องค์กรครู-ผอ.ฮึ่ม! ร่าง กม.การศึกษาชาติ เตือนรัฐบาล-ศธ. อย่าขืนโคให้กินหญ้า

เวทีองค์กรครู-ผอ.ชำแหละร่าง กม.การศึกษาชาติ เตือน!รัฐบาล-ศธ. อย่าข่มเขาขืนโคให้กินหญ้า ขู่ฮึ่มทั่วประเทศ 

นายธนชน มุทาพร ประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.) เปิดเผยกับ สำนักข่าว EdunewsSiam ถึงผลการประชุมร่วมชมรม ผอ.สพท. กับสมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย ในส่วนของกรรมการบริหารและตัวแทนสมาชิก ณ โรงแรมเอเชีย ราชเทวี กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้

โดยมีหัวข้อการประชุมติดตามร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อนำเรียนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณานำเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ต่อไป

นายธนชนเผยด้วยว่า ในการประชุมครั้งนี้มีผู้แทนองค์กรครูต่างๆ จากทั่วประเทศเข้ามาสังเกตการณ์และร่วมเสวนาเป็นจำนวนมาก อาทิ นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ รักษาการ นายก ส.บ.ม.ท., นายสิรภพ เพ็ชรเกตุ ประธานชมรมครูภาคกลาง ในนามผู้แทนสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.)

นางรัชฎาพร ชูสกุล ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายและแผน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ชัยภูมิ เขต ๑ ในนามผู้แทนบุคลากร ๓๘ ค (๒) และนายโจระพรรณ์ สายบัว ในนามผู้แทนชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น

งานนี้มีนายไพศาล ปันแดน ผอ.สพป.สุพรรณบุรี เขต ๑ ในฐานะนายกสมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมทั้งชี้แจงถึงวัตถุประสงค์การประชุมร่วมกันในครั้งนี้ว่า

เพื่อพิจารณาถึงการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เสนอไปยังเลขาธิการ ครม. เพื่อนำเรียนนายกรัฐมนตรีเสนอ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนของรัฐสภาต่อไปนั้น เป็นร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่ผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์ และข้อเสนอที่เห็นต่างจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือไม่

รวมทั้งการประชุมในครั้งนี้ จะพิจารณากำหนดแนวทางการติดตามผลการทำงานของคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ ตามคำสั่งของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ สป.๙๙๕ / ๒๕๖๒ ที่ลงนามโดยนายณัฏฐพล รัฐมนตรีว่าการ ศธ.

เพื่อให้ศึกษาวิเคราะห์ทบทวนบทบาทภารกิจและการจัดโครงสร้าง ศธ.ตามแนวทางการวิเคราะห์ภารกิจภาครัฐ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ กฎหมาย นโยบายรัฐบาล รองรับบริบทการเปลี่ยนแปลงการบริหารราชการแผ่นดิน

โดยให้จัดทำข้อมูลและข้อเสนอทบทวนภารกิจดังกล่าวนี้ ให้กับรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการต่อไป

ทั้งนี้ นายธนชน ประธานชมรม ผอ.สพท. ระบุว่า ในที่ประชุมร่วมองค์กรครูได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติดังกล่าว ซึ่งเป็นฉบับที่ร่างโดยคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) มี นพ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน เคยเสนอและถูกต่อต้านจากองค์กรครูทั่วประเทศอย่างรุนแรง จนรัฐบาลในขณะนั้นได้ถอนร่างฉบับนี้ออกจากการพิจารณาของ ครม.ที่กำลังจะประกาศเป็นพระราชกำหนด

แล้วมีบัญชาข้อสั่งการให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.นำร่างฉบับนี้ไปให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ประชาพิจารณ์อีกครั้ง ซึ่งชมรม สมาคม และองค์กรครูทั่วประเทศ ได้ให้ความเห็นพร้อมข้อเสนอแนะที่ควรปรับปรุงแก้ไขอยู่หลายประเด็น  

แต่กระนั้นกลับมีกระแสข่าวว่า นายณัฏฐพล รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ยังเสนอร่างฯเดิมฉบับ กอปศ.ดังกล่าว โดยไม่มีข้อเสนอแก้ไขให้กับเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๓  

โดยมีการจัดทำความเห็นข้อเสนอของส่วนราชการ ศธ.ไปว่า “ได้ศึกษา วิเคราะห์ ตรวจสอบและพิจารณาทบทวนความสอดคล้องของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต พ.ศ. ...กับนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่ได้แถลงต่อรัฐสภาแล้ว

เห็นว่า มีความสอดคล้องกับนโยบายของคณะรัฐมนตรีในทุกประเด็นด้านการศึกษา และเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐  ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.๒๕๖๑-๒๕๘๐ และแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาที่กำหนดไว้

ศธ.จึงพิจารณาว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ เป็นกฎหมายที่มีกลไกให้การศึกษาเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สร้างสังคม สร้างชาติ เพื่อตอบสนองคนในศตวรรษที่ ๒๑ ได้อย่างสมบูรณ์ และเป็นกฎหมายที่จะพัฒนาคนไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามที่กำหนดเป็นวิสัยทัศน์ของประเทศไทย...)”

