เลขาธิการ กพฐ.แจงสอบบรรจุ “ครูผู้ช่วย” รอบสอง

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวในรายการเลขาธิการ กพฐ. พบเพื่อนครู OBEC Channel ชี้แจงถึงการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประเภททั่วไป รอบที่สอง

โดย ดร.อัมพรกล่าวว่า สืบเนื่องจากที่การจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งครูผู้ช่วย ประเภททั่วไป ประจำปี 2563 ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม 2563 โดยมีอัตราว่างบรรจุได้ 18,987 อัตรา แต่มีผู้สอบผ่านภาค ก และภาค ข จำนวนเพียง 10,375 คน คิดเป็นร้อยละ 6.86 ของผู้มีสิทธิสอบทั้งหมด 159,314 คน

ประกอบกับในขณะนี้ทาง สพฐ.ได้สำรวจพบว่า ยังมีความต้องการจำนวนครูผู้สอนมากกว่าจำนวนผู้ที่สอบบรรจุได้ในครั้งที่ผ่านมา ดังนั้น เพื่อให้มีครูเพียงพอกับการจัดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2564 ทาง สพฐ.จึงมีแนวความคิดในการพิจารณาเตรียมการให้มีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุครูผู้ช่วยประเภททั่วไปในรอบที่สอง

ซึ่งความคืบหน้าในเวลานี้ ยังไม่ถึงขั้นสรุปกำหนดเป็นปฏิทินดำเนินการ แต่มีแนวโน้มที่จะดำเนินการตั้งแต่การเปิดรับสมัคร การสอบ ไปจนถึงขั้นตอนการบรรจุและแต่งตั้งให้แล้วเสร็จก่อนเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2564 หรือก่อนวันที่ 15 พฤษภาคม 2564

อนึ่ง ก่อนหน้าที่สำนักข่าว EdunewsSiam ได้ติดตามและรายงานความคืบหน้าการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งครูผู้ช่วย ประเภททั่วไป ประจำปี 2563  รอบที่สอง โดยมีแนวโน้มได้ข้อสรุปแล้ว 2 เรื่องสำคัญ คือ

1.ทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) จะยังให้ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการเดียวกับการสอบรอบที่หนึ่ง

คือหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการครู ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. ปี พ.ศ.2563 ประกอบด้วย ภาค ก. ความรู้ความสามารถทั่วไป และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรมและอุดมการณ์ความเป็นครู , ภาค ข. มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ

และภาค ค. ความเหมาะสมกับตำแหน่งวิชาชีพและการปฏิบัติงานในสถานศึกษา ซึ่งคณะกรรมการจากผู้แทน ก.ค.ศ., สพฐ. และคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) จะพิจารณาจาก 3 องค์ประกอบ ได้แก่ คุณลักษณะส่วนบุคคล 25 คะแนน (สอบสัมภาษณ์ 20 นาที)การพัฒนาตนเองและวิชาชีพ (แฟ้มสะสมผลงาน) 25 คะแนน และความสามารถด้านการสอน 50 คะแนน โดยให้ผู้เข้าสอบสาธิตการสอน 25 นาที และจะมีการบันทึกภาพและเสียงในรูปแบบวิดีโอไว้เป็นหลักฐาน

และ 2.การสอบภาค ก. ข. และ ค. ก็จะยังอยู่ในความดูแลของ สพฐ. และ ศธจ.เช่นเดิม จะยังไม่ใช้แนวทางใหม่ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภทต้องสอบผ่านภาค ก. ตามแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)

 (โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)