รมว.ศธ.ลงพื้นที่สัญจร จ.ภูเก็ต เน้นย้ำพัฒนาอาชีวะให้ทันสมัยเพื่อรับรองตลาดแรงงาน เชื่อมการศึกษาพื้นฐาน

นาย​ณัฏ​ฐ​พล​ ทีปสุวรรณ รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​ศึกษาธิการ ​(รมว.ศธ.) ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ในการประชุมคณะ​รัฐมนตรี​อย่างเป็นทางการ(ครม.สัญจร)นอกสถานที่ ครั้งที่ 3/2563 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา ระนอง สตูล) โดยรมว.ศธ.ไปเยี่ยมวิทยาลัยสังกัดอาชีวศึกษา มี นายเจตน์ โศภิษฐ์พงศธร เลขานุการรมว.ศธ. นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ​ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ​คณะกรรมการ​การอาชีวศึกษา นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ​คณะกรรมการ​การศึกษา​ขั้น​พื้นฐาน​ ผู้บริหารกระทรวง​ศึกษาธิการ​ ศึกษาธิการ​ภาค ศึกษาธิการ​จังหวัด ตลอดจนผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู และนักเรียนนักศึกษา ให้การต้อนรับและรับมอบนโยบาย ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต(วอศ.ภูเก็ต)

         

       มีโอกาสตามรมว.ศธ.ไปที่วอศ.ภูเก็ตแล้วที่วิทยาลัยเทคนิคถลางช่วงที่2 พย.2563ก่อนเข้าร่วมครม.สัญจรวันที่ 3 พย.ซึ่งผู้บริหารการศึกษาอาชีวศึกษากล่าวรายงานโดยเน้นย้ำการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาสนองพระบรมราโชบายพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวด้านการศึกษาที่นอกจากความรู้สามัญและความเชี่ยวชาญทางอาชีพไม่ว่าจะเป็นโลจิสติก  การท่องเที่ยว อาหารและที่เน้นย้ำสนองพระบรมราโชบายคือการเป็นคนดีมีระเบียบวินัย รักษาสืบสานวัฒนธรรมประเพณีดีงามของไทยเช่นการไหว้การเคารพนบน้อมอ่อนน้อมถ่อมตน ความกตัญญูเป็นต้นสู่นโยบายรัฐบาลโดยรมว.ศธ.อาชีวะยกกำลังสอง

นายณัฏฐพล กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ​ให้ความสำคัญกับการยกระดับการอาชีวศึกษา​ โดยเฉพาะในโลกยุคปัจจุบันที่ทุกประเทศได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19​ ส่งผลให้ประเทศไทย ต้องเร่งพัฒนาประเทศให้มีศักยภาพในการแข่งขันกับนานาประเทศ ด้วยการยกระดับและสร้างมาตรฐานการอาชีวศึกษา​ให้มีความเป็นสากล โดยเน้นให้ความสำคัญการเชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐานกับการอาชีวศึกษา​ ซึ่งขณะนี้คือการขับเคลื่อนอาชีวศึกษา เพราะประเทศจะขับเคลื่อนต่อไปได้ต้องผลักดันให้อาชีวะเข้มแข็ง ในขณะเดียวกันการเรียนในสายสามัญก็ทิ้งไม่ได้ ต้องพัฒนาควบคู่กันไปด้วย เพื่อเป็นรากฐานการยกระดับรายได้ของจังหวัด ยกระดับอาชีพ ด้วยการจัดการศึกษา เพราะถ้าไม่ทำ ไม่เตรียมความพร้อมให้กับผู้เรียน ก็จะไม่สามารถยกระดับรายได้ของจังหวัดได้

“ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำให้เร่งพัฒนาการศึกษาให้รวดเร็วเป็น ยกกำลังสิบเพราะนายกรัฐมนตรีให้ความหวังกับการศึกษาอย่างมาก กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้ผลักดันนโยบายการศึกษายกกำลังสอง ปรับเปลี่ยน เปิดกว้าง ปลดล็อกกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เตรียมความพร้อมเพื่อขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งในส่วนของ จ.ภูเก็ต พบว่า 97% ของรายได้ในจังหวัดผูกพันกับการท่องเที่ยว ดังนั้น ทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน ต้องเข้าใจและร่วมกันยกระดับการศึกษาให้ได้ จึงขอฝากทุกคนที่มีส่วนร่วม ช่วยกันพัฒนาการศึกษาเพื่อยกระดับรายได้ของจังหวัด  โดยเฉพาะภาคใต้ ถือเป็นภาคที่มีอนาคต สามารถพัฒนาต่อยอดไปได้ ซึ่งทุกจังหวัดในภาคใต้อาจจะยกโมเดลในการจัดการของ จ.ภูเก็ต เป็นต้นแบบในการพัฒนาได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งพัฒนาและเตรียมความพร้อมให้เด็กอาชีวะ ด้วยหลักสูตรการเรียนการสอนที่ทันสมัย ตลอดจนปรับหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน มีแผนการยกระดับที่ชัดเจน เช่น การวางแผนด้านงบประมาณ, การสำรวจอัตราครูและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ เพื่อสร้างความแตกต่างและดึงความโดดเด่นออกมาพัฒนาให้มีความเป็นเลิศ” 

นายณัฏฐพล ยังกล่าวถึงแผนการควบรวมโรงเรียนด้วยว่า เป็นเรื่องจริงจังที่ต้องดำเนินการ ซึ่งบุคคลที่รู้เรื่องพื้นที่มากที่สุดคือผู้อำนวยการเขตพื้นที่ รวมถึงเรื่องของความเหมาะสมว่าจะทำการควบรวมโรงเรียนอย่างไร มั่นใจว่ามีความจำเป็นต้องจริงจังในการผลักดันเรื่องควบรวมโรงเรียนให้เกิดขึ้นเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ ส่วนโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนแม่เหล็ก จะต้องสร้างแรงจูงใจให้บุคคลที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยว่า การควบรวมโรงเรียนแล้วภาพจะเป็นอย่างไร ขณะนี้กำลังดูว่าจะไปลงในพื้นที่ใด เพื่อให้บุคคลที่เกี่ยวข้องได้เห็นภาพการควบรวมโรงเรียนมีความชัดเจนขึ้น สำหรับเรื่องโรงเรียนดี 4 มุมเมือง หากเราสามารถทำให้ระดับมัธยมโรงเรียนอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ใกล้กันมีคุณภาพมากขึ้นได้ มั่นใจว่าเด็กก็จะไม่เข้ามาเรียนโรงเรียนในเมือง ขณะเดียวกันก็จะไม่ทำให้โรงเรียนในเมืองแออัด เพราะหากเกิดความแออัดจะทำให้คุณภาพการศึกษาด้อยลง

“ขณะเดียวกันโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่ ก็มีความต้องการให้มีขนาดลดลง ซึ่งสาเหตุของการลดขนาดลงมีเหตุผลหลายประการ ประการแรก เพราะกำลังมุ่งเน้นให้เด็กนักเรียนที่จบการศึกษาระดับมัธยมต้น มุ่งสู่การศึกษาสายอาชีพ หรือสายอาชีวศึกษา ซึ่งแนวทางนี้ก็จะมีเหตุผลที่ทำให้ขนาดโรงเรียนลดลงไปโดยปริยาย ประการที่สอง เพราะการบริหารจัดการโรงเรียนที่มีนักเรียนอยู่ 3,000-4,000 คน จากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสมา สามารถทำได้ดีกว่าเดิมถ้าในโรงเรียนมีจำนวนนักเรียนประมาณ 1,500-2,000 คน ถือว่าเป็นตัวเลขจำนวนนักเรียนที่เหมาะสมในการบริหารจัดการ นอกจากนี้ ยังทำให้เด็กมีทางเลือกมากขึ้น ดังนั้นหากโรงเรียนมีคุณภาพจริงๆ เด็กก็จะไม่ต้องไปเรียนกันในเมือง หรือมาเรียนในกรุงเทพฯ ซึ่งจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำลงไปได้โดยปริยาย ส่วนโรงเรียนระดับประถมที่อยู่รอบๆ จะต้องได้รับการพัฒนาไปด้วย โดยจะเป็นจุดวงกลมรอบโรงเรียนระดับมัธยม เพื่อเป็นการกระจายความเจริญทางด้านการศึกษาออกไปโดยรอบ” รมว.ศธ.กล่าวสรุปแล้วเยี่ยมชมบะกิจกรรมของนักเรียนนักศึกษาสังกัดอาชีวศึกษาในจังหวัดภูเก็ตพร้อมพูดคุยและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด

