งง? สอศ.สำรวจ 82% หนุนใช้ V-NET สวนทาง “ณัฏฐพล” สั่งยกเลิก

งง? สอศ.สำรวจ 82% หนุน V-NET สวนทาง “ณัฏฐพล” สั่งยกเลิก

พลันที่ปรากฏข่าว นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ลงนามเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 ยกเลิกประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องนโยบายการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอาชีวศึกษา (V-NET) ลงวันที่ 16 กันยายน 2562

โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากผู้สำเร็จการศึกษาไม่ได้นำผลการทดสอบ V-NET ไปใช้ในการทำงานหรือการศึกษาต่อ ประกอบกับการจัดการศึกษาตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง มีการทดสอบมาตรฐานวิชาชีพก่อนสำเร็จการศึกษาด้วยแล้ว

อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อาจส่งผลต่อระดับคะแนนการทดสอบของกลุ่มนักเรียน นักศึกษาในบางพื้นที่ รวมทั้ง ศธ.มีนโยบายลดภาระให้กับนักเรียน นักศึกษา และลดความซ้ำซ้อนของการประเมินทางการศึกษา จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 ให้ยกเลิกประกาศ ศธ.ดังกล่าว

ส่วนการดำเนินการทดสอบ V-NET ของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. ให้ถือเป็นสิทธิส่วนตัวโดยเฉพาะของนักเรียน นักศึกษาที่จะเข้ารับการทดสอบตามความสมัครใจนั้น

สำนักข่าว EdunewsSiam กลับได้รับเอกสารบทสรุปรายงานผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการทดสอบ V-NET ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เก็บข้อมูลวันที่ 4-22 มิถุนายน 2563 มีผู้ตอบแบบสำรวจ 8,905 คน ส่วนใหญ่ 82.27% เห็นด้วยกับการทดสอบ V-NET

ซึ่งถือว่า สวนทางกับหนังสือยกเลิกประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องนโยบายการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอาชีวศึกษา (V-NET) ซึ่งลงนามโดยนายณัฏฐพลดังกล่าว  

เอกสารดังกล่าวมีสาระสำคัญระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้พัฒนาหลักสูตรเพื่อให้สอดคล้องกับกรอบคุณวุฒิอาชีวศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2562 และเห็นสมควรให้มีการทบทวนเรื่องการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอาชีวศึกษา (V-NET)

โดยแต่งตั้งคณะทำงานสำรวจความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการทดสอบ V-NET ตามคำสั่ง สอศ.ที่ 629/2563 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ซึ่งคณะทำงานฯได้จัดทำแบบสำรวจโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทราบความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเพื่อทราบผลกระทบและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการทดสอบ V-NET

ผลการสำรวจความคิดเห็นมีผู้ตอบแบบสำรวจ จำนวน 8,905 คน สรุปได้ดังนี้

1.ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 56.02 ระดับการศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพ ร้อยละ 34.78 สถานภาพเป็นผู้เรียน ร้อยละ 65.00 สังกัด สอศ. ร้อยละ 93.33 ที่ตั้งสถานศึกษา สถานประกอบการ หน่วยงาน อยู่ในภาคกลาง ร้อยละ 28.11

2.ผู้ตอบแบบสำรวจเข้าใจวัตถุประสงค์ในการทดสอบ V-NET ของ สทศ. ระดับปานกลาง ร้อยละ 42.76 ระดับมาก ร้อยละ 37.53 ระดับมากที่สุด ร้อยละ 11.09 ระดับน้อย ร้อยละ 6.37 และระดับน้อยที่สุด ร้อยละ 2.25

3.ผู้ตอบแบบสำรวจคิดว่าผู้เรียนสนใจเข้าร่วมการทดสอบ V-NET ระดับปานกลาง ร้อยละ 43.65 ระดับมาก ร้อยละ 35.29 ระดับมากที่สุด ร้อยละ9.16 ระดับน้อยร้อยละ 8.47 และระดับน้อยที่สุด ร้อยละ 3.43

4.ผู้ตอบแบบสำรวจคิดว่า ผลการทดสอบ V-NET ได้นำไปใช้ประโยชน์ ร้อยละ 79.58 และไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ ร้อยละ 20.42

5.ผู้ตอบแบบสำรวจคิดว่า ผลการทดสอบ V-NET นำไปใช้ประโยชน์ด้านการศึกษาต่อ ร้อยละ 49.19 ด้านการสมัครงานหรือการประกอบอาชีพ ร้อยละ 36.88 ด้านการปรับปรุงคุณภาพการจัดการเรียนการสอน ร้อยละ 31.03 ด้านการบริหารจัดการอาชีวศึกษา ร้อยละ 26.53 ด้านการประกันคุณภาพ ร้อยละ 24.89

