ทางแก้ปัญหาชุด น.ร. กลายเป็นเรื่องไม่เข้าหู "ครูตั้น” ซ้ำผลัก ร.ร.เผชิญหน้า

เสวนากับบรรณิการ 4 ธันวาคม 2563 

 

 

ย้อนเหตุการณ์แกนนำ กปปส. ขับไล่รัฐบาลเมื่อปี 2556-2557 ทั้งนี้ มีนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ และ นายสกลธี ภัททิยกุล ได้นำการ์ดจำนวนหนึ่งเข้าไปสำรวจภายในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เมื่อวันที่ 17 ก.พ.2557 ว่ายังมีข้าราชการทำงานอยู่หรือไม่

 

และให้แม่ค้า พ่อค้าที่ขายอาหารกว่า 20 ร้าน เก็บข้าวของจากพื้นที่ภายในครึ่งชั่วโมง โดยมีมวลชน กปปส.รออยู่ด้านหน้า ศธ. ประกาศผ่านรถติดเครื่องขยายเสียงห้ามมวลชนเดินเข้าไปที่สนามหญ้าและตัวอาคารเด็ดขาด พร้อมขอให้เปิดประตูทางเข้า-ออกของกระทรวงทิ้งไว้ 

 

 

ผ่านมา 6 ปี ตรงกับวันที่ 19 สิงหาคม 2020 มีขบวนนักเรียนทั้งมัธยมต้นและมัธยมปลายนับร้อยในนาม"องค์กรนักเรียนเลว" เดินทางไปรวมตัวที่หน้า ศธ. แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ชูสามนิ้ว ผูกโบว์ขาวเขียนข้อความว่า "ให้มันจบที่รุ่นเรา" พร้อมทั้งเป่านกหวีดไล่ รมว.ณัฏฐพล ทำเอาอดีตแกนนำ กปปส.ถึงกับต้องออกมานั่งพูดคุยกับตัวแทนนักเรียนบนพื้นบาทวิถีนานกว่า 1 ชั่วโมง 

 

ระหว่างนั้น มีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องต้องการให้คนใน ศธ.และ รมว.ณัฏฐพล รัฐมนตรี ศธ.ได้รับรู้ถึงความอึดอัดคับแค้นใจเพื่อหาทางยกเลิกแก้ไขผ่านเวทีปราศรัย มีตั้งแต่เรื่องเด็กไม่ควรยุ่งการเมือง ความเหลื่อมล้ำและคุณภาพของระบบการศึกษา การกระทำความรุนแรงและความไม่ปลอดภัยในสถานศึกษา

 

รวมถึงกฎระเบียบที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพในร่างกาย อาทิ การแต่งเครื่องแบบ และการไว้ทรงผม เป็นความล้าหลังของสถานศึกษา โดยระบุว่า ล้วนส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจนักเรียน นักศึกษา

 

 

มีหลายคนกล่าวขานกันว่า นายณัฏฐพลต้องมาเผชิญกับวิบากกรรม คงเป็นผลที่เคยก่อไว้กับ ศธ.เมื่อครั้งก่อนนี้ โดยไม่ต้องรอชาติหน้า เข้าทำนองตามความเชื่ออันเป็นกฎแห่งกรรม ตามหลักพระพุทธศาสนาโดยแท้ 

 

ก่อนหน้านี้ แม้ว่านายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ. ลงทุนแก้ปัญหา โดยให้ทีมงานเปิดเว็บไซต์ www.nataphol.com ตามด้วยสโลแกนว่า “เรื่องนี้ถึงหูครูตั้นแน่” เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะได้รับความคิดเห็นและชี้แจงเป็นการสื่อสารสองทาง แต่ดูเหมือนกลายเป็นแค่การชี้แจง หาแนวร่วม แก้ต่างการดำเนินงานที่ รมว.ศธ. ต้องการสื่อสารข้างเดียว

 

มากกว่าจะนำพาข้อคิดจากกลุ่มครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษาไปใช้เป็นประโยชน์เพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ทำให้หลายเรื่องกลายเป็นการกล่าวในทำนองประชดประชัน “เรื่องนี้ไม่ถึงหูครูตั้นแน่นอน”

