เยี่ยมFix It Centerวิทยาลัยสังกัดสอศ.ในเชียงราย สัมผัสการปลูกฝังสำนึกดีงามการให้-การช่วยเหลือกัน

       

       วิทยาลัยสังกัดอาชีวศึกษาในจังหวัดเชียงรายประกอบด้วยวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย(วอศ.เชียงราย)ดร.อรพิน ดวงแก้ว ผู้อำนวยการ วิทยาลัยเทคนิตเชียงราย(วท.เชียงราย)นายปริวิชญ์ ไชยประเสริฐ ผู้อำนวยการ วิทยาลัยเทคนิคเวียงป่าเป้า(วท.เวียงป่าเป้า)นายเรวัตร แก้วทองมูลผู้อำนวยการ ได้เชิญไปเยือนวิทยาลัยช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ข้ามไปถึงวันที่ 1 มีนาคม 2564 ทำให้ได้ไปเยือนวิทยาลัยสังกัดอาชีวศึกษาในคราวเดียวกันถึง 3 แห่ง

          เป็นช่วงเวลาที่แต่ละวิทยาลัยกำลังประกาศรับนักเรียนนักศึกษาปีการศึกษาใหม่พ่อดี  ได้สัมผัสกลิ่นอายเยาวชนมาสมัครเรียนกันน่าชื่นใจทีเดียว วันนี้ก็น่าจะยังเปิดรับสมัครอยู่

แวะวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย(วอศ.ชร.)เป็นที่แรกเพราะอยู่ในเมือง เวลาการเยี่ยมเยือนดูออกจะจำกัดพอสมควร ดร.อรพิน ดวงแก้ว ผู้อำนวยการ จึงพาไปสัมผัสวิชาชีพที่นักเรียนนักศึกษาต้องมาเพิ่มความรู้ ทักษะฝีมือที่วิทยาลัยเพราะวัสดุอุปกรณ์ครบครัน คือแผนกอาหารโภชนาการ  การโรงแรม ศิลปหัตถกรรมหัตถศิลป์เป็นต้น โดยเน้นตามนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)  โดยเฉพาะในปีงบประมาณ 2564 เน้นให้วิทยาลัยต้องมีห้องเรียนอาชีพร่วมกับสถานศึกษาเครือข่ายสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาด้วย เป้าหมายเพื่อให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาได้เข้ามาเรียนด้านวิชาชีพในวิทยาลัยอาชีวะ  แต่ที่ทำมาแล้วทำต่อเนื่องคือ การจัดการเรียนการสอนทวิศึกษาถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง ทำให้นักเรียนที่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้เข้ามาศึกษาต่อในสายอาชีพในระดับปวส.เพิ่มมากขึ้น

“วันนี้ในภาวะที่คนไทยทั้งประเทศและทั่วโลกกำลังผจญกับโรคระบาดโควิด-19 ที่ร้ายแรงต้องดำเนินชีวิตอย่างไม่ประมาทตามที่สาธารณสุขแนะนำคือใส่หน้ากากผ้า รักษาระยะห่าง ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอร์บ่อยๆเป็นต้นวอศ.เชียงราย ได้จัดการเรียนการสอนอย่างระมัดระวัง ทั้งเรียนปรกติ เรียนทวิศึกษาร่วมกับโรงเรียนในสังกัดสพฐ. ที่มี โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์แม่จัน โรงเรียนแม่จันวิทยาคม และโรงเรียนห้วยไร่สามัคคี จังหวัดเชียงรายอยู่ในการเรียนร่วม ซึ่งทางวิทยาลัยฯ ทำการเรียนการสอนร่วมกับทางสพฐ.มานานมากกว่า 5 ปี เมื่อนโยบายของ สอศ. ได้ปรับขยายแนวทางให้เป็นห้องเรียนอาชีพ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย ก็พร้อมรับนโยบายตรงนี้ไปสู่การปฏิบัติ แต่ก็มีความกังวลอยู่บ้างว่าถ้าหากปรับเปลี่ยนมาเป็นห้องเรียนอาชีพแล้วนักเรียนจะได้วุฒิการศึกษาเพียงแค่ใบประกาศนียบัตรเป็นเครดิตสำหรับเก็บไว้เทียบโอนเมื่อจะเรียนต่ออีกวิธีหนึ่งในช่วงไวรัสโควิด-19 คือเรียนระบบออนไลน์คือเรียนที่บ้านผ่านคอมพิวเตอร์หรือมือถือ

