องคมนตรีติดตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่จ.สกลนคร

วันศุกร์ที่ 19 มีนาคม 2564 นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธาน อนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ  พร้อมด้วยนายปวัตร์ นวะมะรัตน รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ ลงพื้นที่ติดตามตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร

         

         เวลา 9.50 น. องคมนตรี และคณะ เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำภูเพ็กอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลนาหัวบ่อ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เพื่อรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การปรับปรุงอ่างเก็บน้ำจำนวน 22 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร และรับทราบสถานการณ์น้ำ รวมทั้งการดำเนินงานในการสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการฯ ตามพระราชปณิธาน

สืบเนื่องจากเมื่อปี 2560 พื้นที่จังหวัดสกลนครได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน ตาลัสและพายุโซนร้อน เซินกาทำให้มีน้ำไหลจากตอนบนลงสู่พื้นที่อ่างเก็บน้ำในพื้นที่จังหวัดสกลนคร และเอ่อล้นข้ามทำนบดิน จนเกิดการกัดเซาะสันทำนบดินพังเสียหาย และเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ สำนักงาน กปร. รีบดำเนินการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำ ห้วยทรายขมิ้นที่ประสบปัญหาอุทกภัยชำรุดเสียหายจากพายุโซนร้อนเซินกา ให้ใช้การได้โดยเร็ว และเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2560 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ รับโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และมีพระราชกระแส

          -ถือว่าเป็นความเร่งด่วนอย่างสำคัญ -น่าจะตรวจระบบ อ่าง, เขื่อน ฯลฯ ในพื้นที่นี้ต่อไป

และในปี 2561-2562 สำนักงาน กปร. ร่วมกับกรมชลประทาน สำรวจและปรับปรุงอ่างเก็บน้ำทั้ง 22 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอ่างเก็บน้ำที่สร้างมานาน มีอายุการใช้งานเฉลี่ย 30 ปีขึ้นไป และมากที่สุด 62 ปี ปัจจุบันได้ดำเนินการปรับปรุงแล้วเสร็จครบทุกแห่ง ทำให้อ่างเก็บน้ำอยู่ในสภาพ มั่นคง แข็งแรง และปลอดภัย สามาถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังได้สืบสานพระราชปณิธาน ในการพัฒนาต่อยอดโครงการ โดยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกร กลุ่มผู้ใช้น้ำ ที่ได้รับประโยชน์จากการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำทั้ง 22 แห่ง โดยนำองค์ความรู้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ในการพัฒนาอาชีพ เพิ่มทักษะฝีมือ สนับสนุนปัจจัยการผลิต ฯลฯ ตามความต้องการของสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำ ซึ่งอ่างเก็บน้ำภูเพ็กอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แห่งนี้เป็น 1 ในอ่างเก็บน้ำ 22 แห่ง ที่ได้รับการปรับปรุงตัวทำนบดินที่ชำรุดเสียหาย โดยได้ดำเนินการ คือ 1) ขุดลอกอ่างเก็บน้ำให้มีความจุเต็มศักยภาพ 2) ซ่อมแซมหินเรียงป้องกันการกัดเซาะบริเวณลาดตลิ่ง 3) ก่อสร้างอาคารระบายน้ำล้นฉุกเฉินระบายได้สูงสุด 106.91 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และ 4) ปรับปรุงเพิ่มระดับทำนบดินขึ้นอีก 1.8 เมตร พร้อมทั้งจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ มีสมาชิกจำนวน 130 คน หลังจากดำเนินการปรับปรุงแล้วเสร็จสามารถส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตร ในฤดูฝน 1,000 ไร่ ฤดูแล้ง 100 ไร่ อีกทั้งยังเป็นแหล่งน้ำเพื่อการอนุรักษ์สภาพป่าบริเวณเทือกเขาภูพานอีกด้วย

         