         

        จากนั้น รมว.ศธ. และคณะผู้บริหาร ศธ.ได้เดินทางไปเยี่ยมชมการจัดการศึกษาอาชีวศึกษา​ ที่วิทยาลัยเทคนิคถลาง  โดยนางสาวกชกร  บุษราภรณ์ผู้อำนวยการพร้อมผู้บริหารนักเรียนนักศึกษาต้อนรับ ให้ข้อมูลการจัดการเรียนการสอนพร้อมนำชมกระบวนการจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติที่เน้นย้ำสู่ความเชี่ยวชาญมืออาชีพสนองอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญการสร้างคนดีมีระเบียบวินัย มีงานทำมีสำนึกรวมพลังสามัคคีสร้างชาติบ้านเมืองที่ดีงาม ซึ่งทางวิทยาลัยฯ จัดการศึกษาเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ พัฒนาศักยภาพบุคคลากรให้เป็นเลิศเฉพาะทาง ด้าน Aviation Industry ร่วมกับสถานประกอบการ ผลิตนักศึกษาคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานสากล ผลิตนักศึกษาเพื่อป้อนอุตสาหกรรมการบินต่าง ๆ ทั้งใน และต่างประเทศ  อุตสาหกรรมซ่อมบำรุงชิ้นส่วนอากาศยาน หน่วยงานที่มีภารกิจในการใช้อากาศยานปฏิบัติการ เช่น กองบินตำรวจ กรมฝนหลวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิต  ซึ่งวิทยาลัยเทคนิคถลางได้ผลิตนักศึกษา สาขาวิชาช่างอากาศยาน จบไปแล้ว 4 รุ่น (ปีการศึกษา 2559 – 2562) สำเร็จการศึกษา จำนวน 104 คนมีงานทำ จำนวน 75 คน และการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรระยะสั้น (Up Skill , Re Skill , New Skill) จำนวน 6 หลักสูตร คือ หลักสูตร Aircraft Sheet Metal งานแผ่นโลหะสำหรับอากาศยาน  หลักสูตร Composite Materials งานวัสดุคอมโพสิตอากาศยาน หลักสูตร Destructive การทดสอบแบบไม่ทำลาย หลักสูตร Air Cargo Management  หลักสูตร Flight Operation หลักสูตร Passenger Handling  สายการบิน แอร์เอเชีย และเพื่อเป็นการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้งในการจัดการศึกษา วิทยาลัยเทคนิคถลาง ได้มีการลงนามความร่วมมือกับสถานประกอบการ เพื่อร่วมกันจัดการเรียนการสอน พัฒนานักศึกษาสู่ความเป็นเลิศเฉพาะทางกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สายการบิน นกแอร์ สายการบิน แอร์เอเชีย สถาบันการบินและพลเรือน บริษัท แบ็กส์บริการภาคพื้น จำกัด สายการบิน บางกอกแอร์เวย์ สถาบันเทมาเส็กประเทศสิงคโปร์  มหาวิทยาลัย National Formosa University ประเทศไต้หวัน

จากความมุ่งมั่น และตั้งใจของทุกฝ่ายส่งผลให้ขณะนี้ วิทยาลัยเทคนิคถลาง กำลังดำเนินการเพื่อการรับรองเป็นสถาบันการฝึกอบรมนายช่างอากาศยานภาคพื้นดิน (APPROVED MAINTENANCE TRAINING ORGANIZATION: AMTO) ขณะนี้ได้รับการแอปพรูปใน Phase 3 Document Evaluation จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสถานศึกษาแห่งแรกในสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และพร้อมรับการ Audit เข้าสู่ Phase 4 Demonstration & Evaluation ภายในสิ้นปี 2563 นี้