เปิดบันทึก สทศ. ถึง 'ณัฏฐพล-ครม.' แจงละเอียดยิบ!ทำไมต้องสอบ ‘O-NET’-‘V-NET’

เปิดบันทึก “สทศ.” ถึง “ณัฏฐพล-ครม.” แจงละเอียดยิบ!ทำไมต้องสอบ ‘O-NET’-‘V-NET’

จากกรณีมติคณะกรรมการ (บอร์ด) สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. จะวิเคราะห์ข้อมูลผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบ กรณีการทดสอบหรือยกเลิกการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) นำเสนอต่อนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อให้นำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตัดสิน

สืบเนื่องจากที่นายณัฏฐพล ได้ทำหนังสือแจ้งถึง ผศ.ดร.ศิริดา บุรชาติ ผู้อำนวยการ สทศ. เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 เสนอเห็นควรให้มีการยกเลิกการทดสอบโอเน็ตนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 เป็นต้นไป

ตลอดจนถึงกรณีล่าสุดที่นายณัฏฐพล ในฐานะรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้ลงนามเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 ยกเลิกประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องนโยบายการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอาชีวศึกษา V-NET (Vocational National Educational Test) ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 เป็นต้นไปนั้น

สำนักข่าว EdunewsSiam ขอเปิดบันทึกชี้แจงผลการวิเคราะห์ข้อมูลผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบ กรณีการทดสอบหรือยกเลิกการทดสอบ O-NET และ V-NET  ของ สทศ. ที่ส่งไปถึงนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้นำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาตัดสิน โดยมีสาระดังต่อไปนี้

“สทศ.ขอเรียนว่า การทดสอบ O-NET และ V-NET เป็นการวัดมาตรฐานกลางการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ เพื่อนำผลไปใช้ในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ซึ่งสอดคล้องกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 รวมทั้งยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ

ตลอดจนเพื่อให้ได้ผลการทดสอบที่เป็นมาตรฐานระดับชาติที่เกิดจากหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่จัดการทดสอบในโรงเรียนที่มีกระบวนการเรียนการสอนที่แตกต่างกันหรืออยู่ภายใต้สังกัดหน่วยงานอื่น แต่ภายใต้หลักสูตรการเรียนการสอนฯเดียวกัน

การจะยกเลิกการจัดสอบดังกล่าว จำเป็นต้องมีข้อพิจารณาในด้านต่างๆ เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อการใช้ประโยชน์และต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สทศ. โดยคณะกรรมการ สทศ. จึงขอนำเรียนเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องในแง่มุมต่างๆ เพื่อประกอบการดำเนินการตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้

ข้อ 1. O-NET ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ V-NET ประกาศนียบัตรวิชาชีพ ชั้นปีที่ 3 ปีการศึกษา 2563

1.1 กระบวนการจัดการทดสอบ ในการจัดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติที่มีผู้เข้าสอบจำนวนมาก มีพื้นที่ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยในปีการศึกษา 2563 มีผู้ที่มีสิทธิสอบ O-NET ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 772,834 คน, ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 717,572 คน และ V-NET ประกาศนียบัตรวิชาชีพ ชั้นปีที่ 3 จำนวน 163,426 คน

ขณะนี้ สทศ.ได้ดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการประจำปีที่กำหนด ซึ่งผ่านความเห็นชอบที่ประชุมคณะกรรมการ สทศ. ซึ่งมีเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเป็นกรรมการโดยตำแหน่งร่วมอยู่ด้วย และได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการประจำปีเรียบร้อยแล้วเป็นส่วนใหญ่

นอกจากในการเตรียมการข้างต้น สทศ.ยังได้ประชุมชี้แจงเตรียมความพร้อมในการจัดสอบ O-NET ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6, ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และการจัดสอบ V-NET ประกาศนียบัตรวิชาชีพ ชั้นปีที่ 3 ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 รวม 304 ศูนย์สอบ และเปิดระบบการส่งข้อมูลและจัดสนามสอบ จัดทำคู่มือสำหรับสนามสอบและการคุมสอบและวีดิทัศน์การคุมสอบของการทดสอบ O-NET

ทั้งนี้ ยังได้พิมพ์แบบทดสอบกระดาษคำตอบและเอกสารการสอบ O-NET ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 4 วิชา วิชาละ 800,000 ฉบับ เรียบร้อยแล้ว และนอกจากนี้ สทศ. ได้จัดประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดสอบ V-NET ด้วยระบบ Digital Testing ให้กับศูนย์สอบและตัวแทนอาชีวศึกษาจังหวัดเป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วย           

1.2 งบประมาณที่ได้ใช้ไปในการดำเนินการ สทศ.ได้ดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการประจำปีที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ปีการศึกษา 2563 ที่กำหนดไว้เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่กระบวนการสร้างและพัฒนาแบบทดสอบทั้งแบบปรนัยและแบบอัตนัย การผลิต การจัดทำคู่มือ การประชุมชี้แจง การประชาสัมพันธ์ที่พร้อมจะดำเนินการจัดการทดสอบ

