ข้อคิดรายงานจากธนาคารโลก การศึกษาไทยล้าหลัง สะท้อนคุณภาพ รมต.ศธ.

เสวนากับบรรณาธิการ วันที่  17 ธันวาคม 2563

รายงานจากธนาคารโลก การศึกษาไทยล้าหลัง สะท้อนคุณภาพ รมต.ศธ. อยู่กลุ่มระดับน่าเป็นห่วง

วิชเทพ ฦๅชาฤทธิ์ : บรรณาธิการ 

17 ธันวาคม 2563

ปรากฎการณ์จินตนาการเหนือความคาดหมายของประเทศไทย ล่าสุดที่สร้างความตื่นตะลึงให้กับผู้คนในประเทศและนานาชาติ ที่กำลังเผชิญกับวิกฤตทั้งเชื้อโรคและเศรษฐกิจตกต่ำ น่าจะเป็นข่าวจาก ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษาฯ ลั่น ไทยเป็นชาติที่ 5 เอเชีย จะผลิตยานอวกาศ ทะยานรอบดวงจันทร์ ไม่เกิน 7 ปี ฐานยิงพร้อมนานแล้ว

ขณะที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ. ของไทย ประกาศจัดทัพเคลื่อนการศึกษายกกำลัง 2 แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ให้ลุยยกกำลัง 10 ไปเลย

แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจกว่านั้น ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ไม่มีผู้นำไทยคนใดให้ความใส่ใจกับรายงานของธนาคารโลกฉบับล่าสุด ที่มีผลการประเมินทักษะนักเรียนไทยที่เข้าร่วมโครงการประเมินสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากล หรือ Pisa 2018 (พ.ศ.2561) ที่นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลก ประจำประเทศไทยและแปซิฟิก ได้แถลงระดับสมรรถนะนักเรียนไทยล้วนได้คะแนนตกต่ำกว่าเกณฑ์ ด้วยความตั้งอกตั้งใจว่า เสียงของเธอน่าจะได้รับฟังกันมากกว่าวางเฉยหรือมีปฏิสัมพันธ์ขานรับมากกว่านี้

เนื่องจากผลการประเมินของเด็กไทย กำลังตกอยู่ในภาวะถดถอยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านการอ่าน ที่มีถึงร้อยละ 60 ด้านคณิตศาสตร์ ร้อยละ 53 และ ด้านวิทยาศาสตร์ ร้อยละ 44 จึงเป็นเรื่องน่ากังวลว่า การที่เด็กไทยได้คะแนนต่ำกว่าสมรรถนะขั้นต่ำ แสดงถึงความล้มเหลวในการจัดการศึกษาของคณะผู้บริหาร ศธ.โดยรวม  

นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังมีความกังวลเพิ่มขึ้น เมื่อนำผลดังกล่าวไปเทียบอันดับกับ 79 ประเทศ ที่เข้าร่วมโครงการโปรแกรมประเมินทักษะนักเรียนอายุ 15 ปี ยังพบอีกด้วยว่า ประเทศไทยตกอยู่ในอันดับรั้งท้ายของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก คือ อันดับที่ 68 ด้านการอ่าน อันดับที่ 59 ด้านคณิตศาสตร์ และอันดับที่ 55 ด้านวิทยาศาสตร์ จะนำเพียงประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เท่านั้น ส่วนเวียตนาม นั้นได้พ้นหลุมดำไปอยู่ระดับต้น ๆ แล้ว 

มีการตั้งข้อสังเกตกันว่า ทุก ปีรายงานของธนาคารโลก ล้วนตีแผ่ตัวเลขผลประเมินการศึกษาไทยทุกด้านจนล่อนจ้อนต่ำเตี้ย แต่กลับไม่มีการนำข้อด้อยและข้อเสนอแนะไปเป็นประโยชน์ อาจเนื่องมาจากความผิดพลาดของรัฐบาลในช่วงหลังปฏิรูปการศึกษามาถึงยุคที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้คนเข้ามานั่งเก้าอี้เสนาบดี ล้วนไร้ฝีมือ ไร้ปัญญาความสามารถ ไม่สนใจที่จะนำพาการศึกษาชาติให้ไปถึงจุดหมายได้อย่างสง่างาม