นายธนชน ประธานชมรม ผอ.สพท. ระบุว่า จากข้อเสนอของนายณัฏฐพล รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ดังกล่าวนี้เอง ได้ทำให้บรรยากาศของที่ประชุมร่วมองค์กรครูครั้งนี้ดุเดือด มีการลุกขึ้นอภิปรายอย่างกว้างขวาง ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว

เพราะ ศธ.ไม่ได้นำความเห็นของสภาการศึกษา (สกศ.) ไปกล่าวอ้างด้วย ทั้งที่ได้รายงานไปแล้วว่า มี 2 ประเด็น ที่ผลการประชาพิจารณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง คือ การเปลี่ยนตำแหน่ง “ผู้อำนวยการสถานศึกษา” เป็น “ครูใหญ่” เปลี่ยน “รองผู้อำนวยการ” เป็น “ผู้ช่วยครูใหญ่” และเปลี่ยน “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” เป็น “ใบรับรองความเป็นครู”

ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้ว  ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะชมรม ผอ.สพท. สมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย และองค์กรครูทั่วประเทศ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จ ได้จัดทำข้อเสนอที่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งใน ๔ ประเด็นหลัก เพราะเป็นการหมกเม็ด รวมทั้งเป็นการรวบอำนาจแบบซ่อนรูป ดังนี้

๑) การเปลี่ยนตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา และรอง ผู้อำนวยการสถานศึกษา เป็น ครูใหญ่ และ ผู้ช่วยครูใหญ่ ตามลำดับ จึงเห็นควรให้คงชื่อตำแหน่งไว้เหมือนเดิม

 ๒) การเปลี่ยนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เป็น ใบรับรองความเป็นครู ซึ่งใน ๒ ประเด็นนี้อาจส่งผลให้ ผู้บริหาร ครูที่จะเข้ารับราชการใหม่ไม่สามารถได้รับเงินเดือนและเงินวิทยฐานะตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะไม่เป็นไปตามกฎหมาย  จึงเห็นควรให้คงใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูไว้เหมือนเดิม

๓) ในมาตรา ๙๙ ได้บัญญัติให้กระทรวงศึกษาธิการจัดระเบียบบริหารราชการ โดยมิให้ออกเป็นกฎหมาย และที่สำคัญได้กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้บังคับบัญชา เพราะถ้ากฎหมายมีผลใช้บังคับ จะต้องไปแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชาการกระทรวงศึกษาธิการ

นั่นคือจะต้องยุบแท่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ก็จะเป็นการบริหารแบบ Single Command มีสายการบังคับบัญชารวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง การจัดระเบียบบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นการสั่งการมากกว่าการกระจายอำนาจ จึงสุ่มเสี่ยงต่อการคอรัปชั่นเชิงนโยบายง่ายยิ่งขึ้น

ในขณะที่การจัดการศึกษาที่จะให้เกิดคุณภาพนั้น จะต้องกระจายอำนาจให้หน่วยปฏิบัติในพื้นที่ให้มากที่สุด และที่สำคัญกระทรวงศึกษาธิการ ไม่เหมาะที่จะบริหารแบบ Single Command เหมือนกับบางกระทรวง เพราะกระทรวงศึกษาธิการเป็นพื้นที่แห่งปัญญา เป็นคลังสมองของชาติ

ดังนั้น หน่วยปฏิบัติจะต้องมีอิสระในการบริหารจัดการศึกษาให้มากที่สุด ประกอบกับในมาตรา ๖๖ ที่บัญญัติให้การจัดระเบียบบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการ ต้องไม่มีลักษณะที่ทำให้การจัดการศึกษาถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆ โดยไม่ต่อเนื่องหรือบูรณาการกัน...