6.ผู้ตอบแบบสำรวจเห็นด้วยกับการที่ผู้เรียนอาชีวศึกษาควรเข้ารับการทดสอบ V-NET ร้อยละ 82.27 และไม่เห็นด้วย ร้อยละ 17.73

7.ผู้ตอบแบบสำรวจเห็นด้วยกับการที่ผู้เรียนอาชีวศึกษาควรเข้ารับการทดสอบ V-NET ร้อยละ 82.27 เหตุผลที่เห็นด้วยแยกตามประเด็นดังนี้

7.1 ด้านคุณภาพผู้เรียน เป็นการวัดและประเมินความรู้ความเข้าใจพื้นฐาน ความสามารถและสมรรถนะ ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ก่อนสำเร็จการศึกษา ทำให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์ ทบทวนความรู้และพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพ ความรู้ ความชำนาญมากขึ้น สามารถนำผลการทดสอบไปใช้ในการเรียนและศึกษาต่อในระดับ ที่สูงขึ้น ใช้ในชีวิตประจำวันและนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์พัฒนาด้านอื่นในอนาคต

7.2 ด้านคุณภาพการจัดการศึกษา สถานศึกษานำผลการทดสอบไปปรับปรุงพัฒนาคุณภาพยกระดับการจัดการเรียนการสอน เนื่องจากการทดสอบใช้เกณฑ์มาตรฐานเดียวกันในแต่ละระดับ สร้างมาตรฐานความเชื่อมั่นต่อคุณภาพการศึกษา

7.3 ด้านสถานศึกษา เป็นการวัดมาตรฐานคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษา ผลการทดสอบใช้ในงานประกันคุณภาพสถานศึกษา และสร้างภาพลักษณ์ความเชื่อมั่นให้สถานศึกษาและผู้เรียนอาชีวศึกษา

7.4 ด้านครู ผลการทดสอบเป็นตัววัดคุณภาพการสอนของครู และนำไปพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ของครูเพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ผู้เรียน

7.5 ด้านอื่นๆ 7.5.1 เป็นการกระจายรายได้ภาครัฐสู่สถานศึกษา 7.5.2 เป็นแนวทางใหม่ท้าทายการเรียนรู้

8.ผู้ตอบแบบสำรวจไม่เห็นด้วยกับการที่ผู้เรียนอาชีวศึกษาควรเข้ารับการทดสอบ  V-NET เพียงร้อยละ 17.73

9.ผลกระทบจากการทดสอบ V-NET 9.1 ด้านบวก ผู้เรียนได้ประเมินความรู้ของตนเองและได้รับการพัฒนาความรู้ เตรียมพร้อมสู่การทำงานจริง มีทักษะทางวิชาการ และมีชีวิตสอดคล้องกับกับคนในศตวรรษที่ 21 และผู้เรียนอาชีวศึกษามีคุณภาพ ตามมาตรฐานการศึกษาวิชาชีพ สามารถนำผลการทดสอบไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาต่อ

สถานศึกษาได้นำผลไปพัฒนาระบบการบริหารจัดการภายในสถานศึกษา ทราบจุดอ่อนหรือรายวิชาที่ด้อย คุณภาพของครูผู้สอน คุณภาพของการวัดประเมินผล และหาแนวทางแก้ไขได้ตรงจุด ทำให้อาชีวศึกษาเป็นมาตรฐานสากล พัฒนาคุณภาพทางการศึกษาให้ดีขึ้น การสอบมีมาตรฐาน

9.2 ด้านลบ ผู้เรียนไม่ได้ประโยชน์โดยตรงจากการทดสอบ V-NET และคะแนน V-NET ไม่มีผลต่อการสำเร็จการศึกษา จึงไม่สนใจและไม่ให้ความสำคัญกับการทดสอบและไม่ตั้งใจทำข้อสอบ ไม่สะท้อนความสามารถที่แท้จริงของผู้เรียน ค่าเฉลี่ยผลการทดสอบในภาพรวมต่ำ ทำให้ภาพลักษณ์ของการอาชีวศึกษาดูไม่ดี ข้อสอบยากไม่ตรงกับที่เรียน

และกระทบต่อการประเมินคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาตามมาตรฐานการอาชีวศึกษา พ.ศ.2561 ด้านที่ 1 ด้านผู้เรียนและผู้สำเร็จการศึกษา ข้อ 1.7 ผลการทดสอบ V-NET เนื่องจากคะแนนของผู้เข้ารับการทดสอบต่ำกว่าเกณฑ์ ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณและเวลาโดยไม่จำเป็น ไม่ทราบสมรรถนะที่แท้จริงของผู้เรียนด้านวิชาชีพ ซ้ำซ้อน เพราะอาชีวศึกษามีการประเมินมาตรฐานวิชาชีพทุกสาขาวิชาอยู่แล้ว

