“เป็นสาวก่อนวัย” รับมือ-เข้าใจ-ไม่มองข้าม

 

เรื่องโดย: ปัญจวรา บุญสร้างสม Team Content www.thaihealth.or.th ข้อมูลบางส่วนจากงานแถลงผลการศึกษา “สถานการณ์การเข้าสู่วัยสาวของเด็กไทย”

 

 

ภาวะการเป็นสาวก่อนวัยเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเด็กผู้หญิง ที่ต้องเตรียมตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งจะส่งผลต่อชีวิต ดังนั้น พวกเขาจึงควรมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการดูแลตนเอง รวมทั้งได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อลดปัญหาต่างๆ ทางสังคมที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต

 

ศาสตราจารย์ ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเป็นสาวก่อนวัย คือภาวะที่เด็กหญิงมีประจำเดือนเร็วกว่าปกติ โดยเฉลี่ยแล้วอายุเริ่มแรกของการมีประจำเดือนของเด็กหญิงในประเทศไทย คือ 11.57 ปี โดยอายุแรกเริ่มต่ำสุด 7.96 ปี และสูงสุดเท่ากับ 16.92 ปี 

 

ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะการเป็นสาวก่อนวัยมีหลายปัจจัย เช่น น้ำหนัก หรือปริมาณไขมันในร่างกาย การรับชมสื่อลามกอนาจาร มวลกล้ามเนื้อไม่สมดุล และปัจจัยด้านพฤติกรรมการบริโภคอาหาร เช่น การรับประทานขนม น้ำอัดลม ชา กาแฟ อาหารฟาสต์ฟูด หรืออาหารเสริม เช่น วิตามินต่างๆ รวมทั้งการใช้เครื่องสำอางเวชภัณฑ์ด้วย

 

การรักษาเด็กที่เป็นสาวก่อนวัยนั้น จำเป็นต้องใช้ยาฉีดในการลดระดับฮอร์โมนในร่างกายเด็ก ซึ่งมีค่าใช้จ่ายอยู่ในเกณฑ์สูง โดยภาระค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ครัวเรือนและภาครัฐจำเป็นที่จะต้องแบกรับ และหากครัวเรือนมีข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ หรือภาครัฐไม่มีสวัสดิการรองรับการรักษาพยาบาลในเรื่องดังกล่าวที่มีคุณภาพอย่างเพียงพอ 

 

เด็กอาจไม่ได้รับการรักษาด้วยเทคนิคทางการแพทย์อย่างถูกต้องตามหลักวิชาและนำมาซึ่งผลเสียต่อพัฒนาการทางร่างกายของเด็ก

 

นอกจากนี้ การเป็นสาวก่อนวัยยังเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น หรือ แม่วัยใส/แม่วัยรุ่น ที่เป็นปัญหาเรื้อรังมากกว่าหลายทศวรรษโดยเฉพาะในประเทศไทย

 

7 สัญญาณการเริ่มเข้าสู่วัยสาว

1.มีน้ำมีนวลเหมือนจะอ้วน ตัวสูงใหญ่ขึ้น-สูงเร็วขึ้น

2.มีสิวขึ้นบนใบหน้าและตามตัว แถมเริ่มมีกลิ่นตัวที่รักแร้

3.มีสัญญาณของหน้าอกขึ้น มีตุ่มหรือก้อนเล็กๆ ใต้ลานนม หัวนมมีสีคล้ำขึ้น และเจ็บหน้าอก

4.เสียงเปลี่ยน ไม่แหลมเหมือนเดิม

5.สะโพกใหญ่ขึ้น มีก้นป่องๆ แต่เอวกลับคอดลง เห็นเป็นเอวชัดขึ้น

6.น้องจุ๋มจิ๋ม(อวัยวะเพศ) ใหญ่ขึ้น และเริ่มมีขนขึ้นบริเวณนั้น

7.เริ่มมีประจำเดือน รวมถึงมีการตกขาว

 

ผลกระทบจากการเป็นสาวก่อนวัย

การเป็นสาวก่อนวัยส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจของเด็กอีกทางหนึ่ง ดังนี้

 

1.พัฒนาของเด็กจะเกิดขึ้นและจบลงอย่างรวดเร็วจากภาวะ “กระดูกปิด” ซึ่งส่งผลทำให้เด็กมีรูปร่างที่เตี้ยกว่าศักยภาพของพันธุกรรมหรือเตี้ยกว่าเด็กทั่ว ๆ ไป

 

2.เด็กที่เข้าสู่วัยสาวเร็วกว่าเพื่อน อาจเกิดความรู้สึกแปลกแยก และกระอักกระอ่วนจากการที่มีร่างกายเป็นผู้ใหญ่ แต่จิตใจและความรู้สึกนึกคิดยังเป็นเด็กอยู่ หรืออาจถูกล้อเลียนเรื่องขนาดของเต้านม และอวัยวะต่าง ๆ และร้ายแรงที่สุด คือ การถูกล่วงละเมิดทางเพศจากการที่ยังไม่มีวุฒิภาวะในการปกป้องตนเอง

 

3.พบข้อสันนิษฐานทางการแพทย์ว่า การที่เด็กมีเต้านมขึ้นเร็วอาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งเต้านมมากขึ้น

 

นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า สถานการณ์ “การเป็นสาวก่อนวัย หรือ Early Puberty” เป็นประเด็นที่ส่งผลต่อสุขภาพอย่างมาก ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต รวมถึงความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ (NCDs)

 

สสส.ให้ความสำคัญและเข้ามาสนับสนุนการวิจัยในเรื่องนี้ เพราะต้องการศึกษาถึงสาเหตุ และปัญหาที่เกิดจากภาวะการเป็นสาวก่อนวัยอย่างชัดเจน และครอบคลุมในระดับประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลในการสะกิดสังคม และภาคนโยบายให้เกิดความตระหนักว่า การเลี้ยงดูเด็กรุ่นใหม่ให้ห่างไกลจากภาวะเป็นสาวก่อนวัย เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ 

 

ร่วมมือกันวางมาตรการป้องกันและรับมือทั้งในระดับครัวเรือนและระดับสังคม รวมทั้งต้องการสร้างภูมิคุ้มกันเด็กผู้หญิง โดยการให้ความรู้ และข้อมูลที่ถูกต้อง 

 

“เพื่อให้เด็กๆ สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจของตนเองได้ รวมทั้งมีความเชื่อที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการมีประจำเดือน ว่าเป็นพัฒนาการการเติบโตของร่างกายตามธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องผิดแปลก เสียหาย หรือน่าอับอายแต่อย่างใด” นางสาวณัฐยา กล่าว

 

หากเราสามารถปรับวิธีดูแลเด็กไม่ให้เป็นสาวก่อนวัย จะเท่ากับเราส่งเสริมให้เด็กมีฐานทุนชีวิตในด้านสุขภาพที่ดี พร้อมเจริญเติบโตเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ลดอุบัติการณ์ของโรคไม่ติดต่อต่างๆ และโรคในระบบอนามัยการเจริญพันธุ์ได้ในอนาคต

 

 

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่าง เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)