ปธ.ชมรม ผอ.สพท.ปลุก!ชาว สพฐ. ก่อนตื่นเจอฝันร้าย “Single Command”

นายธนชน มุทาพร อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 1 และประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.)

ในฐานะผู้ติดตามการแก้ไขปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และมีส่วนร่วมในการเสนอแนะทั้งในเวทีของสภาผู้แทนราษฎร และสภาการศึกษา (สกศ.)

ได้เขียนแสดงทรรศนะวิเคราะห์ทิศทางร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เผยแพร่ผ่าน “คอลัมน์คิดนอกกรอบ” บนเว็บไซต์ข่าว EdunewsSiam.com มีเนื้อหาดังต่อไปนี้

“เรื่องแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาตินั้น เป็นหน้าที่ของกฤษฎีกา ส่วนสภาการศึกษา (สกศ.) มีหน้าที่แค่ให้ศึกษาความสอดคล้อง ตามคำบัญชาของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)

โดยได้เปิดรับฟังความคิดเห็น ที่พวกเราเคยไปแสดงความคิดเห็นมาแล้วหลายเวที และได้ข้อสรุปว่า สกศ.สรุปเสนอให้แก้ไขเพียง 2 ประเด็นเท่านั้น คือ ให้กลับมาใช้ผู้อำนวยการสถานศึกษา และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเหมือนเดิม

นอกนั้นคาดว่าคงเดิม ซึ่งถ้าคงเดิม ก็จะเหลือแท่งเดียว คือ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.)  มีปลัดกระทรวงเป็นผู้บังคับบัญชารองจากรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เท่านั้น และการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ ก็จะเป็นอำนาจของกระทรวงว่า จะให้เป็นอย่างไร

ผมวิเคราะห์ให้ฟังอย่างนี้ พวกเราคงรู้อนาคตของตัวเองแล้ว ถ้ายังนิ่งเงียบ และบุคลากร 38 ค (2) ก็จะถูกลืม และมีแนวโน้มจะเกลี่ยไปสถานศึกษา

โดยเอาบุคลากรที่ล้นจากกรอบที่เหลือจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จังหวัดละเขตลงไปสถานศึกษา และบุคลากรดังกล่าวนี้ก็จะยังเป็นพลเมืองชั้นสองอีกต่อไป

นี่คือการวิเคราะห์จากการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ถ้าเป็นไปตามนี้ ลายแทงจะออกมาตามที่ผมวิเคราะห์นี้นะครับ เป็นการมโนล่วงหน้าโดยมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะเป็นแนวทางนี้

ตราบใดที่ไม่สามารถแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ในมาตรา 66 ของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ให้เป็นไปตามแนวทางร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ของคณะอนุกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ที่มี รศ.ดร.สุรวาท ทองบุ เป็นประธาน

จึงเรียนไปยังทุกท่าน ที่ยังหลับไม่ตื่น หลงใหลไปกับความหอมหวานของอำนาจในปัจจุบัน สุดท้ายแล้วพวกท่านเองจะได้แย่งที่นั่งกันอย่างแน่นอน แล้วจะมีกลุ่ม หรือใครบางคนเกิดความสะใจ เมื่อเห็นสภาพดังกล่าวนี้เกิดขึ้นมา

ดังนั้น อยากให้พวกท่านที่จะได้รับผลกระทบช่วยกันคิดหากลยุทธ์ใด จึงจะเบรกเกม Single Command นี้ได้

ผมเชื่อมั่น พวกเรามีความรู้ ความสามารถเพียงพอที่จะวางแผนไว้รับมือในสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตามลายแทงของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาตินี้ได้

ความแม่นยำที่ผมเคยคาดการณ์มาแล้ว คือวันที่ 3 เมษายน 2560 ที่ผมคาดว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะยึดอำนาจในมาตรา 53 ของท่านไปให้ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ก็ไม่มีใครเชื่อผม

ซึ่งในภาคเช้าในเวทีของกระทรวงศึกษาธิการที่โรงแรมปริ๊นพาเลซ กรุงเทพฯ ผมพยายามจะขอผู้บริหารระดับสูงของ ศธ.ท่านหนึ่งอภิปรายในที่ประชุม ท่านก็ไม่อนุญาตผม 

แต่ในภาคบ่าย ผมได้ช่อง ผมก็ลุกอภิปรายในประเด็นดังกล่าวนี้ โดยขอให้ชะลอไปก่อน เพราะวันที่ 6 จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ควรให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเป็นผู้กำหนดเองว่า โครงสร้างกระทรวงจะเป็นอย่างไร 

เพราะถ้า กอปศ.ไม่เอาด้วย จะเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ท่านใดตั้งใจฟังผมอภิปรายที่ปริ๊นพาเลซ เมื่อบ่ายวันที่ 3 เมษายน 2560 คงจำได้ และมีผู้อภิปรายต่อจากผมแค่คนสองคน ท่านปลัด ศธ. ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ก็ออกมาอ่านคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 ให้ฟัง

นี่คือความแม่นยำที่ผมมโนออกมา ในครั้งนี้ก็เหมือนกัน ถ้าไม่สามารถแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ในมาตรา 66 และมาตรา 99 ได้ ก็จะเป็นไปตามลายแทงที่ผมวิเคราะห์ไว้ เพราะ Rod Map เขาช้าไป 1 ปี มีพวกเรามาเบรกเกมไว้ ก่อนที่จะประกาศใช้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติแห่งชาติ ฉบับ กอปศ.นี้แหละครับ

สรุปชัดเจนแล้วนะครับ แก้เพียง 2 ประเด็นนี้จริงๆ คิดเอาเองก็แล้วกัน งานเข้าพวกเรา และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แล้วครับ ถ้าเงียบคือการยอมรับนะครับ สิ่งที่ผมมโนเกิดขึ้นแน่นอน ตราบใดที่รัฐบาลนี้ยังมีอำนาจควบคุมเสียงสภาได้เกินครึ่ง

 

 (โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)