นอกจากนี้ บางสถานศึกษาไม่ได้เป็นสนามสอบ ทำให้ผู้เรียนไม่สะดวก ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง หรือเป็นภาระของสถานศึกษาที่ต้องจัดยานพาหนะพาผู้เรียนไปสอบ การไม่ทราบวัตถุประสงค์ของการทดสอบ ขอบข่ายของการทดสอบ ทำให้ผู้เรียนเตรียมตัวสอบไม่ตรงกับข้อสอบ การได้รับข่าวสารไม่เพียงพอ ผู้รับผิดชอบแจ้งผลการประเมินให้ผู้บริหารทราบ แต่ไม่แจ้งให้ครูทราบ

10.ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมของผู้ตอบแบบสำรวจ 10.1 ระดับนโยบาย 10.1.1 ผู้ตอบแบบสำรวจที่เห็นด้วยกับการทดสอบมีข้อเสนอแนะว่า 1) การทดสอบ V-NET เกี่ยวข้องกับการศึกษา สร้างความเชื่อมั่นให้กับสถานศึกษา ผู้ปกครอง ผู้เรียนและสังคม นอกจากนี้ เป็นการพัฒนาครูและผู้เรียนได้ดี

2) ต้องประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจเรื่องการทดสอบ V-NET ที่ถูกต้องให้กับผู้มี ส่วนเกี่ยวข้องทุกคน ครูต้องแนะน าถึงผลดีของการทดสอบให้ผู้เรียน 3) ควรเปิดเผยข้อสอบที่สอบไปแล้ว เพื่อช่วยกันวิเคราะห์ข้อสอบว่าวัดตรงเป็นที่ ยอมรับหรือไม่ แบบทดสอบควรมีความเชื่อมั่นและเที่ยงตรงสามารถวัดได้อย่างมีคุณภาพ

4) คะแนนส่วนหนึ่งของ V-NET ควรเป็นเงื่อนไขในการสำเร็จการศึกษา จึงจะมี ความสำคัญ และสามารถสอบซ่อมได้และลงในใบ รบ. 5) ควรนำผลการทดสอบไปเป็นข้อกำหนดหรือเงื่อนไข เช่น ผู้เรียนสอบได้คะแนนสูงกว่าระดับชาติหรือคะแนนสูงสุดของประเทศ มีสิทธิเข้าศึกษาต่อในสถานศึกษาชั้นนำ หรือเป็นคะแนนพิเศษในการเข้าศึกษาต่อหรือเข้าทำงาน

10.2 ระดับสถานศึกษา 10.2.1 ควรนำผลการทดสอบมาใช้พัฒนาคุณภาพการศึกษาหรือนำไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อไป 10.2.2 สถานศึกษาควรแจ้งผลการสอบให้ผู้เรียนแต่ละคนทราบ 10.2.3 มองในแง่บวก ทำให้สถานศึกษาได้พัฒนาการศึกษาของผู้เรียนให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ โดยไม่ควรไปกดดันให้เด็กไม่อยากเรียนและสอบ ต้องมีวิธีปฏิบัติในแง่จิตวิทยาด้วย 10.2.4 มีการทบทวนเนื้อหา ติวผู้เรียนก่อนทดสอบ

11.ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 11.1.ควรมีการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาหารูปแบบการทดสอบ V-NET ที่สอดคล้องกับมาตรฐานการอาชีวศึกษา และตัวชี้วัดตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 11.2 สทศ.และ สอศ.ควรมีการประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจการรับรู้ในเรื่องความสำคัญของการทดสอบ V-NET แก่ผู้บริหารสถานศึกษา ครู ผู้เรียน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

11.3 ควรนำผลการทดสอบ V-NET และผลการประเมินมาตรฐานวิชาชีพมาบูรณาการเพื่อเป็นตัวชี้วัดคุณภาพของผู้เรียนในการศึกษาต่อหรือประกอบอาชีพ 11.4 แบบทดสอบ V-NET ควรมีความสอดคล้องกับปรัชญาการจัดการอาชีวศึกษา “ทักษะเยี่ยม เปี่ยมคุณธรรม ล้ำเลิศวิชา ใช้เวลาให้เกิดคุณ”

11.5 สอศ.ควรกำหนดนโยบายให้สถานศึกษานำผลการทดสอบไปวิเคราะห์เพื่อนำสู่การพัฒนาและยกระดับการสอนของครู 11.6 สอศ.ควรมีนโยบายสนับสนุนเพื่อสร้างแรงจูงใจให้สถานประกอบการนำผลการทดสอบ V-NET ของผู้เรียนไปใช้ในการรับเข้าทำงานและเพิ่มค่าตอบแทน

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่าง เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)