จี้ “ณัฏฐพล” เลิกคำสั่ง “บูรณาการศึกษา” เสี่ยงขัด กม.เพียบ-วุ่นวายทั่ว ปท.

ชมรม ผอ.สพท.จี้ “ณัฏฐพล” ยกเลิกคำสั่ง “บูรณาการศึกษา” อ้างวิเคราะห์ละเอียด!เสี่ยงขัดทั้ง รธน.-คสช.-กม.หลายฉบับ ห่วงครู-บุคลากรวุ่นวายทั่ว ปท.

เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2564 นายธนชน มุทาพร ประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.) เปิดเผยว่า ชมรม ผอ.สพท.ได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นเรื่องที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ลงนามเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 ในคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ สพฐ. ๑๑/๒๕๖๔ เรื่องการบูรณาการด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ

เพื่อจัดทำแผนการบูรณาการด้านการศึกษาให้สามารถบริหารในทุกด้านของการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มศักยภาพและคุณภาพของโรงเรียนทุกด้าน โดยการดำเนินการจะครอบคลุมในทุกพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรในคราวเดียวกัน 

พร้อมทั้งได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้รับผิดชอบในแต่ละจังหวัด ให้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการบูรณาการด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในจังหวัดที่รับผิดชอบ ลงพื้นที่ในจังหวัดที่รับผิดชอบเพื่อจัดทำและขับเคลื่อนในรายละเอียดให้บรรลุผลตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ

โดยให้มีอำนาจในการเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งมีศึกษาธิการจังหวัดแต่ละจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการร่วมกับผู้รับผิดชอบการดำเนินการในแต่ละจังหวัด

และให้ประสานงานรับฟังความคิดเห็นจากผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษารวมถึงผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ที่รับผิดชอบ เช่น ผู้นำท้องถิ่น คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษา

นายธนชนกล่าวว่า ตามเจตนารมณ์ของคำสั่งนี้ ชมรม ผอ.สพท.เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่ ศธ.แสวงหาแนวทางจะให้การขับเคลื่อนนโยบายของ ศธ.สู่การปฏิบัติในพื้นที่ เพื่อเพิ่มศักยภาพและคุณภาพของสถานศึกษา ตามภารกิจหลักของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเข้ามาทำงานเชิงบูรณาการกันในพื้นที่จังหวัด เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ

แต่สืบเนื่องจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ ๑๙/๒๕๖๐ เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๐ และหน่วยงานการศึกษาในภูมิภาคก็อยู่ในระหว่างการขับเคลื่อนตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ ๑๙/๒๕๖๐

ขณะที่คำสั่งของกระทรวงศึกษาธิการที่ ๑๑/๒๕๖๔ เรื่องการบูรณาการด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าวนี้ กลับเป็นการย้อนแย้งคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๑๙/๒๕๖๐ ที่หน่วยงานการศึกษาในภูมิภาคกำลังดำเนินการ จึงทำให้เกิดความสับสน และยุ่งยากต่อการนำไปปฏิบัติให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคำสั่งดังกล่าวนี้ให้มีประสิทธิภาพได้ โดยมีข้อสังเกตดังนี้

๑.อำนาจหน้าที่ของผู้ได้รับแต่งตั้งรับผิดชอบในแต่ละจังหวัด ไปซ้ำซ้อนย้อนแย้งในการปฏิบัติงานของอำนาจหน้าที่ของสำนักงานศึกษาธิการภาค ในคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ ๑๙/๒๕๖๐ ข้อ ๕ ที่กล่าวไว้

โดยมีศึกษาธิการภาคเป็นผู้รับผิดชอบอยู่แล้ว และไปซ้ำซ้อนกับอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจราชการกระทรวง ตามมาตรา ๒๐ ของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.๒๕๔๖ และแก้ไขเพิ่มเติม  

ซึ่งภารกิจตามคำสั่งดังกล่าว หน่วยงานการศึกษาที่รับผิดชอบในแต่ละภารกิจในภูมิภาคก็ดำเนินการอย่างเต็มที่โดยร่วมกับหน่วยงานต้นสังกัด สำนักงานศึกษาธิการภาค และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด เพื่อให้นโยบายของ ศธ.สู่การปฏิบัติในสถานศึกษาอย่างมีคุณภาพและศักยภาพอยู่แล้ว