 

ยกตัวอย่าง ผลโพลที่เป็นผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครองทั่วประเทศทางออนไลน์ ในเรื่องการแต่งกายเครื่องแบบนักเรียนของกลุ่มที่เรียกตนเองว่า นักเรียนเลว เรียกร้องให้ ศธ.ปรับแก้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง พบว่าผู้ปกครอง ร้อยละ 61 ยืนยันว่า ยังต้องการให้มีชุดยูนิฟอร์มของเด็กนักเรียน และมีผู้ปกครองถึงร้อยละ  47 ระบุหากให้ใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียน ย่อมทำให้ผู้ปกครองมีค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อเสื้อผ้าที่เพิ่มมากขึ้น  

 

น่าเสียดายจริงๆ ที่ รมว.ณัฏฐพล มิได้ใช้ผลโพลที่ได้จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครองทั่วประเทศทางออนไลน์ ให้เกิดพลังในทางบวก เพื่อสร้างมติในการรับรู้และทำให้เข้าใจถึงความรู้สึกของผู้ปกครองอย่างกว้างขวาง และเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่บรรดาครู ผู้บริหารสถานศึกษาทั้งประเทศ ที่กำลังตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกอยู่ในขณะนี้ 

 

ว่าไปแล้ว ต้องชื่นชมความอดทนอดกลั้นของคุณครูในการที่ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดมาก่อน แต่ก็ยังมีสติที่พร้อมจะรับมือได้ เนื่องจากห่วงศิษย์ที่ยังเยาว์ และจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู มีจิตใจงดงามเต็มไปด้วยความเมตตา สู้ อดทนสอนสั่งขัดเกลาเข้าสู่เส้นทางที่ถูกต้อง เป็นคนดี

 

"ครูมิอาจเลือกศิษย์หรือเกลียดศิษย์คนใดได้ ต้องมีหน้าที่อบรมสั่งสอนเพื่อศิษย์จะได้เติบใหญ่มีวิชา"  

 

เมื่อเปรียบเทียบกับนักการเมืองแล้ว ต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเจน วันนี้มีแต่การผลักใสเด็กให้ไกลจากครู จากโรงเรียน ได้ยินแต่เสียงข่มขู่ ด้วยการให้ฝ่ายกฎหมายดูพฤติกรรมเก็บชื่อ เพื่อดำเนินคดีกับนักเรียนที่แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวต่อคุณครูเขาเอง

 

แน่นอนว่า การแสดงออกของนักเรียนบางกลุ่มแม้เป็นสิ่งที่เกินเลย สังคมยอมรับไม่ได้ แต่น่าจะมีทางออกที่ไม่ใช่เป็นการราดน้ำมันเข้ากองไฟให้ลุกโชน เท่ากับทำให้มีการเผชิญหน้ากันระหว่างครูและนักเรียนมากขึ้น

 

รวมถึงการที่ นายณัฏฐพล เจ้ากระทรวงศึกษาฯ ได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาข้อเรียกร้องของนักเรียน โดยมี ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มาเป็นประธาน พร้อมด้วยคณะกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่งนอกจากจะถูกมองว่า คนเป็นประธานน่าจะเป็นการตั้งที่ผิดฝาผิดตัวแล้ว

 

รมว.ณัฏฐพลยังถนัดที่จะโยนภาระงานความรับผิดชอบของตนให้ผู้อื่นรับไปทำ ไม่จริงใจต่อการแก้ปัญหา เป็นการซื้อเวลา ทำงานไม่เป็น ไร้ประสิทธิภาพ ไม่กล้าตัดสินใจ มองปัญหาไม่ขาด ไม่รู้จักศึกษาเรียนรู้การทำงานของนักการศึกษาในกระทรวงศึกษาฯที่ผ่านวิกฤตศรัทธามาได้หลายครั้งคราว เพราะวิธีใด 

 

ถึงแม้ว่าจะมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกแรงช่วยย้ำในเรื่องประโยชน์ของเครื่องแบบนักเรียนมีวัตถุประสงค์หลายประการ ส่วนหนึ่งคือ เครื่องแบบนักเรียนยังช่วยนักเรียนทำให้เป็นที่สังเกตได้ง่าย หากเกิดเหตุอันตรายในที่สาธารณะ นอกจากนี้ ยังสิ้นเปลืองน้อยกว่าการแต่งชุดไปรเวทที่อาจจะต้องมีหลายชุด

