หนังสือที่ สพฐ. เลขที่ ๑๑/๒๕๖๔ คำสั่งติดหนวด บทเรียนความถดถอยของ ศธ.

 

 

 

 

 

เสวนากับบรรณาธิการ  

หนังสือที่ สพฐ. เลขที่ ๑๑/๒๕๖๔

คำสั่งติดหนวดบทเรียนความถดถอยของ ศธ.

วิชเทพ ฦๅชาฤทธิ์ : บรรณาธิการ  

กลายเป็นประเด็นคำถามกันให้อึงอล เมื่อกระทรวงศึกษาธิการออกหนังสือคำสั่งที่ สพฐ. เลขที่ ๑๑/๒๕๖๔ เรื่องการบูรณาการด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ลงนามโดยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

ออกคำสั่งให้ข้าราชการการเมืองและบรรดาข้าราชการประจำ ศธ.ระดับสูง รวมไปถึงบุคคลในหน่วยงานองค์กรอิสระในสังกัด ศธ.ที่มีกฎหมายพิเศษของตนเอง รวมแล้วไม่น้อยกว่า 77 ราย เป็นแม่ทัพยกพหลพลโยธาแบ่งสายกันออกไปปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละจังหวัดทั่วราชอาณาจักรไทยให้ครอบคลุมทุกงานตามนโยบายการศึกษาที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของตน

โดยมีนัยสำคัญในภารกิจยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กของ สพฐ.นับหมื่นแห่งทั่วประเทศ เพื่อสนองนโยบายหลักในการสร้าง "โรงเรียนคุณภาพของชุมชน"

จากหนังสือคำสั่งดังกล่าว ไม่เพียงเป็นที่มาของความแปลกประหลาดใจแก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างกว้างขวาง ถึงความวิปริตผิดธรรมเนียมหลักปฏิบัติราชการอย่างร้ายแรงแบบไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์งานสารบรรณของชาติ

จนมิอาจยอมรับได้ว่า คนที่เป็นเสนาบดีเจ้ากระทรวงหลักด้านการศึกษาของชาติบ้านเมืองนี้ จะผิดพลาดเลินเล่ออย่างไม่น่าเชื่อ ขาดทั้งประสบการณ์ ความรู้ลึก รู้กว้าง ในงานสารบรรณที่มีระเบียบแบบแผนปฏิบัติยึดมั่นเป็นหลักที่ดี แม้มีที่ปรึกษาข้างตัวก็ยังปล่อยให้เกิดความเสียหายทางราชการมากมาย

มีหรือหน่วยงานที่ออกคำสั่งหนังสือราชการเป็นกระทรวงศึกษาธิการ แต่เลขที่หนังสือกลับเป็นของหน่วยงาน สพฐ. แถม รมว.ลงนามแทนที่จะเป็นสำนักงานรัฐมนตรี หรือสำนักงานปลัด ศธ. เกริ่นนำอ้างถึง รมว.ศธ.มอบหมายสั่งการแบบนิ่มนวลสักหน่อยก็ยังดูไม่น่าเกลียดนัก ดังเนื้อหาที่ปรากฏ

ด้วยกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายจัดทำแผนบูรณาการด้านการศึกษา เพื่อให้สามารถบริหารในทุกด้านของการศึกษาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มศักยภาพและคุณภาพของโรงเรียนในทุกด้าน โดยการดำเนินการจะครอบคลุมในทุกพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรในคราวเดียวกัน

ตามด้วยอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการมาตรา 12 พุทธศักราช 2546 จึงแต่งตั้งให้คณะผู้ทรงคุณวุฒิและข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการดังต่อไปนี้...จบลงด้วย นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงนาม

จึงเป็นที่มาของแถลงการณ์ชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย ให้ยกเลิกคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการบูรณาการด้านการศึกษาในกระทรวงศึกษาธิการ การออกคำสั่งฉบับนี้ไม่ชอบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน การบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ และแก้ไขเพิ่มเติม ในมาตรา ๖

