“ณัฏฐพล” เซ็นยกเลิกนโยบายสอบ V-NET นักวิชาการห่วง! กระตุ้นสัญญาณอันตราย

“ณัฏฐพล” เซ็นยกเลิกนโยบายสอบ V-NET นักวิชาการห่วง! สร้างกระแสครูต้านข้อสอบ "สทศ.-สมศ.-สพฐ."

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ลงนามเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 ยกเลิกประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องนโยบายการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอาชีวศึกษา (V-NET) ลงวันที่ 16 กันยายน 2562

โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากผู้สำเร็จการศึกษาไม่ได้นำผลการทดสอบ V-NET ไปใช้ในการทำงานหรือการศึกษาต่อ ประกอบกับการจัดการศึกษาตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง มีการทดสอบมาตรฐานวิชาชีพก่อนสำเร็จการศึกษาด้วยแล้ว

อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อาจส่งผลต่อระดับคะแนนการทดสอบของกลุ่มนักเรียน นักศึกษาในบางพื้นที่ รวมทั้ง ศธ.มีนโยบายลดภาระให้กับนักเรียน นักศึกษา และลดความซ้ำซ้อนของการประเมินทางการศึกษา

จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 ให้ยกเลิกประกาศ ศธ.ดังกล่าว

ทั้งนี้ การดำเนินการทดสอบ V-NET ของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. ให้ถือเป็นสิทธิส่วนตัวโดยเฉพาะของนักเรียน นักศึกษาที่จะเข้ารับการทดสอบตามความสมัครใจ

ผู้สื่อข่าว สำนักข่าว EdunewsSiam รายงานด้วยว่า นับตั้งแต่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้ลงนามในหนังสือที่ ศธ. วันที่ 22 ธันวาคม 2563 แจ้งถึง ผศ.ดร.ศิริดา บุรชาติ ผู้อำนวยการ สทศ. ระบุว่า ศธ.เห็นควรยกเลิกการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในปีการศึกษา 2563 เป็นต้นไปนั้น

ปรากฏว่า กลายเป็นกระแสครูจำนวนมากในกลุ่มโซเชียลทางการศึกษาต่างๆ ได้โพสต์ข้อความสนับสนุนนายณัฏฐพล ส่วนใหญ่ให้เหตุผลสั้นๆ ว่า ประโยชน์ต่อเด็กน้อยมาก ทำให้เด็กเครียด และสิ้นเปลืองงบประมาณ

นอกจากนี้ ยังได้เสนอให้ยกเลิกการสอบโอเน็ตนักเรียนระดับชั้น ม.6 ด้วย รวมทั้งเสนอให้ยกเลิก N-NET (Non-Formal National Education Test) แบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ การศึกษานอกระบบโรงเรียน

เป็นการจัดทดสอบโดย สทศ. เพื่อวัดความรู้ให้แก่นักเรียนที่กำลังศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ที่คาดว่าจะสำเร็จการศึกษาในภาคเรียนที่ 1 และภาคเรียนที่ 2 ของปีการศึกษา รวมไปถึงเสนอให้ยุบ สทศ.

เสนอให้ยกเลิกการสอบ NT หรือการสอบประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน (NT: National Test) ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และลามไปถึงการเสนอให้ยกเลิกการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษาของ สมศ. หรือสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) และเสนอให้ยุบ สมศ.อีกด้วย

จนกระทั่งมีกลุ่มนักการศึกษาหลายคนวิพาษ์วิจารณ์ในทำนองว่า การดำเนินการของนายณัฏฐพลในการเสนอให้ยกเลิกการวัดประเมินผลการจัดการศึกษาของสถานศึกษาของ ศธ.จาก สทศ.นั้น เป็นแนวทางที่สวนทางกับการปฏิรูปการศึกษาหรือไม่ เพราะ สทศ.จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายปฏิรูปการศึกษา และมีผลการวิจัยต่างๆ รองรับการจัดตั้ง

นอกจากนี้ ยังกลายเป็นกระแสปฏิเสธการวัดประเมินผลโดยหน่วยงานกลางทั้งจาก สทศ. และ สมศ. ของครูในสถานศึกษาต่างๆ แม้แต่ปฏิเสธการสอบ NT ที่จัดโดย สพฐ.เองด้วยซ้ำ ซึ่งถือเป็นสัญญาณอันตรายต่อระบบการศึกษาไทย

 

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่าง เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)