นโยบาย 3 ป. ยกกำลังสองการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ ระวังยุ่งเป็นลิงแก้แห

 

เสวนากับบรรณาธิการ : edunewssiam

นโยบาย 3 ป. ยกกำลังสองการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ ระวังยุ่งเป็นลิงแก้แห   

วิชเทพ ฦๅชาฤทธิ์ : บรรณาธิการ 

18 มกราคม 2564   

                                   

การประกาศนโยบายการศึกษาอันเป็นแนวคิดและแนวทางการทำงาน เนื่องในวันครู ครั้งที่ 65 วันที่ 16 มกราคม 2564 ของ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) หลังแสดงความชื่นชม และส่งกำลังใจให้แก่คุณครูและผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ตามธรรมเนียมปกติทั่วไปแล้ว ยังย้ำถึง นโยบาย 3 ป. คือ ปลดล็อก ปรับเปลี่ยน เปิดกว้าง เพื่อยกกำลังสองการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ ในลักษณะมีความมั่นใจเต็มร้อยกับแนวทางของตนเอง อีกด้วย  

เริ่มจากนโยบาย ป.แรก ปลดล็อก โดยการใช้กลไกทั้งกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศต่าง ๆ เข้าขับเคลื่อนการศึกษาร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคม ทุกภาคส่วน โดยการประสานความร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้เกิดความร่วมมือการทำงานร่วมกันครอบคลุมทุกพื้นที่ ปฏิรูปการศึกษาจะสู่ความเป็นเลิศอย่างแท้จริงง่ายขึ้น

  

แต่กลับมีคำถามมากมายในเชิงปฏิบัติ คงไม่ง่ายนักในการจะใช้กลไกดังกล่าวของศธ.เข้าสู่ลู่วิ่งเดียวกันภาคส่วนอื่น ที่ใช้บังคับถือปฏิบัติในแต่ละองค์กรแบบราบรื่นไร้ปัญหาอย่างที่คิด โดยเฉพาะเรื่องที่มีผลต่อการมีส่วนได้ส่วนเสียในผลประโยชน์ทั้งปวง

เฉพาะอย่างยิ่งเรื่องงบประมาณ การเงิน แผนงานและโครงการที่ได้รับการจัดสรรค่าใช้จ่ายไว้ในปีงบฯไว้แล้ว การทำงานกับราชการนั้นมีระบบ ระเบียบ แบบแผน กำกับชัดเจน หากผิดพลาดอาจจะสุ่มเสี่ยงต่อข้อกฎหมายตามมายังผู้ปฏิบัติ แต่ผู้ให้นโยบายลอยตัวเหนือปัญหาแน่นอน  

แผนปฏิรูปการศึกษาแนวทางใหม่ ยกกำลังสองการศึกษาไทยสู่ความเป็นเลิศ ข้าราชการบูรณาการแผนรวมเป็นหนึ่ง ขีดเส้นตาย เดือน รู้ผล มีประโยคหนึ่งที่นักการเมืองเคยกล่าวว่า “หลากหลายทางเลือก แต่หนึ่งเดียวในทางปฏิบัติ” ซึ่งยากเป็นไปได้ในระบบราชการ

นอกเสียจากยอมรับความจริงกับการกล่าวว่า หนึ่งเดียวในทางปฏิบัติ คือ ทำตามสั่ง ส่วนคำว่าหลากหลายทางเลือกของผู้บริหาร คือ การรับมาแล้วนิ่งเฉยปล่อยเกียร์ว่าง ปฏิบัติตามนโยบายทันที แสดงความเห็นคัดค้าน ขอย้ายหรือลาออกจากตำแหน่ง หรืออื่นๆ อีกมากมายที่รู้กันอยู่  

มาถึง ป.ที่สอง ปรับเปลี่ยน คือ ปรับเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นการพัฒนา ขีดความสามารถและศักยภาพให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ปรับเปลี่ยนการพัฒนาครูและ บุคลากรทางการศึกษา ครู ศึกษานิเทศก์ และผู้บริหารการศึกษา ผ่านศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ เพื่อให้ครู Up Skill และ Re-Skill ของตนเองได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ เพื่อส่งต่อความรู้ไปยังผู้เรียนให้เป็นคนดี คนเก่ง และคนที่มีคุณภา  

ล่าสุด แม้จะเป็นเรื่องกิจการภายใน การพัฒนาสร้างเกณฑ์หลักสูตรใหม่ ด้วยการปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นเรื่องที่ดี เพื่อจูงใจให้คนเก่งเข้ามาสู่จะได้มีความก้าวหน้าในวิชาชีพตามความรู้ความสามารถจริง ระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบจะสูงขึ้น