ประกอบกับเนื้อหาของคำสั่งคือการบูรณาการด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีหน่วยงานที่รับผิดชอบการบูรณาการด้านการศึกษาและกิจการการศึกษาในระดับกระทรวง ระดับภาค และระดับจังหวัดในทุกสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการอยู่แล้ว  

สำนักข่าว edunewssiam ฟังเสียงความรู้สึกจากคนในแวดวงการศึกษาแล้ว มีเสียงไปในทางเดียวกันว่า นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไม่เพียงไม่ยึดปฏิบัติเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นการทำลายตามหลักสารบรรณของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี แบบขาดความรู้ในการบริหารจัดการที่ดี ขาดความรู้ความเข้าใจในบริบทการศึกษาไทย

ไม่เหมาะสมที่จะทำงานใหญ่ด้านการศึกษาชาติของบ้านเมืองที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนอันเป็นอนาคตชาติในภายหน้า

ดังนั้น ในการทำงานรังแต่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งทวีขึ้น มีหลายพฤติกรรมเป็นการไม่ให้เกียรติ ดูแคลนผู้ร่วมงาน ถือความคิดของตนเป็นใหญ่ เมื่อเทียบกันถึงต้นทุนของแต่ละคนที่ส่วนใหญ่แล้วมีความต่างกันเมื่อเทียบกับต้นทุนของนักการเมืองคนหนึ่ง ที่บังเอิญพวกหนุนส่ง จึงพลอยมีบุญเป็นถึงเสนาบดี 

ซึ่งเท่าที่รู้ในขณะนี้ หากสังเกตกันให้ดีจะเห็นว่า ข้าราชการ ศธ.ส่วนใหญ่ปล่อยเกียร์ว่างกันแล้ว

หากจะว่าไปตามสำนวนสุภาษิตไทย ที่ชาวบ้านมักจะเปรียบเปรยบุคคลประเภทผู้นำที่ฮึกเหิมลักษณะอย่างนี้ว่า กิ้งก่าได้ทอง หรือ คางคกขึ้นวอ อะไรทำนองนั้น

เมื่อพิจารณาถึงคำสั่ง หนังสือที่ สพฐ.เลขที่ ๑๑/๒๕๖๔ ดูแล้วสับสน เพราะมีทั้งข้าราชการการเมือง ซึ่งหมายถึงบุคคลที่ได้สถานะทางราชการโดยการเลือกตั้งจากประชาชน หรือได้รับการแต่งตั้งโดยผู้มีอำนาจทางการเมือง เพื่อให้ทำหน้าที่และรับผิดชอบกิจการทางด้านการเมือง จะเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายพิเศษ โดยไม่เกี่ยวข้องกับระเบียบข้าราชการโดยทั่วๆ ไป

จะไปสั่งโดยคิดว่าตนเองมีอำนาจมิได้ อาทิ ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง ที่ปรึกษารัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง

อย่างเช่น นายเจตน์ โศภิษฐ์พงศธร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต ส่วน คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช ไม่ปรากฏชื่อในคำสั่ง แต่คณะที่ปรึกษา รมช.ฯ ประกอบด้วย นายณรงค์ ดูดิง ลงพื้นที่ จ.สงขลา นายชยพงศ์ สายฟ้า ลงพื้นที่ จ.สตูล นายศุภชัย ศรีหล้า ลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี นายยงยุทธ ทิพรส ลงพื้นที่ จ.เลย และ นายเสน่ห์ สุระสังวาลย์ ลงพื้นที่ จ.พัทลุง

