ค้านหัวชนฝาปรับหลักสูตร ท้า!ณัฎฐพล แน่จริง ปรับเลย

ค้านหัวชนฝาปรับหลักสูตร ท้า!ณัฎฐพล แน่จริง ปรับเลย
โดย: สานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ

 

 

ตามที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวก่อนหน้านี้ว่า วันที่ 29 มกราคม 2564 จะประชุมคณะทำงานปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 โดยอยากให้กลุ่มมหาวิทยาลัยเข้ามาทำความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการปรับปรุงหลักสูตร เพื่อตอบโจทย์ผู้เรียนในอนาคต

 

“เช่น เราจะผลิตครูในสาขาวิชาที่ขาดแคลน จะต้องบ่มเพาะผู้เรียนในระดับการศึกษาด้วยหลักสูตรแบบไหน หากยังใช้หลักสูตรเดิม คงไม่ตอบโจทย์ ดังนั้น การให้กลุ่มมหาวิทยาลัยเข้ามาช่วยปรับปรุงหลักสูตรจะตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนมากที่สุด เพราะมหาวิทยาลัยมีความเชี่ยวชาญด้านเนื้อหาวิชาการ” รมว.ศธ.กล่าว

ในขณะเดียวกัน ก็มีคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้จากนักการศึกษาไทยถึงผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องในทุกยุคสมัยเช่นเดียวกันว่า รู้หรือไม่ว่าหลักสูตรการศึกษาคืออะไร ? มีใครสักกี่คนที่เข้าใจถูกต้องว่า อะไรคือหลักสูตร? อะไรคือเนื้อหา?

เพราะคำตอบสุดท้ายในการดำเนินการเรื่องนี้ของกระทรวงศึกษาธิการยังคงวนเวียนเป็นวัฏจักร คือรัฐมนตรี ศธ.คนถัดๆ ไป ก็จะมีนโยบายให้ “ปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน กันไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งที่การติดตามประเมินผลในแต่ละหลักสูตร ยังไม่เคยดำเนินการได้อย่างครบถ้วน 100%

ทั้งนี้ ผมเคยเสนอแนวคิดกับนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ. เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาสั่งสมของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ทำให้คุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำ สวนทางกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21

โดยเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ผมได้รับการประสานจาก นายธนพร สมศรี เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. ให้ไปพบเพื่อหารือเรื่องงาน ที่ห้องประชุมเล็ก หน้าห้องเลขาธิการ สกสค. โดยบอกกับผมว่าให้สแตนบายรอที่ห้อง เพราะตัวเลขาธิการ สกสค.ยังอยู่ข้างนอก จะให้เจ้าหน้าที่สำนักงาน สกสค.รับรองเป็นเพื่อนไปก่อน

สักครู่ใหญ่ๆ โดยไม่นึกไม่ฝัน นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ. ก็ผลักประตูห้องเข้ามาและติดตามด้วย นายธนพร สมศรี เลขาธิการ สกสค. เดินตามมาติดๆ และ รมว.ศธ.ได้กล่าวกับผมว่า ผมอยากคุยด้วย ผมเองได้ยกมือไหว้ตามธรรมเนียมไทยและได้กล่าวตอบไปว่า ผมก็อยากคุยกับท่านรัฐมนตรีเหมือนกัน

พร้อมกับขยับเก้าอี้เข้าไปนั่งติดกับ รมว.ศธ. เพราะ รมว. ศธ.นั่งหัวโต๊ะ โดยผมนั่งฝั่งตรงข้ามกับนายธนพร สมศรี ผมได้กล่าวกับนายณัฐพลว่า ผมได้ศึกษาประวัติท่านรัฐมนตรีมาพอสมควร คิดว่าท่านสามารถทำเรื่องปฏิรูปการศึกษาได้