โดยหวังเห็นผลคุณภาพของครู คือ กุญแจสำคัญ การปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะใหม่ จึงต้องมีการปรับประเมินวิทยฐานะปรับเปลี่ยนใหม่ทั้งระบบ ให้ตอบโจทย์การพัฒนาครู ความก้าวหน้าจากการสอนของครู จะยกระดับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนอย่างแท้จริง 

  

ถามว่า ทุกวันนี้คุณครูและบุคลากรทางการศึกษา ยังต้องพัฒนากันอีกกี่ร้อยหลักสูตรจึงจะถึงจุดพอใจตามนโยบายของเสนาบดีศธ.และคณะฯ ที่แต่ละชุดผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาแล้ว ต่างพยายามยัดเยียดหลักสูตรที่สามารถนับชั่วโมงให้ครูเข้าอบรมให้เป็นไปตามกรอบ ถึงขั้นหางบมาให้ครูได้ใช้  จบการอบรมแล้วถือว่าสำเร็จแล้ว    

สิ่งที่น่าคิดตามมา เมื่อมีการอบรมแล้วทำไมถึงไม่มีการติดตามประเมินผลในแต่ละหลักสูตรที่ครูเข้าอบรมและผู้ให้การอบรม ตามช่วงระยะเวลาหรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ผู้เข้ารับการอบรมได้นำไปใช้ในชั้นเรียนเป็นไปตามวัตถุประสงค์และนโยบายหรือไม่ และสรุปสุดท้ายกลายเป็นผลงานมุ่งเข้าสู่ตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะฯ เป็นหลักมากกว่ายกระดับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนอย่างแท้จริง เท่ากับเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า  

ป.ที่สาม  เปิดกว้าง คือ การเปิดเสรีทางการศึกษาให้ภาคเอกชนที่มีคุณภาพเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาร่วมประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนผ่านศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคล เพื่อความเป็นเลิศ (Human Capital Excellence Center : HCEC) จากแพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Education Excellence Platform : DEEP) ให้ครอบคลุมผู้เรียนทั่วประเทศ 

มีคำถามว่า เรื่องเปิดเสรีทางการศึกษาให้ภาคเอกชนที่มีคุณภาพเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษา กล้าพูดได้ว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร มาตั้งแต่แรกๆ ตั้งแต่โรงเรียนในฝัน โรงเรียน ไอ.ซี.ยู. ก่อนขยายมาเป็นโรงเรียนในชื่อต่างๆ

ล้วนเป็นนโยบายที่ดีกับเปิดให้องค์กรชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ทำหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของทัองถิ่น ตลอดจนการตรวจสอบคุณภาพ และสนับสนุนทรัพยากร ทั้งในด้านทรัพยากรการเรียนรู้และทรัพยากรการเงิน เพื่อให้การศึกษาของเด็กและเยาวชนในชุมชนพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนให้ขึ้น  

  

แต่ปรากฏว่า วิธีการการเข้าไปมีส่วนร่วมและแนวทางปฏิบัติของเอกชนเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ปกครองและกรรมการสถานศึกษายังไม่ชัดเจน  รวมทั้งสภาพปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็กจะมีค่าเฉลี่ยสูงมากกว่าทุกโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ 

เอาแค่ นโยบายโรงเรียนพี่ช่วยโรงเรียนน้อง นโยบายที่จะแลกเปลี่ยนครูข้ามโรงเรียนระหว่างเขตการศึกษา การเกลี่ยอัตรากำลังครูที่เกินไปยังสถานศึกษาระดับเดียวกันในวิชาที่ขาดแคลน การขอยืมครู-อาจารย์ ชั่วคราวแบบข้ามเขตข้ามโรงเรียน ที่อยู่อีกฟากของถนน ยังยากที่จะทำกันได้ง่าย ไม่ว่าจะอยู่ในสังกัดเดียวกันของกระทรวงศึกษาธิการก็ตาม 

ส่วนใหญ่ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ นโยบาย 3 ป. คือ ปลดล็อก ปรับเปลี่ยน เปิดกว้าง เพื่อยกกำลังสองการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ มุ่งเป้าไปที่การศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยไม่มองถึงมิติสัมพันธ์โดยรวมที่ต้องทำงานคู่ขนานไปกับการศึกษานอกระบบและการอาชีวศึกษาในระบบทวิภาคี

ดูแล้ว กลายเป็นมองไม่ครบด้าน ไม่รอบคอบ อาจส่งผลไปถึงการความร่วมมือขับเคลื่อนและบูรณาการระหว่างส่วนราชการหลัก องค์การมหาชนในกำกับ ตลอดภาคเอกชนได้ ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาในลักษณะลิงแก้แห ดั่งนิทานอีสปก็ได้ 

