“ณัฏฐพล” พลาดสงบศึก “​นัก​เรียนเลว” ปิดเว็บ-ดำเนินคดี เหมือนเติมเชื้อไฟ?

ระอุขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียนเลว เรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แก้ไขและปฏิรูปสิ่งล้าหลังต่างๆ โดยเฉพาะกฎระเบียบที่อ้างว่าขัดกับสิทธิเสรีภาพ

เฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการอนุญาตให้นักเรียนใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียนได้ กำลังเป็นประเด็นร้อน หลังจากที่กลุ่มนักเรียนเลวได้ประกาศจัดกิจกรรม ธันวาคม บอกลาเครื่องแบบ” และได้รับการตอบรับจากนักเรียนบางกลุ่มในหลายโรงเรียนและในหลายจังหวัด ทั้งสังกัดรัฐและเอกชน ใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียน เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 วันแรกของการเปิดภาคเรียนที่ 2/2563

แน่นอนย่อมถูกคัดค้านจากคณะครูและผู้บริหารในหลายโรงเรียนด้วยวิธีการต่างๆ เนื่องจากเห็นว่าเป็นพฤติกรรมฝ่าฝืนระเบียบ โดยบางโรงเรียนใช้วิธีไล่เด็กกลับบ้าน เรียกเข้าห้องปรับทัศนคติเป็นเวลาหลายชั่วโมง เรียกผู้ปกครองมาทำความเข้าใจ ขู่จะให้ย้ายโรงเรียน ฯลฯ

จนเกิดบรรยากาศโต้เถียงขัดแย้งระหว่างกลุ่มนักเรียนกับครูภายในหลายโรงเรียน และบานปลายถึงขั้นมีผู้ปกครองไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้บริหารโรงเรียน ฐานกีดกันไม่ให้ลูกเข้าเรียนเพราะใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียน ก็มีให้เห็นในช่วงเช้าของเปิดเทอมวันแรก  

ทำให้ตกเย็นวันเดียวกันนั้น กลุ่มนักเรียนเลวในพื้นที่กรุงเทพฯได้นัดหมายมาชุมนุม ปราศรัย และจัดกิจกรรมแสดงพลังคัดค้านการใส่ชุดนักเรียนกันที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ เพื่อต้องการบอกกล่าวปัญหาให้นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เจ้ากระทรวงศึกษาฯได้รับทราบว่า มีนักเรียนในหลายโรงเรียนถูกครูคุกคาม กักขัง ลงโทษตัดคะแนน เรียกผู้ปกครองและไล่ให้กลับบ้าน รวมถึงขู่จะไล่ออก

นอกจากนี้ กลุ่มนักเรียนเลวยังได้เปิดเว็บไซต์ badstudent.co ให้นักเรียนโรงเรียนต่างๆ ได้กรอกข้อมูลประจานชื่อครูและโรงเรียนที่ล้าหลัง ไม่ให้นักเรียนแต่งชุดไปรเวทไปโรงเรียน โดยมีการจัดอันดับแบบเรียลไทม์ประจานชื่อโรงเรียนใดมีการแจ้งข้อมูลจำนวนมากอีกด้วย

อุณหภูมิที่ระอุสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ แต่เนื้อหาคำให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 กลับดูจะห่างไกลกับคำว่า “สงบศึก” กับกลุ่มนักเรียนเลว หรือไม่?

โดยเฉพาะเนื้อหาคำกล่าว 2 ช่วงสำคัญ ที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ. กล่าว “ในข้อเรียกร้องของคนกลุ่มหนึ่ง จะมีแนวทางอย่างไรก็แล้วแต่ ก็เป็นแนวทางของกลุ่มเขาเอง แต่ผมคิดว่านักเรียนส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในระเบียบวินัย และเข้าใจในการทำหน้าที่เป็นนักเรียน

ผมไม่ได้ไปพูดคุยกับกลุ่มนักเรียนเลวมาสักพักหนึ่งแล้ว หลังจากได้รับข้อเรียกร้องและตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาต่างๆ ถ้าติดตามจะเห็นว่า ผมไม่ได้ออกมาพูดคุยกับเด็กกลุ่มนี้ แต่เด็กกลุ่มอื่นๆ ผมก็ได้พูดคุย

