"อว." เผยสำรวจ 10 จังหวัดยากจน พบยอด 'คนจนใหม่' พุ่ง!

อว.เผยข้อมูลหลังลงพื้นที่สำรวจแบบปูพรม 8 เดือน ใน 10 จังหวัดยากจนที่สุด พบตัวเลขคนจนใหม่เพิ่มจาก 75,873 ครัวเรือน เป็น 89,710 ครัวเรือน แยกเป็นรายคนจาก 131,040 คน เป็น 334,153 คน เตรียมนำไปปรับฐานข้อมูล TPMAP หรือแผนที่ชี้เป้าคนจน เล็งขยายเพิ่มพื้นที่สำรวจเป็น 20 จังหวัด พร้อมเปิดเวทีแก้ปัญหาร่วมกับ มท.-พม.

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แถลงผลการดำเนินงานและทิศทางการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรม “พลังของข้อมูลระดับพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างสร้างสรรค์” ว่า

อว.ได้จัดทำ “แผนงานการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาคนจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ” ขึ้น เพื่อสร้างแพลตฟอร์มการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ (Personalize poverty alleviation: PPA)

โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบและกลไกการแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และเพื่อให้มีการใช้ความรู้และเทคโนโลยีจากงานวิจัยและนวัตกรรมของ อว.มาแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างตรงกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่นำร่อง 10 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน ชัยนาท สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร และกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็น 10 จังหวัดที่มีรายได้ครัวเรือนต่ำสุด

อว.มีแนวทางสำคัญ 3 ประการ ในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จ ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย (มท.) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) คือ 1.สำรวจ สอบทาน ชี้เป้าคนจนให้ครอบคลุมทุกครัวเรือน

2.พัฒนากระบวนการมีส่วนร่วม เป็น แพลตฟอร์มปฏิบัติการแก้จน เป็นกลไกและภาคีร่วมของภาครัฐ สถาบันวิชาการ ชุมชน ประชาสังคม และภาคธุรกิจ และ 3.นำความรู้งานวิจัย ผสานกับความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาตัวแบบปฏิบัติการแก้จนให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย

ซึ่งเมื่อทำการสำรวจแบบปูพรม งานวิจัยเชิงพื้นที่สามารถชี้เป้าคนจน และส่งต่อความช่วยเหลือหรือนำเอางานวิจัยและนวัตกรรมมาช่วยแก้ปัญหาคนจนอย่างตรงเป้าหมาย เพื่อช่วยเหลือคนจนให้สามารถกลับเข้าสู่ระบบความช่วยเหลือและส่งต่อให้ได้มากที่สุด สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

ผลการขับเคลื่อนแผนงานนี้ใน 10 จังหวัดนำร่อง ในระยะเวลา 8 เดือน จากการทำงานด้วยความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษา ภาคประชาสังคม และหน่วยงานรัฐในพื้นที่ในการลงพื้นที่สำรวจ วิเคราะห์สภาพปัญหาเชิงลึกของความยากจน สร้างกลไกการเลือกกลุ่มเป้าหมายและตรวจสอบคนจน และทุนของคนจนในพื้นที่รายครัวเรือน และรายชุมชนพบว่า

เพิ่มจาก 75,873 ครัวเรือน เป็น 89,710 ครัวเรือน แยกเป็นรายบุคคลจาก 131,040 คน เป็น 334,153 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564)

"และการสำรวจนี้ยังทำให้ทราบถึงต้นทุนที่จะนำมาพัฒนาตนเองของแต่ละบุคคล ซึ่งทำให้เราสามารถนำเครื่องมือที่ อว. มีไปพัฒนาคนได้อย่างตรงจุด ซึ่งนับเป็นความสำเร็จของกลไกความร่วมมือในพื้นที่ โดย อว.ได้ส่งต่อข้อมูลให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาความยากจนระดับจังหวัดเพื่อการแก้ไขปัญหาแบบตรงเป้าและยั่งยืน” รมว.อว.กล่าว 

ด้าน ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผุ็อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า แผนงานนี้เป็นแพลตฟอร์มใหม่ของประเทศไทย ที่มีการนำงานวิจัยและนวัตกรรมที่ผ่านกระบวนการความร่วมมือกับกลไกในพื้นที่ โดยเอาปัญหาของพื้นที่เป็นตัวตั้ง เพื่อหาคำตอบว่า “คนจนคือใคร-อยู่ที่ไหน-จนเพราะอะไร-จะพ้นความจนได้อย่างไร”

เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมทั้งในกลุ่มคนจน 20% ล่าง (คนจนยากไร้) และกลุ่มคนจน 20% บน (คนจนเข้าไม่ถึงโอกาส/คนจนหนี้สิน) ด้วยการเข้าไปค้นหาและเก็บข้อมูลคนจนในพื้นที่จริงเพื่อให้ได้ข้อมูลจริง แล้วสร้างระบบการคัดกรองและช่วยเหลือคนจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม

ทั้งการเชื่อมต่อกับระบบความช่วยเหลือของภาครัฐและเอกชน เช่น การส่งต่อข้อมูลของคนจนยากไร้ ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนไปยังหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือในระดับจังหวัด เช่น พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ระดับจังหวัด 

ผอ.บพท.กล่าวต่อว่า สำหรับในปี 2564 อว.มีแผนการดำเนินงานขับเคลื่อนระบบความช่วยเหลือและติดตามให้คนจนสามารถหลุดพ้นปัญหาความยากจนอย่างเป็นรูปธรรม และจะขยายพื้นที่เป้าหมายจากเดิม 10 จังหวัด เป็น 20 จังหวัด โดยจังหวัดที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ บุรีรัมย์ นราธิวาส อุบลราชธานี ลำปาง พัทลุง นครราชสีมา ร้อยเอ็ด พิษณุโลก เลย และยะลา

เพื่อให้เกิดการขยายผลและต่อยอดการขับเคลื่อนโครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาคนจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ โดย บพท.จะมีการจัดเวทีแถลงผลการดำเนินงานแผนงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ประจำปีงบประมาณ 2564

และพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับกระทรวง และระดับหน่วยงานของ อว.  กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)