ใคร "ถูก-ผิด"? จากมุมมอง ปธ.ชมรม ผอ.สพท. .."โอเน็ต สทศ." ป่วน ร.ร.!

ใคร "ถูก-ผิด"? จากมุมมอง ปธ.ชมรม ผอ.สพท. .."โอเน็ต สทศ." ป่วนชั้นเรียน! ครูต้องเอาเวลาสอน มาจัดติวเด็ก

จากกรณีสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. ทำหนังสือถึงนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นต่างๆ ในการจัดทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) และการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอาชีวศึกษา V-NET (Vocational National Educational Test) 

เพราะเป็นไปตามกฎหมาย หรือยุทธศาสตร์ชาติ และเป็นตัวชี้วัดคุณภาพผู้เรียนของแต่ละคน เพื่อใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงการจัดการศึกษา และพัฒนาให้การจัดการศึกษาอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในแต่ละพื้นที่ และเพิ่มการเชื่อมโยงการศึกษาของประเทศไปสู่ระดับสากล รวมทั้งเป็นการใช้ประโยชน์จากผลการทดสอบนำไปใช้กับหน่วยงานบางหน่วยงานนั้น

เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 นายธนชน มุทาพร อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 1 และประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.) ได้กล่าวแสดงความเห็นเรื่องนี้ว่า 

จากเหตุผลดังกล่าวที่ สทศ.ได้ยกมากล่าวอ้างนั้น ชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทยเข้าใจในบทบาทของ สทศ. และเห็นด้วยในหลักการที่จะให้มีการทดสอบโอเน็ต เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้มีความเท่าเทียมกัน และเป็นไปตามมาตรฐานสากล

แต่นั่นคือในสภาวการณ์ปกติ ตราบใดถ้ายังไม่มีการแก้ไขกฎหมาย หลักเกณฑ์หรือแนวทางปฏิบัติ ศธ.ก็มิอาจหลีกเลี่ยงที่จะไม่ให้มีการทดสอบโดยไม่มีปี่มีขลุ่ย 

แต่เนื่องจากในสถานการณ์เกิดโรคระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปีการศึกษาที่แล้ว จนทำให้การเปิดภาคเรียนแรกต้องเลื่อนออกไปอีกเกือบ 2 เดือน หนำซ้ำช่วงแรกนักเรียนหลายโรงเรียนต้องสลับวันกันมาเรียน แม้จะเรียนทางออนไลน์ก็ตาม แต่คงไม่ได้ผลเต็มที่เท่าไหร่นัก 

และพอเปิดเรียนภาคที่สอง โควิด-19 ก็กลับมาระบาดซ้ำ และมีแนวโน้มจะระบาดรุนแรงกว่าครั้งแรก โรงเรียนหลายแห่งต้องสั่งปิดเรียนด้วยเหตพิเศษ จึงส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนอย่างมาก

ดังนั้น ถ้าหากมีการทดสอบโอเน็ตเหมือนเดิม ย่อมจะทำให้ผลการทดสอบโอเน็ตทุกระดับลดลงกว่าเดิมแน่นอน เมื่อผลการทดสอบลดลง ศธ.ก็จะตกเป็นจำเลยของสังคมอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

ฉะนั้น การที่นายณัฏฐพลเสนอให้ สทศ.ยกเลิกการสอบโอเน็ตในปีนี้ ชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย จึงขอสนับสนุนข้อเสนอดังกล่าวนี้ ซึ่งได้รับการแซ่สร้องจากข้าราชการครูทั่วประเทศเกือบ 100% ก็ว่าได้ และในอนาคตเห็นควรปรับวิธีการสอบโอเนตให้มีความเหมาะสมมากกว่านี้

คือไม่จำเป็นต้องทดสอบทุกคน และไม่จำเป็นต้องทดสอบทุกปี และแบบทดสอบควรพัฒนาให้สามารถวัดสมรรถนะของผู้เรียนให้ครอบคลุมทุกทักษะ เพราะเครื่องมือทดสอบโอเน็ตในทุกวันนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า มุ่งแต่วัดผลด้านทักษะวิชาการมากกว่าทักษะอื่น

ในขณะที่ความเป็นจริงของการดำรงชีวิตให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ไม่เป็นภาระแก่สังคม ทักษะวิชาการเพียงอย่างเดียวไม่สามารถที่จะทำให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ การพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพอย่างแท้จริง จะต้องพัฒนาให้สมดุลกันทั้งทักษะวิชาการ ทักษะวิชาชีพ และทักษะชีวิต

ประธาน ชร.ผอ.สพท. กล่าวต่อว่า การทดสอบโอเน็ตของ สทศ.ที่ผ่านมา ทำให้กระบวนการเรียนการสอนในชั้นเรียนรวนไปหมด เพราะสถานศึกษาทุกแห่งมุ่งเน้นพัฒนาการเรียนการสอนเฉพาะทักษะวิชาการเป็นสำคัญ มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดในหลักสูตรที่ต้องอาศัยกระบวนการเรียนการแบบ Active Learning ต้องหยุดชงักไป


