องค์กรท้องถิ่นจับมือ! พว. ติวเข้มครูจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning

องค์กรท้องถิ่นจับมือ! พว. ติวเข้มครูจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ก้าวข้ามกับดัก “ปรับปรุงหลักสูตรคือปรับปรุงเนื้อหา” เดินหน้าปฏิรูปการศึกษาฉลุย

เทศมนตรีตำบลสรรพยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท โดยนายจักรพันธุ์ ตันติเสรีรัตน์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลสรรพยา ได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) โดย ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) เมื่อเร็วๆ นี้

เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในสังกัดเทศบาลตำบลสรรพยา โดยการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เชิงรุก

นายจักรพันธุ์ นายกเทศมนตรีตำบลสรรพยา กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือดังกล่าว ทางสถาบัน พว.จะให้ความรู้โดยจัดอบรมพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนในสังกัดเทศบาลตำบลสรรพยา ให้มีความรู้ความเข้าใจในการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมของเด็กนักเรียนต่อไป

เทศบาลตำบลสรรพยาเชื่อว่า เมื่อเด็กๆ ได้เรียนรู้แบบ Active Learning จะทำให้สามารถสร้างนวัตกรรมด้วยตัวเองได้ ตนจึงได้ส่งเสริมให้ครูในสังกัดเทศบาลตำบลสรรพยาทุกคนได้เข้าอบรมการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning กับสถาบัน พว.

“ผมมั่นใจว่า การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning จะสามารถนำพาครูไทยไปสู่การจัดการเรียนการสอนที่บรรลุเป้าหมาย คือผู้เรียนได้รับประโยชน์สูงสุด สามารถสร้างนวัตกรรมได้ด้วยตัวเอง” นายกเทศมนตรีตำบลสรรพยา กล่าว

ด้าน ดร.ศักดิ์สิน ประธานกรรมการบริหาร สถาบัน พว. กล่าวว่า การจัดการศึกษาในโลกยุคปัจจุบันได้เปลี่ยนจากการเน้นเนื้อหา มาเน้นมาตรฐาน ตัวชี้วัด ความสามารถหรือสมรรถนะ แทนการท่องจำเนื้อหา ทำให้กระบวนการเรียนรู้ต้องปรับเปลี่ยน

ถึงแม้ว่า ที่ผ่านมาการศึกษาไทยจะมีการปรับหลักสูตรมาแล้วหลายครั้ง แต่กระบวนการเรียนรู้ยังไม่เปลี่ยน จึงทำให้ประเทศไทยยังไม่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษา ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องมีการทำความเข้าใจกันใหม่ว่า หลักสูตรคือแผนการจัดประสบการณ์เพื่อให้ผู้เรียนสามารถสร้างความรู้ได้เอง

“การเรียนรู้เพื่อสร้างความรู้ได้เองนั้น จะมีทั้งเรื่องของมาตรฐาน สมรรถนะ กระบวนการ รวมถึงคุณภาพในมิติต่างๆ ด้วย ฉะนั้น ถ้าเรายังไม่สามารถก้าวข้ามความเข้าใจเพียงว่า การปรับหลักสูตรคือการปรับเนื้อหาไปได้ ประเทศไทยก็จะติดกับดัก และเดินหน้าปฏิรูปการศึกษาต่อไปไม่ได้”

ดร.ศักดิ์สินกล่าวต่อว่า หัวใจสำคัญที่สุดของกระบวนการปฏิรูปการเรียนรู้ คือการเพิ่มคุณภาพผู้เรียน ด้วยการเรียนวิธีเรียนรู้ และสอนวิธีเรียนรู้ ไม่ใช่สอนเฉพาะเนื้อหาแบบแยกส่วน แต่สอนเป็นกระบวนการที่เชื่อมโยงได้กับทุกเนื้อหา

เป็นรูปแบบการเรียนรู้แนวใหม่ที่เรียกว่า Active Learning ซึ่งสอดคล้องกับศาสตร์พระราชา ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงวางไว้ให้เราเดินตามอย่างชัดเจน

และจากที่ดูยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ 11 ด้าน ทุกอย่างอิงการศึกษา แต่ปรากฏว่าคุณภาพการศึกษาของไทยยังก้าวไปไม่ได้ ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจะไปพัฒนาสังคมได้อย่างไร

“เพราะฉะนั้น การปฏิรูปการศึกษาด้วยกระบวนการเรียนรู้ จะทำให้เด็กเข้าถึงสังคมฐานความรู้ และการสร้างองค์ความรู้ได้ ซึ่งประเทศไทยเรามีต้นทุนในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้สูงอยู่แล้ว และสามารถปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนไปสู่จุดนั้นได้ เพียงแต่ผู้เกี่ยวข้องจะมีความจริงจังแค่ไหนที่จะทำเรื่องนี้” ประธานกรรมการบริหาร สถาบัน พว.กล่าว

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)