โครงการ U2T สะท้อนชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ชีวิตจริงให้กับ น.ศ.-อาจารย์มหาวิทยาลัย

อว.-สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา นำนักศึกษาที่ได้รับการจ้างงานในโครงการ U2T ทำงานกับพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต ”ครูขาบ” บึงกาฬ ชูเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นำจุดเด่นของชุมชนสร้างรายได้ “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” ชูท้องถิ่นจะเข้มแข็งต้องใช้พลัง 3 ประสาน 'มหาวิทยาลัย-ภาคประชาสังคม/ชุมชน-ภาคเอกชน'

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต ต.หนองพันทา อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมคณะผู้บริหาร อว. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต ที่ก่อตั้งขึ้นโดย “ครูขาบ” หรือนายสุทธิพงษ์ สุริยะ เจ้าของรางวัลออสการ์อาหารโลก Gourmand World Awards จำนวน 14 รางวัล ในสาขาต่างๆ

ซึ่งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ถือเป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมศิลปะของงานออกแบบร่วมสมัยผสมผสานกับอัตลักษณ์ของชุมชน โดยมีวิถีเกษตรชุมชนเป็นตัวเชื่อม จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบยั่งยืนที่ให้ผู้คนได้มาเจอกันและมีรายได้เกื้อกูลกัน ผ่านการซื้อขายสินค้าเกษตรของชุมชน สามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้ชุมชนไม่ต่ำกว่า 1.3 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก และคณะ ยังติดตามการทำงานของผู้ได้รับการจ้างงานจาก อว. ในโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ หรือโครงการ U2T 

ทั้งนี้ หลังการตรวจเยี่ยม ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก ให้สัมภาษณ์ว่า พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จ.บึงกาฬ ดำเนินการโดยสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ให้บัณฑิตจบใหม่ นักศึกษา และชาวบ้านร่วมเก็บข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลปัญหาและความต้องการของชุมชน โดยมีอาจารย์เป็นพี่เลี้ยง

ผู้เข้าร่วมโครงการ U2T ที่เป็นบัณฑิตและนักศึกษาล้วนเป็นผู้มีภูมิลำเนาในพื้นที่ แต่ไปศึกษาในจังหวัดอื่น ได้มีโอกาสกลับมาทำงานในท้องถิ่น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19

การที่ผู้รับการจ้างงานได้มาทำงานในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ถือเป็นโอกาสได้มาเรียนรู้เพิ่มเติมจากครูขาบในเรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่นำจุดเด่นของชุมชนมาสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน นอกเหนือจากการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ปัญหาของพื้นที่ตามภาระงานที่ได้รับมอบหมายในระยะเวลา 1 ปี ตามระยะเวลาโครงการ U2T

รมว.อว.กล่าวต่อว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้สะท้อนว่า โครงการ U2T เป็นการเปิดโอกาสให้ชุมชน และพื้นที่ได้รับการวิเคราะห์ปัญหา พร้อมทั้งการแก้ไขตามความต้องการ โดยมีผู้จ้างงานที่เป็นบัณฑิตนักศึกษาและชาวบ้านทำงานร่วมกัน และมีอาจารย์และมหาวิทยาลัยมาเรียนรู้ร่วมกัน นำความรู้ไปตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่

พร้อมๆ กับที่ชุมชนและพื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้ชีวิตจริงให้แก่อาจารย์และมหาวิทยาลัย ที่สำคัญสะท้อนให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยต้องการชุมชนหรือพื้นที่ท้องถิ่นเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่สะท้อนถึงความต้องการจริงของชุมชน

"ความรู้ของมหาวิทยาลัยจะต้องตอบโจทย์ชุมชนและท้องถิ่นได้ เพราะจังหวัดหรือท้องถิ่นจะเข้มแข็งได้ต้องมีองคาพยพที่เกี่ยวข้อง 3 ส่วน คือ มหาวิทยาลัย ภาคประชาสังคมหรือชุมชน และภาคเอกชน ซึ่งทั้ง 3 ส่วนคือผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นจริง ไม่ได้มาแล้วไปเหมือนหน่วยงานราชการจากส่วนกลาง" ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)