ต้องเอาเวลาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนนั้น มาจัดติวเด็กเพื่อให้คุ้นชินกับแนวข้อสอบโอเน็ตของ สทศ. ยิ่งชั้น ป.6 และ ม.3 พอถึงภาคเรียนที่สอง โรงเรียนส่วนใหญ่จะจัดการเรียนการสอนเฉพาะวิชาที่จะสอบโอเน็ตเท่านั้น และแทบจะไม่มีการจัดกระบวนการเรียนการสอนแบบ Active Learning แต่จะมุ่งเน้นการติวเป็นสำคัญ

"ดังนั้น วิธีการสอบโอเน็ตที่ผ่านมา จึงเป็นการทำลายระบบการศึกษาอย่างร้ายแรง ซึ่งผมมิได้หมายความถึง ความบกพร่องของ สทศ.นะครับ เพราะ สทศ.ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้ดีอยู่แล้ว เพราะที่ผ่านมานั้นมีการพัฒนาวิธีการประเมินตามข้อเสนอของกระทรวงศึกษาธิการมาโดยตลอด แต่ความหมายของผมนั้น หมายถึงวิธิการสอบโอเน็ตที่ผ่านมา  เป็นการปิดกระดุมเม็ดแรกผิด เมื่อติดกระดุมเม็ดต่อไป จึงไม่สำเร็จสักที"

ฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ควรใช้ภาวะผู้นำรื้อกระดุมทั้งหมดมาติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกก่อน แล้วค่อยติดกระดุมเม็ดต่อไป โดยการทดสอบเพื่อวัดคุณภาพของคนที่แท้จริง คือ 

1.จะต้องวัดให้ครอบคลุมทั้ง 3 ทักษะคือ ทักษะวิชาการ ทักษะวิชาชีพ และทักษะวิชาชีวิต สทศ.ต้องสร้างเครื่องมือทดสอบด้านทักษะวิชาชีพ และวิชาชีวิต ให้ได้มาตรฐานโดยไม่ใช้แบบทดสอบ

2.ไม่ต้องสอบโอเน็ตทุกปี เพราะเป็นการสอบเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา อาจสอบปีเว้นปี หรือ 3 ปีสอบครั้งหนึ่ง เหมือนสอบ Pisa ยังมีค่าความเที่ยงตรงและเชื่อมั่นได้

3.ไม่ต้องสอบทุกโรงเรียน ให้สุ่มสอบไปตามกลุ่มตัวอย่างตามหลักการวิจัยและสถิติ

4.หน่วยงานการศึกษามิให้เอาผลการสอบโอเน็ตมาเป็นตัวชี้วัดในการประเมินคุณภาพผลงานให้คุณให้โทษกับผู้บริหารและข้าราชการครู

5.ไม่ให้นำผลการสอบโอเน็ต มาเป็นเกณฑ์ในการวัดและประเมินผลในชั้นเรียนและศึกษาต่อ

"ซึ่งถ้าปรับหลักเกณฑ์และวิธีการสอบโอเน็ตตามแนวทางดังกล่าวนี้ พวกเราจะได้เห็นครูทั่วประเทศจัดกิจกรรมการเรียนแบบ Active Learning ทั่วทั้งแผ่นดิน เมื่อนั้นแหละคุณภาพการศึกษาจะลดความเหลื่อมล้ำอย่างแน่นอน" ประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าว

อนึ่ง สำนักข่าว EdunewsSiam ย้ำสาระในหนังสือที่ ศธ.04004/4099 ซึ่งนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงนามเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 เรื่องการยกเลิกการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ปีการศึกษา 2563 แจ้งถึง ผศ.ดร.ศิริดา บุรชาติ ผู้อำนวยการ สทศ. 

มีใจความระบุชัดเจนในตอนท้ายว่า ศธ.เห็นควรให้มีการยกเลิกการทดสอบ O-NET ชั้น ป.6 และ ม.3 ในปีการศึกษา 2563 เป็นต้นไป

ดังรายละเอียด “ตามที่ ศธ.ได้มีนโยบายลดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ในปีการศึกษา 2563 เนื่องจากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ทำให้สถานศึกษาไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดความเครียดจากการทดสอบของผู้เรียน 

ประกอบกับ ศธ.กำลังดำเนินโครงการโรงเรียนคุณภาพของชุมชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยมุ่งให้ชุมชนทุกแห่งมีโรงเรียนที่ดีมีคุณภาพ มีแหล่งการเรียนรู้ที่ดี มีครูผู้สอนที่มีความรู้ความสามารถสอนครบทุกชั้น 

มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่พัฒนาคุณภาพผู้เรียนที่สอดคล้องกับความถนัดหรือความสนใจของผู้เรียนเป็นรายบุคคล และบริบทของโรงเรียน รวมทั้งการวัดและประเมินผลที่ต้องแตกต่างกันตามบริบทของโรงเรียน 

ด้วยความแตกต่างของรูปแบบการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล และศักยภาพของผู้เรียนของโรงเรียนแต่ละแห่ง จึงจำเป็นต้องมีการปรับระบบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน

ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงเห็นควรให้มีการยกเลิกการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในปีการศึกษา 2563 เป็นต้นไป”

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่าง เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)