โดยเฉพาะ สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่มีภาพชัดในความสัมพันธ์เกี่ยวข้องเรื่องของการสร้างคน สร้างงาน สร้างอาชีพ กับหน่วยงานรัฐอย่างเช่น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสถานประกอบการของเอกชนขนาดกลางไปถึงขนาดใหญ่ ที่ปรับตัวเข้าสู่เทคโนโลยีทันสมัยกว่ากระจายอยู่ทั่วทุกหัวระแหงในประเทศพร้อมสุดในการที่จะเปิดให้เข้าไปร่วมพัฒนาการศึกษาหลักสูตรด้านอาชีพได้ก้าวไกลกว่า

ยกตัวอย่าง วิทยาลัยด้านการเกษตรและการประมง 47 แห่ง ในสังกัด สอศ. หากลองเข้าไปสำรวจแต่ละแห่งพบว่า มีพื้นที่นับเป็นร้อยๆ ไร่ไปถึงเกือบพันไร่ ถูกทิ้งว่างโดยมิอาจทุ่มงบพัฒนาให้เป็นสายเกษตรได้อย่างฝัน เนื่องจากความขาดแคลนบุคลากรและวัสดุ ครุภัณฑ์ที่ล้าสมัยในทุกด้าน จึงทำให้มีนักเรียนน้อยลง

  

แม้แต่โครงการเกษตรเพื่อชีวิต ที่ครั้งหนึ่งมีอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เห็นมูลค่าและลงทุนของบฯให้ สอศ.ทำ แต่ก็ไม่สำเร็จ เมื่อ รมว.หมดวาระ ความคึกคักกลายเป็นความรกร้างยิ่งกว่าเดิม 

หรือแม้แต่นโยบายโรงงานในโรงเรียนอาชีวะ ของอดีตเลขาธิการ กอศ.ท่านหนึง ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นการเอื้อประโยขน์แก่สถานประกอบการ ต้องชี้แจงกันหลายรอบกว่าจะไปต่อได้ เช่นเดียวกับโครงการทวิภาคี อันเป็นความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการกับสถานศึกษาอาชีวะ กลายเป็นถูกมองว่านำนักเรียนนักศึกษาอาชีวะไปปล่อยเกาะ ส่วนใหญ่กลายเป็นปัญหาและของเอกชน

นี่แค่ตัวอย่าง!!

หรือหันมาคิดแบบเร็วๆ ทำได้ทันที มองเฉพาะในพื้นที่วิทยาลัยด้านการเกษตรเละเทคโนโลยีและการประมง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 47 แห่ง สังกัด สอศ.กระจายอยู่ทั่วประเทศ ล้วนครอบครองที่ดินรกร้างว่างเปล่าไร้ประโยน์มากมาย จะไม่ลองแบ่งสรรให้เกษตรกรที่เป็นภูมิปัญญา หรือ เอกชนใหญ่ เข้าไปใช้หรือเป็นสถานที่ในลักษณะเป็นสัมปทานบ้างจะได้หรือไม่ เพื่อนักเรียน นักศึกษาสายนี้ จะได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้ตามแนวทางเศรษกิจพอเพียง เพื่อเตรียมตัวเป็นครัวอาหารของโลก

หรือแม้แต่การที่สถานศึกษาอาชีวะ จะผลิตงานจากฝีมือนักศึกษาส่งให้กับชาวบ้านในราคาถูกและคุณภาพดีกว่าของต่างประเทศ ก็ยังเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องตลอดข้อครหา ทำผิดระเบียบ ผิดหน้าที่การเป็นสถานศึกษา มิใช่ไปผลิตงานแข่งขันกับเอกชน ผู้บริหาร ครูอาจารย์ สุ่มเสี่ยงผิดวินัยไปด้วย

ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อพิจารณถึงนโยบาย 3 ป. คือ ปลดล็อก ปรับเปลี่ยน เปิดกว้าง เพื่อยกกำลังสองการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ แม้จะเป็นเรื่องที่ดี แต่ดูเหมือนเป็นฝันของคนขยันคิด ที่คิดว่ายังไม่มีใครเคยทำมาก่อน

งานสำคัญขนาดยกกำลังสอง การศึกษาสู่ความเป็นเลิศ ดูไปแล้ว น่าจะไม่ง่ายอย่างที่คิด อาจจะทำให้บรรดาข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ ตกอยู่ในภาวะอึดอัดเป็นทุกข์ใจ คงต้องรวมใจลุกขึ้นแสดงความเห็นด้วย แต่มากด้วยความเห็นต่าง เพื่อตอกย้ำถึงการไม่ยอมจำนนให้ปัญหาการศึกษาเข้าสู่ทางตันมากกว่าอดีตที่ผ่านมาอีกต่อไป

เสวนากับบรรณาธิการ : edunewssiam

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)