“ทิพย” พาคณะครูร่วมสืบสาน-รักษา-ต่อยอดศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 10

ทิพยประกันภัย พาคณะครู-อาจารย์ ร่วมโครงการ “ทิพย สืบสาน รักษา ต่อยอด ศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 10” ตามรอยเสด็จฯ ทางรถไฟครั้งแรกของในหลวงรัชกาลที่ 9 เยือนสวนสมเด็จย่า พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต จังหวัดเพชรบุรี

นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด และประธานมูลนิธิธรรมดี กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และมูลนิธิธรรมดี นำคณะครู-อาจารย์จากสถาบันการศึกษาต่างๆ กว่า 40 คน และผู้นำชุมชนกว่า 35 คน ร่วมกิจกรรมโครงการตามรอยพระราชา “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 10” 

ตามรอยเสด็จพระราชดำเนินทางรถไฟครั้งแรกของในหลวงรัชกาลที่ 9 เยือนสวนสมเด็จย่า พื้นที่เงาฝน พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต จังหวัดเพชรบุรี เพื่อเรียนรู้และถอดรหัสพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมทั้งถอดบทเรียนสร้างนวัตกรรมด้านการเรียนการสอนให้กับเยาวชน โดยมีนางวันเพ็ญ มังศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม

กิจกรรมตามรอยพระราชา “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 10” นำคณะครูอาจารย์ขึ้นรถไฟจากสถานีหัวลำโพง กรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่สถานีหัวหิน จังหวัดเพชรบุรี ตามรอยการเสด็จพระราชดำเนินทางรถไฟครั้งแรกของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 

โดยระหว่างทางได้แวะที่สถานีนครปฐมเพื่อสักการะองค์พระปฐมเจดีย์ แล้วขึ้นรถไฟเดินทางต่อพร้อมชื่นชมธรรมชาติตลอดเส้นทางจนถึงสถานีหัวหิน จังหวัดเพชรบุรี ที่มีสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ คือพลับพลาพระมงกุฏเกล้า ซึ่งสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

จากนั้นได้นำคณะผู้ร่วมกิจกรรมเดินทางต่อไปยังโครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สวนสมเด็จย่า) อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งพื้นที่นี้เดิมเป็นพื้นที่เสื่อมโทรมจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงมีพระราชดำริให้พัฒนาพื้นที่เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้านการเกษตรที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ฟื้นฟูให้คืนความอุดมสมบูรณ์ด้วยการทำเกษตรแบบผสมผสานและสร้างแหล่งน้ำ 

เป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตและเป็นแหล่งเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้านการเกษตร การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และพันธุกรรมพืช รวมถึงเป็นที่ฝึกอบรมการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรและสมุนไพร

โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ฟังการบรรยายจากผู้จัดการโครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แล้วทำกิจกรรมเก็บดอกบัวหลวงสัตตบุศย์ในนาบัว พับกลีบดอกบัวถวายเป็นเครื่องสักการะสมเด็จย่า แล้วนั่งรถรางชมโครงการและปลูกป่า ปิดท้ายด้วยการปลูกข้าวแบบโบราณที่ต้องถอนกล้าและดำนา

กิจกรรมสำคัญในการตามรอยพระราชาทุกครั้งคือ การถอดรหัสพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร และผู้ร่วมกิจกรรมตามรอยพระราชาทุกคนจะได้รับชุดหนังสือภาษาอังกฤษ ‘King Bhumibol Adulyadej of Thailand’ จำนวน 3 เล่ม ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชจริยวัตร ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร 

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้นำไปถ่ายทอดแก่นักเรียนผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้เยาวชนรุ่นหลังได้รู้จักพระองค์ท่านและสามารถสื่อสารให้ชาวต่างชาติฟังได้ว่า ทำไมคนไทยจึงรักและผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งยังให้ข้อคิดในการใช้ชีวิตเพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เต็มเปี่ยมด้วยคุณธรรม 

ทั้งนี้ หลังจากการลงพื้นที่เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติแล้ว คณะครูอาจารย์ได้ทำกิจกรรมถอดบทเรียน นำโดย อาจารย์อดุลย์ ดาราธรรม วิทยากรจิตอาสา และคณะจิตอาสาจาก TRAFS ผ่านเกมกระดานสื่อการเรียนรู้ 3 แบบ


ได้แก่ “Game of Our Nation” ที่สอดแทรกคุณธรรม 4 ประการ คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา “9 ตามรอยนวัตกรรมของพ่อศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนระดับสากล” ถอดบทเรียนและต่อยอดสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมจากกิจกรรมตามรอยพระราชา และ “The King's Journey: Learn English an Example of an Invention” 

ซึ่งคณะครูอาจารย์สามารถนำนวัตกรรมการเรียนรู้ไปต่อยอดการเรียนการสอนสำหรับเยาวชนต่อไป

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)