 

แต่เมื่อผลสรุปของคณะกรรมการพิจารณาข้อเรียกร้องของนักเรียน ศธ. ออกมาฟันธงเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯทำหนังสือซักซ้อมทำความเข้าใจไปยังโรงเรียน โดยใช้กลไกของสภานักเรียน ส่วนระเบียบ ศธ.ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 กำกับอยู่นั้น ทางคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า มีความยืดหยุ่นและสามารถประยุกต์ใช้ได้ตามความเหมาะสม เพียงแต่บางโรงเรียนอาจยังไม่มีความเข้าใจเรื่องระเบียบดังกล่าว

 

ประโยคสุดท้าย จึงกลายเป็นเหมารวมความผิด ความบกพร่องของครูและผู้บริหารสถานศึกษา จากคณะกรรมการที่นั่งประชุมอยู่ในห้องแอร์ ซะงั้น!

 

อะไรไม่ว่า ยังมีการสอนสั่งถึงสถานศึกษาในทำนองย้ำซ้ำฟ้องสังคมด้วยว่า การที่ที่ประชุมมีมติปรับแก้ระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการลงโทษนักเรียน พ.ศ.2548 ให้มีความทันสมัยและเป็นปัจจุบัน เนื่องจากคณะกรรมการเห็นว่า โรงเรียนบางแห่งไม่มีความเข้าใจ จึงยังเห็นภาพการลงโทษนักเรียนด้วยการตีอยู่ ทั้งที่ในระเบียบระบุการลงโทษไว้ตามลำดับ ซึ่งไม่มีการระบุ การลงโทษด้วยวิธีการตีไว้ หรือเป็นการลงโทษที่ไม่รุนแรง

 

ไปๆ มาๆ ภาระที่เป็นหนังหน้าไฟในการเผชิญกับปัญหายังตกไปที่ครู และผู้บริหารสถานศึกษาเช่นเดิม ผิดกับนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ. ลอยตัวเหนือปัญหาเหมือนเดิมเช่นเดียวกัน  

 

ทั้งที่ยังมีอีกหลากหลายวิธีการที่จะทำให้เกิดจุดร่วมที่จะอยู่กันได้อย่างลงตัว ก็ด้วยการเปิดช่องทางเลือกในหลายทางให้สถานศึกษาแต่ละพื้นที่ได้มีอิสระในการตัดสินใจตามบริบท อาจจะเริ่มจากเป็นโครงการทดลองระยะสั้นๆ หรือเปิดเป็นการขอประชามติจากนักเรียนในโรงเรียนแต่ละแห่งในเขตพื้นที่ หรืออาจขยายขอความเห็นเป็นประชามติจากประชาชน พ่อ แม่ ผู้ปกครองทั่วประเทศก็ได้ 

 

เชื่อว่าอย่างน้อยฉันทามติที่ออกมา ย่อมนำไปสู่การยอมรับและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ซึ่งวิธีการในลักษณะนี้อาจจะไม่เป็นที่ถูกใจเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการก็ได้ 

 

สุดท้ายกับการมองหามุมดีๆ จากผู้ที่เข้าไปแสดงความคิดเห็นในเรื่องข้อเรียกร้องของกลุ่มนักเรียนเลว ผ่านเว็บไซต์ www.nataphol.com  ส่วนใหญ่จะเป็นครู ผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากรทางการศึกษา เข้าไปเสนอแนวทางออกหรือแก้ปัญหา ดังตัวอย่างต่อไปนี้

 

Supasit Photomania

ระเบียบ วินัย เป็นนามธรรม จับต้องไม่ได้ เหมือนจริยธรรม ศีลธรรม ฉะนั้น การฝึกฝน อบรมบ่มเพาะจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากครับ ใน ร.ร.คือสภาพจำลองสังคม ระเบียบวินัยของ ร.ร.แม้จะไม่ใช่กฎหมายโดยตรง แต่เป็นการใช้กฎระเบียบเพื่ออยู่ร่วมกันหมู่มาก น.ร.มีสิทธิเสรีภาพได้ภายใต้ระเบียบดังกล่าว