 

ผอ.อวศ.เชียงรายคุยไปพาเดินไปยังจุดกิจกรรมของครูและนักเรียนนักศึกษาที่กำลังเรียนภาคปฏิบัติที่ต้องมาร่วมกันทำที่ห้องปฏิบัติการคือการทำอาหารหรือทำขนม และที่กำลังทำเป็นขนมมีทาสต์ผลไม้  บี๊ฟเวลลิงตันและช็อกโกแล็ตมูส นักเรียนนักศึกษาแยกกลุ่มทำกลุ่มละ 3 คน มีโอกาสได้ลิ้มชิมรสฝีมือว่าที่นักโภชนาการรุ่นใหม่ที่กำลังพัฒนาฝีมือพัฒนาความชำนาญที่ว่าไปแล้วแม้จะยังเรียนไม่จบทำออกมาใช้ชิมก็จัดว่าฝีมืออยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้ทีเดียว ผอ.บอกสาขาโภชนาการหรือคหกรรมนี้มีเยาวชนนิยมเรียนกันมาก เกินจำนวนทุกปีทุกเทอมรวมถึงการโรงแรมด้วย

 พูดถึงเรียนแผนกการโรงแรมผอ.ดร.อรพิน ดวงแก้ว พาชมการเรียนการสอนอีกตามเงื่อนเวลาที่มีเพราะต้องไปต่อวิทยาลัยเทคนิคเชียงรายและวิทยาลัยเทคนิคเวียงป่าเป้า คือไปดูนักเรียนนักศึกษาวิชาการโรงแรมกำลังลงมือปฏิบัติจริงในห้องพัก มีการปูเตียง พับผ้าเช็ดตัวทำเป็นรูปหงส์เช่นรูปหงส์ 2 ตัววางประกอบออกมาเป็น รูปหัวใจน่ารักเชียว จัดวางเครื่องใช้ สิ่งประดับภายในห้องพักแบบมืออาชีพยอมรับในระดับสากลแล้วไปที่ห้องปฏิบัติแผนกวิชาศิลปะทั้งจิตรกรรมปฏิมากรรม นักเรียนนักศึกษาที่กำลังปฏิบัติดูออกจะเรียนอย่างมุ่งมั่นทีเดียว  เห็นแล้วก็ชื่นใจแทนพ่อแม่ผู้ปกครองว่าลูกหลานได้ความรู้ฝีมืออาชีพกลับบ้านแน่นอน

 

ข้อมูลก่อนล่ำลาวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย เปิดการเรียนการสอนแบบปกติ มีการสอนในระดับ ปวช. ปวส. และปริญญาตรี  เน้นคือการเรียนการสอนแบบทวิภาคี คือร่วมกับบริษัทธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่เพื่อฝึกทำงานฝึกทำหน้าที่จริงๆ เช่นร่วมมือกับบริษัทเซ็นทรัล กรุ๊ป บริษัทเอ็มเค เรสโตรองต์ เป็นต้นเป็นสาขาวิชาอาหารและโภชนาการ สาขาการโรงแรมก็ทำทวิภาคีกับโรงแรมชั้นหนึ่งทั้งในจังหวัดและนอกพื้นที่ ได้ฝึกได้เพิ่มทักษะความชำนาญในอาชีพ  รวมทั้งยังเป็นการปลูกฝังการวางตัวในการทำงานร่วมกับคนอื่น เพื่อให้ตระหนักถึงการรู้จักช่วยเหลือเกื้อกูล รู้จักเสียสละ  รู้จักการให้  ให้อภัย มีเมตตารักใคร่สามัคคีกัน มีความกตัญญู  แล้วส่วนใหญ่เด็กนักเรียนนักศึกษาจะมีรายได้ดั่งทำงานเป็นพนักงานจริงๆไปด้วย  นี่คือการเตรียมความพร้อมของเด็กนักเรียนนักศึกษาเข้าสู่สถานประกอบการทำอาชีพจริง   