และการอบรมครูในการเป็นผู้ตรวจข้อสอบอัตนัย ที่ได้มีการใช้จ่ายงบประมาณไปแล้วจำนวนประมาณ 99 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมค่าใช้จ่ายและสัญญาจัดซื้อจัดจ้างที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการ ซึ่งหากจะมีการยกเลิกอาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับความรับผิดชอบของ สทศ.ในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณที่ได้ใช้ไปแล้วและที่กำลังผูกพันอยู่

1.3 การใช้ประโยชน์จากผลการทดสอบ ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาตินอกจากกระทรวงศึกษาธิการนำผลไปใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอนแล้ว ยังมีหน่วยงานอื่นๆ นำผลไปใช้อีก เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ใช้ผลการทดสอบ O-NET เป็นตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) SDG ๐๔ เป้าหมายที่ ๔ สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต

โดยกำหนดเป้าหมายย่อย SDG ๐๔๐๑ สร้างหลักประกันว่า เด็กชายและเด็กหญิงทุกคนสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียม และไม่มีค่าใช้จ่าย นำไปสู่ผลลัพธ์ทางการเรียนที่มีประสิทธิผล ภายในปี พ.ศ.๒๕๗๓ โดยมีตัวชี้วัดเทียบเคียง คือ คะแนนเฉลี่ยผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ระดับ (ก) ป.๖ และ (ข) ม.๓ จำแนกตามรายวิชา (๑) ภาษาไทย (๒) คณิตศาสตร์ (๓) วิทยาศาสตร์ (๔) สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม (๕) ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ)

โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ในโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในพระชนมายุ 65 พรรษา โดยนำผลการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) และระบบการทดสอบทางการศึกษาแบบดิจิทัล (National Digital Testing Platform) ไปใช้ในการยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน

โดยนำผล O-NET ย้อนหลัง 5 ปี ไปบูรณาการกับหลักสูตรแกนกลางฯ และโครงการพระราชดำริฯ ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักเรียนและครูผู้สอน ในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอน และการประเมินผล ซึ่งช่วยลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มความเสมอภาคในเรื่องการศึกษา เป็นต้น

ข้อ 2 แนวทางการพัฒนาการวัดและประเมินผลการจัดการศึกษาและการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ    

การวัดและประเมินผลการจัดการศึกษาและการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ เป็นการวัดและประเมินความรู้ ความคิดรอบยอดของผู้เรียนตามหลักสูตรแกนกลาง และวัดทักษะการคิดวิเคราะห์ การเชี่อมโยงความคิด ฯลฯ เพื่อเป็นข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในภาพรวมของประเทศ ที่สามารถจำแนกเป็นรายภูมิภาค รายสถานศึกษา และผู้เรียนรายบุคคล

เพื่อใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงการจัดการศึกษา และพัฒนาให้การจัดการศึกษาของประเทศอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในแต่ละพื้นที่ และเพิ่มการเชื่อมโยงการศึกษาของประเทศไปสู่ระดับสากล

ขณะนี้ สทศ.อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบ วิธีการ และลักษณะการจัดการทดสอบในแบบต่างๆ ทั้งการทดสอบมาตรฐานกลางที่ทดสอบอยู่ในปัจจุบัน และการทดสอบวัดทักษะความสามารถเฉพาะบุคคล เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักเรียนหรือผู้ปกครองที่สนใจ

นอกจากนี้ ยังศึกษาการทดสอบการวัดและประเมินผลทางการศึกษาในอนาคตเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ให้เป็นตามเป้าหมายของหลักสูตรการศึกษาในแต่ละประเภทในอนาคต รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีในการทดสอบและข้อสอบที่เหมาะสมกับการเรียนการสอน และการประเมินผลของการพัฒนาการจัดการศึกษาระดับชาติ

เพื่อเป็นข้อมูลป้อนกลับที่เป็นประโยชน์กับผู้เรียน สถานศึกษา เขตพื้นที่ และผู้กำหนดนโยบายการจัดการศึกษา รวมตลอดถึงรูปแบบและวิธีการวัดและประเมินผลในระดับชาติ

ข้อ 3 บทบาทหน้าที่ของ สทศ. ในการจัดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ

สทศ.เป็นองค์การมหาชน ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559 อันเป็นหน่วยงานของรัฐประเภทที่ 3

มีภารกิจเฉพาะเกี่ยวกับการประเมินผลการจัดการศึกษา และการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ฯลฯ ตามมาตรา 7 และมาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งดังกล่าว

นอกจากนี้ ในมาตรา 40 ของพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 กำหนดให้รัฐมนตรีมีอํานาจหน้าที่กํากับดูแลการดําเนินกิจการของ สทศ. ให้เป็นไปตามกฎหมายและให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง สทศ. ยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายของรัฐบาล มติของคณะรัฐมนตรี และแผนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งเป็นส่วนที่เพิ่มเติมจากมาตรา 40 ของพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งฯ พ.ศ.2548 อันเป็นการแสดงให้เห็นว่า การปรับแก้พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งฯในส่วนนี้ได้สร้างความรับผิดชอบให้กับ สทศ.เพิ่มขึ้นไปจากที่เคยกำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งฯในฉบับแรก เนื่องจากในการดำเนินงานของ สทศ.นอกจากจะดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งฯมาตรา 7 มาตรา 8 แล้ว

