องคมนตรี เชิญถุงพระราชทานไปมอบแก่ราษฎร-เจ้าหน้าที่พร้อมติดตามงานโครงการพัฒนาพื้นที่บ้านกอก-บ้านจูนฯ จ.น่าน

 วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม 2564  นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วยนายดนุชา สินธวานนท์ เลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ   เชิญถุงพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปมอบแก่ราษฎรเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และหน่วยงานความมั่นคง เป็นวันที่สอง

        โดยเวลา 09.40 น. องคมนตรีและคณะ เชิญถุงพระราชทาน จำนวน 90 ถุง ไปมอบแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ป้องกันชายแดนไทย-ลาว ณ กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 325 ตำบลเชียงกลาง อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน   ได้แก่  ฐานปฏิบัติการ มว.ตชด.3253    บ้านสว้า ฐานปฏิบัติการ 3254   บ้านสบมาง ฐานปฏิบัติการบ้านนาขวาง มว.ตชด.3251   และหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 33 ฐานปฏิบัติการบ้านปรางค์ ตำบลปัว อำเภอปัว จังหวัดน่าน

จากนั้น  ได้เดินทางไปติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่บ้านกอก-บ้านจูน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ตำบลภูคา   อำเภอปัว จังหวัดน่าน พร้อมเชิญถุงพระราชทาน จำนวน 190 ถุง ไปมอบแก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ   รวมทั้งเสื้อกันหนาวไปมอบแก่เด็กในพื้นที่โครงการฯ   และได้เยี่ยมชมผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรบ้านกอกบ้านจูนใต้ บ้านจูนเหนือ บ้านกอกหลวง และบ้านกอกน้อย    โดยใช้กระบวนการพัฒนาจากความต้องการของราษฎรตามกรอบแนวคิดของการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ก่อเกิดผลสัมฤทธิ์ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านการพัฒนาป่าไม้   สามารถฟื้นฟูระบบนิเวศน์ป่าต้นน้ำและลดการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าที่ราษฎรคืนมารวม 8,459 ไร่   

ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ จัดหาแหล่งน้ำให้แก่ราษฎรเพื่อการอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตร    ด้านการพัฒนาอาชีพ ส่งเสริมให้ราษฎรทำการเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่เช่น จากการทำข้าวไร่ที่ให้ผลผลิตเพียง 20-30 ถัง/ไร่ ปรับเปลี่ยนเป็นการทำนาแบบขั้นบันได ซึ่งให้ผลผลิต 30-45 ถัง/ไร่   ส่งผลให้ราษฎรมีข้าวเพียงพอต่อการบริโภคตลอดทั้งปี อีกทั้งยังช่วยลดพื้นที่ทำการเกษตรให้น้อยลง 

ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมให้ราษฎรมีการศึกษาให้สามารถพูดภาษาไทยได้   รวมทั้งการให้ความรู้ในการประกอบอาชีพที่เหมาะสมเช่น การเลี้ยงไก่ สุกร การปลูกพืชผักหลังนา การปลูกกาแฟ   นอกจากนี้ยังส่งเสริมอาชีพงานด้านศิลปาชีพ การทอผ้า การปักผ้า ทำให้ราษฎรในพื้นที่โครงการฯ มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมในปี 2543 มีรายได้เฉลี่ย 9,900 บาทต่อครัวเรือนต่อปี   จากการสำรวจในปี 2562 พบว่าราษฎรมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 40,752 บาทต่อครัวเรือนต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 4 เท่า ซึ่งได้สร้างความมั่นคงทางรายได้และอาชีพให้แก่ราษฎรอย่างยั่งยืน

สำหรับแนวทางการดำเนินงานในระยะต่อไปของโครงการฯ ได้กำหนดแผนงานเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรในหมู่บ้านเป้าหมายจำนวน 54 ราย   ทำการเกษตรแบบผสมผสานในแปลงที่ทำกินของตนเอง   นอกจากนี้จัดทำบ่อพักน้ำพร้อมระบบกระจายน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่การเกษตร รวมทั้งสนับสนุนให้ราษฎรจัดทำธนาคารอาหารชุมชนในพื้นที่จำนวน 100 ไร่   เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านอาหาร   ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้

โอกาสนี้ องคมนตรีและคณะ ได้พบปะเยี่ยมราษฎร และชมผลผลิตทางด้านการเกษตรและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่นำมาจัดแสดงให้เห็นถึงผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาตามแนวพระราชดำริในครั้งนี้

       ต่อมาเดินทางไปชมแปลงเกษตรพอเพียง​ของนายเกษม​ พนะสันต์​ ซึ่งเป็นเกษตรกรตัวอย่างในโครงการฯ​

การนี้ ได้มอบพันธุ์ไก่ดำภูพานให้แก่เกษตรกร​ และร่วมปล่อยพันธฺุ์ปลาลงในบ่อน้ำของเกษตรกร