ราแค่ได้คนมีอาชีพเป็นนักการเมือง ซึ่งไม่เคยคิดเลือกจะมาทำงานในกระทรวงศึกษาธิการแบบเอาตัวเอาหัวใจมาด้วยเลยแม้แต่คนเดียว เมื่อเข้ามาแล้วส่วนใหญ่คิดเองเออเองเข้าตัดสินจากประสบการณ์เดิม ๆ แถมยังเหลิงอำนาจทำตัวอวดรู้ ส่วนใหญ่จึงมักตกเป็นเหยื่อของกลุ่มบุคคลที่มีทั้งข้าราชการระดับสูง นักธุรกิจ นักวิชาการ และบรรดานักการเมืองและที่ปรึกษา คอยชี้แนะหว่านล้อมให้เห็นช่องทางเดินในการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการศึกษาแบบไร้ร่องรอย อันพึงมีพึงได้จากการอิงบนอำนาจหน้าที่บริหารสั่งการได้

จึงมิแปลกที่ในช่วงระยะไม่เกิน 10 ปีที่ผ่านมา จึงมักได้ยินได้เห็นการร้องเรียนในการใช้อำนาจในทางที่ผิด ๆ และการฟ้องร้องในสารพัดโครงการที่ใช้งบประมาณสูง เหมารวมไปถึงการตั้งงบจัดซื้อ จัดจ้างจัดหาวัสดุอุปกรณ์ครุภัณฑ์ไอทีเพื่อการเรียนการสอน การทุ่มงบซื้อสื่อเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์พกพาแจกเด็กทั้งประเทศ 

การสร้างห้องเรียนอัจฉริยะ (Smart Classroom สร้างอาคาร ปรับปรุงสถานที่ การจัดโครงการฝึกอบรมสารพัดหลากหลายสายพันธุ์หลักสูตรในการพัฒนาครู  ซึ่งทุกเรื่องทุกโครงการจะลงท้ายด้วยสำนวนชวนฝัน ฟังแล้วหัวใจแทบละลาย เพื่อครูและเด็กไทยอันเป็นที่รัก ได้ถึงคุณภาพและสมรรถภาพทั้งสิ้น

แต่เนื้อแท้แห่งเบื้องหลังแล้ว มักถูกมองว่า เพื่อตนเอง เพื่อพรรคพวกและบริวารหว่านเครือตนเอง แทบทั้งสิ้น

จะเห็นธาตุแท้ได้จากเมื่อสิ้นโครงการแล้ว สิ่งที่เคยระบุไว้ว่าจะมีการวิจัยติดตามผล จะสรุปออกมาให้เห็นถึงผลพวงที่ครูและเด็กจะได้รับอานิสงค์แห่งคุณภาพการเข้าโครงการนั้นๆ กลับขาดหายไร้คำตอบ แถมยังผุดโครงการใหม่ๆ แจกงบหลวงให้ไปช็อป อวดอ้างสรรพคุณเหล่าวิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิในสังกัด ที่เข้ามาเสนอรับโครงการไปดำเนินการ ต่างได้รับประโยชน์อย่างเต็มกอบเต็มกำ โดยทำนิ่งเฉยกับกับเสียงบ่นถามถึงความไม่คุ้มค่า คุ้มเวลา คุ้มงบประมาณที่ทุ่มลงไปมากกว่าคำชื่นชม

ที่เลวร้ายกว่านั้น เมื่อรัฐมนตรีเจ้าของนโยบายตัวจริง เสียงจริง พ้นจากตำแหน่งจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม  ภาระที่หนีไม่พ้นตกอยู่กับบุคลากรในองค์กรนั้นๆ เป็นหนังหน้าไฟรับกรรมไปตามระเบียบ มีหลายครั้งที่ต้องรุกรี้รุกรนออกแบบสำรวจเหมือนพวกชะโงกทัวร์ โดยคำตอบส่วนใหญ่ระบุผลสัมฤทธิผลเป็นไปตามเป้าหมายทุกประการ