ขณะที่ นางกนกวรรณ วิลาวรรณ รมช.ศธ.กลับมีรายชื่อในคำสั่งให้ไปลงพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ โดยคณะที่ปรึกษา รมช.ฯ ประกอบด้วย นายกมล รอดคล้าย ไปลง จ.นครนายก นายสมพงษ์ มะใบ ลงพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี นายพะโยม ชิณวงศ์ ลงที่ จ.สระแก้ว และนายไพบูลย์ เสียงก้อง ลงพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อสังเกตด้วยว่า ยังมีชุดรองเลขาธิการ สกสค. นายณรงค์ แพ้วพลสง, นายมังกร โรจน์ประภากร, นายประเสริฐ บุญเรือง และนายกฤตชัย อรุณรัตน์ รวมทั้งรองเลขาธิการคุรุสภา นายบูรพาทิศ พลอยสุวรรณ์ รองเลขาธิการคุรุสภาที่กำลังจะพ้นวาระในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

ข้อที่น่าจะเป็นปัญหาตามมา คือคณะทำงานในชุด สกสค. ประกอบด้วยรองเลขาธิการทั้งหมด ล้วนมีสถานภาพเป็นลูกจ้างหน่วยงานของรัฐ ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ แม้จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แต่มีข้อกำหนดให้ปฏิบัติหน้าที่ ระหว่าง ๐๘.๓๐ น. ถึง ๑๖.๓๐ น. ของวันทำการปกติ

หากเดินทางไปทำในสิ่งที่นอกเหนือสัญญาว่าจ้าง อาจมีสิทธิถูกฟ้องร้องได้ อีกทั้งเงินเดือน ค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ต่างๆ ล้วนมาจากเงินค่าฌาปนกิจของบรรดาครูที่เป็นสมาชิกที่เสียให้เป็นรายศพ ไม่ใช่เป็นงินงบประมาณแผ่นดินตามปกติ จ่ายให้เพื่อคณะบุคคลดังกล่าวทำงาน เพื่อมวลครูทั้งสิ้น

ลองมาดูแต่ละตำแหน่งจะมีเงินเดือนประจำในหน่วยงานอย่าง สกสค. อาทิ ตำแหน่งประธานที่ปรึกษา สกสค. ได้รับเงินเดือน 105,000 บาท, ที่ปรึกษาเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค.เดือนละ 55,000 บาท และที่ปรึกษาสำนักงาน สกสค.เดือนละ 45,000 บาท

สำหรับตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค.มีเพดานค่าจ้างเดือนละ 2 แสนบาท บวกด้วยค่าตอบแทนอีก 25% (ของเงินเดือน) เท่ากับ 50,000 บาท รวมรายจ่ายค่าจ้างค่าตอบแทนเดือนละประมาณ 250,000 บาท

ส่วนตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค.และคุรุสภา มีเพดานค่าจ้างเท่ากับ 80% ของเงินเดือนตำแหน่งเลขาธิการฯ หรือประมาณ 160,000 บาท บวกด้วยค่าตอบแทนอีก 25% (ของเงินเดือน) เท่ากับ 40,000 บาท รวมรายจ่ายค่าจ้างค่าตอบแทนเดือนละประมาณ 200,000 บาท

เมื่อรวมรายจ่ายค่าจ้างและค่าตอบแทนตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. และรองเลขาธิการฯอีก 4 คน เท่ากับสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.มีรายจ่ายค่อนข้างสูงถึงเดือนละกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมค่าใช้จ่ายที่จะเป็นค่าจ้างค่าตอบแทนในตำแหน่งอื่นๆ อีก อาทิ ตำแหน่งที่ปรึกษา สกสค.อีกรวมเดือนละประมาณ 1 แสนบาทต่อคน

ทั้งหน่วยงานคุรุสภาและ สกสค. ล้วนใช้เงินของครูที่ต้องจ่ายให้โดยภาระจำยอมและไม่จำยอมตามระเบียบทั้งสิ้น แต่สิ่งที่ครูได้รับกลับมาล้วนสวนทางกับเงินที่จำต้องจ่าย ด้วยความไม่เอาใจใส่ต่อหน้าที่รับผิดชอบของผู้บริหารทั้งสิ้น ที่มีทั้งการบริการ ทั้งความล่าช้า และการอำนวยความสะดวกให้กับเพื่อนครู 