นึกว่าจะพักค้างในเมือง ต้องไปเยือนวิทยาลัยเทคเชียงราย 1046 ถนนสนามบิน ต.เวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย 57000(วท.ชร.)ในตัวจังหวัดนั่นแหละพบนายปริวิชญ์  ไชยประเสริฐ ผู้อำนวยการ แล้วนำไปวิทยาลัยเทคนิคเวียงป่าเป้า(วท.เวียงป่าเป้า) เลขที่200 หมู่ 6 ตำบล ป่างิ้ว อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย 57170 พบนายเรวัตร แก้วทองมูลผู้อำนวยการ ก็ไกลจากตัวจังหวัดหลายสิบกม.นึกว่าจะแค่นี้ สองผู้อำนวยการพาขึ้นไปบนดอย บ้านห้วยมะเกลี้ยง ตำบลป่างิ้ว อำเภอเวียงป่าเป้า อยู่พื้นที่อุทยานแห่งชาติขุนแจ ระยะทาง ราวๆ  50 กม.แต่ใช้เวลาเดินทางหลายชั่วโมง เพราะถนนหนทางยังแย่อยู่มาก ชาวบ้านสัญจรไปมาระหว่างชุมชนและเมืองลำบาก สองวิทยาลัยจึงไปเปิดศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน ในนามสถาบันอาชีวศึกษาภาคเหนือ2ดำ ณ บ้านห้วยมะเกลี้ยง ดังกล่าว

พักค้างโฮมสเตย์บนดอยครับที่บ้านห้วยไคร้ ส่วนหนึ่งของบ้านห้วยมะเกลี้ยง ชุมนที่นี่ทำอาชีพหลักโดยการปลูกชากาแฟขายมีรายได้ตลอดทั้งปี เดินทางจากตัวอำเภอขึ้นไปบนดอยสูงกว่าน้ำทะเลประมาณพันกว่าเมตรบนถนนที่เรียกว่าลำบากทีเดียว นอนค้างที่โฮมสเตย์บ้านห้วยไคร้ คืนวันสิ้นเดือนกุมภาพันธ์2564 ใครจะเชื่อว่าท่ามกลางอากาศหนาวเย็น 11 องศาและต่ำลงในช่วงเวลากลางดึก อุณภูมิอากาศขนาดนั้นแล้วน้ำที่ไหลผ่านท่อมาสู่ฝักบัวหรือโอ่งน้ำจะเย็นขนาดไหน นับว่าโชคดีที่ได้สัมผัสหน้าหนาวต้อนปลายหนาว ได้สัมผัสความเย็นเต็มๆเพราะไม่ได้เตรียมเครื่องห่มตัวกันหนาวไปเพราะไม่คาดคิดว่าจะไปพักค้างบนดอยสูงที่แม้ฤดูไหนกลางคืนก็เย็นอยู่แล้วนึกว่าเป็นเพียงโฮมสเตย์ในท้องถิ่นนอกเมืองธรรมดา

เช้าวันที่ 1 มีนาคม 2564ตื่นขึ้นท่ามกลางอากาศเย็น ณ ชุมชนบ้านห้วยไคร้ ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางดอยล้อมรอบ ดอยหนึ่งสำคัญคือดอยผาโง้มที่ประดิษฐานของพระธาตุ สามารถไต่ขึ้นไปกราบพระธาตุได้ ชาวบ้านตั้งเตาก่อไฟต้มน้ำร้อนเพื่อชงชาและชงกาแฟผลผลิตของชุมชนนั่นแหละรองรับผู้ไปเยือน รอบๆชุมชนบรรยากาศเต็มไปด้วยความเขียวสดแห่งแมกไม้ละไล่ลงมาตั้งยอดดอยจนถึงพื้นราบรอบๆอาคารบ้านเรือน กระทั่งถึงรั้วรอบบ้านแต่ละหลังก็ล้วนแซกแซมไปด้วยไม้ประดอกไม้ประดับจนถึงพืชผักที่รับประทานได้ เจ้าของบ้านคงคุ้นชินแต่คนต่างถิ่นอย่างผู้ไปเยือนนั้นรู้สึกสดชื่นเย็นกายเย็นใจพร้อมที่จะตักตวงเอาบรรยากาศชื่นตาชื่นกายใจนั้นดังว่าอดอยากหิวโหยมานานแสนนาน