แต่ในคำสั่งนี้ ศึกษาธิการภาคและรองศึกษาธิการภาค ที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ ๑๙/๒๕๖๐ กลับไปรับผิดชอบจังหวัดที่มิใช่พื้นที่ที่ตนเองรับผิดชอบตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ ๑๙/๒๕๖๐

ขณะเดียวกันกลับแต่งตั้งบุคคลอื่นเข้ามาทำหน้าที่แทน ซึ่งจะทำให้การบูรณาการด้านการศึกษาของ ศธ.ในระดับจังหวัดเกิดความสับสนในบทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่าย ซึ่งอาจส่งผลให้ด้อยประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนนโยบายของ ศธ.ได้

๒.อำนาจหน้าที่ของผู้รับผิดชอบแต่ละจังหวัดตามคำสั่งนี้ เป็นคำสั่งที่อาจเป็นการใช้อำนาจแฝงเข้าแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการประจำ โดยเฉพาะในข้อ ๒ เสมือนหนึ่งเป็นการใช้อำนาจของผู้บังคับบัญชา

อาจส่งผลให้คุณให้โทษกับผู้ปฏิบัติในพื้นที่ ย่อมส่งผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ และความไม่มีเอกภาพของสายการบังคับบัญชา

และที่สำคัญการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ใช่ข้าราชการประจำ อาจสุ่มเสี่ยงต่อการแต่งตั้งผู้ที่จะเอื้อประโยชน์ทางการเมืองหรือทางอื่นใดได้ อาจมีพฤติการณ์ที่ขัดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๗๖ วรรคสอง

ซึ่งการบริหารราชการตามคำสั่งนี้ จะต้องเป็นไปตามกฎหมายหลัก เช่น พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ และแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๓๗, พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.๒๕๔๖ และแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๖, มาตรา ๑๕, มาตรา ๒๐, มาตรา ๓๓, มาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๗

และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ และแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๔ และ มาตรา ๒๙ จึงจะได้รับการยอมรับจากผู้ปฏิบัติ

๓.การออกคำสั่งฉบับนี้ ไม่ชอบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน การบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐, พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.๒๕๔๖ และแก้ไขเพิ่มเติม ในมาตรา ๖

ประกอบกับเนื้อหาของคำสั่ง คือการบูรณาการด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีหน่วยงานที่รับผิดชอบการบูรณาการด้านการศึกษาและกิจการการศึกษาในระดับกระทรวง ระดับภาค และระดับจังหวัดในทุกสังกัดของ ศธ. คือ สำนักบูรณาการกิจการการศึกษา (สำนักภายใน) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

แต่ใน “ที่”ของหัวคำสั่ง กลับเป็น ที่ สพฐ.๑๑/๒๕๖๐ ซึ่งเป็นที่หนังสือของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งมิได้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการบูรณาการด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ

คำสั่งดังกล่าวนี้ จึงไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.๒๕๔๖ และแก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบแบบแผนธรรมเนียมปฏิบัติของทางราชการ

๔.การอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๒ ของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.๒๕๔๖ และแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อออกคำสั่งของนายณัฏฐพล รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ไปขัดหรือแย้งคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ ๑๙/๒๕๖๐ ข้อ ๕ และ มาตรา ๒๐ ของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.๒๕๔๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงไม่สามารถมีผลบังคับใช้ได้

อาจทำให้ผลของการปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ไม่มีผลตามกฎหมาย ทำให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อการบูรณาการด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการได้จนยากแก่การเยียวยา

ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ ชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย จึงมีมติไม่เห็นด้วยกับคำสั่งฉบับนี้ และออกแถลงการณ์ชมรม ผอ.สพท.ให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวนี้

เพราะจะสร้างความลำบากใจอย่างยิ่งต่อผู้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติ จึงเสนอให้นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้พิจารณาทบทวนและยกเลิกคำสั่งฉบับนี้

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)