สิงคโปร์ที่ 1 จัดอันดับมหาวิทยาลัยอเชีย 3 ปีซ้อน "ม.มหิดล" ติด 44

QS Quacquarelli Symonds สถาบันคลังสมองชั้นนำในแวดวงอุดมศึกษาระดับโลก และผู้จัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีผู้พูดถึงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของเอเชียประจำปีล่าสุด โดย National University of Singapore ยังคงรั้งตำแหน่งมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของเอเชียเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน

การจัดอันดับQS World University Rankings: Asia ประจำปี 2021 ได้ทำการประเมินมหาวิทยาลัย 650 แห่ง และเป็นการจัดอันดับระบบอุดมศึกษาของเอเชียที่ครอบคลุมที่สุดของ QS การจัดอันดับนี้ประเมินศักยภาพของมหาวิทยาลัยโดยดูจากเกณฑ์บ่งชี้หลัก 11 ประการด้วยกัน ซี่งประกอบด้วยผลงานทางวิชาการ การจ้างงานบัณฑิต คุณภาพงานวิจัย การนำเสนอบนเว็บ ความเป็นสากลของวิทยาเขต และความหลากหลายในความร่วมมือระดับนานาชาติของสถาบันแต่ละแห่ง

ข้อมูลสรุป

- มหาวิทยาลัย 650 แห่งที่อยู่ในการจัดอันดับอยู่ใน 18 ประเทศและดินแดนทั่วเอเชีย โดยจีนแผ่นดินใหญ่มีมหาวิทยาลัยติดอันดับนี้มากที่สุด (124 แห่ง) ตามมาด้วยอินเดีย (107 แห่ง), ญี่ปุ่น (105 แห่ง), เกาหลีใต้ (88 แห่ง), ไต้หวัน (43 แห่ง), ปากีสถาน (40 แห่ง), มาเลเซีย (35 แห่ง) และอินโดนีเซีย (30 แห่ง)

- มหาวิทยาลัย Tsinghua University ของจีน ไต่ขึ้นสู่อันดับ 2 ซึ่งเป็นอันดับสูงสุดของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ในการจัดอันดับของ QS ขณะที่มหาวิทยาลัย Shanghai Jiao Tong University ติดอันดับ 10 มหาวิทยาลัยชั้นนำของเอเชียเป็นครั้งแรก

- University of Hong Kong (HKU) คือมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของฮ่องกง แต่ลดลงหนึ่งอันดับ

- Universiti Malaya ติดอันดับ 10 มหาวิทยาลัยชั้นนำของเอเชียเป็นครั้งแรก และมหาวิทยาลัยของมาเลเซียมีอันดับดีขึ้น 24 แห่ง จากทั้งหมด 35 แห่งในการจัดอันดับ

- ญี่ปุ่นมีมหาวิทยาลัยติด 50 อันดับแรกมากที่สุด (11 แห่ง) เมื่อเทียบกับประเทศ ที่ตั้ง หรือดินแดนอื่น ๆ

- มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของเกาหลีใต้คือ Korea University (อันดับที่ 12 ของเอเชีย)

- ในแง่ของผลิตภาพงานวิจัยนั้น มหาวิทยาลัยของอินเดียติด 10 อันดับแรกของเอเชียถึง 6 แห่ง อย่างไรก็ดี คุณภาพงานวิจัยของอินเดียไม่ได้ไปทางเดียวกับปริมาณงานวิจัย ขณะที่คะแนนในเกณฑ์ความสามารถในการสอนและการจ้างงานนั้นลดลง

QS World University Rankings: Asia 2021 – 10 อันดับแรกของเอเชีย

2021

2020

ชื่อสถาบัน

1

1

NATIONAL UNIVERSITY OF SINGAPORE (NUS)

2

4

TSINGHUA UNIVERSITY

3

2

NANYANG TECHNOLOGICAL UNIVERSITY (NTU)

4

3

UNIVERSITY OF HONG KONG (HKU)

5

6

ZHEJIANG UNIVERSITY

6

7

FUDAN UNIVERSITY

7

5

PEKING UNIVERSITY

8

8

THE HONG KONG UNIVERSITY OF SCIENCE AND TECHNOLOGY (HKUST)

9

  13=

UNIVERSITI MALAYA (UM)

10

  17=

SHANGHAI JIAO TONG UNIVERSITY

© QS Quacquarelli Symonds 2004-2020    https://www.TopUniversities.com/  ขอสงวนสิทธิ์

เบน โซวเทอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ QS กล่าวว่า "ผลการจัดอันดับปีนี้สะท้อนให้เห็นภูมิทัศน์ที่เคลื่อนไหวอย่างเข้มข้นและร้อนแรงในแวดวงอุดมศึกษาของเอเชีย โดยมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีนยังคงมีอันดับดีขึ้น มหาวิทยาลัยญี่ปุ่นมีอันดับค่อนข้างนิ่ง และมาเลเซียยังคงมาแรง"