ยิ่งจะทำให้เกิดข้อจำกัดในการบริหารจัดการศึกษาที่จะต้องคำนึงถึงระบบการศึกษา และระดับการศึกษา ที่จะมีรูปแบบ วัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน การบริหารจัดการศึกษาจะต้องคำนึงถึงความถนัด ความเชี่ยวชาญของแต่ละระบบการศึกษาหรือระดับการศึกษาความมีอิสระในการปฏิบัติให้สอดคล้องกับภารกิจและกลุ่มเป้าหมาย จึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุด  

ดังนั้น หลักการจัดการศึกษาที่จะตอบโจทย์ของการสร้างทรัพยากรมนุษย์ ให้เป็นไปตามคุณลักษณะของผู้เรียนในศตวรรษที่ ๒๑ ได้ จะต้องคำนึงถึงความมีเอกภาพทางนโยบาย และหลากหลายการปฏิบัติ ตามบริบทของแต่ละระบบการศึกษา และระดับการศึกษา หรือความสอดคล้องกับภารกิจและกลุ่มเป้าหมาย 

นายธนชน ประธานชมรม ผอ.สพท. ระบุว่า ในประเด็นดังกล่าวนี้ ที่ประชุมร่วมองค์กรครูครั้งนี้ จึงมีมติไม่เห็นด้วย ควรไปยกเลิกมาตรา ๙๙ และปรับปรุงมาตรา ๖๖ โดยบัญญัติให้การแบ่งส่วนราชการกระทรวงศึกษาธิการ จะต้องเป็นไปตามกฎหมาย 

ทั้งนี้เพื่อให้รัฐสภาได้โปรดพิจารณาร่วมกันอย่างรอบคอบ โดยให้คำนึงถึงความมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ โอกาสทางการศึกษา และความคุ้มค่าให้มากที่สุด 

ซึ่งบทเรียนที่เป็นยาขมให้กับองค์กรครูได้รับในทุกวันนี้ คือการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ ๑๙/๒๕๖๐ ซึ่งเป็นการออกคำสั่งที่ไม่เกิดจากการมีส่วนร่วมตามหลักการประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 

จึงก่อให้เกิดปัญหาข้อจำกัดในการบริหารจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคจนทุกวันนี้

๔) ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...ฉบับนี้ ไม่ให้ความสำคัญบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา ๓๘ ค (๒) ซึ่งแทบจะไม่มีปรากฏในพระราชบัญญัติฉบับนี้ ทั้งที่ข้อเท็จจริงข้าราชการดังกล่าวนี้เป็นฝ่ายสนับสนุนให้การบริหารจัดการศึกษาทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จนส่งผลให้การบริหารจัดการศึกษาในสถานศึกษาเป็นไปได้ด้วยดี   

และที่สำคัญนับตั้งแต่ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ และแก้ไขเพิ่มเติม มีผลใช้บังคับ บุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา ๓๘ ค (๒) ได้ถูกผลักดันให้ไปรับเงินเดือนตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน

จึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในกระทรวงศึกษาธิการ เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๗ วรรคแรก และวรรคสาม ที่เป็นข้าราชการในกระทรวงเดียวกัน แต่ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม 

โดยกฎหมายได้แบ่งแยกให้บุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา ๓๘ ค (๒)  ไม่ให้เป็นข้าราชการครู ซึ่งแตกต่างจากหน่วยงานอื่น เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็มีบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกันกับบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา ๓๘ ค (๒) แต่บุคลากรเหล่านั้นก็เป็นข้าราชการตำรวจเช่นเดียวกัน  รับเงินเดือนบัญชีเดียวกัน หรือกระทรวงกลาโหมก็เช่นเดียวกัน   

จะมีแต่กระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น ที่แบ่งแยกข้าราชการในสังกัดเดียวกันให้เกิดความแตกต่าง สร้างความไม่เท่าเทียมกัน เพราะรับเงินเดือนคนละบัญชี

ในประเด็นนี้องค์กรครูก็ไม่เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...ฉบับนี้ ที่ยังปล่อยให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม เป็นการขัดกับรัฐธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๗ วรรคแรก และวรรค สาม  

จึงเห็นควรให้บุคลากรอื่นตามมาตรา ๓๘ ค (๒) เป็นข้าราชการครู ประเภทสนับสนุนสายงานการสอน และให้ได้รับเงินเดือนบัญชีเดียวกัน เหมือนกับข้าราชการครูในปัจจุบัน

ข้อเสนอของชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย และสมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย และองค์กรเครือข่ายครูทั่วประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้ชายคาเดียวกัน จะต้องได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน

จึงเห็นควรให้ข้าราชการในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการทุกคน ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค เป็นข้าราชการครูทั้งหมด และให้ได้รับเงินเดือนในบัญชีเดียวกัน โดยให้เป็นประเภทสนับสนุนการสอน

นี้คือ ๔ ประเด็นหลักที่องค์กรครูทั่วประเทศได้สะท้อนพร้อมข้อเสนอในเวทีประชาพิจารณ์ทุกเวที แต่สภาการศึกษา หรือ สกศ.กลับสรุปความเห็นว่า มีเพียง 2 ประเด็นแรกเท่านั้น ที่ไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง 

