โอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ 2 เมษายน ขอทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

          ภาพประจักษ์สายตาปวงพสกนิกรไทยทั้งประเทศและที่พำนักในนานาประเทศในพระราชภารกิจน้อยใหญ่นานัปการที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทุกหนแห่ง

          ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทยอย่างยั่งยืนมาตลอดตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ที่ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบรมชนกนาถ และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบรมราชชนนี

          ในปัจจุบันได้สนองพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ปฏิบัติหน้าที่แทนพระองค์ ตลอดจนทรงปฎิบัติพระราชกรณียกิจโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระองค์เอง ด้วยทรงมุ่งสร้างประโยชน์สุขแก่ปวงพสกนิกรทุกหมู่เหล่า

          ในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 2 เมษายน 2564 วันอันเป็นสิริมงคลที่พสกนิกรไทยทั้งประเทศถือว่าเป็นวันสำคัญยิ่งวันหนึ่งเวียนมาบรรจบอีกวาระ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงทุ่มเทพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจผ่อนพระราชภาระในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อยังประโยชน์สุขเกิดแก่คนไทยและชาติบ้านเมือง

          อันเกิดจากพระราชหฤทัยห่วงใยที่ยิ่งใหญ่ต่อพสกนิกรไทยทุกหมู่เหล่าและชาติบ้านเมือง ได้ทรงทุ่มเทพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างทรงตรากตรำ มิได้ทรงคำนึงถึงความยากลำบาก และความสุขส่วนพระองค์แม้แต่น้อย ด้วยทรงมุ่งหวังที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดีขึ้นอย่างกว้างขวาง ดำรงชีวิตมีความสุขอย่างพออยู่พอกินอย่างยั่งยืน ตามวิถีหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

          และทรงตั้งพระราชหฤทัยสนองพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงตั้งพระราชปณิธานสืบสาน รักษา ต่อยอดพระราชดำริในสมเด็จพระบรมชนกนาถ และ สมเด็จพระบรมราชชนนีอย่างแท้จริง 

         

           สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 ทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

           พระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ แต่ข้าราชบริพารมักขานพระนามว่า "ทูลกระหม่อมน้อย" ทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศและพระอิสริยศักดิ์ขึ้นเป็น "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี" เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2520  

           ทรงเริ่มต้นการศึกษาระดับอนุบาล เมื่อพุทธศักราช 2501 ณ โรงเรียนจิตรลดา ในเขตพระราชฐาน พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต โดยทรงศึกษาต่อเนื่องไปจนถึงระดับมัธยมศึกษา ตลอดระยะเวลาที่ทรงศึกษา ทรงเอาพระทัยใส่ในการเรียน โปรดการอ่าน และการศึกษาวรรณคดี ทั้งของไทยและต่างประเทศ

          ทรงเริ่มแต่งคำประพันธ์ต่าง ๆ ทั้งร้อยแก้ว และร้อยกรอง ตั้งแต่ยังทรงศึกษาในชั้นประถมศึกษา ทรงโปรดการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียน ทั้งด้านกีฬา ดนตรี บันเทิง และกิจกรรมเพื่อสาธารณะประโยชน์ จนทรงสำเร็จการศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในแผนกศิลปะ จากโรงเรียนจิตรลดา

         เมื่อพุทธศักราช 2516 ทรงสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้จะมีพระราชภารกิจมากมาย แต่ก็ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะ ในการเรียนอย่างยิ่ง ด้วยทรงตระหนักว่าการศึกษาเป็นความสำคัญอย่างยิ่งและยังทรงร่วมกิจกรรมของคณะ และของมหาวิทยาลัย เช่นเดียวกับนิสิตทั่วไป

          ในปีการศึกษา 2519 ทรงสำเร็จการศึกษา และทรงเข้ารับพระราชทานปริญญา อักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง สาขาวิชาประวัติศาสตร์

          ต่อมาสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสมัครเข้าศึกษาต่อระดับมหาบัณฑิต ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกันทั้งสองแห่ง ทรงสำเร็จการศึกษาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ในปีการศึกษา 2522 หลังจากนั้น ทรงสำเร็จการศึกษา อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาบาลี-สันสกฤต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปีการศึกษา 2524

         และด้วยความสนพระทัยงานด้านการพัฒนา โดยอาศัยหลักวิชาการศึกษา หรือการเรียนรู้เป็นแกน จึงทรงสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับดุษฎีบัณฑิต ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ทรงสำเร็จการศึกษา และรับพระราชทานปริญญาการศึกษาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์ในปีการศึกษา 2529

         ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมายหลายด้านทุ่มเทพระองค์ ด้วยพระวิริยะและอุตสาหะ อันก่อประโยชน์สุขแก่ราษฎร ประโยชน์อันเกิดแก่สังคมและประเทศชาติมากมาย ทรงเป็นเจ้าฟ้าในดวงใจของพสกนิกร ทรงได้รับการยกย่องจากนานาประเทศจำนวนมาก 