ท่านคงต้องอยู่บริหารงานในกระทรวงศึกษาธิการต่อไปอีกนาน เพราะรัฐบาลนี้ต้องอยู่เป็นระยะเวลายาวนานเช่นกัน พร้อมกับได้ยื่นเอกสารแนวทางการปฏิรูปการศึกษาเพื่อพลิกโฉมการศึกษาไทยให้กับ รมว.ศธ.ด้วย

ในวันนั้นนายณัฐพล รมว.ศธ.ได้กล่าวกับผมว่า เอกสารที่ผมได้ยื่นเสนอหลากหลายสาระนั้น จะนำไปอ่านเอง โดยขอให้เสนอแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมนอกเหนือจากในเอกสารที่มอบ และ รมว.ศธ.ได้ทำการโน้ตย่อด้วยตนเอง โดยมีประเด็นดังนี้

1.หลักสูตรการศึกษาไม่ต้องปรับ เพราะหลักสูตรที่ใช้อยู่ยังไม่ได้ทำการประเมินหลักสูตรแต่อย่างใด จึงยังไม่รู้ว่าหลักสูตรที่ใช้อยู่มีข้อบกพร่องอย่างไรบ้าง และหากปรับหลักสูตรจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี ในขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะอ้างว่าให้รอประเมินผลหลักสูตรใหม่ ผลเสียจะตกไปอยู่ที่ผู้เรียน

2.ให้ทำการปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนของครู เพราะครูส่วนใหญ่จะใช้วิธีการจัดการเรียนการสอนแบบ Passive Learning ต้องให้ครูจัดการเรียนการสอน Active Learning จะได้เกิดการคิดวิเคราะห์ได้

3.ให้ยกเลิกการทดสอบโอเน็ต เพราะผลสอบโอเน็ตเอาไปใช้ไม่ถูกทาง ผลสอบโอเน็ตต้องเป็นของจริง สอบจริง ห้ามนำข้อสอบมาติวนักเรียนเพื่อเตรียมสอบโอเน็ต ผลของโอเน็ตจะต้องนำไปปรับปรุงคุณภาพผู้เรียนไม่ใช่นำไปประกอบการย้ายครู ผู้บริหารสถานศึกษา และเลื่อนขั้นเงินเดือน

4.กำชับ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต ดูแล กำกับการศึกษาให้ทั่วถึง ผอ.โรงเรียนต้องอยู่บริหารโรงเรียน ใช้งบประมาณตามระเบียบอย่างเคร่งครัด และศึกษานิเทศก์ต้องออกนิเทศให้สม่ำเสมอ

5.กระทรวงศึกษาธิการไม่มีกรมวิชาการ แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีกรมวิชาการเกษตร ควรไปศึกษาข้อดีข้อเสีย

6.การบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะมีระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ท้องถิ่น มีความมั่นคง เจริญก้าวหน้าขึ้น ในทางกลับกันกระทรวงศึกษาธิการ มีเฉพาะระดับเขตพื้นที่การศึกษา แต่ละเขตมีโรงเรียนเกือบ 300 โรง ดูแลกำกับไม่ทั่วถึง เป็นผลดีหรือผลเสียมากกว่ากัน สามารถนำไปบูรณาการใช้ได้ แต่ไม่ต้องไปอยู่ภายใต้การกำกับของท้องถิ่น

7.โรงเรียนขนาดเล็กต้องได้รับการดูแล เพราะการศึกษาไม่มีคำว่าขาดทุน

8.ควรเพิ่มงบประมาณรายหัว เพราะค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอ โดยเฉพาะหมวดค่าสาธารณูปโภค และหมวดค่าอาหารเสริม(นม) ต้องโอนให้โรงเรียนบริหารเอง ไม่ต้องผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ผมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจนเป็นที่พอใจ ใช้เวลาพูดคุยกันนานพอสมควร ได้ถ่ายรูปร่วมกันไว้เป็นที่ระลึกด้วย

 

ส่วนข้อเสนอแนวทางปฏิรูปการศึกษาอย่างเป็นระบบมีดังต่อไปนี้

 

ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ..2560 หมวด 16 ได้บัญญัติให้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา จัดทำแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา มีขอบเขตการดำเนินการให้เกิดผลตามมาตรา 258 จ (4) ประกอบด้วย

(1) การให้สามารถเริ่มดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับ การศึกษาตามมาตรา 54 วรรคสอง เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา กับวัยโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

(2) ให้ดำเนินการตรากฎหมายเพื่อจัดตั้งกองทุนตามมาตรา 54 วรรคหก ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ 

(3) ให้มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ให้ได้ผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครูมีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถและประสิทธิภาพในการสอน  รวมทั้งมีกลไกสร้างระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลผู้ประกอบวิชาชีพครู

(4) ปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทุกระดับ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัด และปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยให้สอดคล้องกันทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ 

และที่ผ่านมาคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ได้จัดทำแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีประเด็นการปฏิรูปทั้งหมด 7 เรื่องดังนี้ 1) การปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยรวมของประเทศ โดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

2) การปฏิรูปการพัฒนาเด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน 3) การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 4) การปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ 5) การปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 

6) การปรับโครงสร้างของหน่วยงานในระบบการศึกษาเพื่อบรรลุเป้าหมายในการ ปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน และ 7) การปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล  

ดังนั้น การขับเคลื่อนแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องอาศัยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามารับผิดชอบในประเด็นของการปฏิรูป จึงจะสามารถแก้โจทย์ปัญหาการศึกษาที่ทับถมกันมาอย่างยาวนาน

ทั้งด้านคุณภาพของการศึกษาต่ำ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ศักยภาพการแข่งขันกับนานาชาติลดลง การใช้ทรัพยากรทางการศึกษาอย่างไร้ประสิทธิภาพ การกำกับดูแลและการบริหารจัดการระบบการศึกษาของภาครัฐในด้านธรรมาภิบาล เป็นอุปสรรคสำคัญที่บั่นทอนประสิทธิผลของการนำประเด็นการปฏิรูปการศึกษาสู่การปฏิบัติ และการเตรียมตัวรับกับการเปลี่ยนบริบทของโลกในศตวรรษที่ 21

ประเด็นปัญหาเหล่านี้ ถ้าผู้เกี่ยวข้องสามารถขับเคลื่อนแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ประเทศไทยก็จะบรรลุวิสัยทัศน์ ประเทศไทย 2580 “ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

แต่กลไกที่สำคัญที่สุดที่จะบรรลุตามวิสัยทัศน์ประเทศไทย ก็คือ“ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา" ซึ่งเป็นวิชาชีพที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากครูมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศให้มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน เพราะมีหน้าที่โดยตรงในการพัฒนาคน ตั้งแต่ระดับปฐมวัย จนถึงระดับอุดมศึกษาคน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่ามากที่สุด จะต้องได้รับอิทธิพลการเรียนรู้จากสภาพแวดล้อมทางสังคมทุกระดับและทุกภาคส่วนที่เหมาะสม

ถ้ามีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ดี เก่ง มีจรรยาบรรณ มีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ และมีเส้นทางวิชาชีพที่ก้าวหน้า ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพในการพัฒนาคน ได้แก่ เด็กในวัยเรียน ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับอุดมศึกษา ซึ่งจะเป็นผู้รับผิดชอบอนาคตชองชาติบ้านเมืองต่อไป

ดังนั้น ครูและบุคลากรทางการศึกษา จึงเป็นผู้กำหนดอนาคตของชาติว่า จะเดินทางถึงวิสัยทัศน์ประเทศไทยในปี พ.ศ.2580 ได้หรือไม่ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อการปฏิรูปการศึกษามากกว่าที่ผ่านมา และดำเนินการปฏิรูปการศึกษาให้มีความสอดคล้องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 258 จ (4)

และยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและการเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่เน้นปฏิรูปการเรียนรู้ พัฒนาส่งเสริมพหุปัญญา การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนา

ตลอดจนนโยบายเร่งด่วนในเรื่องการเตรียมคนสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยการดำเนินการปฏิรูปการศึกษา 5 ด้าน ไปพร้อมๆ กันแบบองค์รวม และทุกด้านต้องมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ดังนี้

1.การปฏิรูปด้านหลักสูตรและนวัตกรรมการเรียนรู้ ควรมีการวิจัยและพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง ในการปรับปรุงหลักสูตรแต่ละครั้ง ควรมีการวิจัยก่อน และมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ ควรส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา

เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่แตกต่างในสังคม ในการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ เพื่อ “พลิกโฉมเพื่อเดินหน้าจัดการศึกษาไทย จากนวัตกรรมของครูสู่นวัตกรรมของผู้เรียน ปรับเปลี่ยน พัฒนา ต่อยอด ด้วยการเรียนรู้แบบ Active Learning ดังนี้

1.1 ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ระดับห้องเรียนที่เน้นการเรียนรู้แบบ Active learning ผ่านการพัฒนาทักษะกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ ที่ถักทอถักทอความรู้ความเข้าใจ สติปัญญา(Cognitive ) ทักษะกระบวนการ (Skill & Process) และเจตคติ ค่านิยม (Attitude & Value) เข้าด้วยกัน เป็นสมรรถนะสำคัญตามที่โลกยุคใหม่ต้องการ

ได้แก่ การยอมรับในความขัดแย้งและการตัดสินใจบนทางสองแพร่งที่แสดงถึงความสมานฉันท์ (Reconciling tensions and dilemmas) แสดงความรับผิดชอบที่คำนึงถึงจริยธรรมในตน (Taking Responsibility) รวมทั้งการสร้างคุณค่าใหม่(Creating new Value) และสร้างสรรค์นวัตกรรม

1.2 เน้นการประเมินสภาพจริง (Authentic Assessment) จากภาระงาน ชิ้นงาน และ พฤติกรรมการแสดงออกในระหว่างเรียนของผู้เรียน มากกว่าการวัดและประเมินด้วยแบบทดสอบปรนัยเลือกตอบ มุ่งการประเมินเพื่อปรับปรุงการเรียนรู้ของผู้เรียนในระหว่างดำเนินกิจกรรมตามบทเรียน (Assessment as Learning) มากกว่าการประเมินหลังเรียน (Assessment of Learning)

1.3 ยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ ให้มีความยืดหยุ่นตามบริบทท้องถิ่น ปรับกระบวนทัศน์การพัฒนาครูให้พัฒนาการจัดการการสอนและเรียนรู้ร่วมกันด้วยชุมชนแห่งการเรียนรู้ครูมืออาชีพ (PLC) นำไปสู่การพัฒนาผู้เรียนแบบองค์รวมส่งผลให้เป็นบุคคลที่มีสมรรถนะสูง สามารถผลิตผลงาน และสร้างสรรค์นวัตกรรม

1.4 พัฒนาการศึกษาให้สอดคล้องและเท่าเทียมมาตรฐานสากล และตอบสนองความต้องการของประชาชนท้องถิ่น ให้มุ่งจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน

1.5 สร้างความเป็นเอกภาพด้านนโยบายของการเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อพัฒนาผู้เรียนอย่างรอบด้าน ให้มีสมรรถนะเต็มตามศักยภาพ และมีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ ๒๑ โดยสนับสนุนความหลากหลายในทางปฏิบัติที่สามารถทำได้จริงในระดับพื้นที่โรงเรียน และห้องเรียน

ควบคู่การทำงาน ผลิตผลงาน และพึ่งพาตนเองได้ ให้ทั่วถึงและเท่าเทียม ผู้เรียนทุกระดับมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพสูงตามความแตกต่างของแต่ละบุคคลตามแนวคิดพหุปัญญา (Multiple Intelligence)

2.การปฏิรูปด้านครูและบุคลากรทางการศึกษา รัฐต้องจัดให้มีสถานบันการผลิตครูโดยเฉพาะ มีความชัดเจนในการปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมคนเก่งมาเรียนครู จบแล้วสามารถบรรจุในท้องถิ่นของตนเองได้ทัน

มีกองทุนพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา อย่างเพียงพอ เพื่อพัฒนาครูให้สามารถปรับเปลี่ยนการสอน อันจะนำไปสู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจัดสรรงบประมาณค่าตอบแทนสูงและสวัสดิการที่ดีและเพียงพอ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนเก่งอยากมาเรียนครูเพิ่มขึ้น

3.การปฏิรูปการบริหารและการจัดการศึกษา รัฐต้องกระจายอำนาจการบริหารจัดการศึกษาให้สถานศึกษาโดยตรง (โดยให้โรงเรียนเป็นฐานการพัฒนา) ได้แก่ เรื่องครูและบุคลากรทางการศึกษา ด้านวิชาการ ด้านงบประมาณ และด้านการบริหารทั่วไป เพื่อสร้างความรับผิดชอบโดยตรงให้กับสถานศึกษา โดยมีเขตพื้นที่การศึกษาคอยกำกับ ดูแล ตรวจสอบ และสนับสนุน

4.การปฏิรูปด้านทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการศึกษา รัฐต้องให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินให้กับการจัดการศึกษาให้เพียงพอและเท่าเทียมกัน สนับสนุนให้ออกกฎหมายภาษีเพื่อการศึกษา เพื่อให้รัฐและท้องถิ่นสามารถระดมทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการศึกษาได้ ปรับแก้กฎหมายลดหย่อนหรือยกเว้นภาษี ที่สามารถสร้างแรงจูงใจในการบริจาคทรัพยากรและวัสดุอุปกรณ์

รวมทั้งการลงทุนเพื่อการศึกษาให้มากกว่านี้ และส่งเสริมให้สถานศึกษาสามารถจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของสถานศึกษา หรือจัดหารายได้มาพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพได้

5.การปฏิรูปด้านสื่อและเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา รัฐต้องจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อการศึกษา ได้แก่ คลื่นวิทยุ โทรทัศน์ วิทยุโทรคมนาคม และอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง รวมทั้งสื่อตัวนำ โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา ให้เป็นสื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต เรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลาสำหรับเยาวชนและประชาชนทั่วไป

รัฐต้องจัดสรรเงินอุดหนุนในการผลิตและพัฒนาสื่อเพื่อการศึกษา และเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมและรัฐควรจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาสื่อเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา และจัดตั้งหน่วยงานกลางมาดูแล และปฏิรูปด้านสื่อและเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาโดยเฉพาะ

ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษาทั้ง 5 ด้าน มีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันทุกด้าน จึงจำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปไปพร้อมๆ กันทุกด้านอย่างเป็นระบบ การปฏิรูปการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ จะสำเร็จได้ตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ ถ้านายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ให้ความร่วมมือและให้ความสำคัญต่อการปฏิรูปการศึกษาในครั้งนี้

ผมจึงอยากถามนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ. ว่า คิดดีแล้วหรือ ที่จะปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ทำไมไม่ศึกษาตัวบทกฎหมายให้ดี โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 เพราะถ้าทำและปฏิบัติตามกฎหมายให้ดีที่สุดแล้ว คนส่วนใหญ่มีแต่จะชื่นชม

วันนี้แนวคิด รมว.ศธ. ไม่มีใครเอาด้วย คนปฏิบัติ ครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้ปกครองนักเรียนก็ไม่เอาด้วย ยังจะมาฝืนทำให้เสียเวลา เสียงบประมาณ โดยใช้นโยบายของตัวเองเป็นหลัก

ผลเสียคือ เสียเวลา เสียงบประมาณแผ่นดิน ประเทศชาติเสียหาย และชาตินี้คงไม่พ้นวัฏจักรที่จะนับหนึ่งใหม่ โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปการศึกษา

ผมจะทำการคัดค้านการปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ถึงที่สุด!! 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)