แต่ในที่สุด ภาพความจริงที่ปรากฏจากองค์กรระดับโลกที่ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก ได้ประมวลความล้มเหลวอันซ้ำซากด้วยตัวเลขอันเป็นจริงออกมา พร้อมข้อเสนอแนะเพื่อจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ได้ตระหนักรับรู้เพื่อนำไปพัฒนาต่อปรากฏในการแถลงข่าวแล้วข้างต้น ตามมาด้วยคำถาม อาทิ

ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาต่อนักเรียน 1 คนในประเทศไทย ตั้งแต่ชั้น ป.1 ถึง ม.3 สูงถึง 27,271 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ  800,000 บาท  ซึ่งธนาคารโลกยังมึนงงว่า ลงทุนขนาดนี้แล้ว ทำไมทักษะความรู้นักเรียนไทยกลับถดถอยในลักษณะย่ำแย่ดิ่งลงตลอด

ตัวอย่างอีกเรื่องกับเด็กไทย ร้อยละ 80 ของเยาวชนไทยอายุ 15 ปี จะศึกษาอยู่ในโรงเรียน แต่ในจำนวนนี้มีเพียง ร้อยละ 46 ที่สามารถหาข้อมูลซึ่งอาจต้องตีความหรือวิเคราะห์จากเนื้อหาได้ แต่อีกร้อยละ 54 ไม่สามารถทำได้ ธนาคารโลกได้สะท้อนให้เห็นว่า การรู้หนังสือเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ของเด็กไทยได้ ยังอยู่ในระดับต่ำ

จึงเป็นที่มาของการขยายความถามถึง ศธ.และแสดงความห่วงใยว่า เมื่อกลุ่มเยาวชนไทยในโรงเรียนยังไม่อาจนำความรู้และทักษะไปใช้และแก้ไขปัญหาในชีวิตจริงได้ เนื่องจากได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ตลอดระยะ 10 ปีที่ผ่านมา และมีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ ปี 2543-2549 ล้วนส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ต่อการประเมินความสามารถด้านการอ่านของเยาวชนไทย แม้ในระหว่างปี 2549-2552 จะกระเตื้องสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ก็ไม่มีนัยสำคัญในเชิงสถิติแต่อย่างใด

จึงเป็นที่มาของคำถามด้วยความเคารพว่า ในช่วงเวลา 10 ปีกว่า ที่ผ่านมา ศธ.มองข้ามความสำคัญตรงนี้ได้อย่างไร

ดังนั้น อย่าไปสงสัยเลยว่า พฤติกรรมตลอดการแสดงออกของคนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่ง ที่แสดงออกไม่ยอมรับวิถีการอ่านมาตั้งแต่แรก อาจจะเป็นส่วนหนึ่งมาจากการหยุดนิ่ง ในการทำให้การรู้หนังสือในชั้นเรียนและการสอนของครูเพื่อให้นำไปใช้ประโยชน์ต่อการดำรงอยู่ของทุกอาชีพได้ ยังอยู่ในระดับต่ำ

ประกอบกับการไร้การขานรับจากหน่วยงานใน ศธ.ที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะนักการเมืองที่เข้ามาดูแลการศึกษาคนแล้วคนเล่าที่ผลัดเปลี่ยนเข้ามาในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ล้วนบริหาร มอบนโยบายอย่างไร้ความรู้และกระบวนการ ย่อมยากที่จะทำให้การศึกษาเกิดผลสัมฤทธิในเชิงคุณภาพได้

นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังได้แนะนำ  3 ประเด็นสำคัญ ที่นักการศึกษาไทยสามารถลงมือแก้ไขมอบหมายได้ทันที เพื่อนำไปปรับปรุงผลการเรียนรู้ของนักเรียน ประกอบด้วย การตรวจสอบให้แน่ใจว่า “ทุกห้องเรียน” มีบุคลากรที่เพียงพอ พร้อมครูที่มีคุณสมบัติและได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี ตั้งแต่เป็นนักศึกษา และใช้ทรัพยากรที่ดีพอเพื่อยกระดับผลการเรียนรู้ของนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนที่ขาดแคลน

ต่อมา คือ การปรับปรุงวิธีการสอนและการจัดการชั้นเรียนเพื่อใช้เวลาเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ดีพอหรือยัง ตรงนี้ทำให้คิดถึงนโยบาย ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ยุคหนึ่งขานรับคึกคักมาก แต่เมื่อรัฐมนตรี เจ้าของนโยบาย พ้นไป เงียบสนิท

และประการสุดท้าย ได้แก่ การจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ปลอดภัยและอบอุ่นเพื่อให้นักเรียนไม่กลัวหรือปฏิเสธการมาโรงเรียน 

ซึ่งประการสุดท้าย ขณะนี้ ได้กลายมาเป็นประเด็นหนึ่งในการเรียกร้องให้ ศธ.รีบเร่งดำเนินการทำฝันร้ายในโรงเรียน ให้สิ้นซากเสียที

สอดรับกับผลการวิจัยของธนาคารโลก ที่ระบุเป้าหมายเชิงนโยบาย 8 ด้าน อันทรงอิทธิพลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนอย่างมีนัยสำคัญ ทั้ง 64 ประเทศ ที่ว่า

ซึ่งมีตั้งแต่การกำหนดบทบาทภารกิจของครูให้ชัดเจน ดึงคนมีคุณภาพสูงสุดเข้ามาเป็นครู นักศึกษาครูต้องได้รับความรู้และประสบการณ์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ ผู้บริหารสถานศึกษาควรเป็นบุคคลมีภาวะผู้นำสูง มีการติดตามผลการสอนและการเรียนรู้ของผู้เรียน สนับสนุนครูได้รับการพัฒนาวิชาชีพ ทั้งความรู้และทักษะใหม่ ๆถ่ายทอดสู่ศิษย์อย่างสม่ำเสมอ และสร้างแรงจูงใจให้ครูปฏิบัติหน้าที่การอย่างเต็มกำลัง

ทั้งหลายทั้งปวงล้วนเป็นการเตือนจากธนาคารโลก มีข้อชี้แนะ ทางออก นำไปสู่การแก้ไข ส่งตรงถึงผู้รับผิดชอบระดับสูงการศึกษาไทย  ล้วนตกประโยชน์ต่อการศึกษาทั้งสิ้น แต่กลับไม่มีสั่งการให้นำไปสู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม

และเท่าที่สังเกตดูเมื่อปรากฎข้อมูลเชิงลบ เหมือนจะเป็นเพียงแค่พายุร้ายที่พัดผ่านเข้ามารบกวนอารมณ์ความคิดของบรรดาผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ให้เกิดสภาวะอารมณ์ที่ขุ่นเคืองกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏ แม้จะเห็นคล้อยด้วยก็ตาม แต่มักลงเอยด้วยการนิ่งเฉย ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วเป็นที่รับรู้กันดีว่า ยากที่จะขับเคลื่อนให้เป็นไปในทางที่คาดหวังได้โดยง่าย

เพราะคำตอบทุกอย่างยังอยู่ที่นายใหญ่ เสนาบดีผู้มีอำนาจ กับคณะที่ปรึกษาที่มอบหมายสั่งการเท่านั้น ดังนั้น การนิ่งเฉย ปฏิบัติตามนายสั่งโดยดุษฎี ย่อมเป็นสิ่งวิเศษเหนืออื่นใด ตราบใดที่ยังปฏิบัติหน้าที่ในฐานะข้าราชการ

สุดท้ายงานหลักๆ ของรัฐมนตรีศึกษาส่วนใหญ่ ก็ยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม คงยึดติดกับการออกเดินสายเปิด-ปิดงานทั้งในส่วนกลางและ ตจว.ตามปกติ เพื่อให้ได้ภาพใหญ่โชว์พาว

