้โรงเรียนส่วนใหญ่ยังไม่ได้สอนวิชาวิทยาการ

คำนวณและโค้ดดิ้ง ยังไงก็ฝาก สมใจ วิเศษทักษิณ ผู้อำนวยการ  สพม.21 จบงานแล้ว หากจะติดตามผลการจัดอบรมให้สังคมรับรู้ได้ก็ดี เห็นว่า ใช้งบไปมิใช่น้อย คราวนี้ มีวิทยากรจาก สสวท. มาให้ความรู้กับครูผู้เข้าร่วมอบรมด้วยล่ะ...● มาแบบไม่ต้องนัด ยื่น 11 ข้อหนุนพัฒนาคุณภาพอาชีวะ เศรษฐศิษฏ์ ณุวงค์ศรี ประธานเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (ค.ร.อ.ท.) นำเสนอแนวทางแก้ปัญหาและการพัฒนาอาชีวศึกษาแก่ สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ กอศ.เร่งรัดการสรรหานายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษาและแต่งตั้งคณะกรรมการสภาสถาบันทั้ง 23 แห่ง เนื่องจากคณะกรรมการฯดังกล่าว หมดวาระมาเป็นเวลานานแล้ว ...● ตามด้วย แผนการพัฒนาครูบุคลากรที่ชัดเจน เพื่อเปิดโอกาสให้ครูอาจารย์มีความก้าวหน้าในชีวิตราชการ อีกทั้งเร่งรัดการจัดสอบบรรจุข้าราชการครูกรณีพิเศษโดยเร็ว ส่วนการแก้ไขว่าด้วยสิทธิของผู้เรียนที่จบการศึกษาด้านวิชาชีพบางสาขาวิชา แต่ไม่สามารถไปประกอบอาชีพอิสระได้ เนื่องจากมีประเด็นกฎหมายกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สุเทพ ชิตยวงษ์ อดีตเลขาธิการอาชีวะ ขณะนี้เป็นถึง เลขานุการ รมว.แรงงาน น่าจะช่วยได้ คนกันเองทั้งนั้น... นี่ก็เกินไปหรือไม่อย่างไร เอะอะๆ ก็ตั้งวงร้อง เลิกจำกัด ลิดรอน ละเมิด สิทธิ เสรีภาพนักเรียน วรา จันทร์มณี ตัวแทนเครือข่ายประชาชนพิทักษ์สิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรม โหนกระแส ขอให้ ศธ.กำหนดบทลงโทษครูหรือโรงเรียนที่ฝ่าฝืนกฎ ศธ. จำกัด ลิดรอน ละเมิดสิทธิเสรีภาพนักเรียน เอ...อย่างงี้ทำเหมือนแกล้งมั่วว่าไม่รู้ โทษแต่ละเรื่องจะหนักเบาก็กำหนดไว้ชัด แต่หากเด็กที่ทำอะไรผิด ก็ควรมีบทลงโทษเช่นกัน มิใช่หรือ ...● ว่ากันถึงเรื่องแก้ระเบียบทรงผม สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาข้อเรียกร้องของนักเรียน นักศึกษา ศธ. เสนอให้โรงเรียนสามารถออกระเบียบที่มีความเฉพาะเจาะจงได้ แต่ต้องผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของนักเรียน ผู้ปกครองและชุมชนท้องถิ่น และให้ยึดถือหลักความเหมาะสมใน การพัฒนาบุคลิกภาพที่ดีของนักเรียน ...● ส่วน การลงโทษนักเรียน นั้น ต้องลงโทษตามระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษาเท่านั้น คือ ว่ากล่าวตักเตือน ทำทัณฑ์บน ตัดคะแนนความประพฤติ และทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ใช่ไปกล้อนผมเด็ก ทำให้เกิดความอับอาย...    

...แต่งองค์ทรงเครื่องแล้ว ไปต่อไม่ได้ สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แจ้งข่าวถึงชาว กศน. คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ คัดร่าง พ.ร.บ.การศึกษาตลอดชีวิต ออกจากสารบบการพิจารณาร่างกฎหมาย ของคณะกรรมการกฤษฎีกา เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายที่ไม่มีการเสนอความเห็นเข้ามาตามเวลาที่กำหนด ส่วน สช. และ ก.ค.ศ. ยังกินแห้วไปก่อน เนื่องจากยังไม่ได้ออกแบบหรือปรับองค์กรใหม่ ใครอยากรู้รายละเอียดให้ไปคุยกับอดีตปลัด ศธ. ประเสริฐ บุญเรือง ที่คอยดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาถึงรากหญ้า...● สารจาก อรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ทวงหลายรอบแล้ว แต่โรงเรียนเอกชนไม่มีการตอบรับ ประกาศขีดเส้นขอให้ส่งข้อมูลนักเรียนที่จะต้องได้รับเงินรายหัว ถ้าเกิน 31 ตุลาคมนี้ ถูกตัดสิทธิ์ แสดงว่าสถานศึกษาเอกชนดังกล่าวไม่สนใจเศษเงินจากรัฐ หรืออาจมีแหล่งรายได้อื่นที่มากกว่าหลายเท่าตัว เข้าทำนอง นิ่งเสียตำลึงทอง ...

อีกสัญญาณจาก เลขาธิการ กช. ห่วงยอดโรงเรียนเอกชนนอกระบบที่รอเลิกกิจการ  2,421 แห่ง ขณะที่ กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศธ. หารือ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ. ถึงนโยบายการศึกษายกกำลังสอง ในส่วนของ สช.เน้นปลดล็อก ปรับแก้ไข กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อเอกชนได้ประโยชน์และคำนึงถึงผู้เรียนเป็นสำคัญ...ก็ลองดูสักตั้ง...● การจะเดินหน้า ศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอควาเรียมสงขลา ต่อ อาจเป็นไปได้ยาก ต้องใช้เงินงบประมาณที่สูงมาก เพราะแผนเดินหน้าก่อสร้างเดิมตั้งงบประมาณไว้ที่ 502 ล้านบาท ปลัดฯ สุภัทร จำปาทอง นั่งดูรายละเอียดทุกอย่างแล้ว ยันว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้เงินจำนวนดังกล่าวก่อสร้างต่อให้เสร็จสิ้น เพราะยังมีระบบอื่นๆ เข้ามาข้องเกี่ยวอีก งานนี้คนที่คอยลุ้นอยู่ข้างหลัง ข่าวว่า ไมเกรนขึ้นปริ้ด ...

พบกันใหม่ “สิงห์ ราชดำเนิน สวัสดี

edunewssiam : เสวนากับบรรณาธิการ > หยิกแก้มหยอก                                                            

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)