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น นายณัฏฐพล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็ไม่ได้นำความไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งใน 2 ประเด็นนี้ มาจัดทำข้อเสนอของส่วนราชการ ศธ. เพื่อเสนอให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรี แต่กลับเสนอว่าร่างดังกล่าวนี้สอดคล้องในทุกประเด็น

ส่วนประเด็นการประชุมพิจารณาการกำหนดแนวทางการติดตามผลการทำงานของคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีนายวราวิช กําภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ. เป็นประธานคณะทำงาน

ในประเด็นนี้ นายธนชน ประธานชมรม ผอ.สพท. เปิดเผยว่า จากการติดตามรับฟังจากสื่อมวลชนต่างๆ ที่นายวราวิชได้เปิดเผยให้ทราบนั้น ในที่ประชุมร่วมองค์กรครูครั้งนี้ สรุปได้ว่า

การปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ ในส่วนของการบริหารจัดการของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้เสนอให้มี อ.ก.ค.ศ.สพฐ.ประจำส่วนราชการ และ อ.ก.ค.ศ.สพฐ.ประจำจังหวัด โดยการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ และแก้ไขเพิ่มเติม

โดยในร่างปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ ได้เสนอปรับปรุงแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๑๙/๒๕๖๐ ในข้อที่เป็นข้อจำกัดต่อการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเสนอให้ยกเลิก ข้อ ๑๓ ของคำสั่งฯ และข้ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อ ๑๓ ซึ่งเป็นแนวทางข้อเสนอที่คณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างฯมีความเห็นร่วมกันเป็นที่ยุติแล้ว 

และก็ได้รับการสนับสนุน และผลักดันจากนายวราวิช ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ. และประธานคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ มาโดยตลอด  ซึ่งขณะนี้ได้ล่วงเลยมาเป็นระยะเวลาปีเศษแล้ว แต่ทราบอย่างไม่เป็นทางการว่า ข้อเสนอปรับปรุงโครงสร้าง ศธ.ตามคำสั่งดังกล่าว ก็ยังมิได้เสนอขึ้นไปถึงนายณัฏฐพล รัฐมนตรีว่าการ ศธ.

ไม่ทราบว่าไปติดขัดที่ขั้นตอนใด จึงทำให้เกิดความล่าช้า เพราะข้อเสนอปรับปรุงโครงสร้างดังกล่าว เป็นความคาดหวังอย่างสูงของชมรม และสมาคม รวมทั้งองค์กรครูทั่วประเทศ ที่จะได้รับการปรับปรุงแก้ไขการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ.ให้เกิดประสิทธิภาพและคุณภาพ 

ที่ประชุมร่วมองค์กรครูจึงมีมติว่า จะแต่งตั้งตัวแทน ผอ.สพท.จากทุกรุ่นจากทุกภูมิภาคเข้าไปให้กำลังใจนายณัฏฐพล รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้โปรดพิจารณาเร่งรัด  ติดตามข้อเสนอการปรับโครงสร้าง ศธ.ให้แล้วเสร็จภายในสมัยประชุมรัฐสภานี้

นอกจากนี้ เพื่อให้มีพลังในการขับเคลื่อนให้ได้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...ที่บรรลุตามข้อเสนอใน ๔ ประเด็นหลักดังกล่าวข้างต้น ที่ประชุมร่วมองค์กรครูจึงมีมติให้จัดประชุมสมาชิกสมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย ชมรม ผอ.สพท.แห่งประเทศไทย พร้อมผู้แทนองค์กรครูทั่วประเทศอีกครั้งในเร็วๆ นี้ 

“โดยจะเชิญนายณัฏฐพล รัฐมนตรีว่าการ ศธ.มาเป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมทั้งเชิญเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และปลัดกระทรวงศึกษาธิการ หรือเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มาบรรยายพิเศษ รวมทั้งเชิญผู้บริหารสูงสุดของแต่ละแท่งบริหารหลักของ ศธ.เข้าร่วมประชุมด้วย”

นายธนชน ประธานชมรม ผอ.สพท. ระบุตอนท้ายว่า ชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย หวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คงจะตระหนักถึงสำนวนสุภาษิตที่ว่า อย่าข่มเขาขืนโคให้กินหญ้า

“พวกเราจะพยายามอดทน ถ้าไม่จำเป็นจนถึงที่สุด พวกเราจะไม่ออกมาประท้วงเหมือนที่ผ่านมา แต่ถ้ารัฐบาลยังทำเป็นหูทวนลม ไม่สนใจในข้อเสนอทั้ง ๔ ข้อดังกล่าวนี้ ชมรม สมาคมและองค์กรครูทั่วประเทศ คงมิอาจหลีกเลี่ยงแสดงพลังออกมาให้มากกว่าเดิมอีกครั้งหนึ่ง”

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)