ยิ่งได้ยินจากปากชาวบ้านว่าพื้นที่อยู่อาศัยและทำกินอยู่ในอาณาจักรของอุทยานแห่งชาติขุนแจจึงตระหนักถึงการดูแลรักษาผืนป่าทรัพยากรธรรมชาติเป็นหูเป็นตาให้ทางราชการ แล้วการปลูกพืชเกษตรอย่างชากาแฟกระทั่งพืชผักสวนครัวจะไม่ใช้สารเคมีเด็ดขาด  วันนี้แม้จะอยู่ในช่วงโรคระบาดโควิด-19 ก็อยากเชิญชวนพี่น้องในพื้นถิ่นภูมิภาคอื่นๆที่รักวิถีธรรมชาติจะหาโอกาสแวะเวียนไปเยี่ยมเยือนสัมผัสบรรยากาศธรรมชาติอันบริสุทธิ์  ณ บ้านห้วยมะเกลี้ยง ต.ป่างิ้ว อ.เวียงป่าเป้า ถ้าหาพิกัดไม่ได้สอบถามไปที่ผอ.ปริวิชญ์ วิทยาลัยเทคนิคเชียงรายก็ได้

ผอ.ปริวิชญ์  ไชยประเสริฐ ผอ.เรวัตร แก้วทองมูลบอกมาเปิดศูนย์บริการชุมชน ณ บ้านห้วยมะเกลี้ยง มีประชากรราว 70 หลังคาเรือน  วันที่ 28 กพ.-1มีค.2564 ด้วยเห็นว่าเป็นชุมชนห่างไกลความเจริญการเดินทางไปมายากลำบาก จึงมาให้บริการซ่อมเครื่องมือเครื่องใช้ในการเกษตร ซ่อมเครื่องยนต์ขนส่งผลผลิตทางการเกษตร ซ่อมมอเตอร์ไซค์ที่จำเป็นในการใช้ขนผลผลิตและการเดินทางไปไร่ไปสวนไปมาหาสู่ เครื่องฟฟ้า ในครัวเรือน หม้อหุงข้าว เตารีดไฟฟ้า วิทยุ โทรทัศน์ พัดลม โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพื่ออำนวยความสะดวกลดค่าใช้จ่ายตลอดจนให้ความรู้ในการดูแลรักษาเบื้องต้นให้กับชาวบ้านโดยทางวิทยาลัยเทคนิคทั้งสองแห่งนำคณะครูและนักศึกษาลงพื้นที่ไปตั้งศูนย์ซ่อมสร้างเป็นเวลา 2 วัน ผอ.ปริวัชญ์บอกว่าในส่วนนักศึกษาวท.เชีบงรายกำลังเรียนอยู่ในระดับปริญญาตรี ส่วนนักศึกษาวท.เวียงป่าเป้าอยู่ในระดับปวช.และปวส.มาเพิ่มทักษะกันทุกระดับเช่นกัน

         

         “วท.เวียงป่าเป้ายังได้นำครูและนักศึกษามาสอนอาชีพที่ทำได้ด้วยเวลาสั้นๆแก่ชาวบ้านคือนำสูตรทำขนมกรอบเค็มและสูตรทำคุ้กกี้เนยสดกาแฟมาสอนให้ชาวบ้านด้วย ชาวบ้านห้วยมะเกลี้ยง อาชีพส่วนใหญ่ปลูกกาแฟพันธุ์อาลาบริกากันทุกครัวเรือนแล้วก็ปลูกชาเป็นอาชีพอยู่แล้วเป็นผลผลิตอินทรีย์ จึงมีวัตถุดิบพร้อมในพื้นที่ สามารถนำสูตรดังกล่าวไปทำกินในครัวเรือนหรือทำขายแจกจ่ายในชุมชนเป็นอาชีพเสริมได้ ครู นักเรียนนักศึกษาได้ประโยชน์ในการปลูกฝังทักษะ การทำงานร่วมกับคนอื่น รู้จักเสียสละ รู้จักให้ รู้จักมีเมตตากันและกันให้อภัยกันเพื่อหล่อหลอมเป้นคนดีของบ้านเมือง ชาวบ้านก็ได้ประโยชน์ลดค่าใช้จ่ายได้อาชีพไปใช้ในครัวเรือนในชุมชนเพื่อเป็นเครื่องมือช่วยเหลือตนเองได้ ”ผอ.เรวัตรเสริม