ขณะที่ผู้บริหารระดับสูง ศธ.ส่วนหนึ่ง ยังคงหาช่องทางลงตำแหน่งให้พรรคพวกตนเองด้วยการพยายามปรับเปลี่ยนเกณฑ์อันจะเอื้อประโยชน์จะพึงอำนวยให้แก่กันและกันทั้งปัจจุบันและอนาคตได้เข้าไปเป็นใหญ่ ล้วนเป็นพฤติกรรมที่ถนัดของผู้เป็นประธาน การใช้อำนาจเปลี่ยนองค์ประกอบของกรรมการหรืออนุกรรมการ เพิ่มคน เพิ่มวาระงานให้ดูขลังมีน้ำหนักในการขอขยับขยายตั้งหน่วยงาน หรือองค์กรใหม่ ตำแหน่ง ซึ่งจะมีงบประมาณจะตามมาในที่สุด

แม้กระทั่งบัดนี้ รายงานผลการประเมินทักษะนักเรียนไทย ที่ธนาคารโลกฉบับล่าสุดรายงานออกไปสดๆ ร้อนๆ ก็ยังไม่เห็น 3 รัฐมนตรีกระทรวงศึกษา คนใด จะออกมาให้ความเห็นแสดงความกระตือรือร้น แจงสภาพอันเป็นอุปสรรคและปัญหาการศึกษาไทย เพื่อร่วมสร้างพลังปัญญาและวิธีการที่จะกอบกู้ ทำวิกฤติเป็นโอกาสให้จงได้

สุดท้ายน่าจะเป็นการออกข่าวที่มีความย้อนแย้งกับข้อเสนอแนะของธนาคารโลก เมื่อนโยบาย นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศให้ปี 2565 เป็นการศึกษายกกำลัง 2 แต่เมื่อนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา บอกให้ยกกำลัง 10 ไปเลย จึงกลายเป็นเรื่องน่าคิดจนได้ที่ว่า เป็นการประชดหรือความตั้งใจให้ไปทำจริงๆ

รวมไปถึง ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษาฯ ที่ประกาศลั่น ไทยเป็นชาติที่ 5 เอเชีย จะผลิตยานอวกาศ ทะยานรอบดวงจันทร์ ไม่เกิน 7 ปี ฐานยิงพร้อมนานแล้ว เล่นเอาทัวร์ลงคนแอบไปตั้งฐานยิงชนิดอยู่แบบไม่เป็นสุขเช่นกัน

 

ทั้งนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตตามมาถึง การศึกษายกกำลัง 2 ในเชิงเปรียบเทียบจากรายงานของยูเนสโก ที่ระบุว่า เด็กไทย ร้อยละ 80 ของเยาวชนไทยอายุ 15 ปี จะศึกษาอยู่ในโรงเรียน  มีเพียง ร้อยละ 46 เท่านั้น ที่สามารถหาข้อมูลซึ่งอาจต้องตีความหรือวิเคราะห์จากเนื้อหาได้ แต่อีกร้อยละ 54 ไม่สามารถทำได้ 

ว่ากันว่า เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าการรับรู้ซึ่งเป็นความสำคัญต่ออนาคตชาติบ้านเมืองโดยแท้ แทนที่คนระดับรัฐมนตรี ศธ. จะนำรายงานจากธนาคารโลก ไปใช้ประโยชน์ทำเพื่อการศึกษาไทยเกิดผลสัมฤทธิ์ในเชิงคุณภาพ แต่กลายเป็นการไม่ให้ความสำคัญและไม่ศึกษาเรียนรู้ข้อมูล หากเข้าสู่การประเมิน ควรจะอยู่ในกลุ่มระดับที่น่าเป็นห่วงเช่นเดียวกัน

EunewsSiam : เสวนากับบรรณาธิการ   

editor@edunewssiam.com

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)