จับตาร่าง กม.การศึกษาชาติ ปม!เงินวิทยฐานะ-โครงสร้างรวบอำนาจ (ชมคลิป)

ระดมองค์กรครูจับตาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ห่วงปม!เงินวิทยฐานะ-ใบรับรองความเป็นครู-ตำแหน่ง ผอ.ร.ร.-โครงสร้าง Single Command ขู่แต่งดำพรึบทั่ว ปท.

นายธนชน มุทาพร ประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.) ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว สำนักข่าว EdunewsSiam เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 ว่า วันที่ 24 ธันวาคม 2563 นี้ ชร.ผอ.สพท.ร่วมกับสมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย

จัดประชุมติดตามร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และติดตามและผลักดันร่างแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พร้อมทั้งกำหนดท่าทีและแนวทางการเคลื่อนไหวขององค์กรครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ หากมีประเด็นที่ส่งผลเสียหายต่อครูและบุคลากรทางการศึกษา

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาตินั้น ทราบว่าเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของ คณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ถือว่าเป็นร่าง พ.ร.บ.ของรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้นำร่าง พ.ร.บ.ฉบับของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) มาเปิดรับฟังความคิดเห็นของครูและบุคลากรทางการศึกษา

ซึ่งได้มีข้อเรียกร้องโดยสรุป 4 ประเด็นสำคัญ 1.ให้กลับมาใช้ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาเหมือนเดิม ไม่ใช้ตำแหน่งครูใหญ่ 2.ให้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเหมือนเดิม 3.ให้บุคลากรในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นข้าราชการครูทั้งหมด เพื่อใช้บัญชีเงินเดือนเดียวกัน

และ 4.ไม่เอาโครงสร้างการบริหาร ศธ.แบบ Single Command ที่รวบอำนาจเหลือแท่งเดียว คือ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.)  มีปลัด ศธ.เป็นผู้บังคับบัญชารองจากรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เท่านั้น

แต่อย่างไรก็ตาม ได้ข้อสรุปจาก สกศ.ว่า จะเสนอต่อนายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ให้เสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.เพียง 2 ประเด็นเท่านั้น คือ 1.ให้กลับมาใช้ผู้อำนวยการสถานศึกษาเหมือนเดิม และ 2.ให้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเหมือนเดิม โดยจะแก้ไขในขั้นตอนของกฤษฎีกา

อย่างไรก็ดี ตนยังเชื่อว่าอีก 2 ข้อเรียกร้องของครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งเรื่องให้บุคลากรในสังกัด ศธ.เป็นข้าราชการครูทั้งหมด และไม่เอาโครงสร้างการบริหารแบบ Single Command จะได้รับการตอบสนองจากนายณัฎฐพล และรัฐบาล ซึ่งก่อนหน้านี้เคยยอมถอยไม่นำ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับ กอปศ.มาออกเป็นพระราชกำหนด

แต่กระนั้นในวันเดียวกันนี้ มีข้อห่วงใยที่น่าคิดและติดตามข้อเท็จจริงจาก ดร.รัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) ที่โพสต์ข้อความเชิญชวนให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศได้ติดตามร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ

โดย ดร.รัชชัยย์ ระบุว่า “ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับ กอปศ.ได้เดินทางไปสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแล้ว และถือว่าเป็นร่างฯของรัฐบาล โอกาสสูงที่ ส.ส.พรรครัฐบาล และ สว.จะยกมือให้ร่างฯกฎหมายนี้มีผลบังคับ

และหากร่างฯนี้ผ่านสภาฯประกาศเป็นกฎหมาย ข้าราชการครูฯอาจจะได้รับความเสียหายมาก เงินวิทยฐานะ 5,600 บาท อาจจะถูกตัดทันที เหมือนที่พนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเคยโดนมาแล้ว

ร่างฯนี้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้มีเพียงบันทึกข้อสังเกตเล็กๆ ว่า ครูต้องการอะไร แต่หากพิจารณาจากตัวร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ จะพบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลง ยังคงใช้ร่างฯเดิมของ กอปศ.ทุกมาตรา

และที่สำคัญหาก รมว.ศธ.เห็นด้วยกับความเห็นของครู รมว.ศธ.ก็คงต้องออกมาแถลงข่าวเป็นข่าวใหญ่แล้ว แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการแถลงข่าวเรื่องนี้แต่อย่างใด

แม้บันทึกของ รมว.ศธ.ที่ส่งถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่มีรายละเอียดหลายหน้า ก็ไม่พบว่า รมว.ศธ.พูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงร่าง พ.ร.บ.ที่ระบุให้ใช้คำว่า ผอ. และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542

ที่น่าสังเกตคือ คำว่า วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง ที่เป็น Key word ที่สำคัญที่จะทำให้ครูได้รับเงินวิทยฐานะ ก็ยังคงถูกตัดทิ้งไป อย่าดูดายนะครับ ต้องออกมาต่อสู้เรียกร้องด้วยกันครับ มิฉะนั้น จะสายเกินการณ์”

(ชมคลิป ดร.รัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายก ส.บ.ม.ท.)

นายธนชน ประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องการติดตามและผลักดันร่างแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษานั้น ร่างแก้ไขฯฉบับนี้ของ ศธ.ได้ดำเนินการแล้วเสร็จไประยะหนึ่งแล้ว

มีนายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ. เป็นประธานยกร่างฯ และได้ผ่านความเห็นชอบจากผู้บริหาร 5 แท่งใน ศธ. รวมทั้งคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) แล้ว ขณะนี้อยู่ในมือนายณัฎฐพล แต่ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใดนายณัฎฐพลยังไม่เสนอรัฐบาล

โดยสาระสำคัญของร่างแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือการแก้ปัญหาการบริหารงานบุคลากรในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้มี อ.ก.ค.ศ.ส่วนราชการ และ อ.ก.ค.ศ.ระดับจังหวัด

เฉพาะอย่างยิ่ง การมี อ.ก.ค.ศ.ระดับจังหวัดดูแลการบริหารงานบุคลากรสังกัด สพฐ.ในพื้นที่แต่ละจังหวัด จะแก้ปัญหาความล่าช้าและแก้ปัญหาได้ตรงจุด ซึ่งที่ผ่านมาเกิดปัญหาดังกล่าวอย่างมากจากการดูแลของคณะกรรมการการศึกษาจังหวัด (กศจ.)

เพราะ กศจ.ประชุมกันเดือนละครั้ง และองค์ประกอบ กศจ.แทบไม่มีผู้บริหารและครู ซึ่งรู้ปัญหาดี ประกอบกับ กศจ.ทุกวันนี้มีงานบริหารบุคคลล้นมือ ทำไม่ทัน จนไม่ได้ทำหน้าที่สำคัญอื่น โดยเฉพาะงานบูรณาการหน่วยงานการศึกษาต่างๆ ในจังหวัด

ประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวด้วยว่า ในการประชุม ชร.ผอ.สพท. สมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย ตลอดจนเครือข่ายองค์กรครูและผู้บริหารสถานศึกษา ในวันที่ 24 ธันวาคม 2563 นี้

จะได้กำหนดท่าทีและการเคลื่อนไหว หากร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐบาลและรัฐสภา มีประเด็นที่ส่งผลเสียหายต่อครูและบุคลากรทางการศึกษาตามข้อห่วงใยต่างๆ ดังกล่าว

“เราจะรวมพลองค์กรครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อระดมครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศแต่งชุดดำออกมาชุมนุมต่อต้านแน่นอน” นายธนชนกล่าว

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่าง เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)