ดูผลการจัดอันดับทั้งหมดได้ที่ www.TopUniversities.com และดูระเบียบวิธีวิจัยในการจัดอันดับได้ที่ https://www.topuniversities.com/asia-rankings/methodology

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อันดับ 44 ของเอเชีย จากการประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยล่าสุดของ QS Asia University Rankings 2021 เมื่อเร็วๆ นี้ 

 

โดยมหาวิทยาลัยมหิดลมีคะแนนที่ดีขึ้นถึง 6 ตัวชี้วัด จากทั้งหมด 11 ตัวชี้วัด อยู่ในอันดับที่ 44 ในภูมิภาคเอเชีย จากเดิมอันดับที่ 48

 

ซึ่งจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของ QS Asia University Rankings 2021 จากตัวชี้วัด "International Research Network" ที่วิเคราะห์จากการใช้ข้อมูลจากการตีพิมพ์ร่วมกับนักวิจัยชาวต่างประเทศในฐานข้อมูล Scopus ในปีนี้มหาวิทยาลัยมหิดลได้ 91.1 คะแนน เป็นอันดับที่42 ของเอเชีย

 

มีตัวชี้วัดที่ทำคะแนนในหัวข้อเพิ่มเติมจากปีที่ผ่านมาคือ สัดส่วนของอาจารย์ที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอกต่อจำนวนอาจารย์ทั้งหมด (Staff with PhD) โดยมหาวิทยาลัยมหิดลได้ 95.9 คะแนน เป็นอันดับที่ 52 ของเอเชีย

 

นอกจากนี้ จากการจัดอันดับในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลยังมีคะแนนที่ดีขึ้นจากตัวชี้วัดในด้านการได้รับการยอมรับจากนายจ้าง (Employer Reputation) อัตราส่วนของจำนวนนักศึกษาทุกระดับต่อจำนวนอาจารย์ทั้งหมด (Faculty Students) การได้รับการยอมรับในแวดวงวิชาการ(Academic Reputation) และจำนวนนักศึกษาแลกเปลี่ยน (Inbound Exchange Students)

 

ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดลมีจำนวนผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารที่จัดอยู่ใน Q1 Quartile ซึ่งเป็นลำดับแรก (top position) ในฐานข้อมูลScopus มากเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย โดยมีผลงานวิจัยโดดเด่นที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อสังคมและเชิงพาณิชย์ 

 

อาทิ "การรักษาโรคธาลัสซีเมียให้หายขาดด้วนการบำบัดยีนเป็นครั้งแรกของโลก" โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรเดช หงส์อิง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี , "สารชีวโมเลกุลสำหรับกระตุ้นการวางไข่ในแม่พันธุ์กุ้งโดยไม่ตัดตา" และ "แม่กุ้งก้ามกรามแปลงเพศต้นแบบ (M1)" โดย ดร.สุพัตรา ตรีรัตน์ตระกูล สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล ฯลฯ

 

รวมทั้งยังได้มีการลงนามความร่วมมือทางด้านวิชาการและวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ การแพทย์ และเทคโนโลยี ตลอดจนด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ กับมหาวิทยาลัยชั้นนำในภูมิภาคเอเชียกว่า 200 แห่ง 

 

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การที่มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้นแสดงให้เห็นถึงคุณภาพงานวิจัย และการมีผลกระทบสูงจากการได้รับอ้างอิง (citation) ซึ่งเป็นมิติสำคัญที่ใช้ในการประเมิน 

 

สำหรับแนวทางบริหารจัดการมหาวิทยาลัยมหิดลต่อไปในอนาคต คือ "การพยายามทำให้ดีขึ้นกว่าสิ่งที่มีอยู่" โดยเน้นงานวิจัยที่มีคุณค่าและประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้น ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดล โดยกองแผนงานร่วมกับกองบริหารงานวิจัย และกองวิเทศสัมพันธ์ ได้ริเริ่มโครงการ Ranking Activities เพื่อจัดตั้ง Ranking Unit สำหรับการสนับสนุนและผลักดันนโยบายสำคัญที่มีผลต่อการเพิ่ม Ranking ของมหาวิทยาลัย 

 

"อีกทั้งได้จัดทำฐานข้อมูล และเครือข่ายที่เกี่ยวกับการจัดอันดับของมหาวิทยาลัย และสร้างEcosystem ของระบบงานด้าน Ranking Unit เพื่อเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับส่วนงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดลต่อไปด้วย" อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)