นอกจากนี้ ยังมีคณะที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษาต่างๆ ลงพื้นที่ตามคำสั่ง สพฐ.ที่ ๑๑/๒๕๖๔ เรื่องการบูรณาการด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ดังกล่าวนี้ อาทิ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ, ศึกษาธิการภาค, ผู้ช่วยเลขาสภาการศึกษา, ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, รองเลขาธิการ ก.ค.ศ., ศึกษาธิการภาค, รองศึกษาธิการภาค

ผอ.สำนักอำนวยการ สป., ผอ.สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา สป., ผอ.สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป., ผอ.สำนักการลูกเสือยุวกาชาดและกิจการนักเรียน สป., ผอ.สำนักตรวจราชการและติดตามประเมินผล สป., ผอ.สำนักงานและบูรณาการศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ สป. รวมทั้งสิ้น 77 คน

นี่ยังไม่รู้ว่าจะหมดงบประมาณไปอีกเท่าไร?

สำนักข่าวการศึกษา edunewssiam เห็นด้วยกับ ชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย ที่เสนอให้นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พิจารณาทบทวนและยกเลิกคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ

เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการ มีหน่วยงานที่รับผิดชอบการบูรณาการด้านการศึกษาและกิจการการศึกษาในระดับกระทรวง ระดับภาค และระดับจังหวัดในทุกสังกัดอยู่แล้ว คือ สำนักงานศึกษาธิการภาค 1-17 แห่งกระจายไปทุกภาคของประเทศ และยังมีสำนักบูรณาการกิจการการศึกษา (สำนักภายใน) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ 

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีกลุ่มตรวจสอบภายในระดับกระทรวงหน่วยตรวจสอบภายใน กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ศูนย์ประสานราชการใสสะอาด ล้วนทำหน้าที่ของผู้รับผิดชอบแต่ละจังหวัดตามคำสั่งนี้อยู่แล้ว

จึงเป็นที่มาถึงเสียงค้านการใช้คำสั่งนี้ว่า อาจเป็นการใช้อำนาจแฝงเข้าแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการประจำ เสมือนหนึ่งเป็นการใช้อำนาจของผู้บังคับบัญชา อาจส่งผลให้คุณให้โทษกับผู้ปฏิบัติในพื้นที่ ย่อมส่งผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ และความไม่มีเอกภาพของสายการบังคับบัญชา

และที่สำคัญการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ใช่ข้าราชการประจำ อาจสุ่มเสี่ยงต่อการแต่งตั้งผู้ที่จะเอื้อประโยชน์ทางการเมืองหรือทางอื่นใดได้  

ไม่ว่าจะมองในมุมใด อยากจะย้ำถึงความผิดพลาดอันอาจจะเกิดจากความไม่ตั้งใจหรือตั้งใจด้วยประการใดก็ตาม ใน “เลขที่ ” ของคำสั่งนั้นเป็น ที่ สพฐ. ๑๑ / ๒๕๖๐ ชัดแจ้งเป็นหลักฐานอันเป็นประจักษ์แก่คนทั้งบ้านทั้งเมือง ว่า เป็นที่หนังสือของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งมิได้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงดังรายละเอียดตามคำสั่งนี้  

คำสั่งดังกล่าว ไม่สามารถมีผลบังคับใช้ได้และอาจทำให้ผลของการปฏิบัติตามคำสั่งนี้ไม่มีผลตามกฎหมาย ทำให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อการบูรณาการด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการได้ จนยากแก่การเยียวยา

นอกจากนี้ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 การเดินทางไปนอกพื้นที่และกลับมาแล้ว ยังต้องเก็บตัว 14 วัน อีกด้วย

          EdunewsSiam > เสวนากับบรรณาธิการ /13 มกราคม 2564

          vichtep@hotmail.com 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)