         

          ได้สังเกตการณ์นักเรียนนักศึกษาซ่อมเครื่องใช้ต่างๆของชาวบ้านอย่างขะมักเขม้นจริงจัง ลองพูดคุยถามความรู้สึกได้รับคำตอบว่าได้ประสบการณ์จากการมาตั้งศูนย์ช่วยซ่อมเครื่องมือเครื่องไฟฟ้าให้ชาวชุมชน มาเจอปัญหาจริงๆแล้วก็ช่วยกันแก้ช่วยกันค้นจนพบปัญหาแล้วแก้ปัญหาได้จริงๆกับเครื่องยนต์เครื่องใช้ไฟฟ้า ซ่อมจนให้ชาวบ้านนำกลับไปใช้ได้ เห็นรอยยิ้มของชาวบ้านก็ภูมิใจมีความสุข ชาวบ้านก็ดีใจที่เครื่องมือเครื่องใช้ของตัวเองที่เสียแล้วกลับมาใช้ได้แล้วที่ชาวบ้านดีใจคือไม่ต้องเสียค่าซ่อมไม่ต้องเสียเวลาเอาไปซ่อม ของบางอย่างเก่ามาก เจ้าของนึกว่าไม่มีทางแก้มาใช้ได้อีกแต่เมื่อใช้ได้ก็ดีใจกัน พวกเรามีความสุขที่ช่วยชาวบ้านได้

         

            โครงการศูนย์ซ่อมสร้างที่ผ่านมา วิทยาลัยสังกัดอาชีวศึกษาอย่างเช่นวิทยาลัยเทคนิคในจังหวัดเชียงราย หรือเทคนิตเวียงป่าเป้า ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่ในช่วงที่เกิดวิกฤติแก่สังคมอย่างโรคระบาดโควิด-19 วิทยาลัยสังกัดอาชีวะยิ่งตระหนักถึงการสร้างจิตสำนึกห่วงใยดูแลกันและกันอันเป็นคุณธรรมที่ดีงามของไทย โดยเฉพาะการปลูกฝังเน้นย้ำสำนึกนักเรียนนักศึกษา 

            จึงเน้นถึงคุณธรรมคือการช่วยเหลือกันรู้จักให้ไม่หวังผลตอบแทนไปพร้อมกับการบริการด้วย  รวมถึงการเอาอาชีพเข้าไปส่งเสริมชาวบ้านด้วยเพื่อให้ช่วยเหลือตัวเองได้พึ่งพาตนเองได้แล้วก็ช่วยกันย้ำให้ชาวบ้านอย่าประมาทในการดูแลตนเองครอบครัวให้ห่างไกลโรคโควิดตามที่รัฐบาลตามที่สาธารณสุขแนะนำถึงการปฏิบัติตัว พร้อมๆ กับการร่วมใจกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติรักษาสืบสานวิถีชีวิตวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามเพื่อคนรุ่นหลังต่อไป

           โดยในอนาคตเมื่อสามารถควบคุมรักษาโรคโควิด-19 ได้ป้องกันได้อย่างดีแล้วทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์งดงาม วิถีชีวิตวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม จะสนองตอบเป็นเครื่องมือนำพาสู่การดำรงชีวิตที่ดีงามผ่านการเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่วันนี้ก็สามารถจะเชิญชวนคนไทยภาคอื่นๆ มาสัมผัสได้ แต่ต้องค่อยๆ ไปกัน

           "ไปที่บ้านห้วยมะเกลี้ยง ไปสัมผัสไร่ชากาแฟอินทรีย์ ไปสัมผัสต้นไม้ภูเขาที่อุดมสมบูรณ์สร้างความชุ่มชื้นฉ่ำเย็นให้ท้องถิ่นเฉพาะที่ดอยบ้านห้วยมะเกลี้ยงนี้ก็ไปนมัสการพระธาตุดอยผาโง้มเป็นสิริมงคลกันด้วย” ผอ.ปริวิชญ์ ไชยประเสริฐ กล่าวทิ้งท้าย

เสกสรร  สิทธาคม

Seksan2493@yahoo.com

Edunewssiam.com