ร.ร.เอกชนเดือดร้อนหนักช่วงโควิด ขณะที่บางแห่งเก็บค่าธรรมเนียมสูงเว่อ

นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2564 ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กช.ได้หารือเรื่องการเยียวยาโรงเรียนเอกชน เพราะขาดสภาพคล่องอย่างหนัก เนื่องจากผู้ปกครองชะลอการจ่ายค่าเล่าเรียนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งผู้ปกครองบางส่วนนำบุตรหลานย้ายไปเรียนโรงเรียนอื่นแทน

โดยขณะนี้มีโรงเรียนเอกชน จำนวน 1,480 แห่ง กำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน และมีอีกกว่า 2,000 แห่ง อยู่ระหว่างการเยียวยาของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 

ดังนั้น ที่ประชุม กช.จึงมีมติอนุมัติวงเงินกู้แบบ soft loan จากกองทุนส่งเสริมโรงเรียนเอกชน เพื่อให้โรงเรียนเอกชนได้กู้ไปเสริมสภาพคล่อง โดยจากเดิมกู้ได้แห่งละ 1 ล้านบาท เพิ่มเป็น 3 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 2 และขยายเวลากู้เป็น 6 ปี โดยโรงเรียนไหนทำเรื่องกู้ยืมไปแล้ว แต่ยังเดือดร้อนอยู่ ก็สามารถยื่นกู้ใหม่ได้ในวงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท  

เลขาธิการ กช.กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม กช.ยังได้หารือเรื่องการเก็บค่าธรรมเนียมการเรียนของบางโรงเรียนที่เป็นภาระแก่ผู้ปกครองค่อนข้างมาก เพราะบางแห่งเรียกเก็บแบบแสวงหากำไรค่อนข้างมาก ที่ประชุมจึงมอบหมายให้ สช.ไปตรวจสอบเป็นรายโรงเรียน

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลเบื้องต้นมีโรงเรียนเอกชนร้อยละ 10 ที่เก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาหลายรายการสูงเกินความจำเป็นจนไม่มีคำอธิบาย เช่น ค่าอาหารกลางวัน ค่าอาหารเช้า และค่ากิจกรรมอื่นๆ เป็นต้น ซึ่ง สช.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ปกครองจำนวนมาก และหลายโรงเรียน

จึงได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบเรื่องนี้ทันที โดยหลังจากนี้ไปโรงเรียนเอกชนจะต้องชี้แจงการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาทุกรายการให้ผู้ปกครองทราบด้วยว่า ในจำนวนการเรียกเก็บแต่ละรายการมีต้นทุนเท่าไหร่ ไม่ใช่จะเรียกเก็บเท่าไหร่ก็ได้

"นอกจากนี้ ที่ผ่านมา สช.เคยตรวจสอบพบโรงเรียนเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาซ้ำซ้อน ดังนั้น หาก สช.ตรวจสอบพบโรงเรียนเอกชนยังเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาที่แสวงหากำไรเกินควร และโรงเรียนชี้แจงเหตุผลไม่ได้ ก็เป็นอำนาจของคณะกรรมการ กช.ที่จะต้องจัดการอย่างแน่นอน" เลขาธิการ กช.กล่าว

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)