คณะทำงานแก้ไขปัญหาได้เชิญกลุ่มนักเรียนเลวเข้ามาคุย แต่เขาก็ไม่มา เขาถามว่ามีไลฟ์สดหรือเปล่า มีสื่อมวลชนหรือเปล่า ซึ่งทางคณะทำงานตอบไปว่า ไม่มี เขาก็บอกว่าขอไม่มา ก็เป็นสิทธิของเขา

น้องๆ เลือกที่จะแสดงออกเรื่องของปัญหาในช่องทางที่เขาถนัด ก็ไม่มีปัญหาอะไร บางทีเราต้องยอมรับว่า เราอยู่ในสังคมที่มีความเห็นแตกต่างกัน...”

ส่วนอีกช่วง นายณัฏฐพลกล่าวถึงกรณีกลุ่มนักเรียนเลวเปิดเว็บไซต์ (badstudent.co) ให้นักเรียนโรงเรียนต่างๆ ได้กรอกข้อมูลประจานชื่อครูและโรงเรียนที่ล้าหลัง ไม่ให้นักเรียนแต่งชุดไปรเวทว่า “ผมไม่อยากให้เกิดจริงๆ จะเป็นเรื่องที่เป็นปัญหาในอนาคต เพราะอาจจะมีบางคนที่เปิดเผยรายชื่อนักเรียนที่ไม่ใส่ชุดนักเรียนมาโรงเรียน จะกลายเป็นปัญหาพัวพัน

ผมอยากให้ผู้ที่ทำเรื่องนี้เข้าใจว่า ปัญหาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ไม่ได้เกิดเฉพาะกับแกนนำหรือผู้ที่ทำเรื่องนี้ แต่จะไปกระทบกับนักเรียนและคุณครู ไปกระทบสิทธิเสรีภาพของคนอื่น ซึ่งผมกำลังให้ฝ่ายกฎหมายดูเรื่องการปิดช่องทางตรงนี้ จะสามารถทำได้อย่างไร

เพราะจะเป็นปัญหาเรื้อรังในอนาคตแน่นอน ถ้ามีการเปิดเผยทั้งชื่อครู ชื่อนักเรียน แล้วต่อไปนักเรียนที่ได้รับการเปิดเผยชื่อ จะมีผลกระทบในอนาคตอย่างไร ก็อยากให้คนที่คิดทำเรื่องนี้เข้าใจว่า อาจจะมีผลตามมาในเรื่องกฎหมาย

ซึ่งผมจะให้ฝ่ายกฎหมายดูทั้งในเรื่องของการปิดเว็บไซต์นี้ และเรื่องการดำเนินคดีด้วย เพราะถือว่ากระทบกับกระทรวงศึกษาธิการด้วย ในเรื่องของโรงเรียนและครูที่อาจจะปฏิบัติหน้าที่ถูกต้อง แต่ว่าถูกใส่ร้าย ก็ต้องดูว่าจะเอาผิดอย่างไรด้วย”

และแน่นอน ทวิตเตอร์นักเรียนเลว (@BadStudent_) ก็มีการโพสต์ข้อความตอบโต้ทันที เช่น ข้อความว่า “สิ่งที่รัฐมนตรีศึกษาธิการมองเห็น ครูกล้อนผม ตีเด็ก ทำร้ายร่างกาย ห้ามเข้าโรงเรียน : ไม่ผิด เด็กเอาชื่อครูและโรงเรียนมาบอกสังคม : ผิด” , “เป็นถึง รมต.ศึกษา ไม่คิดจะรับฟังเด็ก แล้วยังจะดำเนินคดีกับเด็กอีก...!!!”

