ทีมหุ่นยนต์อาชีวะ คว้า 2 รางวัล แข่งระดับนานาชาติ ABU ROBOCON 2020

         นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) เปิดเผยว่า จากการที่ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)  ได้ส่งทีมหุ่นยนต์อาชีวศึกษาร่วมแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ ABU ROBOCON 2020 ผลปรากฏว่า 2 ทีมหุ่นยนต์อาชีวศึกษา ได้รับรางวัล ดังนี้ ทีมขุนด่านปราการชล จากวิทยาลัยเทคนิคนครนายก รับรางวัล Best Teams’ Awards อันดับ 4 และทีมองครักษ์โรบอท จากวิทยาลัยการอาชีพองครักษ์ รับรางวัล NOK Award ซึ่งเจ้าภาพ ประเทศฟิจิ ได้จัดการแข่งขันแบบ Festival ภายใต้ชื่อว่า ABU Robocon Festival ผ่านระบบ Zoom Online โดยมีทีมหุ่นยนต์เข้าร่วมการแข่งขัน 21 ทีม จาก 11 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ไทย อินโดนีเซีย ฟิจิ อินเดีย เนปาล ฮ่องกง กัมพูชา เวียดนาม และมองโกเลีย แบ่งสายการแข่งขันแบบ Festival เป็น 4 กลุ่ม การแข่งขันหุ่นยนต์ใช้กติกา โรโบ รักบี้ (Robo Rugbi)” ผ่านระบบ Zoom Online โดยให้ทีมหุ่นยนต์ จำนวน 21 ทีม แบ่งเป็น ๔ กลุ่ม นำเสนอผลงานการออกแบบ และการแข่งขันหุ่นยนต์ของทีมตนเอง เรียงลำดับจากกลุ่ม A กลุ่ม B กลุ่ม C และกลุ่ม D เริ่มต้นจากกล่าวทักทาย แนะนำทีมหุ่นยนต์ จากนั้นนำเสนอการทำงานของหุ่นยนต์ PASS ROBOT และหุ่นยนต์ RECIVE ROBOT พร้อมเทคนิคการทำ  การวางแผนการแข่งขัน ภายในเวลาที่กำหนด และตอบข้อซักถามของคณะกรรมการกลางจากประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ฟิจิ และมองโกเลีย

เลขาธิการกอศ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับรางวัลการแข่งขันฯ มีทั้งหมด 14 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศอันดับ 1 และ 2 รางวัลทีมยอดเยี่ยม (Best Team Award) รางวัลหุ่นยนต์ออกแบบ ความคิดสร้างสรรค์ ยอดเยี่ยม (Best Idea Award) ซึ่งมาจากสมาชิกทีมหุ่นยนต์ทุกประเทศลงคะแนนโหวตให้ทีมต่างประเทศที่สมควรได้รับ และรางวัลพิเศษ 7 รางวัล ได้แก่ TOYOTA AWARD / PANASONIC AWARD /MABUSHI AWARD /NOK AWARD /ROHM AWARD / MUSHITA AWARD และ TOKYO ELECTRIC AWARD ซึ่งมาจากผู้สนับสนุนพิเศษ จำนวน ๗ บริษัท พิจารณาให้รางวัล ทั้งนี้ การแข่งขันหุ่นยนต์ดังกล่าวนับว่าเป็นเวทีสำคัญที่ทำให้นักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา ได้นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และทักษะวิชาชีพมาบูรณาการ ประดิษฐ์ คิดค้น และพัฒนาหุ่นยนต์ให้มีศักยภาพสูงสุด เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กระตุ้นความสนใจทางด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยี เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์อัตโนมัติ และเปิดโอกาสให้นักศึกษามีเวทีประลองฝีมือ เกิดความเชื่อมั่นในทักษะที่สามารถนำความรู้สู่การปฏิบัติได้อย่างแม่นยำต่อไป