สทศ.ยังต้องดำเนินการให้สอดกับยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายรัฐบาล และมติคณะรัฐมนตรี เพื่อให้การบริหารงานและภารกิจ สทศ.มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น ตามหมายเหตุท้ายพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561

จากการปรับแก้ไขพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งฯดังกล่าว สทศ.จึงได้ให้ความสำคัญกับภารกิจต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งรวมทั้งภารกิจตามยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายของรัฐบาล มติของคณะรัฐมนตรี และแผนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ การจัดการทดสอบ O-NET และ V-NET ถือเป็นภารกิจที่สำคัญภารกิจหนึ่ง ที่มีหลายหน่วยงานนำผลการทดสอบไปใช้เป็นตัวชี้วัดในการจัดการศึกษาในระดับชาติ (ตามที่ได้สรุปและนำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไปก่อนหน้านี้แล้ว ตามหนังสือที่อ้างถึง 3)

และจากหลักการข้างต้น สทศ.มีภารกิจในการให้บริการสาธารณะด้านการประเมินผลการจัดการศึกษา และการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ฯลฯ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้วย

ดังนั้น สทศ.จึงต้องตอบสนองต่อตัวชี้วัดของหน่วยงานต่างๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ นอกเหนือไปจากนโยบายและอำนาจหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการแต่เพียงประการเดียว

ทั้งนี้ หากมีความเห็นต่าง โดยเฉพาะเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ นโยบายของรัฐบาล มติของคณะรัฐมนตรี และหรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกระทรวงศึกษาธิการ จึงสมควรเสนอให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ตัดสินใจ

ข้อ 4 สถานการณ์ COVID-19 กับการจัดการทดสอบ

4.1 การทดสอบ O-NET ปีการศึกษา 2562 และการทดสอบอื่นๆ ซึ่งมีการดำเนินการในช่วงต้นปี พ.ศ.2563 ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 สทศ.ได้ดำเนินการตามมาตรการที่จำเป็นต่อการป้องกันการแพร่ระบาด COVID-19 ได้ตามที่กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด

4.2 สำหรับการจัดการทดสอบของปีการศึกษา 2563 ซึ่งจะดำเนินการในช่วงต้นปี พ.ศ.2564 สทศ.ก็ได้มีการวางแผนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ตามมาตรการที่รัฐบาลกำหนด รวมทั้งมาตรการและวิธีการต่างๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

4.3 ด้วยสถานการณ์ COVID-19 นี้ ทำให้รูปแบบการเรียนการสอนได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากและรวดเร็ว ทั้งรูปแบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ในระบบโรงเรียน ในระบบผสม หรือในระบบทางไกล การจัดการสอบทางการศึกษาระดับชาติจึงมีความจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อการวัดมาตรฐานการเรียนการสอนภายใต้รูปแบบที่แตกต่างกันดังกล่าว

ทั้งยังเป็นข้อมูลสำหรับเหตุผลในการปรับปรุงหรือพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์และวัตถุประสงค์ยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขของการดำเนินการจัดสอบที่จะต้องมีมาตรฐาน และจะต้องเป็นไปตามมาตรการการป้องกัน COVID-19 อย่างเคร่งครัด 

ข้อ 5 บทสรุป ด้วยข้อมูลข้างต้น ที่ประชุมคณะกรรมการ สทศ.ในการประชุม ครั้งที่ 12/2563 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2563 จึงมีมติว่า ไม่ขัดข้องที่จะยกเลิกการทดสอบ O-NET ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6, ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ V-NET ประกาศนียบัตรวิชาชีพ ชั้นปีที่ 3 ในปีการศึกษา 2563 ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อันเนื่องมาจากผลกระทบจากการแพร่ระบาด COVID-19

แต่คณะกรรมการ สทศ.มีความเห็นว่า ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีการทดสอบเพื่อประเมินมาตรฐานการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของชาติ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและสร้างหลักประกันว่า ทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียมกัน และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตตามที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำหนดไว้

ซึ่งคณะกรรมการ สทศ.ยังมีความกังวลต่อการดำเนินการยกเลิกการทดสอบแบบฉับพลัน เพราะการยกเลิกดังกล่าวทำให้เกิดผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ผลการทดสอบระดับชาติที่เป็นมาตรฐานกลาง และยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งแผนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งสมควรที่จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตัดสินใจก่อน

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ สทศ.ขอเรียนว่า ไม่ขัดข้องที่จะดำเนินการตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หากเห็นว่าจะไม่กระทบกับหน้าที่และอำนาจในเชิงกฎหมาย

และเชิงการใช้ประโยชน์ของผลการทดสอบที่จะถูกนำไปใช้เป็นตัวชี้วัดการจัดการเรียนการสอน และการวัดผลประเมินผลของการจัดการเรียนการสอนในระดับชาติของหน่วยงานต่างๆ

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่าง เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)