         พระราชดำริต่าง ๆ ของพระองค์ล้วนเกิดคุณประโยชน์อย่างยิ่งในด้านการพัฒนาประเทศชาติสู่ความเจริญตลอดจนก่อให้เกิดการพัฒนาคุณภพชีวิตของประชาชนคนไทยทุกหมู่เหล่ารวมไปถึงทรงแผ่พระมหากรุณาธิคุณไปยังประเทศต่าง ๆ ด้วย

         

          ด้านหนึ่งที่สำคัญอันเป็นแบบอย่างแก่ปวงชนชาวไทยเยาวชนไทยคือพระองค์ทรงมีความสนพระทัยในด้านการศึกษาเป็นอย่างมาก ทรงศึกษามิได้หยุดนิ่งทำให้พระองค์พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ จึงทรงนับว่าเป็นต้นแบบด้านการศึกษาที่ดีแก่เยาวชนแก่คนไทยทั้งประเทศแก่ครูอาจารย์อย่างที่สุด

          เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาแล้ว ทรงเข้ารับราชการเป็นพระอาจารย์ประจำกองวิชากฎหมายและสังคมศาสตร์ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของพลตรียุทธศักดิ์ คล่องตรวจโรค ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าในขณะนั้น ทรงสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทยและสังคมวิทยา พระองค์จึงทรงเป็น "ทูลกระหม่อมอาจารย์" สำหรับนักเรียนนายร้อยตั้งแต่นั้น

           ในปี พ.ศ. 2525 ทรงพระราชดำริให้ก่อตั้งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับบุตรหลานข้าราชบริพารและประชาชนทั่วไป เปิดทำการสอนครั้งแรกในปีการศึกษา 2525 โดยทรงดำรงตำแหน่งเป็นองค์ประธานกรรมการคณะกรรมการสถานศึกษา

          นอกจากนี้ ยังแผ่พระเมตตาไปสู่เยาวชน ประชาชนในประเทศเพื่อนบ้าน เช่นในปี พ.ศ. 2533 เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จฯ เยือนประเทศ สปป.ลาวครั้งแรก ระหว่างวันที่ 15-22 มีนาคม ได้มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทุนทรัพย์โดยเสด็จพระราชกุศลเป็นเงิน 12 ล้านกีบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นำเงินไปก่อสร้างเรือนนอนให้แก่โรงเรียนวัฒนธรรมเด็กกำพร้า (หลัก 67) ซึ่งอยู่ห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปทางทิศเหนือประมาณ 67 กิโลเมตร พระราชทานชื่อว่า อาคารสิรินธร 

         ทรงมีพระราชดำริที่จะช่วยเหลือนักเรียนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงพระราชทานพระราชดำริช่วยเหลือในรูปแบบของโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน โดยทรงนำแนวทางที่ดำเนินการในประเทศไทยมาประยุกต์ใช้ และสนับสนุนการประกอบอาชีพเสริม

         พ.ศ. 2535 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชดำริพระราชทานความช่วยเหลือกัมพูชาในการก่อตั้งวิทยาลัยกำปงเฌอเตียล ณ จังหวัดกำปงธม ประเทศกัมพูชา โดยพระราชทานเงินค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารสถานที่ต่าง ๆ และได้เสด็จฯไปทรงเปิดวิทยาลัยเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548

         และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานทุนแก่นักเรียนเพื่อให้มาศึกษาต่อในประเทศไทยในหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตและหลักสูตรอาชีวศึกษา เพื่อนำความรู้กลับไปสอนและพัฒนาการจัดการศึกษาของวิทยาลัย รวมทั้งทรงสนับสนุนการศึกษาด้านนาฏศิลป์และดนตรี

         ในปี พ.ศ. 2549 พระองค์ทรงมีแนวความคิดจัดตั้งโครงการพัฒนานักอักษรศาสตร์รุ่นใหม่ขึ้น โดยความร่วมมือของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างนักอักษรศาสตร์ที่มีมุมมองและแนวคิดใหม่เพื่อเป็นกำลังของชาติ ทรงสนับสนุนการช่วยเหลือ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ให้เป็นโรงเรียนผลิตนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ สร้าง "องค์ความรู้" ให้แก่ประเทศไทย

ที่ทรงทุ่มเทปฏิบัติพระราชกรณียกิจซึ่งสำคัญอีกด้านหนึ่งเพื่อความพออยู่พอกินมีความสุขของปวงชนชาวไทยคือการประกอบอาชีพความเป็นอยู่ เมื่อวันพุธที่ 24 พฤษภาคม 2560 เวลา 8.40 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯเสด็จพระราชดำเนินถึงกลุ่มผู้ผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน เพื่อนช่วยเพื่อนตำบลหนองโดน อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์

โครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน เพื่อนช่วยเพื่อนเกิดขึ้นจากการที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสำรองพันธุ์ข้าวหอมมะลิ ให้มีคงไว้ ในกรณีที่ประเทศมีภาวะฉุกเฉินหรือประสบภัยที่ทำให้พื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิประสบปัญหา ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่จะหาพันธุ์ข้าวหอมมะลิที่ดีมีคุณภาพมาทดแทนให้เกษตรกรได้ยาก