       โอกาสนี้ องคมนตรี และคณะฯ ได้เยี่ยมชมบริเวณรอบโครงการฯ และร่วมปล่อยพันธุ์ปลาบริเวณอ่างเก็บน้ำ พร้อมทั้งพบปะเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ

ต่อมาในช่วงบ่าย คณะเดินทางไปยังโครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร การนี้ได้รับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2535 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสภาพพื้นที่บริเวณฝั่งตะวันออกของห้วยน้ำพุง และลำห้วยต่าง ๆ ในเขตบ้านตองโขบ รวมทั้งบริเวณหนองคำฮุย บ้านหนองแข้ ตำบลตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร  และได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับงานชลประทานความตอนหนึ่งว่า เนื่องจากพื้นที่ในเขตตำบลตองโขบและตำบลใกล้เคียง มีปัญหาน้ำในห้วยน้ำพุงมีระดับสูงในฤดูฝน จึงไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่เพาะปลูกในพื้นที่ดังกล่าวเป็นประจำ ส่วนฤดูแล้งราษฎรต้องประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับใช้ทำการเกษตรและอุปโภคบริโภค จึงควรดำเนินการดังนี้ ควรพิจารณาก่อสร้างอาคารบังคับน้ำที่ปากลำห้วยร่องช้างเผือกทางฝั่งตะวันออกของลำห้วยน้ำพุง เพื่อควบคุมการไหลของน้ำในลำห้วยต่าง ๆ ตามที่ต้องการและ ควรพิจารณาวางโครงการขุดลอกลำห้วยต่าง ๆ ที่ปัจจุบันมีสภาพตื้นเขิน เช่น ห้วยร่องช้างเผือก ห้วยชัน และควรขุดคลองต่อเชื่อมกับหนองน้ำธรรมชาติต่าง ๆ พร้อมก่อสร้างอาคารบังคับน้ำให้สามารถระบายน้ำท่วมออกจากพื้นที่เพาะปลูกไปลงลำน้ำก่ำได้สะดวกในฤดูฝน และรับน้ำจากห้วยน้ำพุงผ่านลำห้วยร่องช้างเผือกและลำห้วยอื่น ๆ เข้าเก็บในหนองน้ำต่าง ๆ เพื่อให้ราษฎรได้ใช้ทำการเกษตรและอุปโภคบริโภคในฤดูแล้ง

กรมชลประทานได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริ กำหนดแผนการดำเนินงาน 5 ปี คือ (2562-2566) โดยก่อสร้าง ประตูระบายน้ำหัวงานและอาคารประกอบ คลองผันน้ำร่องช้างเผือก-ห้วยยาง คลองผันน้ำห้วยยาง-ลำน้ำก่ำ คลองผันน้ำหนองแซง-ห้วยชัน-ห้วยยาง คลองผันน้ำห้วยทามไฮ-ห้วยสองตอน ระบบส่งน้ำชลประทาน อาคารชลประทานตามแนวคลองผันน้ำ ซึ่งปัจจุบันมีความคืบหน้าการดำเนินงานอยู่ที่ร้อยละ 19.66 เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถบรรเทาอุทกภัยในเขตอำเภอเมืองสกลนคร และอำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร และตัดยอดน้ำจากลำน้ำพุงก่อนไหลลงสู่หนองหาร ได้ร้อยละ 40 ผันน้ำลงลำน้ำก่ำ เพื่อลดปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่หนองหาร และใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำ เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในลำน้ำพุงและลำน้ำก่ำ ทำให้สามารถส่งน้ำเพื่อใช้อุปโภคบริโภค อีกทั้งสนับสนุนการเกษตร ช่วยเหลือราษฎรได้ถึง 10,857 ครัวเรือน มีพื้นที่รับประโยชน์ 78,358 ไร่

โอกาสนี้องคมนตรี และคณะได้พบปะเยี่ยมเยียนรับทราบปัญหาอุปสรรคแนวทางการดำเนินชีวิตของพี่น้องประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ ครั้งนี้