บรรยากาศเช่นนี้ ย่อมเป็นสัญญาณตอกย้ำความห่างไกลกับคำว่า “สงบศึก” อย่างปฏิเสธไม่ได้

อย่างไรก็ตาม แม้ในคำกล่าวทั้ง 2 ช่วงของรัฐมนตรีณัฏฐพลดังกล่าว จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ตั้งคำถามในทำนอง จะยิ่งเติมฟืนในกองไฟหรือไม่? แต่ก็ต้องยอมรับว่าการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 มีบางช่วงบางตอนที่คนในแวดวงการศึกษาต่างเห็นสอดรับกันว่า เป็นหนทางออกไปสู่การประนีประนอมสงบศึกได้เช่นเดียวกัน หากว่านายณัฏฐพลได้หยิบยกขึ้นมาเป็นธงนำ

โดยช่วงหนึ่ง รมว.ศธ.ณัฏฐพลได้กล่าวถึงข้อเรียกร้องใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียนของกลุ่มนักเรียนเลว กับนโยบายแนวทางปฏิบัติของโรงเรียน หลังจากเกิดปัญหาในวันเปิดเทอมวันแรกในหลายโรงเรียนและหลายจังหวัดดังกล่าว  

“ในทุกโรงเรียนวันนี้ ถ้าทางโรงเรียนได้พูดคุยกันระหว่างผู้บริหาร ครู คณะกรรมการสถานศึกษา และกลุ่มนักเรียน แล้วเลือกที่จะเอาวันใดวันหนึ่งเป็นวันใส่ชุดลำลอง จริงๆ ทำได้อยู่แล้ว แต่ที่โรงเรียนไม่ทำ เพราะกลัวปัญหาต่างๆ ที่จะตามมาในการบริหารจัดการเรื่องความเรียบร้อยหรือวินัย

เช่น ใส่รองเท้าแตะ หรือกึ่งแตะกึ่งหุ้มส้นมาโรงเรียนได้หรือไม่ ซึ่งก็จะกลายเป็นข้อถกเถียงที่จะมีปัญหากัน จึงไม่มีโรงเรียนที่ปฏิบัติกันอย่างแพร่หลาย แต่ก็มีโรงเรียนที่อนุญาตให้เด็กใส่ชุดลำลองมาเรียนอยู่บ้างเช่นกัน ซึ่งทำได้

ส่วนแนวปฏิบัติเวลานี้ ในกรณีมีนักเรียนฝ่าฝืนระเบียบของโรงเรียนที่ห้ามใส่ชุดไปรเวทหรือลำลองไปโรงเรียน ก็มีกฎระเบียบเรื่องการแต่งกายของ ศธ.และสถานศึกษาอยู่แล้ว ผมก็ได้กำชับให้ผู้บริหารโรงเรียนได้ยึดตามหลักต่างๆ เช่น การตักเตือน ก่อนให้เข้าเรียน

ซึ่งแต่ละโรงเรียนก็อาจมีวิธีตักเตือนที่ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละโรงเรียนจะใช้เวลาทำความเข้าใจกับเด็กนานแค่ไหน แต่โรงเรียนไม่สามารถไล่นักเรียนออก เพราะใส่ชุดไปรเวทมาโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนของรัฐ”

ฉะนั้น ทางออกในการสงบศึกกับ “กลุ่มนักเรียน” ก็ยังพอมองเห็น ขึ้นอยู่กับว่า รัฐมนตรีณัฏฐพล ทีปสุวรรณ จะเลือกใช้หนทางไหน จะมีนโยบายประนีประนอม สนับสนุนให้แต่ละโรงเรียนได้พูดคุยกัน เพื่อผ่อนปรนเลือกให้วันใดวันหนึ่งเป็นวันใส่ชุดลำลองของเด็กๆ ตามที่รัฐมนตรีณัฏฐพลบอกเองว่าทำได้ หรือไม่?

และจริงๆ ที่ผ่านมาก็มีโรงเรียนในจังหวัดต่างๆ ทำกันอยู่แล้ว โดยให้นักเรียนใส่ชุดพื้นเมืองมาโรงเรียนในบางวัน

เพียงแต่ทำความเข้าใจและทำข้อตกลงกับเด็กๆ ว่า จะต้องใส่ชุดสุภาพ ไม่ให้สังคมตําหนิติเตียนได้...ทำนองเดียวกับที่ผู้บริหารโรงเรียนและครูเอง ก็แต่งชุดสุภาพมาสอน ไม่ได้แต่งเครื่องแบบราชการมาโรงเรียนทุกวัน??

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)