 

หากจะปรับปรุงก็ต้องทำประชามติกันภายใน ร.ร. และไม่ใช่เฉพาะเด็กนะ ต้องประชามติผู้ปกครองด้วย เพราะมีหน้าที่ในการดูแลลูกหลานตัวเอง ส่วนผลออกมาตรงใจไม่ตรงใจก็ต้องยอมรับกันให้ได้ด้วยนะ

 

บุณยวีร์ มานะสมบูรณ์

ชุดนักเรียนเหมาะสมที่สุดค่ะ แต่ปัจจุบันจะเห็นว่าโรงเรียนเองก็ลดความสำคัญของชุดนักเรียนลงนะคะ คือพอมีกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ โรงเรียนก็กำหนดชุดให้ซื้อ ให้สวมใส่แทนชุดนักเรียน (ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็นเลย)

 

ชุดนักเรียน ชุดพละ ชุดลูกเสือหรือเนตรนารี ชุดผ้าไทยหรือชุดไปรเวททุกวันศุกร์ก็น่าจะเพียงพอแล้ว โรงเรียนไม่ควรกำหนดชุดอื่นตามกิจกรรมอีก เช่น กิจกรรมจิตอาสาของเด็กปฐมวัยหรือเด็กประถม จำเป็นหรือไม่ที่โรงเรียนกำหนดให้ซื้อเสื้อมาใส่แทนเสื้อนักเรียน ใช้แค่ผ้าพันคอก็ได้ แต่ถ้าโรงเรียนอยากให้แต่งชุดอื่นแทนชุดนักเรียนจริงๆ ควรแจกฟรี

 

Kobchai Sengcharoen

เด็กเป็นคนใส่ ทำไมไปคิดแทน ไม่ให้เด็กคิด/เลือก ชุดก็ไม่ได้บอกถึงความเหลื่อมล้ำ ระเบียบ วินัย ผลการเรียน ทดลองใส่ 1 เทอม แล้วมาประเมินผลกันไหม

 

ประเสริฐศักดิ์ ขันกสิกร

กฎระเบียบคือกฎระเบียบ หากโรงเรียนไหนจะดำเนินการตามระเบียบของโรงเรียนในเรื่องการแต่งกาย อาทิเช่น โรงเรียนจะเชิญผู้ปกครองพบ หรือไม่ให้นักเรียนที่ไม่แต่งเครื่องแบบเข้าเรียน ก็ขอให้ท่านรัฐมนตรีอย่าไปตำหนิ หรือทำโทษครูโรงเรียนนั้น เพื่อที่ครูจะได้รักษาระเบียบวินัยไว้เป็นแบบอย่างที่ดีต่อไป

 

Poompong Pothitha

ท่านต้องเด็ดขาดกว่านี้ครับ อย่าโยนให้ครูตัดสินเองครับ ถ้าแบบนั้นปัญหาจะตามมาอีกแน่นอน กลายเป็นทะเลาะกันอีก เด็กกลุ่มนึงถ้าไม่ให้แต่ง เขาก็จะเบนไปเรื่องอื่น เขาแค่เข้าใจคำว่าสิทธิผิดไปหน่อยเท่านั้น

 

อะไรดีดีควรรับ อะไรดีอยู่แล้วควรมี

ชุดนักเรียนไทยออกแบบมาดีที่สุดแล้วในหลายๆ ด้าน ขนาดเพื่อนชาวต่างชาติของผม ไม่ว่าจะเพื่อนจากยุโรป ในเอเชีย ยังชอบ แถมยังซื้อไปเป็นที่ระลึกอีก สิ่งที่ผมอยากฝากฝังไปทางกระทรวงศึกษาธิการและผู้ที่เกี่ยวข้อง ต้องทำให้เด็กเยาวชนเข้าใจในเรื่องของการใส่ชุดนักเรียน ให้เขาตระหนักถึงข้อดีของชุดนักเรียน อย่าไปทำให้มันดูกลายเป็นการบังคับ ฉะนั้น หาวิธีทำให้เด็กไทย คนไทยเข้าใจคุณค่าของชุดนักเรียนด้วยครับ

 

นายมานิตย์ พิทธไชย

สำรวจความต้องการและเปิดโรงเรียนนำร่องอนุญาตให้นักเรียนที่ประสงค์จะแต่งกายชุดสุภาพ ชุดไปรเวทไปเรียนหนังสือ ข้อดีคือใช้งบประมาณอุดหนุนค่าเครื่องแบบนักเรียนไปจ้างครูผู้สอนแทน หรือนำงบฯไปพัฒนาโรงเรียนด้านอื่นต่อไปได้ หรือเป็นทุนการศึกษาให้นักเรียนยากจนในสถานศึกษานั้นๆ

 

Phet Suraporn

ท่านต้องเด็ดขาดกว่านี้ครับ ต้องพุ่งชนปัญหามากกว่านี้ ตั้งแต่อยู่มามีผลงานเป็นชิ้นเป็นอันอะไรบ้างครับ บอกมาเป็นข้อๆ ให้หน่อยครับ ไม่ใช่ มีแต่คำพูดสวยๆ ลอยๆ ไม่ใช่มีแต่ประชุมๆ หารือๆ ไม่ใช่อยู่มาเป็นปี ผลงานไม่คลอดสักที

 

Phichai Likhitanusorn

ผมเห็นด้วยที่ควรแต่งชุดนักเรียน แต่ท่านไปสอนเด็กเรื่องวินัย ระวังเด็กย้อนท่านนะ เพราะท่านเองก็ขาดวินัย ฝ่าฝืนมติพรรคร่วมรัฐบาล..ใช่ไหม (กรณีแก้ไข รธน.)

 

Puchong Jawroongrit

ไม่อยากให้มีการลงโทษเด็กที่ใส่ชุดไปรเวท ด้วยการไม่ให้เข้าห้องเรียนนะครับ จะยิ่งเรียนไม่ทันไม่รู้เรื่อง อาจลงโทษวิธีอื่น เช่น ตัดคะแนนจิตพิสัย และอยากให้เพิ่มคาบเรียนพิเศษตอนเย็นให้เด็กกลุ่มนี้หลังเลิกเรียน สัก 1-2 ชม. เกี่ยวกับสังคม ค่านิยม ศิลปวัฒนธรรม หน้าที่สิทธิและเสรีภาพ แล้วค่อยประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับน้องๆ อีกสัก 1-2 ชม.ครับ

 

คำพูดต้มยำ การกระทำต้มจืด

เจอกันครึ่งทาง ในหนึ่งอาทิตย์ก็ให้ใส่ชุดอะไรก็ได้ที่เด็กอยากใส่มาได้สองวัน จะช่วยลดแรงต่อต้านได้มากกว่าไม่ฟังเสียงเรียกร้องอะไรจากเด็กเลย

 

Santhaya Arpangpan

กฎระเบียบกระทรวงศึกษาธิการดีๆ ตั้งแต่ท่านเข้ามานี่ก็ทำให้ระบบการศึกษาเละเทะไปเยอะแล้ว ท่านต้องเด็ดขาดบ้างในเรื่องระเบียบวินัย ก็รู้ๆ กันว่าคนพวกนี้ใช้เด็กเป็นเครื่องมือได้คืบจะเอาศอก ทรงผมก็เละไปแล้ว มาเรื่องเสื้อผ้าอีก ต่อไปก็รองเท้า ต่อไปจะใส่อะไรมา จะเข้าโรงเรียนหรือไม่ ก็ไม่รู้ นัดกันไปไหนก็ไม่รู้ว่าเป็นนักเรียน

 

"ท่านเป็น รมต.ต้องเด็ดขาด มาแบ่งรับแบ่งสู้ ยกให้ ผอ.รับผิดชอบคนเดียวไม่ไหวหรอก นานาจิตตัง พอถูกร้องเรียนมา รมต.ไม่เคยช่วย ผอ.ดีๆ หรือครูดีๆ ที่ต้องตกเป็นเหยื่อของความไม่เด็ดขาด" 

 

EdunewsSiam : เสวนากับบรรณาธิการ วันที่ 4 ธันวาคม 2563 

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)