ดั่งเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2556 เกิดอุทกภัยขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พระองค์ทรงตระหนักว่า อุทกภัยครั้งนี้ ได้ครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายจังหวัด เป็นระยะเวลายาวนาน และทรงทราบว่าราษฎรในพื้นที่อำเภอลำปลายมาศ และอำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้รับความเดือดร้อน น้ำท่วมบ้านและที่นาเสียหาย ทรงห่วงใยว่า ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ราษฎรมีรายได้หลักจากการทำนาข้าวหอมมะลิ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะปลูกได้เพียงปีละหนึ่งครั้ง เมื่อประสบอุทกภัย ราษฎรจึงสูญเสียรายได้หลักทั้งปีของตนไป

จากเหตุการณ์ครั้งนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงได้พระราชทานพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 จำนวน 185.6 ตัน ที่มูลนิธิชัยพัฒนามีสำรองไว้ที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสุรินทร์ แก่ราษฎรในอำเภอลำปลายมาศ และอำเภอชำนิ ที่ได้รับความเดือดร้อน จำนวน 953 ราย พื้นที่เพาะปลูกถูกน้ำท่วมเสียหายรวมทั้งสิ้น 12,373 ไร่ และได้มีรับสั่งให้มูลนิธิชัยพัฒนา ชักชวนราษฎรอำเภอลำปลายมาศ และอำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์เข้าร่วมโครงการผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพดี สะสมสำรองไว้สำหรับพระราชทานราษฎรในยามวิกฤต

ราษฎรในชุมชนตำบลหนองโดน อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ แสดงความประสงค์เข้าร่วมโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน เพื่อนช่วยเพื่อนในปี 2557 ตั้งคณะกรรมการบริหารงานภายในกลุ่ม เพื่อดำเนินกิจกรรมให้มีประสิทธิภาพ มีคณะกรรมการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว ช่วยดูแลกันและกันตั้งแต่ในแปลงนาจนถึงการเก็บเกี่ยว ปลูกโดยวิธีปักดำเท่านั้น เก็บเกี่ยวด้วยมือหรือรถเกี่ยวข้าวที่สะอาด เพื่อป้องกันการปนของข้าวพันธุ์อื่นหรือข้าวเมล็ดแดง

 

ในปี 2559 กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มูลนิธิชัยพัฒนา โดยศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ร่วมกับมณฑลทหารบกที่ 26 ค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก จัดตั้ง โครงการทหารพันธุ์ดีขึ้น

มีวัตถุประสงค์เพื่อ ส่งเสริมให้กำลังพลของกองทัพมีความรู้ความสามารถในการปลูกผักปลอดภัย และมีคุณภาพได้มาตรฐานเพื่อบริโภค เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือน หากเหลือจากการบริโภคแล้ว สามารถจำหน่ายเป็นรายได้เสริมอีกด้วย โดยจัดกิจกรรมให้พลทหารกองประจำการในแต่ละผลัดอาสาเข้าร่วมโครงการหลังจากที่ผ่านการฝึกทางการทหารแล้ว โครงการดังกล่าวได้นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยได้อย่างกว้างขวางตราบวันนี้

ฯลฯ

          ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นพระโสทรกนิษฐภคินีที่ได้ทรงร่วมสุขร่วมทุกข์มาแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อทรงเจริญพระชนมายุก็ได้ทรงปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมชนกนาถ และ สมเด็จพระบรมราชชนนี ด้วยพระวิริยอุตสาหะ เป็นคุณูปการแก่ประเทศชาติ และอาณาประชาราษฎร์อย่างใหญ่หลวง เป็นอเนกประการ

          ครั้นในรัชกาลปัจจุบัน ก็ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในหลายวาระ และช่วยแบ่งเบาพระราชภารกิจน้อยใหญ่ที่สืบเนื่องมาแต่ครั้งรัชสมัยสมเด็จพระบรมชนกนาถ ให้ดำเนินลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อย เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย สมควรจะยกย่องพระเกียรติยศตามฐานะแห่งพระบรมราชวงศ์

         ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระนามาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี

         ในโอกาสมหามงคลวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 2 เมษายน 256นี้ ในนาม สำนักข่าว edunewssiam.com สถาบันสื่อสารมวลชนด้านการศึกษาพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีงาม และพสกนิกรไทยทั้งประเทศ ขอพระราชทานพระราชานุญาตถวายพระพร

         "ขออำนาจแห่งคุณพระรัตนตรัย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากล บันดาลดลให้ทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์ มีพระวรกายแข็งแรง ทรงสถิตย์เป็นพระมิ่งขวัญสิริมงคลแก่ประชาชนและประเทศชาติยืนยาวสืบไปตราบนานเท่านาน ทรงมีพระราชดำริประสงค์สิ่งใด ขอให้ทรงสมพระประสงค์จำนงหมายจงทุกประการ ขอทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน" 

                                 ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม